ฝึกชาวนาขายข้าว ผ่านตลาดออนไลน์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้สำรวจภาวะรายได้ของเกษตรกรไทย เมื่อปี 2558 พบว่า มียอดหนี้สินสูงกว่ารายได้ 25.5 เท่าตัว แถมตัวเลขหนี้สินของเกษตรกรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัย ปรับตัวไม่ค่อยทันกับยุค Digital 4.0 เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ประกอบกับขาดการจัดการไร่นาเชิงธุรกิจและแบกภาวะต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง แต่ขายข้าวได้ราคาต่ำ ทำให้ชาวนาจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว ชาวนาจำนวนมากจึงเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกินให้กับเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ

บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ผู้นำด้านธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างโอกาสและเครือข่ายที่เข้มแข็งแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนา ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้านดักคะนน จังหวัดชัยนาท วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพแก่นฝาง จังหวัดขอนแก่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาบ้านป่าไหม้ จังหวัดนครศรีธรรมราช วิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท่างามแสนสุข จังหวัดพิษณุโลก และเรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน สังกัดเรือนจำกลาง จังหวัดสุรินทร์  มาร่วมแลกเปลี่ยนและเพิ่มพูนความรู้ในด้านการทำเกษตรกรรมยุคใหม่ ในงาน “สานความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืน” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกและจำหน่ายผลผลิตข้าวของวิสาหกิจชุมชนให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

กิจกรรมสำคัญภายในงาน ประกอบด้วย การจัดบรรยาย ในหัวข้อ “ทิศทางแผนการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Agricultural Curve” การทำเวิร์กช็อปสร้างเครื่องมือทางการตลาดทางออนไลน์โดยใช้โซเชียลมีเดีย การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร จัดทำแผนธุรกิจและเชื่อมโยงตลาด

นอกจากนี้ อินทัช ยังให้การสนับสนุนแก่วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายเกษตรกรในด้านต่างๆ ในระยะยาว ได้แก่ การส่งเสริมการทำงานร่วมกันภายในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโดยใช้จุดแข็งของแต่ละพื้นที่มาเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน การจัดทำแผนการตลาดของแต่ละกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนได้รับรองมาตรฐาน GAP และ Organic Thailand การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาทิ การขนส่งสินค้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การหาตลาดข้าวจากผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ การจับคู่ทางการค้าให้ผู้ซื้อเข้าถึงกลุ่มชาวนาได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ฯลฯ ไปจนถึงการติดตาม ให้คำปรึกษา และประเมินผลการทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 6 พื้นที่ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุตามแผนงานและผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้

คุณเอนก พนาอภิชน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า อินทัชภูมิใจที่มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีของชาวนาไทยให้ดีขึ้นในด้านเศรษฐกิจ คือช่วยลดต้นทุนการทำนาและสร้างรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายข้าวผ่านแบรนด์ของชุมชน การส่งเสริมให้ชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่สินค้า ดังที่เห็นได้จาก วิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา และสามารถจำหน่ายข้าวแบรนด์หอมกระเจาเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน

ในด้านสังคม ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจและเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ การปลูกข้าวปลอดสารเคมียังช่วยคืนสมดุลแก่ระบบนิเวศในแปลงนาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP อีกด้วย