การป้องกันศัตรูหอมแดง แบบผสมผสาน ได้ผลดี แทบไม่ต้องเสียเงินสักบาท

ตรวจหาศัตรูหอมแดง

สภาพปัจจุบันถึงระยะเวลาที่เกษตรกรเริ่มปลูกพืชตระกูลหอมแล้ว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือ หอมแดงที่ปลูกกันมากในจังหวัดพะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ประกอบกับในภาวะนี้ทางราชการได้รณรงค์ให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี หันมาใช้สารชีวภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์นํ้าหมักจากพืชและสัตว์ มีทั้งโครงการอาหารปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรอินทรีย์และอีกหลายโครงการที่ต้องการลดการใช้สารเคมี เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างในผลผลิตเกษตรทุกชนิด

คุณอุดมศักดิ์ คำมูล เกษตรจังหวัดพะเยา กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ หรือชื่อเดิมว่า ศูนย์บริหารศัตรูพืชและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดยโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อไวรัส เอ็นพีวี เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไวรัส เอ็นพีวี ในพื้นที่ปลูกหอมแดงของจังหวัดพะเยาและศรีสะเกษ

หอมแดง เป็นพืชล้มลุก มีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่าง 90-110 วัน ในฤดูหนาว และ 40-60 วัน ในฤดูฝน มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า หัวสะสมอาหาร เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) 5.0-6.5 สำหรับช่วงเวลาของการปลูกหอมแดงได้ผลดีคือ ฤดูหนาว ที่มีช่วงกลางวันสั้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม โดยหอมแดงต้องการแสงแดดเพียง 9-10 ชั่วโมง ต่อวัน

เตรียมแปลงปลูก
เตรียมแปลงปลูก

พื้นที่ปลูกหอมแดงสำคัญอยู่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และนครราชสีมา รวมประมาณ 131,469 ไร่ และผลผลิตรวม 283,146 ตัน เฉลี่ย 2,154 กิโลกรัม ต่อไร่

หอมแดง เป็นพืชผักเครื่องเทศ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยได้รับความนิยมในการบริโภคมากเนื่องจากหอมแดงเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารไทยแทบทุกชนิด ทั้งประเภทแกงเผ็ด แกงเลียง ต้มยำ หลน ยำ ลาบ น้ำพริกต่างๆ และเครื่องเคียงข้าวซอย ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของประชาชนทางภาคเหนือ เนื่องจากหอมแดงช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติของอาหาร โดยสัดส่วนการบริโภคหอมแดงในประเทศ คิดเป็น ร้อยละ 78 ส่วนอีก ร้อยละ 22 เป็นการส่งออกในรูปหอมแดงสด หอมแดงแห้ง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีการส่งออก ประมาณ 45,943 ตัน คิดเป็นมูลค่า 392 ล้านบาท โดยส่งไปจำหน่ายที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ตะวันออกdลาง เยอรมนี และอังกฤษ

แปลงปลูกหอมแดง
แปลงปลูกหอมแดง

หอมแดง มีการปลูกมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยแหล่งผลิตส่วนใหญ่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา อุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ และชัยภูมิ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำหรับสถิติการปลูกหอมแดงในจังหวัดพะเยา ในปี 2551/2552 พบว่า มีพื้นที่การปลูก 11,758 ไร่ ให้ผลผลิต 24,110 ตัน คิดเป็น ร้อยละ 10 ของผลผลิตหอมแดงทั่วประเทศ

ที่ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นตำบลที่มีการปลูกหอมแดงมากที่สุด โดยปลูก 2 ครั้ง ต่อปี คือปลูกในช่วงก่อนฤดูฝน จะปลูกในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมิถุนายน และปลูกในฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปัญหาที่สำคัญในการผลิตหอมแดงจากการสอบถามประธานและสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกหอมแดงและกระเทียม และนิคมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนมูล ตำบลจำป่าหวาย จังหวัดพะเยา ซึ่งประชากร ร้อยละ 70 ปลูกหอมแดงเป็นอาชีพเสริมรองจากการปลูกข้าว

พบว่า ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2553 มีการระบาดของหนอนกระทู้หอมมากที่สุด ในรอบ 10 ปี ทำความเสียหายให้แก่หอมแดงและเกษตรกรผู้ปลูกเป็นอย่างมาก หนอนกระทู้จะกัดกินลำต้นและใบ ทำให้การเจริญเติบโตช้าและผลผลิตลดลงมาก นอกจากนี้ การเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอม โดยจะกัดกินใบในเวลากลางคืน ตัวหนอนจะซ่อนตัวอยู่ในใบหอมที่เป็นหลอด เมื่อกินใบหมดก็จะลงไปกัดกินในส่วนของหัว ทำให้หอมเน่าเสียหาย รวมทั้งยังเกิดปัญหาในระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ส่งผลทำให้การเก็บเกี่ยวลำบาก ต้องใช้เวลาและแรงงานในการเก็บเกี่ยวมากขึ้น เนื่องจากปกติจะถอนโดยการดึงในส่วนของลำต้นของหอมแดง แต่เนื่องจากหนอนกระทู้หอมเข้าทำลายในส่วนต้นและใบ ทำให้ไม่มีลำต้น จึงทำให้เก็บเกี่ยวลำบาก

ตรวจหาศัตรูหอมแดง
ตรวจหาศัตรูหอมแดง

นอกจากนี้ ทำให้ไม่สามารถมัดเป็นพวงได้ เนื่องจากไม่มีลำต้น ส่งผลทำให้ขายหอมแดงได้ในราคาต่ำ โดยจะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ให้เหลือ 3 บาท ต่อกิโลกรัม จากเดิมที่เคยรับซื้อกิโลกรัมละ 12 บาท และบางพื้นที่ต้องรีบเก็บเกี่ยวหอมแดงทั้งที่หอมแดงยังโตไม่เต็มที่ ทำให้ผลผลิตลดลง และเกษตรกรต้องขายหอมแดงในราคาถูกกว่าต้นทุน

จากการสอบถามเกี่ยวกับการผลิตหอมแดงของเกษตรกรพบว่า เกษตรกรจะปลูกหอมแดงหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว โดยไม่มีการพัฒนาปรับปรุงดิน ไม่มีการพักดิน ทำให้สภาพดินเสื่อมและต้องใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากในช่วงการผลิต และพบว่า หากมีการแพร่ระบาดของโรคและแมลงเกิดขึ้น เกษตรกรจะใช้สารเคมีหลายชนิดผสมผสานกัน ทำให้แมลงเกิดการต้านทานต่อสารเคมี ส่งผลทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีในปริมาณมาก ซึ่งปัญหาหลังการเก็บเกี่ยวที่สำคัญคือ ปัญหาโรคราดำและโรคเน่า เกษตรกรจะแก้ไขโดยการนำหอมแดงไปจุ่มในยากันเชื้อราหรือยากำจัดหอยเชอรี่ ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดเชียงใหม่ลงพื้นที่
เจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดเชียงใหม่ลงพื้นที่

หนอนกระทู้หอมที่แพร่ระบาดในตำบลจำป่าหวาย บางพื้นที่เรียกว่า หอมหลอด หนอนหลอดหอม หนอนหอม (นิยมซ่อนตัวอยู่ในใบหอม) หรือหนอนหนังเหนียว เป็นแมลงจำพวกผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก พบการระบาดอย่างรุนแรงช่วงเดือนเมษายน- มิถุนายน เป็นแมลงศัตรูที่ทำลายพืชสำคัญทางเศรษฐกิจมากมายหลายชนิด

ลักษณะของหนอนกระทู้หอม จะมีลำตัวอ้วน ผนังลำตัวเรียบมีหลายสี เช่น เขียวอ่อน เทาปนดำ น้ำตาลดำ น้ำตาลอ่อน ด้านข้างจะมีแถบสีขาวพาดตามความยาวลำตัวด้านละแถบ จากส่วนอกจนถึงปลายสุดลำตัว เมื่อตัวเต็มวัยจะเป็นผีเสื้อขนาดกลางสีน้ำตาลปนเทา มีวงจรชีวิตประมาณ 30-35 วัน

หนอนหลอดหอม
หนอนหลอดหอม

หากพบการระบาดของหนอนกระทู้หอม จำเป็นต้องเร่งกำจัดอย่างเร่งด่วน เพราะหากเกษตรกรปล่อยปละละเลยจะมีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้พืชผลตายได้ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรในเขตตำบลจำป่าหวายมีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากหนอนกระทู้หอมเป็นกลุ่มหนอนที่พัฒนาตัวเองในการต้านทานสารฆ่าแมลงได้ดี และ เกษตรกรจะใช้สารเคมี สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตและตกค้างในสภาพแวดล้อม

วิธีป้องกันและกำจัด หนอนกระทู้หอมที่ดีที่สุดคือ การใช้กลวิธี เช่น เก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลาย ซึ่งวิธีนี้ให้ผลดีและมีประสิทธิภาพมาก รวมทั้งการใช้จุลินทรีย์ไวรัส (NPV) ของหนอนกระทู้หอมเองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในทางชีวมวลที่ได้ผลดี เพื่อปรับสมดุลให้กับสภาพแวดล้อมแทนการใช้สารเคมีที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติให้กับเกษตรกร การป้องกันและกำจัดอีกวิธีคือ การปรับปรุงดิน เช่น การตากดิน จะเป็นวิธีการแก้ไขระยะยาว เนื่องจากหนอนจะเข้าดักแด้ของหนอนฝังอยู่ในดินแล้วจะกลายเป็นผีเสื้อต่อไป

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ และกลุ่มอารักขาพืชลงแปลงปลูก
เจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ และกลุ่มอารักขาพืชลงแปลงปลูก

ดังนั้น โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหอมแดงปลอดภัยให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ถึงวิธีการดำเนินการและป้องกันการแพร่ระบาดและการกำจัดศัตรูพืชในหอมแดง โดยเฉพาะหนอนกระทู้หอมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของชุมชน โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การเลือกพื้นที่การผลิต การปรับปรุงและบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การเขตกรรม การควบคุมศัตรูพืชแบบผสมผสานด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์และชีวินทรีย์ในการป้องกันกำจัดแมลง เช่น ทำสารสกัดจากธรรมชาติ สารสกัดสมุนไพร เชื้อจุลินทรีย์ BT NPV การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ และการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรค เช่น การใช้จุลินทรีย์ไวรัส การใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา รวมทั้งการเก็บเกี่ยวและวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ดี น่าจะช่วยลดความเสียหายจากโรคและแมลง โดยเฉพาะหนอนกระทู้หอมที่เข้าทำลายหอมแดงในระยะการผลิตและระยะหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากการซื้อสารเคมี (ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง) และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปลูก ผู้บริโภค และทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งในสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม วัตถุประสงค์ของการดำเนินการเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตหอมแดงปลอดภัยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง และผู้สนใจในเขตจังหวัดพะเยา เพื่อลดความเสียหายจากโรคและแมลง โดยเฉพาะหนอนกระทู้หอมที่เข้าทำลายหอมแดงในระยะการผลิต และระยะหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากการซื้อสารเคมี (ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง) และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปลูก ผู้บริโภค และทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งในสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม

สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาและหน่วยงานภาคี จึงออกติดตามงานให้คําแนะนําแก่เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง มีการป้องกันแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน ควบคุมหนอนกระทู้หอมด้วยการใช้เชื้อไวรัส เอ็นพีวี เพราะเป็นเชื้อไวรัสที่ทําลายหนอนที่เข้าทําลายหอมแดง หอมแบ่ง หอมหัวใหญ่ และพืชผักหลายชนิด แนะนําให้เกษตรกรหมั่นออกตรวจแปลงเป็นประจําทุก 7 วัน เมื่อพบหนอนกําลังจะเข้าทําลาย ควรใช้เชื้อไวรัส เอ็นพีวี ปริมาณ 20-30 ซีซี ผสมกับสารจับใบ ต่อนํ้า 20 ลิตร ฉีดพ่นติดต่อกัน 2 วัน จากนั้นจึงฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ข้อดีของไวรัส เอ็นพีวี คือสามารถกําจัดแมลงศัตรูพืชได้ตามชนิดของพืชที่ปลูก ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม เมื่อใช้เชื้อไวรัส เอ็นพีวี บ่อยครั้งจะทําให้เชื้อไวรัสนี้ขยายและกระจายอยู่ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จะทําให้ศัตรูพืชลดจํานวนลง เกษตรกรเองก็สามารถผลิตและขยายพันธุ์ใช้เอง