ปราณี – สมนึก ทิพยะ สร้างความสุขแบบชีวิตพอเพียง ทำไร่นาส่วนผสมดีเด่น ที่นครสวรรค์

การทำไร่นาสวนผสมจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความอดทน วิริยะ อุตสาหะ เพียบพร้อม หากไม่อดทนเสียแต่ต้นมือ ปล่อยให้ความย่อท้อเข้ามาบั่นทอนในจิตใจ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเลิกราพ่ายแพ้จากไป

คุณปราณี และ คุณสมนึก ทิพยะ ทั้งสองทำงานอยู่กรุงเทพฯ ตัดสินใจกลับมาสู่ภาคเกษตร ในที่ดิน 200 ไร่ ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 12 ตำบลวังบ่อ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

คุณปราณี เล่าว่า เดิมทีที่ดินบริเวณนี้เป็นป่ารก ป้ากับลุงปลูกมะม่วงทิ้งไว้แล้วก็อพยพครอบครัวไปอยู่กรุงเทพฯ ให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือกัน ส่วนที่ตรงนี้น้องชายลุงดูแลอยู่ พอน้องชายลุงเสียชีวิตลูกๆ เรียนจบพอดี ก็อพยพครอบครัวกลับมาอยู่บนที่ผืนเดิม

“แรกๆ ก็ไม่อยากมา เพราะไม่ชินกับสภาพแบบนี้ อยู่กับป่า ไฟฟ้าก็ไม่มี ความสะดวกสบายไม่มีอะไรเลย แต่พออยู่ไปๆ ก็ชินไปเอง”

คุณปราณี เล่าอีกว่า เมื่อแรกมาอยู่ในที่ดิน 200 ไร่ เริ่มเก็บมะม่วงที่ปลูกไว้แต่เดิมขายเอาเงินมาปลูกมะม่วงต้นใหม่ ปลูกมะม่วงเสริมอีก 400 ต้น เดิมมีอยู่แล้ว 300 ต้น จากนั้นก็ปลูกลำไยอีก 500 ต้น

กาลเวลาผ่านไป 3 ปี มะม่วงโตลำไยก็เริ่มได้ผล คราวนี้โค่นมะม่วงต้นเก่าทิ้งเอาอ้อยมาปลูกแทน แล้วก็ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงเป็ด ไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ

คุณปราณี บอกว่า เป็ด ไก่ กบ เลี้ยงไว้เป็นอาหารที่เหลือขาย ปลูกผักตามฤดูกาล เช่น ผักหวานป่า ผักอีชุก ผักอีนูน พืชสวนครัวปลูกพริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ มะกรูด ปลูกมะละกอไว้ทานเอง จัดพื้นที่ทำสวนเพิ่มขึ้นอีก ปลูกส้มโอ แก้วมังกร ปลูกไผ่ตง กลายเป็นสวนผสมในเนื้อที่ 40-50 ไร่ ตอนนี้แทบไม่ต้องซื้อกับข้าวก็อยู่ได้ นอกจากอยากจะทานหมูก็ออกไปซื้อมาบ้าง

ในส่วนของพืชไร่ ปลูกอ้อยกับมันสำปะหลัง พื้นที่ส่วนหนึ่งทำนาปลูกข้าว ทั้งหมดผสมผสานเข้าด้วยกันเป็นไร่นาสวนผสม การจัดระบบการปลูกนั้น แรกๆ ก็ผิดพลาดเหมือนกัน พอปลูกไปแล้วมาคิดได้ว่าน่าจะจัดเป็นโซนให้ดูเป็นระเบียบ สะดวกแก่การบริหารจัดการ

คุณปราณี บอกว่า งานมีทำทั้งวันไม่หยุดมือ แทบไม่มีเวลานั่ง นอน พักผ่อนตอนกลางวันสักเท่าไร เช้าลงสวนเก็บพืชผักในสวน เหมือนไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวมาทำ ต้องไปเก็บของในสวนขึ้นมาทำกับข้าวเผื่อไว้มื้อเย็น เก็บผัก ผักบุ้ง ผักสารพัดที่อยากจะทาน มะละกอเก็บมาแกงส้มหรือตำส้มตำทาน จะทานปลาก็ไปลงเบ็ดเอามาทำกับข้าว จะทานเป็ด ไก่ กบ ก็ให้คนงานทำให้ก่อนเอามาทำกับข้าว

การใช้ปุ๋ย ก็ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เอามาปรับปรุงบำรุงดิน สมัยก่อนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เห็นท่านใช้ปุ๋ยเคมีกันเลย ท่านก็ยังทำมาหากินเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานอยู่กันได้ อยากจะให้เราถอยหลังกลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติตามวิถีเดิม

ไม้ผลพืชสวนใช้ขี้วัว ขี้ไก่มาหมักกับแกลบ ฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุเติมลงในดินทำให้ดินดี เมื่อก่อนมาอยู่ดินที่นี่ไม่ดีใช้ไม่ได้เลย ปลูกต้นไม้ก็จะตาย เพราะไม่มีธาตุอาหารในดิน พอมาอยู่ใช้อินทรียวัตถุ ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพทุกวันนี้ดินอยู่ในสภาพดีมาก ปลูกพืชอะไรก็เจริญงอกงาม

ในท้องนาไม่ใช้เคมี ใช้ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ที่นี่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ทำนาปีละครั้ง ใจก็อยากจะทำหลายๆ ครั้ง แต่ไม่มีกำลังพอที่จะทำ

คุณปราณี บอกด้วยว่า ในเรื่องของผลผลิตนั้น แรกๆ นำไปขายเอง จนเป็นที่รู้จัก ลูกค้ารู้แล้วว่าผลไม้ในสวนเรารสชาติเป็นอย่างไร ปีต่อๆ มา ลูกค้าเข้ามาซื้อถึงสวน ผลผลิตที่เก็บได้ปีนี้ก็มีมะม่วง ลำไย มะม่วงก็มีมะม่วงน้ำดอกไม้ กับเขียวเสวย การปลูกมะม่วงเริ่มต้นศึกษาจากผู้ที่เขาทำมาก่อน เช่น อาจารย์ไพบูลย์ ตาลศิริ เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาทำสวนของจังหวัดนครสวรรค์ การตัดแต่งกิ่งมะม่วงสำคัญมาก ต้องมีการแต่งกิ่งมะม่วงเพื่อให้รับกับยอดใหม่ จะทำให้มะม่วงงามติดผลดีกว่าการไม่ตัดแต่งกิ่ง

คุณปราณี บอกอีกว่า ลำไยก็เช่นกันถ้าต้นสูงต้องบังคับทรงไม่ให้สูง ปีนี้เก็บลำไยขายได้ 6 หมื่นกว่าบาทไม่มากเท่าไร ปลูกลำไยพันธุ์อีดอ เขามารับซื้อถึงในสวน

สำหรับไผ่ ปลูกไว้รับประทานเอง และแจกเพื่อนบ้านบ้าง บางทีคนงานมาตัดไปทานก็ให้ตัดไปเพราะเราต้องการปลูกไว้ทานเอง มีทั้งไผ่หวาน ไผ่ตง และไผ่รวก

ผลไม้หลักๆ ที่ขายแล้วได้เงินก็ยังมี น้อยหน่า แก้วมังกร ส่วนพืชผักสมุนไพร พืชสวนครัวมีเยอะเลยสามารถเก็บเอาไปขายได้เงินทุกอย่าง ทำเพื่อเลี้ยงตัวไม่หวังเป็นธุรกิจ แต่เมื่อมันมากเข้าๆ รายได้ที่เข้ามาอย่างละเล็กละน้อย รวมกันแล้วก็ไม่น้อยสักเท่าไร

“มาปีนี้จะชนกับอ้อยที่ลงปลูกเอาไว้ มันสำปะหลังก็ใกล้เก็บ พอเก็บขายก็คงมีสตางค์เก็บบ้าง อ้อยปลูกไว้ 41 ไร่ มันสำปะหลัง 5 ไร่ ทั้งแปลงปลูกแบบระบบน้ำหยด เหล่านี้เป็นความสุข ต้องบอกว่า เดี๋ยวนี้มีความสุขแล้ว ต่างจากเมื่อครั้งมาอยู่ใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยสุขเท่าไร เรารู้สึกไม่ชอบเพราะเราเคยมีชีวิตอยู่กับสิ่งที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่เมื่อผลผลิตเก็บได้ ทุกสิ่งที่เราปลูกไว้ มันให้ผลผลิตตอบแทนเรากลับมา เราก็เริ่มมีความสุขและสนุกกับมัน”

ในท้ายที่สุด คุณปราณี บอกว่า การทำแบบนี้ต้องมีใจรัก และต้องอดทน เพราะเมื่อผลผลิตออกมาแล้วเราจะยิ่งมีความสุขแบบชีวิตพอเพียง รางวัลที่ได้คือ ความภาคภูมิใจ ส่วนผลผลิตที่ออกมาคือ ความสุขและความสำเร็จ หากสนใจมาดูสวนเกษตรผสมผสานก็มาได้เลย โทร.มาก่อนที่ 083-952-0371 ยินดีต้อนรับ