จันทน์ลีลา แก้ไข้เปลี่ยนฤดู

ฉบับนี้ ขอแหวกความคุ้นชินด้วยการเขียนถึงยาตำรับดั้งเดิมของไทย นั่นคือ ยาจันทน์ลีลา ซึ่งประกอบด้วย โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือจันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก อย่างละ 4 ส่วน และพิมเสน 1 ส่วน

สรรพคุณเด่นของจันทน์ลีลาที่ใช้กันมาแต่เดิมคือ แก้ไข้และแก้ตัวร้อน โดยที่สรรพคุณแก้ไข้นั้นผู้เขียนสืบค้นจนทราบว่า มีการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มให้ยาพาราเซตามอล กลุ่มไม่ให้ยาพาราเซตามอล และกลุ่มให้ยาจันทน์ลีลา พบว่า จันทน์ลีลา (ตำรับที่พัฒนาขึ้นใหม่) มีฤทธิ์ลดไข้ได้ดีไม่แพ้ยาพาราเซตามอล อีกทั้งไม่มีผลข้างเคียงและการสะสมในตับระยะยาวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาแก้ไข้ตามองค์ความรู้และการใช้ของแพทย์แผนไทยนั้นมีอยู่หลากหลาย ทั้งที่เป็นสมุนไพรเดี่ยวและยาตำรับ ผู้เขียนจึงแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับยาแก้ไข้ โดยเฉพาะจันทน์ลีลากับอาจารย์และรุ่นพี่ที่อยู่ในแวดวงนี้บางท่าน ทำให้ได้มุมมองที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยหวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้มีการครุ่นคิด แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ผู้เขียนได้ข้อมูลว่า แพทย์แผนไทยบางท่านมีความเห็นว่า ยาจันทน์ลีลานั้นน่าจะเหมาะกับไข้เปลี่ยนฤดู อาจกล่าวได้ว่าไข้เปลี่ยนฤดูเป็นสภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับคุณสมบัติของความร้อนเย็นและความแห้งชื้นที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล หากจะมียาตำรับที่สามารถใช้แก้ไข้เปลี่ยนฤดูโดยไม่จำกัดว่าจะจากฤดูไหนไปสู่ฤดูไหน หรือพูดอีกอย่างว่าสามารถเอาอยู่กับไข้ที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูได้ทุกฤดู ยาตำรับนั้นน่าจะต้องประสมและผสานด้วยตัวยาที่มีฤทธิ์ร้อนและเย็น เนื่องจากฤดูกาลในรอบหนึ่งปีมีทั้งที่เปลี่ยนจากร้อนมาเย็นและเย็นไปร้อน หรือเปลี่ยนจากแห้งมาชื้นหรือชื้นไปแห้ง

นอกจากนี้ อาการร่วมหรือปัจจัยที่มีส่วนทำให้เป็นไข้ (นอกจากการเปลี่ยนแปลงของความเป็นไปได้ในแต่ละฤดู) ยังมีเรื่องของไฟย่อยอาหารที่บกพร่องลง ระบบขับถ่ายที่ผิดปกติ (ท้องผูก) และการระบายถ่ายความร้อนออกทางรูขุมขนไม่โล่งลื่นอย่างที่ควร

หากพิจารณาจากกรอบความคิดข้างต้น ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สรรพคุณแก้ไข้ของยาจันทน์ลีลาจะสามารถใช้แก้ไข้ได้ครอบคลุม ตั้งแต่ไข้ที่เกี่ยวเนื่องกันหรือเกิดจากความร้อน (มักจะไข้สูงและกำเริบในช่วงเที่ยงวันหรือเที่ยงคืน) ไข้ที่เกี่ยวเนื่องกับความเย็นและแห้ง (ไข้มักจะไม่สูงมากมีอาการหนาวสะท้าน ไข้กำเริบตอนเย็นหรือตอนใกล้รุ่ง) ไปจนถึงไข้ที่เกี่ยวเนื่องจากความชื้น (มีอาการหนักเนื้อหนักตัว ไข้ต่ำ อาการมักกำเริบในช่วงเช้าหรือช่วงค่ำ)

ที่ตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ เนื่องจากยาจันทน์ลีลามีทั้งตัวยาที่มีฤทธิ์เย็น (จึงลดไข้) อย่างแก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว และรากปลาไหลเผือก มีตัวยาแก้ไข้ที่มีฤทธิ์ค่อนไปทางร้อน อย่างบอระเพ็ด ส่วนโกฐสอ โกฐเขมา และโกฐจุฬาลัมพา เป็นยาร้อนที่มีส่วนช่วยเพิ่มไฟย่อยและทำให้ช่องในร่างกายโล่งขึ้น จึงช่วยระบายถ่ายเทความร้อนที่เพิ่มขึ้น (ในกรณีของไข้ร้อน) หรือถูกกักตัวในร่างกาย (ในกรณีของไข้เย็น) ออกไปได้

ขอบคุณข้อมูลจาก ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว คอลัมน์ พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 122 ประจำเดือนสิงหาคม 2556