กศน.กระบี่ พัฒนาการศึกษาต่อเนื่อง ส่งเสริมอาชีพ-อนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น

จังหวัดกระบี่ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามมากมายที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน ทั้งหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ปะการังที่งดงาม มีถ้ำ และเกาะน้อยใหญ่ กว่า 130 เกาะ เช่น เกาะลันตา เกาะพีพี  เกาะจำ เกาะปู ฯลฯ  ส่งผลให้ ปี 2562 จังหวัดกระบี่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 115,176 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองจาก กทม. ภูเก็ต และชลบุรี

ด้านการศึกษา จังหวัดกระบี่ ก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร ก่อนสิ้นปี 2563 รัฐบาลจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 ณ กลุ่มอันดามัน ในโอกาสนี้ ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดการศึกษา กศน.จังหวัดกระบี่ พบว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดกระบี่ ดำเนินงานตามนโยบาย กศน. WOW ครบถ้วนในทุกมิติ​ ทั้งกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาตามอัธยาศัย ช่วยพัฒนาศักยภาพผู้เรียน และประชาชน ทุกช่วงวัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ ลงพื้นที่ติดตามการจัดการศึกษา กศน.จังหวัดกระบี่

ในปี 2562 จังหวัดกระบี่ ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบวัฒนธรรมการอ่านประเภทเครือข่ายการอ่านยอดเยี่ยม ได้รับถ้วยรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และปี 2563 กศน.ตำบลปลายพระยา นำนโยบาย กศน. WOW สู่การปฏิบัติ โดยประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต จนคว้ารางวัล กศน.ตำบลต้นแบบ 5 ดีพรีเมี่ยมระดับภาคใต้ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของ กศน.อำเภอขนาดใหญ่ในหลายจังหวัดเดินทางมาศึกษาดู

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า การศึกษาถือเป็นรากฐานเสมือนการปลูกต้นไม้ให้แข็งแรง กิ่งก้านสาขาแผ่เจริญงอกงามได้ ก็ต้องมีการดูแลบำรุงที่ดี ซึ่งการนำปราชญ์ ภูมิปัญญา และความร่วมมือของทุกคนมามีส่วนร่วม ก็เป็นเหมือนปุ๋ยให้ครู กศน.ได้สร้างรากแก้วทางการศึกษา หยั่งรากลึก สร้างความเจริญเติบโตให้ต้นไม้ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงต่อไป

คณะครู กศน.จังหวัดกระบี่ กับผลงานส่งเสริมอาชีพชุมชน

กศน.จังหวัดกระบี่ ส่งเสริมอาชีพชุมชน

ที่ผ่านมา สำนักงาน กศน.จังหวัดกระบี่ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่เกิดจากวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าเรียนรู้และเป็นเอกลักษณ์เด่นของชุมชนท้องถิ่น  ได้แก่

กริช (kris) ซึ่งในภาษามลายู แปลว่า มีดสั้น ขณะที่ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า กรือเระฮ์ ในวิถีชีวิตชาวมุสลิม ถือว่า กริช เป็นทั้งอาวุธและวัตถุมงคล จึงเกิดกระแสความนิยมสะสมกริชของเก่าที่มีคุณค่าสูงกันอย่างแพร่หลาย ที่ผ่านมา นายวิชัย จำนงค์ชัยรัตน์ ครู กศน. ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ได้ประชุมเวทีชาวบ้านเพื่อหาความต้องการด้านอาชีพในพื้นที่ตำบลทุ่งไทรทอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนใจอาชีพตีเหล็ก จึงได้เชิญ นายลำเนา ปานอ่อน ปราชญ์ท้องถิ่นด้านที่มีความรู้และทักษะในการตีเหล็กมาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจ

กศน. ตำบลทุ่งไทรทอง สนับสนุนให้ชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มตีเหล็กบ้านสะพานพนขึ้น ระยะแรกการตีเหล็กเน้นไปทางเครื่องมือทางการเกสร เช่น จอบ พร้า เสียม ฯลฯ ต่อมาได้พัฒนาเป็นการผลิตกริช มีดสั้น ขอช้าง เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว กลายเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอลำทับ ปัจจุบัน กศน.ตำบลทุ่งไทรทอง สนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนผลิตกริช หรือมีดสั้น จากเศษวัสดุของเหลือใช้คุณภาพดี มารีไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในลักษณะงาน Handmade โดยจำหน่ายในราคาชิ้นละ 1,400 บาท

เรือหัวโทงจำลอง

เรือหัวโทง เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นศิลปะงานไม้ซึ่งใช้งานได้จริง ทนทานต่อคลื่นลมทะเล ทั้งเป็นจุดขาย เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการท่องเที่ยวทะเลไทยฝั่งอันดามันของจังหวัดกระบี่ การต่อเรือหัวโทง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวประมงพื้นบ้านตำบลตลิ่งชัน ที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องการต่อเรือหัวโทงในกลุ่มเครือญาติกันจากรุ่นสู่รุ่น การต่อเรือต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝนในทุกขั้นตอน ซึ่งเรือหัวโทงส่วนใหญ่ทำจากไม้ทัง หรือไม้พะยอม ซึ่งทนเพรียงได้ดี

เรือหัวโทง เป็นเรือหางยาว หัวเชิด สูง เพรียวลม มีแพนเรือยื่นออกมาด้านท้ายเรือ รูปทรงคล้ายกระบี่ ช่วยยกเรือขึ้นเหนือผิวน้ำ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในทะเลสะดวกและปลอดภัยแล้ว ยังใช้เรือหัวโทงเป็นเรือประมงพื้นบ้าน ล่องเรือไปวางอวนจับกุ้ง ปู ปลา รวมทั้งใช้เป็นพาหนะในการเดินทางและการขนส่งผู้คนและสินค้ามาอย่างยาวนาน กศน. ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตเรือหัวโทงจำลอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนออกจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจเป็นสินค้าของที่ระลึกอันทรงคุณค่าของจังหวัดกระบี่ โดยจำหน่ายเรือหัวโทงจำลอง ในราคาลำละ 950 บาทขึ้นไป

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ ชื่มชมผลงานจักสานตะกร้าไม้ไผ่

เครื่องจักสานไม้ไผ่ ภาคใต้มีลมมรสุมพัดผ่านเกือบตลอดปี ชาวบ้านจึงนิยมปลูกไม้ไผ่เป็นรั้วเพื่อกำบังลมและลดการพังทลายของดิน นอกจากนี้ ยังนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น กระด้ง ตระกร้า ฯลฯ  กศน.ตำบลนาเหนือ อำเภออ่าวลึก สนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตสินค้าเครื่องจักสานไม้ไผ่จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีความปราณีตออกจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ในราคาขายชิ้นละ 100-200 บาท

ร่วมอนุรักษ์พืชพื้นถิ่น “เตยปาหนัน”

นอกจากนี้ เตยปาหนัน พืชตระกูลปาล์ม ซึ่งหลายคนรู้จักในชื่อ ต้นลำเจียก หรือเตยทะเล หรือเตยหนาม เป็นวัสดุพื้นบ้านอีกชนิดที่นิยมใช้ทำเครื่องจักสานในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเตยปาหนัน เป็นพืชท้องถิ่นที่มักขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลน ริมหาดชายทะเล ลักษณะลำต้นเป็นกอ และแตกกิ่งใบยาว เป็นพุ่ม ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามอายุและสภาพดิน ลำต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร

ต้นเตยปาหนัน

ใบเตยปาหนัน จะมีสีเขียวยาว มีรูปพรรณคล้ายกับใบเตยหอม ต่างกันที่ใบเตยปาหนันนั้น จะมีหนามริมใบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านข้าง 2 ด้าน และตรงกลางหลัง นำมาแปรสภาพเป็นตอก ใช้สานเป็นภาชนะต่างๆ ได้ โดยนำใบมาลนไฟพอให้เป็นมัน กรีดเส้นกลางใบออกและลิดเอาหนามริมใบออกด้วย แล้วใช้ไม้ไผ่รีดหรือขูดให้เป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ มัดรวมกันเป็นกำ แช่น้ำไว้ 2 วัน จากนั้นเอาขึ้นตากแดดให้แห้งสนิทจึงนำไปสาน ถ้าต้องการให้มีสีก็นำไปย้อมด้วยสีต่างๆ ตามต้องการก่อนนำไปใช้จักสานรูปแบบต่างๆ

ผลิตภัณฑ์จักสานเตยปาหนัน

ใบเตยปาหนัน มีความเหนียวกว่าเตยชนิดอื่นๆ นิยมจักสานเป็นเสื่อปูนั่ง หมวก หมอน หมุกยา หมุกใส่ของใช้ต่างๆ ทั้งนี้ เสื่อ หรือที่ชาวใต้ เรียกว่า “สาด” มีความสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมประเพณีชาวบ้าน เช่น ใช้เป็นเสื่อสำหรับนำติดตัวไปวัด ไปสุเหร่า หรือใช้สำหรับรองศพผู้ตายก่อนนำไปฝัง ใช้เสื่อสำหรับพิธีแต่งงานของบ่าวสาวชาวไทยมุสลิม ในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่บ้านคลองหมาก ตำบลคลองหมาก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ มีอาชีพการสานเสื่อใบลำเจียกมาอย่างยาวนานหลายแห่ง เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในจังหวัดสงขลา นราธิวาส และปัตตานี

กศน.ตำบลกำแพง อำเภอละงู อบรมอาชีพจักสานเตยปาหนัน

เนื่องจากเตยปาหนัน เป็นพันธุ์ไม้ที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำเป็นเครื่องจักสาน เป็นอาชีพสร้างรายได้ชุมชน ซึ่งปัจจุบันเริ่มที่จะหมดไปจากป่าทุ่งทะเล เนื่องจากมีการบุกรุกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา ตั้งแต่ปี 2554 จังหวัดกระบี่ สำนักงาน กศน.จังหวัดกระบี่ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินโครงการปลูกเตยปาหนันและพันธุ์ไม้ชายฝั่ง เช่น ต้นโพธิ์ทะเล ต้นจิกทะเล และต้นกระทิง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งให้สมบูรณ์และยั่งยืน เป็นการส่งเสริมอาชีพการจักสานเตยปาหนัน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวตำบลเกาะกลาง ปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และลดภาวะโลกร้อน

ดอกปาหนัน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และกระทรวงวัฒนธรรม