กล้วยเบรกแตก โครงการสร้างรายได้เพื่อเกษตรกรรายย่อย ที่ชัยนาท

กล้วยน้ำว้าเป็นพืชอาหารที่มีความใกล้ชิดกับคนไทยมาเนิ่นนานแล้ว สมัยก่อนเก่าเด็กเกิดมาก็จะใช้กล้วยน้ำว้าสุกงอมบดป้อนให้เด็กได้กิน ซึ่งจะพบได้ตามชนบททั่วไปในปัจจุบัน แต่ตามหลักการแพทย์นั้นอาจทำให้เด็กท้องอืดเป็นอันตรายได้ถ้าเป็นเด็กแรกเกิด จึงควรใช้กับเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป   

ผู้เขียนได้ติดตามดูแลการเกษตรของเกษตรกรในเขตของตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท พบว่าเกษตรกรนิยมปลูกกล้วยน้ำว้ากันมากบริเวณหลังบ้านพักและหัวไร่ปลายนา อีกทั้งปลูกในสวนไม้ผลที่ปลูกใหม่เพื่อเป็นร่มเงาให้กับไม้ผลที่ยังไม่แข็งแรงและเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งก่อนที่จะได้ผลผลิตหลัก

ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 215 ไร่ แต่การดูแลรักษานั้นมีไม่มากนักส่วนใหญ่จะปล่อยทิ้ง ดังนั้น จึงขอให้ดูแลบ้าง เพียงหมั่นแยกหน่อทิ้งบ้าง ในกอหนึ่งๆ ควรมีกล้วยประมาณ 2-4 ต้น จะได้ไม่แย่งอาหารกัน เมื่อกล้วยออกดอก (ปลี) และติดผลเต็มที่แล้ว ควรตัดปลีที่เหลือทิ้ง ผลกล้วยจะโตได้รวดเร็วและให้ผลขนาดใหญ่

ปัญหาที่พบคือผลผลิตที่มีออกมากในฤดูกาลจะมีมากทำให้ราคาตกต่ำ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรนำมาแปรรูป เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ดังนั้น ในช่วงนี้กล้วยน้ำว้าออกสู่ตลาดมาก จึงขอนำผู้อ่านรับทราบการแปรรูปกล้วยภายใต้โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ของอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท

คุณศุทธินี ฉิมแป้น ประธานเกษตรกรกลุ่มย่อย รดน้ำถั่วงอกอินทรีย์ทุกๆ 3 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน

คุณศุทธินี ฉิมแป้น เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 45 ปี ประธานกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติบ้านท่าแก้ว เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมาทำการเกษตรเคยทำงานเป็นธุรการในบริษัทเอกชน แม้ว่าเงินเดือนจะมากพอประมาณแต่เมื่อดูความมั่นคงและความสุขที่แท้จริงนั้นไม่มี จะได้รายรับเป็นรายเดือนและใช้หมดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับอีกเมื่อสิ้นเดือนเป็นแบบนี้ จึงต้องมาทบทวนและตัดสินใจหวนกลับคืนถิ่นเพื่อสร้างงานในพื้นที่ของครอบครัว

แต่เมื่อดำเนินงานผ่านมาระยะหนึ่ง ได้แนะนำให้สามี คุณสามารถ ฉิมแป้น ไปเข้าร่วมอบรม “ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์” กับสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แนวคิดและองค์ความรู้ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนและพัฒนากิจกรรมทางด้านการเกษตรมาโดยตลอด ส่วนใหญ่จะเน้นหนักในเรื่องของความปลอดภัย และตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

คุณชัด ขำเอี่ยม เกษตรอำเภอหันคา เยี่ยมเยียน ติดตามการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกร

แต่เมื่อมองดูเพื่อนเกษตรกรแล้วต้องเป็นห่วงเพราะในสถานการณ์ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ราคาตกต่ำ ข้าวราคาถูก แต่ต้นทุนสูง ทำให้มีสภาวะด้านการเงินไม่พอใช้จ่ายในครัวเรือน และผลผลิตล้นตลาด เพราะปลูกพร้อมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า

ซึ่งก่อนนี้กล้วยมีการปลูกกันมาก เนื่องจากราคาแพง ทำให้มีคนปลูกมากขึ้น จึงให้ราคาถูกลงมาก และบางคนไม่สามารถขายได้ เพราะไม่มีคนมาซื้อ จึงต้องหาวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยอบเนย และทำการเพาะถั่วงอกอินทรีย์ เพื่อเสริมรายได้ไปอีกทางหนึ่ง ให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น

สมาชิกล้อมวงใช้มีดสไลซ์กล้วยให้เป็นแผ่นบางๆ
สินค้ากล้วยฉาบ (กล้วยเบรกแตก) พร้อมจำหน่าย

ดังนั้น เมื่อมีโครงการเสริมสร้างรายได้เพื่อเกษตรกรรายย่อย จึงรวมกลุ่มเป็นกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติบ้านท่าแก้ว มีสมาชิกจำนวน 30 ราย ที่ทำการอยู่ที่ 116 หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีอาชีพเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากอาชีพทำนา มีการนำสินค้าทางการเกษตรมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น และปรับเปลี่ยนและพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่องให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อจัดทำแผนธุรกิจเสนอต่อคณะกรรมการ ดังนี้คือ

กล้วยอบเนย (กล้วยอบเนยเบรกแตก) ปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 400 กิโลกรัม ต่อเดือน รวมรายรับสุทธิประมาณ 14,000 บาท ต่อเดือน

การเพาะถั่วงอกอินทรีย์ในปัจจุบัน ปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 1,200 กิโลกรัม ต่อเดือน รวมรายรับสุทธิประมาณ 18,000 บาท ต่อเดือน

คุณพรทิพย์ นิลวิสุทธิ์ เกษตรตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ ดูการเพาะถั่วงอกอินทรีย์ ที่คุณศุทธินี ฉิมแป้น ประธานเกษตรกรกลุ่มย่อยเปิดให้ชม

คุณศุทธินี กล่าวเสริมว่า งบประมาณที่ได้รับเพื่อนำมาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และวัตถุดิบหมุนเวียนในการทำกล้วยอบเนย (น้ำตาล เนย เกลือ) ซึ่งมีวิธีการทำไม่ยุ่งยากมากนักคือ นำกล้วยมาปอกเปลือก แช่น้ำสารส้มเพื่อไม่ให้ดำจากยางกล้วย แล้วทำการสไลซ์กล้วยเป็นแผ่นบางๆ จะทำให้กล้วยฉาบมีความกรอบอร่อย (จึงตั้งชื่อกล้วยเบรกแตก อร่อยจนหยุดไม่อยู่) ทิ้งไว้ให้แห้งหมาดๆ ผสมน้ำตาล เนย เกลือเข้าด้วยกัน จากนั้นนำกล้วยลงทอดพร้อมกับส่วนผสมน้ำตาล เนย เกลือที่ทำไว้ ตามอัตราที่กำหนด ทอดจนเหลือง นำขึ้นพักไว้จนเย็น จนได้ความกรอบ ทำการบรรจุลงถุง ตามที่ลูกค้าต้องการ

นำกล้วยที่สไลซ์ให้บางทิ้งไว้จนแห้งหมาดๆ นำมากระจายให้พร้อมที่จะลงทอดในน้ำมันผสมเครื่องปรุง
นำกล้วยลงทอดในน้ำมันที่ผสมเครื่องปรุงให้สุกเหลือง

สำหรับการเพาะถั่วงอกอินทรีย์ นำงบประมาณจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และวัตถุดิบหมุนเวียนในการทำเพาะถั่วงอก แล้วทำการเพาะถั่วงอก โดยการแช่น้ำทำความสะอาดถั่วเขียว แช่น้ำอุ่น แล้วทำการโรย หลายๆ ชั้น โดยมีกระสอบป่านขั้นแต่ละชั้น แล้วทำการรดน้ำในเวลากลางวันทุก 3 ชั่วโมง ประมาณ  3 วัน ก็ทำการเก็บ และบรรจุจำหน่ายได้ ผู้สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ (081) 755-6537 ยินดีต้อนรับค่ะ

คุณเกษม ไตรพิจารณ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเสริมถึงผู้อ่านว่า จังหวัดชัยนาทมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางด้านพืชพันธุ์ธัญญาหาร อีกทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมากมายเหมาะที่จะได้มีการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มเกษตรกรรายย่อย กลุ่มต่างๆ ของจังหวัดชัยนาทนั้น มีมากมายหลายอย่างท้าทายการลองลิ้มรสชาติหรือนำไปใช้ของผู้บริโภคซึ่งจะไม่ได้รับเพียงสินค้าที่ทรงคุณภาพเท่านั้นที่ได้รับ แต่ยังมีส่วนสร้างงานสร้างรายได้ สร้างกำลังใจเกิดความคิดสร้างสรรค์ ก่อเกิดความเข้มแข็งของชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป