โคราช “เมืองหลวงมันสำปะหลัง” ถูกโจมตีด้วยโรคไวรัสใบด่าง ข้าวโพดประสบปัญหาหนอนกระทู้ลายจุดทำลายในแปลงพื้นที่มากที่สุด เดือดร้อนทั้งจังหวัด รัฐเยียวยาด่วน!!

ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในขณะนี้ เป็นปีแห่งความทุกข์ระทมของบรรดาพี่น้องชาวไร่ ชาวนา ที่ต้องมาผจญกับปัญหาไม่สิ้นสุดทั้งตลอดปี

อดีตที่ผ่านมา ราคาสินค้าพืชไร่ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทุกชนิดราคาตกต่ำติดต่อกันมาหลายปี เกษตรกรยากจนลง ขายสินค้าไม่ได้กำไร มีแต่จะขาดทุน

คุณวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับประธาน

ภายหลังมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นมาจนฟอร์มทีมรัฐบาลใหม่ราวกลางปี 2562 เกษตรกรได้มีผู้แทนราษฎรเป็นที่พึ่งแล้ว ที่จะเป็นปากเสียงให้พี่น้องเกษตรกรได้เข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกษตรกรประสบอยู่ เพื่อหวังได้ราคาพืชผลเพิ่มมาได้บ้าง

พลันก็เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่า ในช่วงฤดูฝน แต่กลับเป็นฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่ผ่านมา เกษตรกรเจอภาวะแล้ง ต้องสูญเสียพืชผลยืนต้นตาย เพราะความแห้งแล้งของต้นข้าว ต้องลงทุนปลูกซ่อมใหม่ รวมทั้งเมล็ดข้าวโพด เป็นเหตุให้เสียเวลาและเงินที่จ่ายไป หวังแก้ตัวใหม่ว่ากันอย่างงั้น

.(ขวา) ส.ส.วีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา วิสามัญปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

แต่แล้วมาเดือนสิงหาคม เกษตรกรไร่มันสำปะหลังหลายจังหวัดในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 9 จังหวัด ต้องถูกโรคไวรัสใบด่างเข้ามาระบาดในแปลงที่ต้องทำลายทิ้งหมดเพราะไม่มียาชนิดใดรักษาได้ ต้องเผาทิ้ง และกลบทิ้งเท่านั้น อาทิ จังหวัดสระแก้ว ต้องถูกไวรัสใบด่างทำลายหมด 2 แสนไร่ ทั้งจังหวัด ถัดมามีจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง หนองคาย อุบลราชธานี ล้วนมีการระบาดรุนแรงสุด

พอฝนหยุดทิ้งช่วงหายไป 2 เดือน กลับมาตกหนัก ถูกพายุโพดุลถล่มอย่างหนัก ปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัดตามที่เป็นข่าว น้ำท่วมไร่นา มันสำปะหลัง ข้าว และข้าวโพด สัตว์เลี้ยงหายจมน้ำไป ประเมินค่าเสียหายไม่ได้ เพราะภัยจากธรรมชาติทั้งสิ้น ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความโศกเศร้าของเกษตรกร และประชาชนจากอุทกภัยน้ำท่วมจนไม่มีที่พักพิง รัฐบาลเร่งออกมาช่วยเหลืออย่างน่าเวทนา

พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรที่นครราชสีมา ถูกหนอนกระทู้ลายจุดระบาดหนัก

เป็นเหตุการณ์สะเทือนใจที่บรรดาชาวบ้านเกษตรกรในถิ่นน้ำท่วมเดือดร้อนแสนสาหัส สูญเสียไร่นา พืชไร่ สัตว์เลี้ยง บ้านเรือนและทรัพย์สินที่จมหายไปกับน้ำ สุดเยียวยา

การได้มีโอกาสมาร่วมสัมมนาปัญหาพืชไร่ของเกษตรกรชาวจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวะที่พอดีกับเกษตรกรประสบปัญหาโรคระบาดมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน ส่วนใหญ่ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นเกษตรกรปลูกพืชกับปัญหานี้พอดี

โคราช เมืองหลวงมันสำปะหลัง

ในจังหวัดนครราชสีมาได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงมันสำปะหลังอย่างแท้จริง รองลงมาเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวานที่ลือชื่อ

หากย้อนไปอีกกึ่งศตวรรษ เมืองหลวงมันสำปะหลังแห่งแรกเป็นของจังหวัดชลบุรี และระยอง รองลงมา

แต่ปัจจุบันเป็นสมบัติผลัดกันชม เมืองหลวงมันสำปะหลังตกเป็นของชาวโคราชไปแล้วอย่างสิ้นเชิง รองลงมาเป็นของกำแพงเพชรและชัยภูมิ ปริมาณการผลิตสูสีกัน ประมาณร่วม 7 แสนไร่ ส่วนจังหวัดนครราชสีมา ตัวเลขยังไม่ชัดเจน ประมาณ 2.5 ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิตเกือบ 8 ล้านตัน มากสุดเป็นอันดับ 1 ส่วนรองลงมา ประมาณ 1.5-18 ล้านตัน แล้วตามมาด้วยจังหวัดกาญจนบุรี

อาการของโรคไวรัสใบด่าง ที่ไม่มีทางรักษาได้ นอกจากทำลายเผาทิ้ง หรือฝังกลบให้ลึกลงในดิน

ถ้าคิดปริมาณการผลิตทั้งประเทศปลูกมันสำปะหลังทั้งหมด 51 จังหวัด ผลผลิตประมาณ 30-32 ล้านตัน แต่คาดการณ์ไว้มาปีนี้คงเหลือประมาณ 2.6-2.7 ล้านตัน เหตุผลด้านโรคระบาดไวรัสใบด่าง ต้นตอของโรคระบาดร้ายแรงสุดที่มาจากประเทศแอฟริกา แล้วติดต่อมาที่อินเดีย พม่า หรือเมียนมา เข้าเวียดนาม ลาว กัมพูชา เข้าสู่ไทยรอบชายแดน

ผลกระทบจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดติดชายแดน สระแก้ว ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านกันนี่เอง!!

ชาวเกษตรกรโคราช ยื่นร้องเรียนความเสียหายข้าวโพด และมันสำปะหลังให้ประธานอนุกรรมาธิการ และประธานคณะกรรมาธิการทราบ

ไม่แปลกที่โคราชมีอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นโรงงานจำนวนมากเพื่อระบายสินค้ามันสำปะหลังที่มีเกษตรกรคอยปลูกป้อนวัตถุดิบให้ อาทิ โรงงานแป้งมัน มันอัดเม็ด มันเส้น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อื่นๆ อีกมากมาย เพราะมันสำปะหลังนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มที่ผลิตออกมา เป็นทั้งเครื่องสำอาง กาวอย่างดี กระดาษ เอทานอล หรือกากมัน ใช้ทำเป็นไบโอก๊าซ เป็นก๊าซมีเทน นำไปต่อยอดเป็นกระแสไฟฟ้า ส่วนกากที่เหลือสุดท้ายนำไปใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพต่อต้นไม้ได้อย่างวิเศษของเนื้อปุ๋ย NPK (เอ็นพีเค) ด้วยคุณสมบัติของมันสำปะหลังที่ในอดีตเป็นพืชขี้เหร่ ทนแล้ง ราคาถูกจากหัวมัน ไม่นิยมปลูกกัน วันนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งออกไปขายต่างประเทศปีละหลายแสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 จึงได้มีโอกาสที่ติดตามมาฟังการสัมมนา ณ หอประชุมเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดนครราชสีมา โดยมี คุณวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องข้าวโพดและมันสำปะหลัง สภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานเปิดการสัมมนา “การมีส่วนร่วมของเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาข้าวโพดและมันสำปะหลัง ทั้งโรคระบาดและราคา” โดยมี คุณอนันต์ ผลอำนวย ประธานอนุกรรมาธิการ พร้อมสมาชิกสภาผู้แทน อนุกรรมาธิการ ร่วมกันแก้ไขปัญหา

คุณรังษี ไผ่สะอาด นายกสมาคมไร่มันสำปะหลัง และอนุกรรมาธิการ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณสมชัย ศรีอ่อน และได้รับการยืนยันว่า ครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือชาวไร่มันสำปะหลังที่เสียหาย

รายนาม ส.ส.ในกลุ่มของโคราช ประกอบด้วย ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.พรชัย อำนวยทรัพย์ ส.ส.สุชาติ ภิญโญ ส.ส.เกษม ศุภรานนท์ เข้าร่วมสัมมนา

เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการค้าพืชผลทางการเกษตรได้แสดงความคิดเห็น และชี้แจงปัญหาเพื่อนำข้อมูลไปสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหาและเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม

หลังจาก คุณอนันต์ ผลอำนวย รองประธานอนุกรรมาธิการ กล่าวรายงานแล้ว

คุณวิเชียร จันทรโณทัย ได้กล่าวต้อนรับคณะแล้วได้สรุปภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อหาใจความไว้ดังนี้ พอสังเขป

จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ทั้งหมด 12.8 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 8.9 ล้านไร่ มีพืชเศรษฐกิจเป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยขณะนี้ประสบจากปัญหาภัยแล้ง จำนวน 29 อำเภอ 247 ตำบล 3,000 หมู่บ้าน เชื่อว่าจะเกิดการเสียหายของภาคเกษตร 3.5 ล้านไร่เศษ หรือร้อยละ 39 ของพื้นที่

สำหรับการระบาดของหนอนกระทู้ในข้าวโพด มี 16 อำเภอ รวม 163,657 ไร่ ร้อยละ 22.8 ของพื้นที่

โรคใบด่างระบาด 7 อำเภอ รวม 6,811 ไร่ ร้อยละ 0.39 ของพื้นที่เพิ่งเริ่มระบาด

แนวทางแก้ไขได้นำเอาภาครัฐและเอกชนสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรได้ป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี ขณะเดียวกัน ก็ลงในพื้นที่กำจัดหนอนกระทู้ในข้าวโพด จนสามารถควบคุมการระบาดได้ระดับหนึ่ง มีมาตรการทำลายและห้ามเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ภายหลังสิ้นสุดการรายงานพื้นที่การเกษตรของจังหวัดลงแล้ว ก็ได้มีการอภิปรายของบรรดาเกษตรกรทั้งหลายที่มาร่วมสัมมนาจากทุกอำเภอ มีเกษตรกรเข้าร่วม 450 คน และจังหวัดใกล้เคียงคือ ชัยภูมิ มาร่วมด้วยจำนวนเล็กน้อยที่มีผลกระทบด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ทางอนุกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาร่วมรับฟังและเสนอแนวคิดการแก้ปัญหา ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฯลฯ เข้าร่วมการสัมมนาและชี้แจงให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาได้เข้าใจ

ส.ส.ขุนพล มันสำปะหลังโคราช (ขวา) รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตอบข้อข้องใจปัญหาข้าวโพดถูกหนอนกระทู้ระบาดกลางงานสัมมนาที่โคราช

หากจะกล่าวถึงภาพรวมของการอภิปรายของเกษตรกรที่สนใจ และได้รับความเดือดร้อน พอสรุปประเด็นของปัญหาได้หลายประเด็นที่เกษตรกรเดือดร้อน และถามหาหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ

ประเด็นแรก ปัญหามากสุดจากหลายอำเภอเดือดร้อนเรื่องหนอนกระทู้ลายจุดเข้ามาระบาดในแปลงข้าวโพด จนฉีดยาป้องกันกำจัดไม่หาย เสียค่าใช้จ่ายสูงถึงกับขาดทุน ทนไม่ไหว ระบาดหนัก ทุกบ้านใช้สารเคมีไม่เกิดผลดี เสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวทำนองนั้น

ประเด็นที่สอง อยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมปัจจัยการผลิตที่มาไร่พืชผลมีราคาแพง อาทิ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน พันธุ์พืชที่คนกลางเอาเปรียบ ราคาขายสินค้าราคาถูก เกษตรกรแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องกู้หนี้นอกระบบ ต้องการให้ ธ.ก.ส.พักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

ประเด็นที่สาม โรคไวรัสใบด่าง ที่อำเภอเสิงสาง ขาดทุน ราคาท่อนมันสำปะหลังใช้ทำพันธุ์มีราคาแพง รัฐบาลดูแลด้วย

ปัญหาแป้งมัน เชื้อแป้งจะสูงต้องขุดเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม หลังจากนั้น เชื้อแป้งจะค่อยๆ ลดลง แม้ว่าจะขุดมันหนีโรคไวรัสใบด่าง อายุ 4-5 เดือน ได้มันน้อยมาก ต้องอายุ 10-11 เดือน กำลังดี แต่เกษตรกรขุดเพื่อขาย เสียดายที่มีโรคระบาดเข้ามา

เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้เชิญที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวโพด ข้าวฟ่าง ปากช่อง ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ได้อธิบายถึงการกำจัดหนอนกระทู้ ให้เร่งกำจัดวงจรก่อน 3-40 วัน เพื่อไม่ให้ระบาด หรือแมลงหวี่ขาววางไข่ต่อไปได้

คุณรังษี ไผ่สะอาด นายกสมาคมมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ได้ขออนุมัติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนเงิน 272 ล้านบาทแล้ว เพื่อชดเชยโรคไวรัสใบด่าง ไร่ละ 3,000 บาท ควรใช้พันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรค

ส.ส.วิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ ส.ส.โคราช เขตปากช่อง กล่าวถึงปัญหาข้าวโพดเสียหายที่ปากช่อง ลามทั้งจังหวัด

หากเกษตรกรป้องกันโรคไวรัสใบด่างลงได้ ราคามันสำปะหลังจะมีราคาสูงขึ้นในปลายปีถึงต้นปีหน้าแน่นอน เพราะปริมาณการผลิตลดลง

บรรดา ส.ส.ในจังหวัดได้กล่าวถึงกลุ่มเกษตรกรและผู้มาร่วมงานสัมมนาที่จะหาทางเร่งช่วยเหลือ ลดปัญหาที่ตามมานั้นโดยไม่นิ่งนอนใจ ส.ส.ทุกคนต่างทุ่มเทกับงานที่เป็นปัญหากับเกษตรกร

ส่วนข้าราชการที่มาร่วมงานจากส่วนกลาง ได้กล่าวถึงการช่วยเหลือทั้งระบบน้ำชลประทานที่จะมาเสริมปริมาณน้ำที่คันอ่างมากขึ้น เพื่อไว้ใช้ในฤดูแล้งอีก 30%

แต่ละหน่วยงานที่เดินทางมา รวมทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน ได้แนะนำการเบิกจ่ายที่ทางการชดเชย ต้องให้ข้อมูลตรงกัน ด้านเอกสารสิทธิทางการจะไม่ชดเชยในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

ภายหลังการสัมมนาสิ้นสุดลง คุณวีระกร คำประกอบ ได้กล่าวถึงงานวันนี้ถือได้ว่าได้ประโยชน์อย่างมากกับข้อมูลและปัญหาที่ต้องเร่งเยียวยา ก็คือการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่าง และหนอนกระทู้ที่ทำลายข้าวโพดที่สร้างปัญหาให้กับเกษตรกร

โดยคkดว่าในสัปดาห์หน้าจะนำเรื่องเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขออนุมัติงบประมาณมาช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็ว โดยถือว่าจังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองหลวงของมันสำปะหลัง

คงมีผลกระทบของการสูญเสียพืชทั้งสองชนิด ข้าวโพดและมันสำปะหลัง จะทำให้โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังขาดวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งเอเชียและยุโรป

ส่วนข้าวโพดนั้น ปกติอาจต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะไม่เพียงพอกับการใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะอาหารสัตว์ที่ใช้เป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมสัตว์

หวังว่าทางภาคราชการและภาคเอกชนคงต้องรุดหน้าต่อไป เพราะตลาดต่างประเทศ และรายได้เกษตรกรที่หายไปในการประกอบอาชีพ

มีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน เรียกว่าบาดเจ็บทุกฝ่ายว่างั้นเถอะ ต้องมาฟื้นฟูกันใหม่ในปีหน้า ต้องเร่งเยียวยาก่อน