จิสด้า นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ แก้ปัญหาความยากจนให้เกษตร

จิสด้าร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ ภาคีเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จัดกิจกรรมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชนและประชาชน

“เสริมสร้างความเข้าใจความตระหนักในบทบาทของภูมิสารสนเทศเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตภาคการเกษตร เพิ่มโอกาส สร้างรายได้ และแนวทางเลือกที่เหมาะสม ตามแนวทางศาสตร์พระราชา : โคก หนอง นา โมเดล” ณ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

ความร่วมมือดังกล่าวมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อติดตาม และร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญกับทุกภาคส่วนระดับพื้นที่ ในมิติเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากร ซึ่งจากข้อมูล จปฐ. ปี 2560 พบว่า ประชาชน 2,583 ครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมาย 38,000 บาท/ครัวเรือน/ปี มีความสัมพันธ์กับบริบทเชิงพื้นที่ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อทำการออกแบบกลไก เครื่องมือ/เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ การจัดการภัยพิบัติ ในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานของชุมชนของประชาชนในพื้นที่ ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์

ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ GISTDA กล่าวว่า จิสด้าได้ทำการลงสำรวจศึกษาบริบทเชิงพื้นที่เพื่อทำการแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหากับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเข้าไปสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ว่า “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” จะช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาพื้นที่ดินให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร โดยได้อธิบายว่า “ภูมิ+สังคม” GISTDA มีองค์ความรู้และการถ่ายภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ จำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบแบบองค์รวมเชิงพื้นที่ ด้วยการศึกษาบริบทพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น นิสัยใจคอของคนในพื้นที่ เพื่อให้มองเห็นภาพกว้าง มองเห็นพื้นที่ ก่อนลงมือทำลงมือปฏิบัติซึ่งจะเป็นอีกตัวช่วยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น

เพราะแม้จะมีการลงมือปฏิบัติด้วยใจที่เต็มเปี่ยม ความมุ่งมั่นพัฒนา แต่หากขาดองค์ประกอบในเรื่องของข้อมูล เครื่องมือ และกลไกการจัดการร่วมนั้น ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยเฉพาะในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกร ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ มีแนวทางเลือกที่เหมาะสมต่อการพัฒนาการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชา : โคก หนอง นา โมเดล

นายบุญล้อม เต้าแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง กล่าวว่าที่ผ่านมาได้มีการนำประสบการณ์มาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกและน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวคิดหลักที่สำคัญต่อการดำเนินงานในระยะเวลากว่า 8 ปี โดยก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ “สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี” เพื่อพัฒนาร่วมกัน โดยที่ผ่านมาประเด็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่แล้วนั้น จะมีความกังวลและยังคงไม่แน่ใจต่อการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบผสมผสาน และที่สำคัญยังไม่เข้าใจในหลักคิด หลักการตามแนวทางศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ท่านทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

“สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในพื้นที่ คนยากจน ภาระหนี้สิน ปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินเสื่อมสภาพ จะทำอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร จะทำแบบเดิมๆ หรือจะปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ดังนั้นจึงต้องทำตั้งแต่วันนี้ ทำเท่าที่กำลังจะทำได้ก่อน อย่ารอคอยให้คนอื่นมาช่วยอย่างเดียว เกษตรกรไทยจะไม่ยากจนเลย แต่การคิด การพูด ยังไม่พอต้องลงมือทำ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สำรวจตัวเองว่าพร้อมแค่ไหน เพราะตอนนี้หน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ พร้อมแล้ว ที่จะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาทั้งด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก”

ด้าน น.ส.ทิพพรรณ ไชยูปถัมภ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาระบบเครือข่าย สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนสร้างความเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อก้าวไปสู่ “เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข” หากแต่การแก้ไขปัญหาระดับชุมชนซึ่งมีหลากหลายมิติ จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือหลายภาคส่วน

สำหรับการจัดเก็บข้อมูล กชช.2ค และ จปฐ.ถือเป็นข้อมูล เครื่องมือที่สำคัญต่อการประเมินความก้าวหน้าและมาตรฐานการพัฒนาของชุมชน และพร้อมที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชน ชุมชน ผู้นําชุมชน องค์การชุมชนและเครือข่ายชุมชน รวมไปถึงการมาลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนชาวดอนแรดในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ เปิดประสบการณ์ ได้เห็นถึงสภาพพื้นที่ สภาพปัญหา และการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ

การปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรของ คุณพ่อสุนันท์ นามวิชัย ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตตามแนวคิดศาสตร์พระราชา : โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ชื่นชมยกย่อง

“ความร่วมมือภายในพื้นที่ซึ่งเป็นพลังสำคัญยิ่งที่จะสานต่อพลังความร่วมมือกับภายนอก วันนี้หน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้ง จิสด้า, กรมการพัฒนาชุมชน และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พร้อมบูรณาการเชื่อมโยง ข้อมูล องค์ความรู้ สร้างเครือข่าย เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อร่วมวิเคราะห์ วางแผน ติดตามและประเมินผลการพัฒนาชุมชน โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สำหรับบริหารจัดการ (One plan) แผนงาน โครงการ กิจกรรม ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป”

ที่มา มติชนออนไลน์