“ปลาจุดฟ้าอันดามัน ”รสชาติอร่อยเด็ด เป็นที่ต้องการของตลาดในปท.และส่งออก

“ ปลาจุดฟ้าอันดามัน ” ได้รับการยอมรับในวงการนักชิมว่าเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยสุดยอด  เป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศเช่น ฮ่องกง ใต้หวัน และจีน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จึงร่วมกับ กรมประมง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมมือกันผลักดันให้  “ปลากะรังจุดฟ้า ”เป็นอาชีพทางเลือกใหม่แก่ชาวประมง

ในอดีต ชาวประมงนิยมนำลูกปลากะรังจากธรรมชาติมาเลี้ยงในกระชัง ซึ่งปริมาณการเลี้ยงไม่แน่นอน ขณะเดียวกันปริมาณปลาตามธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว  กรมประมงเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงพัฒนาแนวทางเพาะเลี้ยงปลาจุดฟ้าในระบบกระชัง ที่มีอัตราการรอดมีสูงถึง 90% และสามารถเลี้ยงได้ในทุกพื้นที่ที่ติดชายทะเล สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ ในกระชังอย่างแพร่หลายทั้งในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

“ จุดฟ้าอันดามัน ”  

คำว่า “ จุดฟ้าอันดามัน”  เป็นชื่อเรียกใหม่ของปลากะรังจุดฟ้า  ในอดีตชาวประมงส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการเรียกปลากะรังตามภาษาท้องถิ่นว่า ปลาเก๋า ปลาตุ๊กแก ปลากุดสลาด ขณะที่ชาวประมงฝั่งภาคตะวันออกนิยมเรียกปลาชนิดนี้ว่า ปลาย่ำสวาท   โดยธรรมชาติ ปลาชนิดนี้ มักอาศัยอยู่ตาม แนวหินหรือแนวปะการัง พบในทะเลที่ความลึกตั้งแต่ 3 ถึง 100 เมตร  มักกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น กุ้ง ปลา หมึก เป็นอาหาร  ปลาจุดฟ้า มีจุดเด่นอยู่ที่บริเวณแก้มที่มีจุดสีฟ้า  ลำตัวยังเรียวยาว แตกต่างจากปลาเก๋าที่มีลักษณะตัวลำตัวป้อมกว่าอย่างเห็นได้ชัด  ปลากะรังจุดฟ้าที่น้ำหนักตัวระหว่าง 0.5-1.1 กิโลกรัม

ก่อนหน้านี้ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ได้สนับสนุนทุนวิจัย โครงการ “ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์” แก่สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง เป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2553 – วันที่ 17 สิงหาคม 2558 เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปลากะรังมูลค่าสูง 3 ชนิด คือ ปลาหมอทะเล ปลากะรังจุดฟ้า และปลากะรังเสือ เพื่อผลิตลูกพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอต่อการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ และช่วยการอนุรักษ์พันธุ์ปลากะรังในธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

ทีมนักวิจัยสามารถผลิตลูกพันธุ์ปลากะรังทั้ง 3 ชนิด จำหน่ายให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ เพื่อนำไปอนุบาลและจำหน่ายต่อให้ผู้บริโภคแล้วจำนวน 223,930 ตัว คิดเป็นมูลค่า 12,763,140 บาท ขณะเดียวกันสวก.ต้องการส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านการท่องเที่ยว  เริ่มจากเปลี่ยนชื่อเรียกปลาชนิดนี้ว่า  “จุดฟ้าอันดามัน” เพื่อเป็นเครื่องหมายการค้าที่สร้างการรับรู้และจดจำ และผลักดันให้ปลากะรังทั้ง 3 ชนิด เป็น”เมนูเอกลักษณ์” สร้างจุดขายให้กับ3 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นการซื้อและการบริโภคปลาชนิดนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยเกษตรกรสามารถจำหน่ายปลากะรังจุดฟ้าในราคากิโลกรัมละ 1,200 บาท ปลาหมอทะเล กิโลกรัมละ 500-600 บาท ปลาเก๋าเสือ กิโลกรัมละ 450-500 บาท

เทคนิคการเพาะเลี้ยง “ จุดฟ้าอันดามัน ”

“ กะรังจุดฟ้า ”เป็นปลาที่สามารถเปลี่ยนเพศได้ ขนาดสมบูรณ์เพศอายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 3 กิโลกรัม จะเป็นเพศเมียทั้งหมด เมื่อปลาเจริญเติบโตมีน้ำหนักตัวประมาณ 7 กิโลกรัม ก็จะเปลี่ยนเป็นเพศผู้ ดังนั้นการผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติจะเกิดจากปลาเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่กับปลาเพศเมียที่มีขนาดเล็กกว่า โดยฤดูกาลผสมพันธุ์ระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงเมษายน โดยสามารถวางไข่ได้ 208,000-269,500 ฟองต่อตัว ซึ่งปริมาณและคุณภาพของไข่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวปลา

ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง หัวหน้าโครงการต้นแบบผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์ เล่าให้ฟังว่า  “กะรังจุดฟ้า” เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายแต่เพาะพันธุ์ยาก ที่ผ่านมาทีมนักวิจัยใช้ฝั่งอันดามันเป็นสถานที่เลี้ยงเพราะน้ำทะเลสะอาด และมีค่าความเค็ม 20 ppt ขึ้นไป  ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ประมาณ 5-10 % ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ การเพาะขยายพันธุ์ในระยะอนุบาล เนื่องจากปลาชนิดนี้มีขนาดตัวเล็กมาก จึงต้องใช้อาหารที่มีขนาดเล็กคือ ลูกของโคพีพอด (แพลงก์ตอน)  เพื่อให้ลูกปลากินได้ เนื่องจากไม่สามารถเพาะพันธุ์ลูกของโคพีพอดได้ในปริมาณมาก ๆ ได้จึงเป็นข้อจำกัดในการเลี้ยง หากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จะช่วยให้ปลากะรังจุดฟ้ามีอัตราการรอดที่สูงขึ้น

เนื่องจากจุดฟ้าเป็นปลาแปลงเพศได้ โดยช่วงแรกเป็นระยะตัวเมีย พออายุ 3 ปีขึ้นไปจะเป็นตัวผู้  กรมประมงจึงต้องผลิตพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใหม่อยู่เรื่อย ๆ โดยมีฟาร์มเพาะเลี้ยง 2 แห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เช่น จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล  และจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาแก่เกษตรกรในราคาถูก โดยกะรังจุดฟ้า ขายนิ้วละ 30 บาท กะรังเสือ ขายนิ้วละ 10 บาท ปลาหมอทะเลนิ้วละ 40 บาท

ปัจจุบันเกษตรกรนิยมนำลูกปลาจุดฟ้าขนาด 3-5 นิ้วไปเพาะเลี้ยงต่ออีก 7-8 เดือนก็จับขายได้ การเลี้ยงปลาจะเลี้ยงได้ประมาณปีละ 1 รุ่น เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 8 เดือนรุ่น เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไว้หลายกระชัง แต่ละกระชังจะมีปลาอายุไม่เท่ากัน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีปลาส่งขายได้ตลอดทั้งปี  ปลาจุดฟ้าเป็นที่นิยมของผู้ซื้อในต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซีย  โดยส่งออกในลักษณะปลามีชีวิต จึงขายได้ในราคาดี

“คุณชาตรี ไตรทอง” ผู้ดูแลฟาร์ม เลี้ยงปลาจุดฟ้าใน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นกิจการของนักลงทุนชาวไต้หวัน กล่าวว่า ทางฟาร์มได้นำเข้าพันธุ์ปลาจุดฟ้ามาจากประเทศไต้หวันและอินโดนีเซีย ในราคานิ้วละ 100 บาท กระชังหนึ่งจะเลี้ยงปลาประมาณ 2,000-3,000 ตัว โดยใช้ลูกปลาขนาด 4-5 นิ้ว ปล่อยเลี้ยงในกระชังขนาด 4 x4 เมตร  ที่นี่นิยมใช้เหยื่อปลาสดไปบดเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงลูกปลา โดยจะให้อาหารวันละ  1 ครั้งในช่วงบ่าย   แต่ละวันจะต้องใช้เนื้อปลาสดประมาณ 3,000 กิโลกรัม โดยซื้อเหยื่อปลาสดใน ราคากิโลกรัมละ 11-13 บาท  ปัจจุบันสามารถส่งปลาออกขายที่ฮ่องกงทุกสัปดาห์ ๆ ละ 100 กล่อง ๆ ละ 7 ตัว หรือประมาณ 700 ตัวต่อสัปดาห์ ขายปลาในราคากิโลกรัมละ 900- 1,000 บาท

ปัญหาอุปสรรคที่พบบ่อยในทุกช่วงฤดูกาลคือ   ไวรัสปลาทะเล ทำให้ปลามีอาการท้องอืด เป็นโรคท้องป่อง แต่สามารถแก้ไขโดยการให้ยา  เกษตรกรจะใช้เวลาเลี้ยงปลาจุดฟ้าประมาณ 18 เดือน ก็จับปลาออกขายได้ โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ  7-9 ขีด  ลูกค้านิยมนำปลาจุดฟ้าไปแปรรูปเป็นเมนูซาชิมิ เนื่องจากปลาชนิดนี้มีเนื้อนุ่ม และมีรสชาติอร่อยมาก เหมาะกับการรับประทานสด

         เนื่องจาก กลุ่มชาวประมงส่วนใหญ่เล็งเห็นว่า “ จุดฟ้า” จะเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ดี  จึงร่วมมือกันสร้างภาคีเครือข่ายชาวประมงใน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ในรูปสหกรณ์ประมง เพื่อควบคุมดีมานด์และซัพพลายของปลากะรังจุดฟ้า โดยสหกรณ์จะรับซื้อลูกปลาทั้งหมดจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต ซึ่งเป็นลูกปลาอายุ 1 เดือน ความยาว 1-2 นิ้ว เพื่อนำไปอนุบาลต่ออีก 3-4 เดือน เมื่อปลามีขนาด 5 นิ้ว จึงจำหน่ายให้สมาชิกนำไปเพาะเลี้ยงต่ออีก 8 เดือน โดยสหกรณ์แห่งนี้จะรับซื้อผลผลิตคืนจากสมาชิกทั้งหมด เพื่อส่งขายต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งวางแผนเปิดร้านอาหารจำหน่ายอาหารทะเลที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตอีกทางหนึ่ง

หากใครสนใจอยากลงทุนเลี้ยง “ จุดฟ้าอันดามัน”  ก็ควรศึกษาทำเล ตลาด และอุปนิสัยของปลาให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน  หากใครมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับโครงการเลี้ยงปลากะรังจุดฟ้าสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โทรศัพท์ 0-25797435 หรือ  www.arda.or.th ในวันและเวลาราชการ