อยากเจาะตลาดอาหารมุสลิมโลก ควรเริ่มที่ตลาดฮาลาลสิงคโปร์

อุตสาหกรรมฮาลาลทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากรายงาน State of The Global Islamic Economy 2019/20 ระบุว่า ในปี 2561 ชาวมุสลิมทั่วโลกใช้จ่ายโดยรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหาร เภสัชกรรม สินค้าไลฟ์ไตล์ ทั้งนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 การใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และภายในปี 2567 เฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารฮาลาลคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.97 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกของ The Organisation of Islamic Cooperation (OIC) ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลก โดยเมื่อปี 2558 สิงคโปร์ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจำนวน 2.6 ล้านคน หรือ 17% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของสิงคโปร์ (15.2 ล้านคน) เนื่องจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นผลจากการผสมผสานของเชื้อชาติของประชากร โดยในสิงคโปร์มีประชากรรวมทั้งหมดจำนวน 5.69 ล้านคน แบ่งเป็นประชากรสิงคโปร์ 4.04 ล้านคน (พลเมืองจำนวน 3.52 ล้านคน และต่างชาติผู้มีถิ่นพำนักถาวรจำนวน 0.52 ล้านคน) และชาวต่างชาติผู้มีถิ่นพำนักไม่ถาวรจำนวน 1.64 ล้านคน และมีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวน 14.9% ของผู้ถือสัญชาติสิงคโปร์

ด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรมในสิงคโปร์ ก่อให้เกิดความหลากหลายทางอาหารเช่นกัน ส่งผลถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวสิงคโปร์ที่นิยมรับประทานอาหารของชาติอื่น นอกเหนือจากอาหารประจำชาติของตนด้วย อาทิ อาหารสิงคโปร์สัญชาติจีน เช่น ก๋วยเตี๋ยว Lor Mee, ก๋วยเตี๋ยวปลา, ผัด Carrot Cake เป็นต้น อาหารสิงคโปร์สัญชาติมาเลย์ เช่น ข้าว Nasi Lemak, ก๋วยเตี๋ยว Mee Rebus, Otak Otak เป็นต้น อาหารสิงคโปร์สัญชาติอินเดีย เช่น ผัดก๋วยเตี๋ยว Mee Goreng, ข้าว Briyani, โรตี กับแกง (Roti Prata) เป็นต้น และอาหารสิงคโปร์สัญชาติตะวันตก เช่น สเต๊กหมู / ไก่ / เนื้อ /ปลา และสปาเก็ตตี้ เป็นต้น

ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นที่นิยมในสิงคโปร์และมีวางจำหน่ายในศูนย์อาหารของชุมชน (Hawker) ทุกแห่งในสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีอาหารสัญชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมแต่ส่วนมากเป็นการเปิดในรูปของร้านอาหาร เช่น อาหาร Peranakan ที่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมมาเลย์กับจีนในสิงคโปร์ อาหารไทย อาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี อาหารเวียดนาม อาหารของประเทศตะวันออกกลาง อาหารฝรั่งเศส และอาหารอิตาลี

เหตุที่ร้านอาหารฮาลาลในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากความต้องการสินค้าอาหารฮาลาลที่เติบโตขึ้น โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) หน่วยงาน Majlis Ugama Islam Singapore (MUIS) ได้มีการออกใบรับรองฮาลาลให้แก่สินค้าอาหารที่ผลิตในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% และในปี 2562 สินค้าฮาลาลที่ผลิตในสิงคโปร์มีจำนวนมากถึง 57,690 รายการ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา และตลาดฮาลาลสิงคโปร์ยังเปิดรับสินค้าฮาลาลจากประเทศที่ได้รับการอนุมัติจาก MUIS อีกด้วย นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีการความตกลงการค้าเสรี Gulf Cooperation Council-Singapore Free Trade Agreement (GSFTA) ซึ่งเป็นการค้าเสรีฉบับแรกที่ GCC11 เข้าร่วมประเทศนอกกลุ่มตะวันออกกลาง ทำให้สินค้าฮาลาลในตลาดสิงคโปร์มีจำนวนมาก จนกระทั่งซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ NTUC FairPrice, Giant และ Cold Storage ต้องมีแผนกสินค้าอาหารฮาลาลที่แยกเป็นสัดส่วนต่างหากออกมาจากสินค้าอื่นๆ

การขอรับรองสินค้าอาหารฮาลาลนำเข้า/ส่งออก มีขั้นตอนดังนี้

– การรับรองสินค้าฮาลาลนำเข้า/ส่งออก ภายใต้ Endorsement Scheme ผู้สมัครจะต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจาก Singapore Food Agency (SFA) หรือ Health Sciences Authority (HSA) ก่อนทำการขอรับรองฮาลาลสิงคโปร์

– สินค้านำเข้า/ส่งออกที่ประสงค์จะขอรับรองฮาลาลโดย MUIS ต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในสิงคโปร์หรือสินค้าที่ได้รับรองฮาลาล โดยหน่วยงานฮาลาลในต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติจาก MUIS

– สินค้านั้นๆ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารและฉลากสินค้าอาหารของสิงคโปร์

– รายงานการวิเคราะห์สินค้าทางห้องปฏิบัติเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าสินค้า/วัตถุดิบ/สารที่ใช้ในการแปรรูปสินค้า/สารเติมแต่ง นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผู้สมัครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แม้ตลาดฮาลาลในสิงคโปร์จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ตลาดสิงคโปร์ถือได้ว่าเป็น Gateway ไปสู่ประเทศในกลุ่มสมาชิกของ Organisation of Islamic Cooperation (OIC) รวมทั้งความนิยมด้านการท่องเที่ยวในสิงคโปร์ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าฮาลาลมีโอกาสเติบโตได้ในตลาดสิงคโปร์ นอกจากนี้ ด้วยความน่าเชื่อถือทางด้านมาตรฐานสินค้าและการเป็นประเทศแรกที่อยู่นอกกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่ Gulf Cooperation Council (GCC) จัดทำความตกลงการค้าเสรีด้วย ทำให้ได้รับความเชื่อถือ-นิยมมากขึ้นในกลุ่มชาวสิงคโปร์สัญชาติมุสลิมและนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางมายังสิงคโปร์

สำหรับมาตรฐานฮาลาลของไทยได้รับการยอมรับในตลาดฮาลาลโลกรวมถึงสิงคโปร์ ไทยจึงมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาล ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสนใจผลิตสินค้าอาหารฮาลาลส่งออกไปยังสิงคโปร์เพื่อเจาะตลาดมุสลิมทั่วโลก ควรศึกษากฎระเบียบด้านอาหารพื้นฐานของสิงคโปร์ และการขออนุญาตการนำเข้าสินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ภายใต้การควบคุมของ Singapore Food Agency เพื่อให้การส่งออกอาหารฮาลาลเป็นไปอย่างราบรื่นไม่เกิดปัญหา

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน 1333