เผยแพร่ |
---|
หน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ( บพข.) ยกทัพนักวิจัยชั้นนำของเมืองไทยที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านการคิดค้นในห้องปฏิบัติการระดับ TRL4 ที่มีความพร้อมก้าวสู่เชิงพาณิชย์ จาก 8 กลุ่มแผนงานที่ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาหารมูลค่าสูง กลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มพลังงานเคมีและวัตถุชีวภาพ กลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ กลุ่มแผนงานโลจิสติกส์ระบบราง จัดแสดงภายในงาน บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม – PMUC RESERCH for Thailand’s Competitiveness 2023 ” อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน นี้ ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. ( PMUC ) หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยน้องใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติภารกิจหลัก “ปิดช่องว่าง” ของปัญหาในระบบวิจัยไทย เพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้ลงจากหิ้ง ออกจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งการจัด งาน บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ มุ่งหวังให้เป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการได้เจอกับนักวิจัยผู้พัฒนาผลงานนวัตกรรมที่แล้วเสร็จในระดับต้นแบบผลิตภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการ (TRL4) จากทั่วประเทศที่พร้อมนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์
ภายในงานจัดให้มีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยที่เป็นผลิตภัณฑ์จริงที่ออกสู่ตลาดได้สำเร็จ
อาทิ เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมตรวจวิเคราะห์กลิ่นดิจิทัลในอุตสาหกรรม นํ้ายาล้างผักจากเอนไซม์สลายสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้ เครื่องปรุงรสจากปลาร้าด้วยเทคโนโลยีกล้าเชื้อจุลินทรีย์ เส้นไข่ขาวในการจัดการน้ำหนักตัว ผลิตภัณฑ์กลุ่มชีวเวชสำอางที่มี Growth Factor ในการฟื้นบำรุงถึงระดับเซลล์ผิวต้น ชุดตรวจวินิจฉัยโรค จากศูนย์การแพทย์และห้องปฏิบัติการ จาก 7 มหาวิทยาลัยแพทย์ของไทย ผลิตภัณฑ์เส้นหวายเทียมจากหลอดพลาสติก และขยะจากถุงพลาสติกรีไซเคิล หุ่นยนต์หยิบจับต้นแบบ กระถางต้นไม้ self-watering ผลิตจากจากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน เครื่องดื่มน้ำมันทูน่าเพิ่มความจำขณะทำงาน ฯลฯ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีโซนผู้ประกอบการได้พบปะเจรจาธุรกิจ (Business Matching) กับนักวิจัยผู้พัฒนาผลงานนวัตกรรม จากทั่วประเทศที่พร้อมนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และยังมีกิจกรรม Hackathon “ PMUC HACK @PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023” ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการในการเขียนโครงการขอรับทุนวิจัย และงานสัมมนาในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมก้าวสู่โลกธุรกิจอย่างรอบด้าน การเสวนาจุดประกายเศรษฐกิจจากซีอีโอชั้นนำของประเทศที่จะมาชี้ทางในการปรับตัวเข้าโลกดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และโซนรับคำปรึกษาและแนะนำด้านการขอทุนวิจัยในอุตสาหกรรมต่างๆ
รศ.ดร.สิรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ สำหรับประเทศไทย นักวิจัยไทยมีความสามารถเทียบเคียงในระดับโลก เราต้องเพิ่มด้านการบริหารจัดการงานวิจัย ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการและร่วมกันผลักดันให้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ วันนี้ บพข.เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการงานวิจัยทั้งระบบให้ขับเคลื่อนสู่การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง จึงขอเชิญชวนกลุ่ม นักวิจัย นักธุรกิจ และบุคคลทั่วไปเข้าชมงาน บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม (PMUC RESERCH for Thailand’s Competitiveness 2023) ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายนนี้ ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.)หนึ่งในองค์การภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตและภาคบริการรวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม https://pmuc.or.th