3 เกษตรกรดีเด่นแห่งปี ของเทคโนโลยีชาวบ้าน พบกับพวกเขาได้ ในงานเกษตรมหัศจรรย์

            เกษตรกรดีเด่นแห่งปี ในงานเกษตรมหัศจรรย์ปีนี้ ได้คัดเลือกคนหนุ่มสาวที่ประสบความสำเร็จเข้ารับรางวัล ทั้งนี้อยากจะสื่อว่า งานเกษตรนั้น สามารถประสบความสำเร็จและทำเป็นอาชีพได้ ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นอาชีพที่มีเกียรติ

คุณ ณ ณพชัย ผิวเกลี้ยง คือผู้ประสบความสำเร็จในงานเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์

คุณกานต์รวี บัวบุญ พยาบาลจากจังหวัดมหาสารคาม หันมาเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำนา อย่างได้ผล

คุณประกิต โพธิ์ศรี เป็นวิศวกร แต่หลงไหลไม้ประดับหม้อข้าวหม้อแกงลิง

เกษตรกรดีเด่นแห่งปี ทั้ง 3 ท่าน จะเปิดเผยความสำเร็จบนเวที งานเกษตรมหัศจรรย์ เวลา 15.30-16.20 น. วันที่ 7 กันยายน 2560

 

ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง

คนหนุ่ม เอาจริงจนถ่องแท้ กับงานเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์

 

ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง อยู่บ้านเลขที่ 328 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เรียนจบปริญญาตรีทางด้านสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุวรรณภูมิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เจ้าตัวเล็งเห็นถึงคุณสมบัติพิเศษของไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้เขาสนใจนำมาทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ เรียกได้ว่าการเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้กับเขาได้ดีเลยทีเดียว

ณ นพชัย ทำฟาร์มแบบครบวงจร ทั้งฟักไข่ จำหน่ายลูกพันธุ์ขนาดเล็ก และยังจำหน่ายไก่สดเพื่อใช้สำหรับไปประกอบอาหารอีกด้วย

พื้นที่ 1 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 4-5 ตัว เมื่อถึงอายุประมาณ 4 เดือน ใกล้จำหน่ายได้ ไก่ตัวผู้จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2-2.3 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียน้ำหนักจะอยู่ที่ 1.7-1.8 กิโลกรัม ซึ่งไก่สายพันธุ์นี้แม้จะดูว่าน้ำหนักไม่มาก แต่ถ้าอายุครบกำหนดเลี้ยง เนื้อที่อกจะเต็ม เนื้อแน่น จึงถือได้ว่าเป็นไก่ที่มีโครงสร้างดี ไก่สดแปรรูปพร้อมปรุงอาหาร ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-170 บาท โดยขายได้ 1,000-2,000 ตัว ต่อเดือน ลูกไก่ จำหน่ายได้ 4,000-5,000 ตัว ต่อเดือน

“สำหรับคนที่อยากจะเลี้ยง ไม่ต้องไปคิดอะไรมากให้ปวดหัว แค่เราจัดสรรพื้นที่ มีโรงเรือน มีร่มเงาให้เขาอยู่ มีพื้นที่ให้คุ้ยเขี่ย แค่นี้ก็เลี้ยงได้ แต่ที่ต้องระวังมากที่สุดคือ สุนัข อย่าให้เข้ามากัดไก่เราอย่างเดียว ต่อไปก็เรื่องการเลี้ยง ขอให้เลี้ยงแบบให้ถูกมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ก็ไม่ยากอย่างที่คิด ใครที่มีปัญหาอะไร สามารถโทรศัพท์ติดต่อสอบถามกับผมได้ ผมยินดีไขทุกข้อสงสัยครับ” นักเกษตรหนุ่มแนะนำ

ณ นพชัย เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มั่นใจในงานอาชีพเกษตรกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขามีความก้าวหน้าในสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง

หมายเลขโทรศัพท์ คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง (083) 090-6629

 

การต์รวี บัวบุญ พยาบาลสาวที่ราบสูง เชื่อมั่นงานเกษตร

ลาออกจากราชการ ทำเกษตรผสมผสานและเลี้ยงเป็ด-ไก่

การต์รวี บัวบุญ หรือ น้องอ้น อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองทุ่ม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม  เดิมมีอาชีพรับราชการเป็นพยาบาล โดยจบการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสระบุรี พยาบาลวิชาชีพ (4 ปี) จากนั้นรับราชการอยู่หลายแห่งเป็นเวลารวม 8 ปี (ศูนย์มะเร็งลพบุรี 2 ปี, โรงพยาบาลวาปีปทุม 3 ปี, โรงพยาบาลมหาสารคามอินเตอร์ 1 ปี, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2 ปี… จบปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเดียวกันและที่เดียวกัน

เขาลาออกจากพยาบาลมาทำเกษตรอย่างจริงจัง

การต์รวี มีพื้นที่ 22 ไร่ ทำนา 10 ไร่ สระน้ำ 4 ไร่ ที่เหลือเป็นที่ดอน โดยได้ทำการเกษตรหลายอย่าง ดังนี้

1.เลี้ยงเป็ดไข่ (พันธุ์กากีแคมป์เบล, ซีพีซุปเปอร์) 500 ตัว ให้ไข่แล้ว 200 ตัว ซื้อวัตถุดิบมาผสมอาหารเอง เช่น กากปาล์มน้ำมัน กากถั่วเหลือง รำ มีการเพาะพันธุ์เป็ดเองโดยใช้เครื่องฟักไข่ช่วย

  1. ไก่ไข่ 50 ตัว แต่เลี้ยงแบบไก่พื้นเมือง ให้อาหาร ได้แก่ รำ หญ้าเนเปียร์ น้ำหมักปลา ทำให้เปอร์เซ็นต์การไข่ดีถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ได้รับความสนใจจากลูกค้าดีมากโดยเฉพาะผู้ห่วงใยสุขภาพ เช่น หมอ พยาบาล และมีเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
  2. ไก่ประดู่หางดำ 300 ตัว ขายเป็นไก่เนื้อ กิโลกรัมละ 90 บาท และขายพันธุ์อายุ 7 วัน ตัวละ 25 บาท
  3. ไก่พันธุ์พื้นเมือง 100 ตัว ขายกิโลกรัมละ 90 บาท
  4. ไก่ดำ KU ภูพาน ขายลูกอายุ 7 วัน ตัวละ 50 บาท
  5. ไก่เหลืองดงยอ 100 ตัว ขายลูกตัวละ 20 บาท

กิจกรรมอื่นๆ ปลูกดาวเรือง ตัดดอกขาย เป็นระยะๆ ส่วนดอกที่ตกเกรด จะนำมาตากแดดผสมในอาหารไก่ ทำให้ไข่แดงเข้มขึ้น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา 2 ไร่ เพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพื่อให้ได้วัตถุดิบปลอดสารพิษ และปลูกทานตะวัน 1 ไร่ นำเมล็ดมาบดเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์เช่นกัน

นอกจากนี้  ยังได้เปิดเพลงให้ไก่ฟังทุกวัน เพื่อให้ไก่ผ่อนคลาย ไม่เครียด เพราะนอกจากได้อาหารดีแล้วยังได้ฟังเพลง ทำให้อารมณ์ดี และให้ผลผลิตดีอีกด้วย

วันนี้รายได้อาจไม่เท่าอาชีพพยาบาล แต่วันหน้าอาจมีรายได้มากกว่า วันนี้จึงเป็นการเสียสละตัวเองเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ด้านการตลาด การที่เจ้าตัวเน้นการผลิตเชิงประณีต ทำให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดเล็กน้อย และกำลังสร้างเครือข่ายผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มขยายตัว ขณะเดียวกัน ก็มองหาเครือข่ายผู้ผลิตควบคู่กันไปด้วยเป็นพยาบาลเพราะแม่

“เป็นพยาบาลเพราะความต้องการของแม่ แต่เมื่อแม่ป่วยเป็นมะเร็ง ตนเองกลับไม่มีเวลาแม้แต่จะพาแม่ไปหาหมอ เมื่อเรียนปริญญาโททำให้เปลี่ยนมุมมอง และเมื่อเรียนปริญญาเอกจึงลาออกตามความฝันของตนเอง” การต์รวี บอก

“ขณะนี้เป็นวิกฤตของอาชีพเกษตร หมดยุคนี้แล้วจะไม่มีคนทำการเกษตร ไม่อยากให้ลูกหลานเกษตรกรมุ่งไปที่ทำงานราชการเท่านั้น อย่างน้อยเด็กในอีสานมีต้นทุนด้านที่ดิน ไม่อยากให้อาชีพเกษตรกรเป็นพลเมืองชั้น 2” การต์รวี ให้แง่คิด

ด้วยความรู้ความสามารถและความมุ่งมั่นตั้งใจในการยกระดับการเกษตรเป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่น จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็น Young Smart Farmer ของจังหวัดมหาสารคาม

จะเห็นว่าอาชีพการเกษตรนั้นยังมีเสน่ห์และมีอนาคต แม้แต่พยาบาลสาวสวยยังหลงใหลถึงเพียงนี้ แล้วทำไมท่านที่เป็นเกษตรกรหรือลูกหลานเกษตรกรจะไม่เห็นคุณค่า และกลับมายกระดับการเกษตรของไทยจรรโลงไว้สืบต่อให้ลูก หลาน เหลน โหลนต่อไป

เบอร์โทรศัพท์ คุณการต์รวี บัวบุญ (085) 421-7734 อีเมล [email protected]

 

 ประกิต โพธิ์ศรี เรียนจบวิศวะ

 หลงไหลหม้อข้าวหม้อแกงลิง ปลูกขายได้ทั้งในและต่างประเทศ

 

ประกิต โพธิ์ศรี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 7 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นผู้ที่ชื่นชอบหม้อข้าวหม้อแกงลิงมากจนสามารถทำเป็นอาชีพ ที่ส่งขายได้ทั้งในและต่างประเทศกันเลยทีเดียว

ประกิต เล่าว่าเรียนจบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์  ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่บริษัทเอกชน ต่อมาเมื่อมีโอกาสได้ซื้อบ้านหลังใหม่จึงเริ่มรู้สึกว่าอยากจะมีต้นไม้มาปลูกประดับตกแต่งให้ทั่วบริเวณรอบบ้าน เพื่อให้มีความสวยงามของสีเขียวชอุ่ม พร้อมทั้งไม้ดอกที่มีสีสันสะดุดตา ซึ่งระหว่างที่เดินหาซื้อพันธุ์ไม้ต่างๆ จากตลาดต้นไม้ สายตาก็ได้ไปมองเห็นต้นหม้อข้าวหมอแกงลิงที่มีวางขาย ดูแล้วมีความแปลกตาจึงได้ซื้อมาเพื่อทดลองปลูก

เมื่อมีความชำนาญในการเลี้ยงมากขึ้น คุณประกิต บอกว่า จึงได้ทดลองส่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ปลูกเข้าประกวดเพื่อสร้างความท้าทายมากขึ้น ผลปรากฏว่าก็ได้รับรางวัลจึงรู้สึกเกิดความสุขและอยากจะทำการปลูกเลี้ยงไม้ชนิดนี้อย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา

ในช่วงแรกๆ คุณประกิต เล่าว่า อยากทำเป็นเชิงอนุรักษ์เพราะช่วงนั้นกลัวไม้ที่เป็นสายพันธุ์ไทยจะสูญพันธุ์ เมื่อขยายพันธุ์มากขึ้น ไม้ก็มีจำนวนที่เยอะ จึงได้นำมาทดลองขายในราคากระถางละ 20 บาท ผลปรากฏว่ามีคนสนใจเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น จึงได้ทำการขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมากๆ พร้อมทั้งผสมพันธุ์กับพันธุ์ต่างประเทศที่ซื้อเข้ามาปลูกภายในสวน เพื่อนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ผสมให้เกิดเป็นไม้ที่มีลักษณะแปลกตาออกไปจากเดิม

“หม้อข้าวหมอแกงลิง ถ้ามองกันจริงๆ ผมว่ามีเสน่ห์นะ เพราะรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ตลอดจนแต่ละสายพันธุ์ก็มีสีสันแตกต่างกัน ยิ่งถ้าเราเอามาผสมกันยิ่งได้สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่รู้จบ อย่างที่สวนผมก็จะมีหลายสายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์ไทย และสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งตลาดต่างประเทศที่นิยมมากที่สุด เป็นประเทศที่อยู่ในเอเชีย เพราะสภาพอากาศร้อนชื้นมีความเหมาะสมที่จะปลูกต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงค่อนข้างมาก พอเราผสมกันแล้วก็สามารถตั้งชื่อใหม่ได้ และราคาขายก็แตกต่างกันไปด้วย อย่างที่นี่ก็มีขายทั้งปลีกและส่ง ต่ำสุดอยู่ที่ 40 บาท ราคาไม่ตายตัว มีสูงขึ้นมาตามสายพันธุ์ ไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสนก็ขึ้นอยู่ที่ความพอใจของลูกค้าที่จะมาซื้อ” คุณประกิต กล่าวถึงเรื่องการตลาด

นอกจากจะเป็นไม้ประดับที่ปลูกเพื่อความสวยงามแล้ว คุณประกิต บอกว่า หม้อที่เห็นที่ใช้สำหรับดักจับแมลงยังสามารถนำมากินได้อีกด้วย โดยจะนำมาชุบแป้งทอดหรือนึ่งใส่ข้าวเหนียวเข้าไปภายในพร้อมทั้งปรุงรสด้วยน้ำกระทิ ก็ถือป็นอาหารกินเล่นยามว่างที่อร่อยไม่น้อยเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ที่สวนหม้อข้าวหม้อแกงลิงของคุณประกิต ไม่ได้เป็นแหล่งผลิตเพื่อขายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับด้านเกษตรได้มาทำการฝึกงาน เพื่อหาประสบการณ์กับการปลูกไม้ชนิดนี้ และในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้ามาดูและศึกษาการปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิง หรือจะซื้อไปประดับตกแต่งที่บ้านแบบสวยๆ ได้อีกด้วย

หมายเลขโทรศัพท์คุณประกิต  โพธิ์ศรี  099-154-2609