ชั่งน้ำหนัก (หมู) ให้ดี

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดของไทย กล้าออกมายืนยันอย่างชัดเจนและเป็นทางการว่า การพบกันของผู้นำไทยกับสหรัฐเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการหยิบยกเรื่องนำเข้าหมูขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจาหรือไม่ เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แสดงความเป็นห่วงและคัดค้านการนำเข้าว่า ชิ้นส่วนหมูนำเข้า เป็นส่วนที่คนสหรัฐไม่กิน ทั้งหัว เครื่องใน และมีสารเร่งเนื้อแดงด้วย จะส่งผลต่ออาชีพและการค้าหมูในไทยทั้งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท กระทบทั้งห่วงโซ่การเลี้ยงหมู เช่น พืชไร่ อาหารสัตว์ ซึ่งอาจเสียหายทั้งห่วงโซ่รวมถึง 1 ล้านล้านบาท ขณะที่การผลิตหมูในประเทศเพียงพอกับการบริโภคอยู่แล้วโดยไม่ต้องนำเข้า

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ออกมาให้ข้อมูลว่า ไทยเป็นสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีคณะกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) อยู่ภายใต้องค์การดังกล่าว มีมติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 กำหนดค่าปริมาณสารเร่งเนื้อแดงในหมูตกค้างที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้ประเทศผู้ส่งออกผลักดันให้ไทยเร่งยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานที่ CODEX กำหนด เมื่อไทยเป็นสมาชิกก็ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามอาจจะถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องได้

“ขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าหมูจากสหรัฐ เพราะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อน” นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวยืนยัน

แต่ประเมินจากข้อมูลที่ออกมา เป็นไปได้ว่าไทยอาจจะต้องพิจารณานำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ซึ่งมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงก็เท่ากับว่าขัดแย้งกันเองกับกฎหมายและการรณรงค์ในประเทศที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ขณะเดียวกันเริ่มมีการส่งสัญญาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอาจจะแก้ไขกฎหมายในประเทศเพื่อการนี้ด้วย หากมีการพิจารณาจะนำเข้าหมูจากสหรัฐจริง แล้วประเทศ อื่นๆ จะดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้กับไทยหรือไม่ นับเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย ที่ต้องชั่งน้ำหนักผลบวกและลบที่จะตามมาอย่างละเอียดรอบคอบ ภายใต้การค้าเสรี (Free Trade) ในปัจจุบันที่เน้นผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลักและมาก่อน

ขอบคุณข้อมูลจาก กฤชกนก ศรีเมือง