เด็กเก่ง เพาะพันธุ์ปลานิลอยู่ที่นี่ โรงเรียนวัดท่าหมื่นราม พิษณุโลก

ถนนสายหลักจากตัวจังหวัดพิษณุโลก มุ่งหน้าไปจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ใกล้ที่สุด เห็นจะเป็นเส้นทางที่ผ่านอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ถนนสายที่มีกล้าไม้หลากหลายชนิดจำหน่ายจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นแหล่งกล้าไม้ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ลึกจากถนนสายกล้าไม้เข้าไปพอประมาณ บริเวณพื้นที่ หมู่ที่ 11 ตำบลท่าหมื่นราม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ตั้งของโรงเรียนขนาดกลางแห่งหนึ่ง ชื่อ โรงเรียนวัดท่าหมื่นราม มีนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 340 คน มีบุคลากรทางการศึกษา 16 คน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 33 ไร่

อาจารย์วิษณุ สร้อยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าหมื่นราม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนว่า โรงเรียนวัดท่าหมื่นรามให้ความสำคัญกับกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้จัดทำฐานการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีพื้นฐานการเกษตรไว้ติดตัว สานต่อเป็นอาชีพในอนาคต โดยปรับเปลี่ยนตามสภาพปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องความเป็นจริงและการนำไปใช้ให้มากที่สุด เช่น การทำฐานการเรียนรู้เรื่องน้ำส้มควันไม้ ปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนเป็นฐานการเรียนรู้เรื่องการเขี่ยก้อนเชื้อเห็ด เพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้ในการเขี่ยเชื้อและทำก้อนเชื้อเห็ดเอง ไม่ต้องซื้อ อันเป็นการเรียนรู้จากกระบวนการแรกเริ่มจนถึงกระบวนการขั้นสุดท้าย คือ การนำเห็ดไปจำหน่าย หรือการนำไปแปรรูป

พื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียน จำนวน 33 ไร่ จัดสรรเป็นฐานการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น 9 ฐาน ดังนี้

  1. 1. กิจกรรมทำนาอินทรีย์และปุ๋ยหมักชีวภาพ ส่วนนี้เป็นการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ บนพื้นที่ 5 ไร่ ผลผลิตที่ได้นำเข้าโครงการอาหารกลางวัน และแพ็กใส่ถุงจำหน่ายตลาดนัดชุมชน
  2. 2. กิจกรรมปลูกผักสวนครัว เน้นผักที่ใช้ในโครงการอาหารกลางวัน ส่วนใหญ่เป็นผักระยะสั้น เพื่อเก็บเกี่ยวได้เร็ว ปลูกได้หลายรอบ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง นอกจากนี้ ยังปลูกมะนาวทั้งลงดินและในวงบ่อ จำนวนกว่า 100 ต้น
  3. 3. กิจกรรมเพาะเห็ดนางฟ้า ทำโรงเรือนไว้สำหรับเพาะเห็ด ที่สำคัญคือนำวิทยากรมาถ่ายทอดให้เด็กนักเรียนรู้จักการเพาะเชื้อเห็ดเอง เพื่อทำก้อนเชื้อใช้เอง โดยไม่ต้องซื้อก้อนเชื้อเห็ด ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง เมื่อเด็กนักเรียนทำเองได้ก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้
  4. 4. กิจกรรมปลูกมะละกอ ส่วนนี้ไม่ได้เน้นเฉพาะมะละกอเท่านั้น แต่มีไม้ผลชนิดอื่น ได้แก่ กล้วยน้ำว้า พื้นที่ 3 งาน มะม่วงอีกหลายสิบต้น ทั้งหมดนี้เน้นให้เด็กนำมารับประทานในโครงการอาหารกลางวัน
  5. 5. กิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนภายนอก และได้รับพันธุ์ไก่ไข่พร้อมทั้งอาหาร และการก่อสร้างโรงเรือนชุดแรก หลังจากนั้นโรงเรียนบริหารจัดการเอง โดยนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายไข่ไก่มาลงทุนซื้อไก่ไข่ในรุ่นต่อไป ทั้งนี้ ไข่ไก่ที่เก็บได้ในทุกวันจะนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน หากเหลือน้อย จะส่งให้กลุ่มแปรรูปนำไปแปรรูปเป็นขนมโดนัทไข่ให้กับโครงการอาหารกลางวัน หรือขายให้กับชุมชน
  6. กิจกรรมเพาะพันธุ์ปลา กิจกรรมนี้มีบ่อเลี้ยงปลา ขนาด 1 ไร่ ภายในบ่อเลี้ยงปลากินพืชหลายชนิด โดยเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลานิลในกระชัง นอกจากนี้ ยังเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูน ซึ่งนักเรียนเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลานิลจากสำนักงานประมงจังหวัด ทำให้ปัจจุบันไม่ต้องซื้อพันธุ์ปลานิล สามารถเพาะพันธุ์ได้เอง เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้มาก
  7. 7. กิจกรรมการเลี้ยงหมูเหมยซาน ก่อนหน้าการปรับเป็นการเลี้ยงหมูเหมยซาน โรงเรียนเลี้ยงหมูหลุม แล้วพิจารณาเห็นว่าพื้นที่การเลี้ยงแคบ เพราะจำนวนหมูมาก จึงปรับพื้นที่ให้เป็นคอกเลี้ยงแทน ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะเมื่อหมูให้ลูกก็สามารถจำหน่ายลูกได้ และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
  8. 8. กิจกรรมการเลี้ยงกบ โรงเรียนเลือกพันธุ์กบนามาเลี้ยงเพื่อขายเนื้อ แต่ไม่เพาะลูกอ๊อดจำหน่าย เพราะพื้นที่ใกล้เคียงมีการเพาะลูกอ๊อดจำนวนมาก จึงทำให้การซื้อพันธุ์กบนาได้ในราคาไม่สูง เพราะซื้อตั้งแต่เป็นลูกอ๊อดนำมาเลี้ยงจนได้เนื้อกบ
  9. 9. กิจกรรมแปรรูปอาหาร เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กนักเรียนต่อยอดการทำการเกษตร โดยนำผลผลิตที่เหลือจากหลังนำเข้าโครงการอาหารกลางวันไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น เห็ดหยอง น้ำพริกเห็ด ปลาส้มปลานิล เป็นต้น

11

“เดิมเราเริ่มให้นักเรียนเข้ากลุ่มยุวเกษตรได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 3 แต่ปัจจุบัน เราเหลือเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เพราะเห็นว่าความรับผิดชอบในกิจกรรมเกษตรบางประเภท เหมาะสำหรับเด็กมัธยมศึกษาเท่านั้น เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่หนักและต้องใช้ความรับผิดชอบสูง ส่วนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ก็ยังคงให้สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตร แต่รับผิดชอบน้อยลง และลงแปลงหรือดูแลกิจกรรมจริงเพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น”

นักเรียนจะเป็นผู้เลือกกิจกรรมตามความชอบและต้องการเรียนรู้ จากนั้นให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นผู้นำในกิจกรรมนั้นๆ มีการแบ่งเวร สลับสับเปลี่ยนแต่ละฐานให้ครบทุกกิจกรรม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ครบทั้งหมด

13

เด็กหญิงพัชรินทร์ เรืองจุ้ย หรือ น้องใบเฟิร์น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กล่าวว่า กิจกรรมที่เลือก น้องใบเฟิร์นเลือกการปลูกกล้วย เพราะชอบกินกล้วย ในครั้งแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมคิดว่าการปลูกและดูแลกล้วยเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบัน ง่าย สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ คือ การแก้ปัญหาเมื่อเกิดปัญหาในแปลงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบปัญหา ซึ่งเกษตรเป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังให้เรารู้จักอดทน นำไปเรียนรู้เป็นอาชีพเสริมในอนาคตได้

เด็กหญิงลัดดา แก้วบางทราย หรือ น้องนิด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าวว่า รับผิดชอบหลักในงานด้านการแปรรูป เพราะชอบทำอาหาร และการแปรรูปเป็นการต่อยอดความคิด เช่น การนำปลาที่เหลือจากการรับประทานและการจำหน่ายมาแปรรูปเป็นปลาส้ม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้จำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น

“การทำปลาส้ม เราต้องเริ่มจากการไปสำรวจดูพ่อแม่พันธุ์ปลานิลที่ไม่ได้ใช้แล้ว นำมาขอดเกล็ด ทำความสะอาด บั้งปลาให้เป็นชิ้น นำมาคลุก หมักรวมกับส่วนผสมที่เตรียมไว้ ได้แก่ กระเทียม เกลือ น้ำตาล ข้าวเหนียว เมื่อนวดให้เข้ากันดีแล้ว นำไปบรรจุถุง แล้วหมักทิ้งไว้ 2-3 วัน ก็นำไปทอดรับประทานได้”

6

ด้าน นางสาวปิยะธิดา แก้วศรีโพธิ์ หรือ น้องเฟิร์น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า รับผิดชอบงานเลี้ยงไก่ไข่ กิจกรรมที่ต้องทำทุกวันคือ การให้อาหารไก่และเก็บไข่ไก่ รวมถึงการให้วิตามินไก่ในตอนเช้า ตอนกลางวันเข้าไปเกลี่ยอาหารไก่ เก็บไข่ รวมทั้งเปิดสปริงเกลอร์คลายร้อนให้กับไก่ จากนั้นหลังเลิกเรียนก่อนกลับบ้าน เข้าไปให้อาหารไก่อีกครั้ง เก็บไข่ไก่ และเช็กจำนวนไข่ไก่ทั้งหมด โดยเฉลี่ยจะได้ไข่ไก่ วันละ 150-170 ฟอง เมื่อได้ไข่แล้วต้องนำไปให้กับสหกรณ์ของโรงเรียน เพื่อขายในราคาถูกให้กับโครงการอาหารกลางวัน หากไข่ไก่เหลือจากโครงการอาหารกลางวัน จะนำไปจำหน่ายยังตลาดนัดชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีมาก

สำหรับ นางสาวอารยา ติหะปัญโญ หรือ น้องแบม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประธานกลุ่มยุวเกษตร บอกว่า เมื่อเราเป็นประธานกลุ่มก็ต้องดูแลทุกกิจกรรมในภาพรวม ให้คำปรึกษาน้องๆ ในการทำกิจกรรมไม่ให้บกพร่อง ในทุกเดือนต้องประชุมคณะกรรมการเพื่อรับทราบความคืบหน้าของทุกกิจกรรมการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาที่พบจะเกิดในส่วนของกิจกรรมปศุสัตว์และประมง เพราะจะพบโรคในโรงเรือน ต้องมีวิธีป้องกันและกำจัด นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการเพาะปลานิลที่ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ทุกกิจกรรมการเกษตรถือว่าเป็นบทเรียนและประสบการณ์สอนให้เด็กนักเรียนที่นี่รักการเกษตร และสามารถนำไปต่อยอดอาชีพในอนาคตได้อย่างแน่นอน

หากพิจารณากิจกรรมทางการเกษตรที่มีทั้งหมด 9 กิจกรรม ก็ถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีกิจกรรมพร้อมทุกด้านสำหรับส่งเสริมด้านการเกษตรให้เป็นพื้นฐานที่ดีให้กับนักเรียน และพร้อมเปิดกว้างรับการสนับสนุนในทุกกิจกรรมสำหรับนักเรียน ทั้งยินดีเผยแพร่ความรู้ที่มีทุกฐานให้กับชุมชนหรือโรงเรียนที่สนใจ ติดต่อได้ที่ อาจารย์วิษณุ สร้อยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าหมื่นราม หมู่ที่ 11 ตำบลท่าหมื่นราม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก หรือโทรศัพท์ (086) 927-7190