หนุ่มวิศวกร ทิ้งรายได้เรือนแสน ทำเกษตรผสมผสาน ที่แพร่

“แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน” เป็นคำกล่าวถึงความจริงใจที่เต็มเปี่ยมของ คุณสุริยา ขันแก้ว ชื่อเล่นที่เรียกกันว่า “อู๋” อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 137/1 หมู่ที่ 11 บ้านแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทร. 087-936-4687 หรือ e-mail :       au[email protected] หรือ Facebook : suriyakhunkaew การศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภรรยา คุณหทัยรัตน์ ขันแก้ว  มีลูกชายและลูกสาว รวม 2 คน

คุณสุริยา ขันแก้ว นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันหลังให้กับงานประจำบริษัทเอกชนที่มีรายได้เป็นเงินเดือน เดือนละเกือบแสนบาท มาทำเกษตร แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นกลับมาใช้ชีวิตถิ่นเดิมที่บ้านเกิดในชนบท เขาวางแผนชีวิตและครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจ วางแผน วาดฝัน ออกแบบแปลงเกษตร การจัดการแปลง ศึกษาหาความรู้จนมั่นใจว่าการเกษตรและครอบครัว ลงมือทำจริงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดด จุดเด่นการทำเกษตรของคุณสุริยาจึงอยู่ที่การวางแผนและผลิตพืชผลทางการเกษตรจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เป็นแบบผสมผสานในแปลงนาเดียวกันสร้างมูลค่าเพิ่มของพื้นที่ การนำเทคโนโลยีการจ่ายน้ำแบบ เปิด-ปิด อัตโนมัติ มาใช้ในแปลง ทุ่นเวลาและแรงงาน

เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นพอสมควร แบ่งปันช่วยเหลือสังคม ชุมชน เปิดแปลงเกษตรให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดแนวความคิดประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรและเยาวชน นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ นำท่านผู้อ่านไปพบกับคุณสุริยากันครับ

โรงเรือนปลูกผัก

เบื้องหลังจากงานราชการ สู่เอกชน ก่อนกลับบ้านเกิด

คุณสุริยา เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า “ผมเป็นคนจังหวัดแพร่ครับ หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผมเข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร จบแล้วได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหาร ยศจ่าสิบตรี และต่อมาเลื่อนยศเป็นจ่าสิบโท ลาออกไปทำงานบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น มีหน้าที่ทำระบบเบรกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริษัทส่งตัวไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น 3 ปี กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าวิศวกร ทำหน้าที่เขียนโปรแกรมควบคุมระบบเบรกในรถยนต์ หรือระบบ ABS

ช่วงปี 2560 บริษัทเปลี่ยนฐานการผลิตกลับไปประเทศญี่ปุ่น ผมมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าวิศวกร จะต้องไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ผมคิดๆๆ หาทางออก ว่า แล้วครอบครัวล่ะ ห่วงลูก ห่วงครอบครัว หรือจะไปทำงานที่ญี่ปุ่นเงินเดือนเกือบแสนบาทนะ หรือจะเปลี่ยนงานใหม่ หรือจะกลับบ้านเกิดที่จังหวัดแพร่ แล้วจะไปทำมาหากินอะไร?”

ลูกเรียนรู้เลี้ยงปลาในนาข้าว

“จึงพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส”

ตัดสินใจ กลับบ้านเกิด

คุณสุริยา เล่าต่อว่า หลังจากตัดสินใจพาครอบครัวกลับไปตั้งหลักที่จังหวัดแพร่ ก็คิดวางแผนชีวิตตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะลูกที่ต้องย้ายโรงเรียนจากกรุงเทพฯ จะต้องส่งเสียให้ร่ำเรียนให้สูงที่สุดตามกำลังสติปัญญาของเขา ต้องลงทุนทำอะไรสักอย่าง เงินลงทุนก็พอมีเหลือจากเงินก้อนสุดท้ายที่บริษัทให้ เงินบำนาญจากราชการ แต่ก็ต้องเก็บออมไว้เป็นภูมิคุ้มกันให้ลูกได้เรียน แต่รายจ่ายในการดำรงชีวิต ต้องมีรายรับที่เพียงพอ คิดวางแผนทำอาชีพใหม่ คำตอบสุดท้าย คือ การเกษตร ผมคิดต่อไปอีกว่า แล้วจะต้องดำเนินการอะไร อย่างไร 1…2…3…4…เงินลงทุน ที่ดิน อีกทั้งความรู้ทางการเกษตร

คุณสุริยา บอกว่า ตนเองยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อรอขายบ้าน นำเงินมาลงทุน ช่วงเวลานั้นกระแสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกลับมาแพร่หลายอีกครั้ง ตนเองก็ฉุกคิดได้ว่าจะดำเนินรอยตาม แต่ก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ “6 มกราคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของผม ผมคิดว่าจะหาของขวัญอะไรให้กับตนเอง คิดได้ว่า จะต้องไปเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิต ผมเดินทางไปที่มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปทุมธานี พบผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการเกษตร ซึ่งท่านก็ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่แก่ผมเป็นอย่างดี ท่านพาไปดูแปลงเกษตรสาธิต เป็นเกษตรผสมผสาน เนื้อที่ 1 งาน ทำเกษตรก็เป็นคลังอาหารได้ เหลือก็ขายมีรายรับ จึงจุดประกายความคิดขึ้นมาทันที” คุณสุริยา กล่าว

ภรรยาและลูก

คุณสุริยา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านผู้อำนวยการยังได้แนะนำการเริ่มต้นทำการเกษตรอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ ดิน กับ น้ำ

ดิน ท่านแนะนำให้ตรวจวิเคราะห์สภาพดินก่อน แล้วปรับสภาพดินตามผลการตรวจสอบไปตามนั้น ให้เลี้ยงไส้เดือนแล้วนำมูลไส้เดือนมาเป็นปุ๋ยช่วยปรับสภาพดินและเพิ่มธาตุอาหารในดิน

น้ำ ท่านก็แนะนำให้คิดหาวิธีนำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตรให้ได้ตลอดทั้งปี “ผมไม่ได้ไปมือเปล่า แต่ได้นำแผนผังระบบน้ำที่ผมออกแบบไว้ นำติดตัวไปด้วย เพื่อขอความเห็น ขอคำแนะนำ ซึ่งท่านก็เห็นดีเห็นงามด้วย และท่านยังแนะนำให้รวมกลุ่มกันทำเกษตร อย่าทำคนเดียว มันเหนื่อย” เมื่อได้รับคำอธิบายและคำแนะนำเช่นนั้น จึงเพิ่มความมั่นอกมั่นใจให้กับคุณสุริยา

สาธิตการจับปลาให้กับเยาวชน

“2 เรื่องนี้ ดินกับน้ำในการทำเกษตร คือของขวัญวันเกิดของผมครับ”

คุณสุริยา กลับมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบและการบริหารน้ำเพื่อการเกษตร จากสื่อออนไลน์

ยัง…ยัง ไม่พอ คุณสุริยาไปเข้ารับการฝึกอบรมการเลี้ยงไส้เดือนที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อต่อยอดเป็นองค์ความรู้ โดยเขายอมเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หลังการฝึกอบรมได้วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงไส้เดือนกับตัวไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน หรือ AF มา 2 กะละมังพลาสติก นำกลับบ้านเกิด

คุณสุริยา ขันแก้ว

หยิบยก 2 เรื่อง ดิน กับ น้ำ

แปลงแนวคิดสู่การทำแผนงาน

คุณสุริยา กล่าวว่า ได้ออกแบบ วางผังทำแปลงเกษตรที่บ้านเกิดจังหวัดแพร่ แล้วนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับญาติพี่น้อง ก็ไม่ค่อยจะมีใครเห็นด้วย ได้รับคำกล่าวว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ทำเกษตรมา ไม่เห็นมีใครร่ำรวยมีเงินมีทอง มันเหนื่อยนะ แต่ขณะนั้น แม่ยายปลูกผัก ท่านบอกว่า ปลูกผักขายได้ปีละหลายหมื่นบาท ก็ยังมีรายรับพอเลี้ยงชีพได้อย่างสบาย ได้ข้อคิดจากแม่ยาย และถือเป็นต้นแบบคำแนะนำให้แก่ตน จึงมุ่งมั่น ออกแบบแบ่งพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ 1 ไร่ กับที่ซื้อเพิ่มมาอีก 1 ไร่ รวมเป็น 2 ไร่ก่อน จัดผังอย่างไร ปลูกอะไรให้มีผลผลิตเป็นรายรับรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี

สนุกมากครับ-สนุกมากค่ะ

พื้นที่ตรงไหนจะปลูกผัก ทำนาข้าว ขุดสระน้ำและบ่อปลา กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับทำโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือน ศาลาพักผ่อนไว้ชมวิวทิวทัศน์ คือจะต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การจัดการดิน ที่เป็นพื้นที่นาก็ต้องปรับปรุงโดยจะใช้มูลไส้เดือนตามที่ได้อบรมมาเพื่อลดต้นทุนการผลิต

การวางระบบน้ำ จะใช้สปริงเกลอร์ให้น้ำทั้งแปลง โดยจะสูบน้ำจากสระน้ำที่จะขุดขึ้นมาใช้

พืชผักที่จะนำมาปลูก คำนวณปริมาณและชนิดใดที่ต้องกินและขายได้ดีในช่วงใด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกาด คะน้า ผักสลัด ผักชี คือปลูกทุกอย่างที่กินได้ เหลือก็ขาย

ปลา คำนวณปริมาณและประเภทของปลาที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อน้ำและในนาข้าว

การตลาด วางแผนไว้ว่าเหลือจากกินในครอบครัวแล้ว จะขายที่ตลาดในชุมชนก่อน แล้วค่อยขยายไปตลาดนอกชุมชน เพราะในชุมชนมีร้านอาหารดังๆ ที่ต้องการวัตถุดิบประเภทผักเป็นจำนวนมาก

คำนวณต้นทุนการผลิต รายรับ-รายจ่าย = เงินออม

เยาวชนมาเรียนรู้งานเกษตร

– รายรับหลัก จะมาจากการขายผลิตผลทางการเกษตร รายรับจากการจัดการสถานที่ ค่าวิทยากร ขายมูลไส้เดือน เมล็ดพันธุ์ผัก ปลา

– รายจ่าย ค่าบริหารจัดการแปลงเกษตรที่ต้องเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่นำเงินทุนเดิมออกมาใช้ เหลือก็เป็นรายจ่ายประจำวันของครอบครัว และเป็นเงินออมทรัพย์

ทั้งนี้ ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ด้วยแล้ว โดยทำแผนสำรองไว้ หากแผนหลักไม่ประสบผลสำเร็จ จากนั้น ลงมือทำทันที

การจ่ายน้ำปิด-เปิด แบบอัตโนมัติ

แปลงแผนงาน สู่การปฏิบัติทำจริง

คุณสุริยา ได้ให้รายละเอียดว่า เมื่อวางแผนที่จะทำแปลงเกษตรเสร็จแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติ อันดับแรกถมที่นาให้เป็นแปลงปลูกผักและแปลงสาธิต ขุดบ่อเลี้ยงปลา และนำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตร พร้อมจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้มาดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปทำทีละเรื่อง

เริ่มปรับสภาพดิน เพราะพื้นที่เดิมเป็นนาข้าวที่ไม่ใช่พื้นที่ราบเสียทีดียว ซึ่งเป็นลักษณะทางภูมิประเทศโดยทั่วไปของภาคเหนือตอนบน จึงต้องปรับสภาพก่อนเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร น้ำ อากาศที่เพียงพอและเหมาะสมที่จะทำให้พืชผักเจริญเติบโต โดยใช้มูลไส้เดือนเป็นพระเอก ตามด้วยปุ๋ยหมัก ในการเสริมธาตุอาหารและให้เกิดจุลินทรีย์ในดิน โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ จากนั้นวางระบบน้ำด้วย ท่อ PVC เป็นระยะๆ ติดตั้งหัวสปริงเกลอร์

ปลูกผักก่อนเป็นอันดับแรก เป็นผักตามฤดูกาล

ฤดูฝน 

– ปลูกผักบุ้ง

– ผักปลัง (ช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม)

– ต้นหอม (เดือนมิถุนายน-ธันวาคม)

– กะเพรา

– ตะไคร้

– ข่า

สาธิตงานหัตถกรรม

ฤดูหนาว เป็นช่วงปลูกผักได้ดีที่สุด

– ผักบุ้ง

– ผักกาด (เดือนธันวาคม-มีนาคม)

– ผักชี (เดือนมกราคม-มีนาคม)

– ต้นหอม

– คะน้า

– กะเพรา

– ตะไคร้

– ข่า

– ผักสลัด (เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม)

ผักบุ้งจีน

ฤดูร้อน

 – ผักบุ้งจีน

– ผักกาดพื้นเมือง

เป็นการปลูกผักแบบหมุนเวียนบนพื้นที่เดียวกัน ซึ่งป้องกันโรคและแมลงได้กับเหตุผลที่เลือกปลูกผักชนิดดังกล่าว เพราะตลาดในชุมชนต้องการและเป็นรายรับรายวัน

ขุดสระน้ำ นำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตรและเลี้ยงปลาดุก ปลานิล สระน้ำนี้เป็นตัวช่วยทำให้ดินชุ่มชื้นได้มาก ใช้เป็นที่พักน้ำปลูกผักกระเฉดเพื่อลดสารพิษ เมื่อจะนำน้ำมาใช้ น้ำนี่ช่วยลดต้นทุนในการเกษตรได้มาก แล้วยังเป็นที่พักผ่อนได้ด้วย รอบสระน้ำปลูกกล้วย ต้นแค ผักหวานป่า มะม่วง มะพร้าว มะยงชิด ส้มโอ ทุเรียน เป็นรายรับรายสัปดาห์และรายปี

นำผลผลิตออกสู่ตลาด

เพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อใช้มูล ขาย ฝึกอบรม

คุณสุริยา บอกว่า สร้างโรงเรือนเพาะเลี้ยงไส้เดือน ขยายจำนวนจากที่ได้มาจากการอบรม จำนวน 2 กะละมังพลาสติก ได้เป็น 30 กะละมังพลาสติก แบ่งปันให้เพื่อนเกษตรกรนำไปเลี้ยงสร้างอาชีพ “ก็มีบางครั้งที่ทางเทศบาลขอใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม สาธิตการเลี้ยงไส้เดือน ผมก็จะเป็นวิทยากรให้และยังมีรายรับจากการขายตัวไส้เดือนบวกชุดอุปกรณ์ ชุดละ 270 บาท ขายมูลไส้เดือน บรรจุถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม ราคา 30 บาท น้ำมูลไส้เดือน ขวด 500 ซีซี ขวดละ 20 บาท”

เกษตรผสมผสาน คือทางออกความยั่งยืนในชีวิต

เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) ที่คุณสุริยาทำอยู่นี้เป็นการจัดการการเกษตรภายใต้การเกื้อกูลกันตามธรรมชาติที่ก่อเกิดประโยชน์แก่กันและกัน การอยู่ร่วมกันระหว่างพืชกับสัตว์และสิ่งแวดล้อม ในทรรศนะของคุณสุริยา แม้รูปแบบนี้จะไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มุ่งสู่การค้าเป็นหลักไปสู่เกษตรไทย ยุค 4.0 ก็ตาม แต่เป้าหมายจากระบบคิดของคุณสุริยามีความชัดเจนที่จะนำพาครอบครัวให้มีชีวิตที่มั่นคงได้ สร้างคลังอาหารให้แก่ครอบครัวและชุมชน โดยมีขีดความสามารถที่จะพัฒนาไปสู่เกษตรธรรมชาติเชิงการค้าด้วยรูปแบบของกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน

กิจกรรมที่น่าศึกษาในแปลงเกษตร เป็นโมเดลที่นำไปใช้ได้

คุณสุริยา ได้สร้างรูปแบบหรือโมเดลแปลงเกษตรตามที่เกษตรกรทั่วไปมักจะปลูกข้าวเป็นพืชเชิงเดี่ยว แต่คุณสุริยาทำแบบผสมผสานและสรุปผลความแตกต่างของรายรับว่า แนวคิดเดิม ใช้พื้นที่ 2 งาน (200 ตารางวา) โดยปลูกข้าวอย่างเดียว มีรายรับ 4,000 บาท ทำอย่างไร จึงจะใช้พื้นที่เท่ากัน แต่มีรายรับมากกว่า 4,000 บาท และเพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เกษตรกรอื่นๆ เห็นว่า “แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน” จากที่เคยปลูกข้าวได้เงิน 4,000 บาท เปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียว มีรายรับ 8,550 บาท โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก

เขาแนะนำการปลูกพืชแต่ละแปลง

แปลงที่ 1 เป็นแปลงปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว โดยใช้ข้าวเจ้าสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในเนื้อที่ 50 ตารางวา โดยทำนาแบบดั้งเดิม คือใช้คนปลูกและไม่ใช้สารเคมีใดๆ จะได้ข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม ราคาขาย กิโลกรัมละ 10 บาท ได้เงิน 1,000 บาท

แปลงที่ 2 ปลูกข้าวเจ้าขาวดอกมะลิ 105 เนื้อที่ 50 ตารางวา เหมือนแปลงที่ 1 แต่เลี้ยงปลาดุกในนาข้าว 100 ตัว จะมีรายรับจากการขายข้าวเปลือกและขายปลาดุก 2,050 บาท ผลดีสืบเนื่องก็คือ ต้นข้าวไม่มีแมลงรบกวน และปลาก็เติบโตดี โดยไม่ต้องลงทุนซื้ออาหารปลา ขายข้าว 1,000 บาท บวกขายปลาดุก 1,050 บาท รวมรับ 2,050 บาท

แปลงที่ 3 ปลูกผักบุ้งจีน เนื้อที่ 50 ตารางวา ขายได้เงิน 4,000 บาท

แปลงที่ 4 ปลูกเผือกหอม เนื้อที่ 50 ตารางวา ขายได้เงิน 1,500 บาท รวมรายรับ 8,550 บาท ขณะที่ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ในเนื้อที่ 200 ตารางวา จะมีรายรับเพียง 4,000 บาท ทั้งหมดใช้เวลา 1 ฤดูกาล ของข้าวคือ 4 เดือน

 

เทคโนโลยีระบบน้ำอัตโนมัติในแปลงเกษตร

คุณสุริยา ได้นำเทคโนโลยีระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติ (Automatic Watering System) มาใช้ในแปลงเกษตร โดยได้เปรียบเทียบระบบการให้น้ำในแปลงเกษตรระบบเดิมกับระบบที่คุณสุริยาคิดค้นสร้างขึ้นมาใช้ ว่าระบบนี้ส่งผลให้เกิดการประหยัดเวลา เงินทุน แรงงาน

ระบบเดิม ใช้สายยางเดินรดน้ำ ในพื้นที่ 1 งาน (เช้าและเย็น)

– ใช้เวลา 2 ชั่วโมง/วัน หรือคิดเป็น 91 วัน/ปี

– ค่าแรง วันละ 300 บาท คิดเป็นรายรับที่เสียไป

– 27,300 บาท/ปี

ระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติ (Automatic Watering System) ใช้สปริงเกลอร์ (sprinkler) แทนสายยาง

– ประหยัดเวลาได้ 2 ชั่วโมง/วัน

– สามารถตั้งเวลา เปิด-ปิดน้ำได้ตามต้องการ แม้ตนเองไม่อยู่ในแปลงเกษตรหรือไม่ได้อยู่บ้าน

– ลงทุนครั้งเดียว เพียง 15,000 บาท แต่สามารถใช้งานได้นานหลายปี

มาดูการติดตั้งและระบบการจ่ายน้ำของ Automatic Watering System ที่ผ่านหัวจ่ายน้ำด้วยสปริงเกลอร์

ถ่ายทอดความคิด ชวนกันรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

คุณสุริยา ได้บอกว่า ตนเองได้เห็นภาพของเกษตรกรรอบข้างต่างคนต่างปลูกผัก บางคนปลูกแล้วไม่มีแหล่งขายผัก บางคนก็ขายไม่ได้ เพราะผักไม่มีคุณภาพ เมื่อย้อนมามองตัวเอง ถ้ายังทำอยู่อย่างนี้ คือปลูกคนเดียว ต้องหาตลาดด้วย มันเหนื่อย! “ผมไม่คิดจะปลูกผักและขายแข่งกับเกษตรกรรายอื่น แต่ถ้าชักชวนกันมารวมกลุ่มแล้วบริหารจัดการให้ดี แบ่งปันผลประโยชน์ที่ทุกคนพอใจ น่าจะเป็นการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปอีกขั้นหนึ่ง”

เมื่อคิดได้ดังนี้ คุณสุริยา จึงออกไปถ่ายทอดความคิด ชักชวนเกษตรกรผู้ปลูกผัก ว่าถ้ารวมกลุ่มกันจะก่อเกิดผลดีกว่าในเรื่องผลผลิตผักมีปริมาณมากพอ พอที่จะป้อนเข้าสู่ตลาด ได้ราคาดีกว่าต่างคนต่างขาย การพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันดีกว่าต่างคนต่างอยู่ ได้เสวนากัน อาจก่อเกิดความคิดดีๆ ทุกคนได้บริหารจัดการกลุ่มร่วมกัน การส่งเสริมทั้งทางวิชาการ งบประมาณจากหน่วยงานภายนอก ก็จะได้รับการพิจารณาได้ง่ายขึ้น

ในที่สุด เห็นพ้องต้องกัน จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติบ้านแม่ลานเหนือ ปัจจุบัน มีสมาชิกกลุ่ม 58 คน และคุณสุริยาทำหน้าที่เป็นประธาน

แบ่งปันช่วยเหลือชุมชนเป็นวิทยากร

เมื่อคุณสุริยาประสบผลสำเร็จจากการทำเกษตรผสมผสานแล้วได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ การสรุปบทเรียน แง่คิดมุมมองต่างๆ มาแบ่งปันให้แก่คนในชุมชนและเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร เยาวชน บุคลากรของหน่วยงานราชการและเอกชน ปีหนึ่งๆ ก็หลายครั้ง หลายกลุ่ม โดยมีรายได้จากค่าวิทยากรบ้าง ขายผลผลิต ทั้งผักสด เมล็ดพันธุ์บ้าง ก็พอคุ้มค่ากับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาขอดูงานหรือให้เป็นวิทยากรในเรื่องระบบน้ำ Automatic Watering System ในแปลงเกษตร การเลี้ยงไส้เดือน ปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือน ผักปลอดสารพิษ และคุณสุริยาได้รับการคัดเลือกให้เป็นปราชญ์เพื่อความมั่นคงระดับจังหวัด ปี 2561 จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

การตลาด

คุณสุริยา บอกว่า เฉพาะปลูกผักขายก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในชุมชน ผลิตไม่ทัน จึงต้องขยายไปยังกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะผักบุ้งจีน เป็นที่ต้องการมาก เพราะที่บ้านแม่ลานและเขตอำเภอลอง มีร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขนมจีนน้ำย้อยที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ในอำเภอลองหลายร้าน แต่ละวันมีคนมากินและซื้อกลับบ้านกันเป็นจำนวนมาก “วาดฝันไว้ว่า ผมจะส่งผลผลิตทางการเกษตรไปยังคนบ้านเดียวกัน แต่ไปทำงานต่างถิ่นให้ได้กินพืชผักจากบ้านแม่ลานเหนือ เพื่อเป็นการสื่อสารบอกให้รู้ว่า นี่นะ ผลผลิตจากถิ่นบ้านเกิดของเขา ผู้ผลิตก็เคยใช้ชีวิตต่างถิ่นเช่นกัน แต่วันนี้เขากลับบ้านเกิดแล้ว เขายังทำเกษตรได้”

ครอบครัวมีสุข

คุณสุริยา วางแผนชีวิตและครอบครัวมาดีตั้งแต่ต้น ส่งผลให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา มีกิจกรรมต่างๆ ให้ครอบครัวทำงานร่วมกันเป็นครอบครัวอบอุ่นมีสุข ที่หาซื้อไม่ได้ในสังคมปัจจุบัน

คุณสุริยา บอกว่า ตนเองรับผิดชอบดูแลแปลงเกษตรและวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติแม่ลานเหนือ ภรรยาดูแลงานหัตถกรรมและวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือ ส่วนลูกๆ หลังเลิกเรียนหรือมีเวลาว่างในวันหยุดเรียนจะช่วยพ่อ-แม่ ในแปลงเกษตรและงานหัตถกรรม

มีคำถามจากผู้เขียนว่า เห็นลูกๆ ลงทำงานในแปลงเกษตรคิดอย่างไร จึงให้ลูกทำเช่นนั้น

คุณสุริยา ตอบว่า “ผมว่ามันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาการของเด็ก และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ลูก”

“ช่วยขยายความหน่อย” ผู้เขียนกล่าว

คุณสุริยา อธิบายขยายความว่า การให้ลูกได้คลุกคลีกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ได้วิ่ง ได้เล่น ได้ลงแปลง ไม่ได้บังคับนะ เขาได้กินอาหารที่ผลิตแบบธรรมชาติ ทำให้เขาได้สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตจริงของชนบทบ้านเกิด เป็นเด็กที่มีอารมณ์ร่าเริง มองโลกในแง่ดี ตั้งใจทำงาน จริงใจ เป็นธรรมชาติ สุขภาพของเขาก็แข็งแรงมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพราะตั้งแต่ย้ายมาจากกรุงเทพฯ ไม่เคยป่วยหรือเป็นไข้ ซึ่งแตกต่างจากที่อยู่กรุงเทพฯ เขารู้จักการคิดเชิงระบบและมีกระบวนการคิดตามพื้นฐานของธรรมชาติ เช่น เขาเห็นน้ำในนาไหลจากที่สูงลงที่ต่ำกว่า นี่แหละธรรมชาติ เมื่อโตขึ้นเขาจะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้บนพื้นฐานของการคิดที่อิงธรรมชาติ อีกอย่างเขามีวิถีชีวิตผูกพันกับครอบครัว ปู่ ย่า ตา ยาย มีจิตวิญญาณในการผูกพันบ้านเกิด ว่านี่คือ ถิ่น ผืนดินของพ่อแม่ทำไว้

“ให้เขามีสำนึกว่าเขาเป็นคนบ้านแม่ลาน หรือเขาเป็นคนเมืองแพร่นะ และวาดฝันไว้ว่าเขาจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนต่อไปในอนาคต”

สำหรับคุณสุริยาแล้วงานอดิเรกของเขาคือ การตกปลา คุณสุริยาให้ทรรศนะว่า การตกปลาในแม่น้ำยม จะใช้ช่วงเวลาที่ปลอดจากงานในแปลงเกษตร นอกจากเป็นการกีฬาตกปลาแล้ว ก็เพื่อการผ่อนคลาย ฝึกสมาธิความนิ่ง เรียนรู้ธรรมชาติของปลาว่าช่วงเวลาใดที่ปลากินเหยื่อหรือไม่กินเหยื่อ บางครั้งก็ได้ข้อคิดดีๆ เกิดความคิดขึ้นมาทันที ในช่วงรอปลากินเหยื่อ ได้บทเรียนชีวิตนำไปประยุกต์ใช้เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ

หลักคิดในการทำเกษตรผสมผสาน

จากประสบการณ์ของการทำเกษตรผสมผสานและการใช้ชีวิต ณ ถิ่นบ้านเกิด คุณสุริยาได้ฝากหลักคิดไว้ว่า

– ต้องเรียนรู้ถึงธรรมชาติของพืชผักชนิดนั้นๆ ที่เราต้องการปลูก รวมทั้งเรียนรู้เรื่องดิน น้ำ ธาตุอาหาร อินทรียวัตถุ  การจัดการ การตลาด การแปรรูป

– ต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำเทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมมาใช้

– เกษตรผสมผสานเป็นคำตอบที่สร้างรายรับหมุนเวียนให้แก่ครอบครัว บริหารวัตถุดิบป้อนสู่ตลาดชุมชนได้ตลอดปี และเกษตรผสมผสานส่งผลต่อการพออยู่พอกิน ตอบโจทย์การป้องกันรักษาสุขภาพได้เป็นอย่างดี

– ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้แก่ชีวิตและอาชีพเกษตรกรรม

ฝากข้อคิดสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่อยากกลับบ้านไปพัฒนาบ้านเกิด

บทสนทนาสุดท้าย คุณสุริยา บอกว่า ผม จากคนชนบทไปร่ำเรียน ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 26 ปี ได้พบเห็นอะไรๆ หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ฉุกคิดเมื่อนำไปเทียบเคียงกับวิถีชีวิตใหม่ในชนบท

  1. การดำเนินชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ต้องแสวงหาเงิน แม้จะมีเงินเดือนสูงๆ แต่ถ้าเดือนๆ หนึ่ง เงินไม่มีเหลือ สำหรับตนแล้วไม่มีประโยชน์อันใด ขณะที่การใช้ชีวิตในชนบทบ้านเกิด มีกินมีใช้ ไม่มีหนี้สิน มีทรัพย์ในดิน มีสินในนา นำมาเพิ่มมูลค่าได้ ส่งลูกเรียนหนังสือได้
  2. การส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ บางคนอาจจะคิดว่าถ้าลูกได้เรียนในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียง สุดยอดแล้ว แต่ คุณสุริยา บอกว่า เมื่อย้ายลูกไปเรียนที่บ้านเกิด เปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า ถ้าให้ลูกเรียนในโรงเรียนดังๆ แล้ว ลูกจะเป็นคนเก่ง ไม่เสมอไป อาจจะเรียนสู้เด็กในต่างจังหวัดไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องไปติดยึดกับชื่อเสียงโรงเรียน มันขึ้นอยู่กับเด็ก ถ้าพ่อ-แม่ เกื้อหนุน ส่งเสริมในทางที่ถูกที่ควร ดูแลดีๆ เด็กก็จะเป็นคนเก่งฉลาดฉาดฉานและเป็นคนดีได้
  3. ความมั่นคงในชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน แต่ขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง
  4. เคยเห็น พ่อ-แม่ ที่ใช้ชีวิตในชนบทมีความสามารถส่งลูกเรียนหนังสือจนจบปริญญาได้ แต่ลูกที่เรียนจบปริญญาบางคนทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่กลับเลี้ยงลูกเองไม่ได้ ต้องนำไปให้ปู่ ย่า ตา ยาย ในชนบทเลี้ยงดู แล้วชีวิตความเป็นครอบครัวจะมีคุณค่าได้อย่างไร
  5. ใครที่มองหาคำตอบความยั่งยืนในชีวิต คนที่มีความพร้อมด้านเงินทุน ที่ดิน คุณสุริยาเชิญชวนให้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ช่วยกันพัฒนาชนบท จากประสบการณ์ของคุณสุริยา บอกว่า ทำได้จริงจึงถ่ายทอดกิจกรรมที่ตนเองทำในแปลงเกษตร ผ่านทาง Facebook มีเพื่อนๆ หรือแฟนคลับ ถึง 600 คน ในจำนวนนี้มีคนบ้านเดียวกันกับคุณสุริยา 50 คน และมีบางคนได้กลับมาทำเกษตรที่บ้านของตนเองบ้างแล้ว

แวะเยี่ยมชมแปลงเกษตรผสมผสาน

คุณสุริยา ได้กล่าวในตอนท้ายเชิญชวนให้ผู้สนใจไปเยี่ยมชม ดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งที่บ้านเปิดเป็นสถานที่ฝึกอบรมด้วย แล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้ถึง 3 แห่ง คือศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติบ้านแม่ลานเหนือ และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือ

การเดินทางไปยังสถานที่แปลงเกษตรของคุณสุริยา ไปได้หลายทางครับ แนะนำเส้นทางจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตแพร่ (อำเภอลอง) ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นโรงพยาบาลลอง ขับรถเข้าไปในซอยข้างมหาวิทยาลัย ผ่านร้านอาหารที่ขึ้นชื่อลือนามหลายแห่ง ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 2 บ้านของคุณสุริยาอยู่ฝั่งซ้ายมือก่อนถึงวัดแม่ลานเหนือ

วัดแม่ลานเหนือ หรือบ้านแม่ลาน เป็นสถานที่ที่มีการกล่าวขานกันในอดีตถึง 2 เรื่อง ซึ่งหากท่านดูจากสื่อกระแสหลักหรือสื่อออนไลน์เรื่องหนึ่งคือ ที่มาของระฆังลูกระเบิดสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เรื่องที่ 2 คือฐานการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ถ้าท่านสนใจมีผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเล่ารายละเอียดให้ฟังครับ

อาชีพเกษตรกรรมของบ้านเรา นอกจากต้องอาศัยลมฟ้าอากาศธรรมชาติแล้ว ฝีมือ หรือความรู้ ทักษะของเกษตรกรก็ต้องได้รับการพัฒนาในทุกขั้นตอน ดังกรณีตัวอย่างของ คุณสุริยา ขันแก้ว เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการวางแผนการผลิตทั้งก่อน-ระหว่าง-และหลังการผลิต มีการจัดการแปลงเกษตรที่ดีด้วยการใช้ที่ดิน บริหารจัดการน้ำ การใช้ปัจจัยการผลิตแบบผสมผสาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ผู้เขียนได้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์และช่องทางการติดต่อสื่อสารอื่นๆ พูดคุยกับคุณสุริยาไว้แล้วในตอนต้นของบทความนี้ครับ

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ