ดาหลา ไม้ประดับกินได้ ปลูกง่าย ทนแล้ง ราคาดี ดอกละ 10 บาท

ดาหลา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณป่าร้อนชื้น นิยมปลูกมากในภาคใต้ของประเทศไทย  ดาหลาถือเป็นดอกไม้ที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นระยะเวลานาน เช่น หลักฐานจากวรรณคดีเรืองลิลิตพระลอ ถูกแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น

ปัจจุบันสามารถพบดาหลาได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และพบตามอาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือการปลูกเพื่อจำหน่าย แต่จะพบได้มากทางภาคใต้ เพราะคนในภาคใต้นำดาหลามาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ในอดีตแล้ว เพราะด้วยสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย เช่น ใช้ขับลม แก้ปวดหัว ต้านมะเร็ง โรคเกาต์

ดาหลาจัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้านี้จะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอก และหน่อต้น ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นคล้ายข่า เรียกว่าลำต้นเทียม โดยลำต้นเทียมที่อยู่เหนือดินจะมีสีเขียวเข้มสูงประมาณ 2-5 เมตร

ใบเป็นใบเดี่ยวมีลักษณะคล้ายใบข่า เป็นรูปทรงยาวเรียว ไม่มีก้านใบ ใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมันผิวใบเกลี้ยง ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวเป็นช่องอกขึ้นจากเหง้าใต้ดิน ส่วนกลีบดอกจะหนา ผิวเรียบเป็นมันวาวคล้ายพลาสติก กลีบดอกด้านนอกมีขนาดใหญ่ แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงเข้าสู่ด้านใน ตรงศูนย์กลางดอกเป็นเกสร ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ดอกสีชมพู สีแดง สีขาว และสีชมพูอ่อน

คุณสหจร ชุมคช

คุณสหจร ชุมคช เกษตรกรผู้สร้างป่าร่วมยาง เล่าว่า เริ่มจากความชอบในต้นไม้ แต่พื้นที่ปลูกสวนยาง จึงนำพันธุ์ไม้ที่ชื่นชอบเข้ามาปลูกร่วมในสวนยาง และผลลัพธ์ที่ได้ดีเกินคาด

คุณสหจรอดีตเคยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และได้ลาออกจากงานเพื่อกลับมาทำเกษตรเมื่อปี พ.ศ. 2551 ในปีนั้นคนในพื้นที่ต่างถอนดอกดาหลาออกมาทิ้ง เพื่อใช้พื้นที่ทำเกษตรด้านอื่นๆ คุณสหจรซึ่งมีความชื่นชอบต้นไม้อยู่แล้ว และด้วยความสวยงามของดอกดาหลา ทำให้ได้ต้นพันธุ์ฟรีจากชาวบ้านนำมาปลูกในสวนยางของตนเอง ซึ่งพันธุ์ที่ได้ ได้แก่ สีขาว สีชมพู สีแดง และยังได้พันธุ์สีแดง สีขาว จากการเดินป่า ที่มีลักษณะแตกต่างจากดอกสีแดงทั่วไปอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ดอกดาหลากับเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบดอกดาหลา ทำให้ได้สายพันธุ์ที่ลักษณะแตกต่างมาอีก 3 ชนิด

และในปี พ.ศ. 2558 ดอกดาหลาภายในสวนก็เริ่มบานทุกดอก ทำให้ตอนนั้นได้เห็นรูปทรง ลักษณะดอกและสีที่แตกต่างกันออกไปถึง 8 ชนิด และอีก 3 ปี ดอกดาหลาเหล่านี้ก็กลายเป็นต้นที่ใหญ่สมบูรณ์ และเกิดสายพันธุ์ใหม่ ด้วยวิธีธรรมชาติจากนกที่ผสมพันธุ์ให้ ทำให้สี ลักษณะดอก รูปทรงต่างๆ เปลี่ยนไปทำให้เกิดดอกดาหลาชนิดใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 5 ชนิด และในปี พ.ศ. 2560-2562 ก็เกิดความหลากหลายของสีและดอกดาหลาเพิ่มขึ้นมาอีกหลายชนิด

การเพาะดาหลาด้วยเมล็ด

1 กระเปาะ หรือ 1 ฝักของดอกดาหลาจะมีเมล็ดอยู่ 100-120 เมล็ด เมื่อนำเมล็ดออกมาแล้วทำการผ่าเมล็ดแกะเปลือกออก แล้วล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน จากนั้นนำมาตากลมให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในตู้เย็นได้ 1 ปี (แช่ในช่องผัก) ก่อนนำมาเพาะต้องนำเมล็ดไปแช่น้ำก่อน 1-2 คืน หรือหากอยากแช่นานกว่านี้ก็ไม่ควรเกิน 5 คืน นำเมล็ดพันธุ์ใส่ลงไปในถุงเพาะที่มีดินแล้ว วางเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องลึก จากนั้นนำใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นเพื่อทำการอบ

ระยะเวลาในการเพาะต้นกล้าจะอยู่ที่ 2 เดือน จะเปิดค่อยๆ เปิดปากถุงทีละนิดเพื่อปรับสภาพอากาศให้กับต้นกล้า ในช่วงนี้ใบเริ่มบานเต็มที่แล้ว ต้นกล้าจะมีขนาด 3-4 เซนติเมตร โดยโรงเรือนเพาะพันธุ์จะเป็นโรงเรือนระบบเปิด และต้นกล้าจะแข็งแรงพร้อมลงดินปลูกเมื่ออายุ 6 เดือน ขนาดประมาณ 1 ฟุต

ดินที่เหมาะสมแก่การปลูกดาหลาคือ ดินร่วน เนื่องจากดาหลาเป็นพืชที่มีระบบรากตื้นหากินตามหน้าดิน จึงเหมาะสมแก่การปลูกในดินร่วน และดาหลาจะเติบโตได้ดียิ่งขึ้นเมื่อปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้นดาหลามีอายุครบ  2 ปี ก็สามารถออกดอกได้แล้ว

การรดน้ำ

เนื่องจากดาหลาเป็นไม้ทนแล้ง จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อย และยิ่งปลูกในพื้นที่ภาคใต้ การรดน้ำจึงไม่จำเป็น แต่ผู้ปลูกสามารถสังเกตได้ว่าช่วงที่ดาหลาต้องการน้ำจริงๆ ใบดาหลาจะห่อ นั่นหมายความว่าดาหลากำลังขาดน้ำเมื่อถึงตอนนั้นก็สามารถรดน้ำได้

การใส่ปุ๋ย สำหรับดาหลาที่ปลูกควบคู่ไปกับต้นยางและพืชชนิดอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย เพราะทางสวนทำเกษตรรูปแบบอินทรีย์ ดินและสารอาหารอื่นๆ ในดินมีเพียงพอต่อพืช จึงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม

ดอกดาหลาจะออกปีละ 1 ครั้ง ฤดูเก็บเกี่ยวจะอยู่ช่วงเดือนเมษายน-กันยายน ต้นดาหลาที่มีอายุ 5-6 ปี สามารถออกดอกให้ตัดได้ตลอดทั้งปี นอกฤดูกาลก็ยังออกดอกแต่อาจจะน้อยกว่าช่วงฤดูเก็บเกี่ยว

ตลาด

เนื่องจากทางสวนปลูกดาหลาอยู่บนเนื้อที่ 26 ไร่ และมีดาหลาของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง กลุ่มตลาดขายต้นพันธุ์และเหง้าจะเป็นนักสะสมต้นไม้ นักสะสมดาหลา ทั้งในประเทศไทยและส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม โดยราคาเริ่มต้นที่ 50-450 บาท

และกลุ่มตลาดตัดดอกสด ได้แก่ ร้านขายดอกไม้ ร้านอาหาร ทั่วประเทศ โดยราคาดอกสดอยู่ที่ ดอกละ 10 บาท (พร้อมแพ็กสินค้าอย่างดี ไม่รวมค่าจัดส่ง) ดาหลานอกจากดอกจะสวยงามแล้ว ผู้คนจำนวนมากยังนิยมนำมาประกอบอาหาร ทั้งการแปรรูปและการกินสด

นอกจากนี้ คุณสหจรยังเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มีการทำเกษตรพืชชนิดอื่นๆ รวมไปถึงการแปรรูป ของกิน ของใช้ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน พื้นที่แห่งนี้เปิดในทุกคนเข้ามาศึกษาดูงานแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป พร้อมให้คำแนะนำฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

สำหรับท่านใดที่สนใจ เมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ เหง้า ดาหลา ดอกสดดาหลา ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสหจร ชุมคช โทรศัพท์ 091-847-9299 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก : ปริญญาฉีกกฏ สวนปันแสง เหยียบกะลา สร้างป่าร่วมยาง (ไก่)

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2566.