วช. ผนึกภาคีเครือข่าย วางกรอบวิจัยเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติกทางทะเล

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ WESTPAC ( ION Sub-Commission for the Western Pacific ) หน่วยงานในสังกัดองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO ) ได้ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือกำหนดแนวทางการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติก ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นปัญหาผลกระทบจากขยะพลาสติกที่ตกค้างในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะในแหล่งน้ำรวมทั้งเศษขยะพลาสติกขนาดใหญ่ตกค้างในร่างกายของสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์น้ำ เช่น พยูนมาเรียมน้อย วช. มองว่า ปัญหา การแตกตัวของพลาสติก กลายเป็นไมโครพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งทางน้ำ ดิน ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิตและห่วงโซ่อาหาร กำลังเป็นที่สนใจของนักวิจัยในประเทศ

แต่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขนาดของไมโครพลาสติกเพื่อเทียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบการตกค้าง หรือความรุนแรงของปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นวิธีการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ของแต่ละหน่วยงานวิจัยที่มีความแตกต่างกันและในบางประเด็นยังไม่มีการกำหนดวิธีการไว้ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และทดลองของนักวิจัยเอง ทำให้เกิดปัญหาในการเปรียบเทียบผลการวิจัย

ปัจจุบัน หน่วยงานวิจัยต่างๆ ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน จัดประชุมเวทีนานาชาติเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการเก็บตัวอย่างขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกในระบบนิเวศในทะเลเป็นหลัก ส่วนในน้ำจืดและน้ำกร่อยยังไม่มีการเตรียมการ ดังนั้น วช. จึงได้ร่วมหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ WESTPAC เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นแนวทางเดียวกันในการจัดเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติกที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของนักวิจัยหรือบุคคลที่สนใจในการวิเคราะห์ไมโครพลาสติกในอนาคต

นับเป็นเรื่องที่ดีที่ระยะหลัง สังคมไทยได้เริ่มตื่นตัวเรื่องการใช้พลาสติกและขยะพลาสติกกันมากขึ้น  ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีส่วนในการขับเคลื่อนประเด็นปัญหานี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การกำหนดแผนงานสนับสนุนทุนวิจัย “โครงการท้าทายไทย” ภายใต้ ชื่อ “ทะเลไทย…ไร้ขยะ” ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานวิจัยทั่วประเทศทั้งในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในหลายประเด็น เกี่ยวกับปัญหาไมโครพลาสติกที่มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำ ดิน และตะกอนดินในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ของหน่วยงานวิจัยที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งในบางประเด็นที่ยังไม่มีกำหนดวิธีการไว้ ดังนั้นโครงการความร่วมมือระหว่าง วช. กับพันธมิตรเครือข่ายในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และทดลองของนักวิจัย ที่จะช่วยกันกำหนดแนวทางการเปรียบเทียบผลการวิจัยด้านการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ผลวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต