เลี้ยงสัตว์ 8 ชนิดเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

เลี้ยงสัตว์ 8 ชนิดเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ใครกำลังมองหาอาชีพเสริม การเลี้ยงสัตว์ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ ที่ควรศึกษา เพื่อสร้างอาชีพเป็นธุรกิจได้ บางคนอาจจะเริ่มจากสิ่งที่ชอบ จากสิ่งที่รัก ให้กลายเป็นอาชีพที่มีรายได้มากกว่างานประจำที่ทำก็เป็นได้ไม่ยาก เพียงแค่ลุย ลงมือทำ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ช้า 

วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้าน ได้รวบรวม “เลี้ยงสัตว์ 8 ชนิดเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ” มาเป็นไอเดียให้สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์สร้างรายได้ แต่ไม่รู้จะเลี้ยงอะไรดี ลองเอาไอเดียเหล่านี้ไปศึกษาการเลี้ยงเพิ่มเติม ทุกการเริ่มต้นอาจจะยากสำหรับมือใหม่ 

ปูนา

หากใครอยากเลี้ยงปูนาให้ตัวเบิ้มๆ ตัวอวบ แข็งแรง ต้องเริ่มจากการเข้าใจพฤติกรรมของปูนา อาหารที่ใช้เลี้ยง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ใช้เลี้ยงปูนาเองก็สำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปูนาเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

การเพาะเลี้ยงนั้น จะเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ มีการใส่ดินเพื่อป้องกันการหลุดของขาปู รวมทั้งควรมีที่หลบภัยเนื่องจากช่วงที่ปูลอกคราบปูมักจะกินกันเอง และต้องมีคอกป้องกันปูไต่หนี ส่วนอาหารจะให้เป็นอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงกบและผักตามธรรมชาติ โดยจะให้แค่ปูพอกินหมดเช้า เย็น ครั้งละไม่มาก ขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของปู แต่หากให้อาหารปูมากเกินไป จะทำให้อาหารที่เหลืออาจเน่าเสีย เป็นต้นเหตุทำให้ปูเป็นโรคได้ ที่สำคัญควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์

หากเห็นปูตัวผู้หงายท้อง แสดงว่าตอนนั้นปูตัวผู้กำลังเรียกร้องหาตัวเมียเพื่อ “ผสมพันธุ์” โดยพฤติกรรมการขยายพันธุ์ของปูนา คือ ตัวผู้จะหงายท้องรอตัวเมียที่มีความต้องการเหมือนกันขึ้นมาทับบนตัวของมัน และทุกครั้งหลังผสมพันธุ์เสร็จ โอกาสน้อยที่ตัวผู้จะรอด เพราะส่วนใหญ่ตัวผู้จะตาย หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ

สังเกตที่ตะปิ้งใต้ท้องจะมีลูกปูจำนวนมาก ให้จับแยกไว้อีกบ่อ จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ แม่ปูจะสลัดลูกทิ้ง ให้แยกแม่ออกไปขุนต่อเลี้ยงไปอีก 1 เดือน สามารถนำมาทำแม่พันธุ์ได้อีกครั้ง ส่วนลูกปูเลี้ยงต่อไปอีก 1 เดือนครึ่ง จับแยกบ่อขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร บ่อละ 5 กิโลกรัม เลี้ยงต่อไปอีก 3 เดือน สามารถจับขายได้

ปูนาสายพันธุ์กำแพงเป็นปูนาที่น่าสนใจเพาะเลี้ยง เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว และมีขนาดลำตัวที่ค่อนข้างใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 13 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 90 บาท สามารถทำรายได้วันละ 800-1,000 บาทเลยทีเดียว

ไก่ไข่ 

“การเลี้ยงไก่ไข่” เลี้ยงแบบเรียบง่าย เน้นความสะอาดในเล้าเป็นสำคัญ และใช้เวลาในการดูแลจัดการให้อาหาร ให้น้ำ ทำความสะอาด เพียงวันละ 1-2 ชั่วโมง เก็บไข่ขายได้วันละ 2 แผง ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่ดี หรือหากใครมีกำลัง มีต้นทุน อยากทำเป็นหลักก็น่าสนใจไม่น้อย

การเลี้ยงในรูปแบบโรงเรือนกึ่งเปิด-กึ่งปิด รูปแบบนี้จะประกอบด้วย โรงเรือนไก่นอนและบริเวณพื้นที่หากินที่มีรั้วรอบขอบชิด โรงเรือนต้องมีขนาดพอเหมาะกับจำนวนไก่ที่เลี้ยง เพื่อให้ไก่มีที่อยู่เป็นสัดส่วน และป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคหรือศัตรูเข้าไปรบกวนไก่ และหมั่นทำความสะอาดโรงเรือนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ช่วยลดปัญหาความรุนแรงของโรค และช่วยให้จัดการได้ง่ายขึ้น

การให้อาหาร จะให้เป็นเม็ดสำเร็จรูป ให้ทุกวันเช้า-เย็น น้ำเติมไว้อย่าให้ขาด โดยในเล้าจะมีถังน้ำขนาด 10 ลิตร วางไว้ 7 ถัง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของไก่ในแต่ละวัน

จำนวนไก่ที่เลี้ยงอยู่จำนวน 100 ตัว จะออกไข่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 60-80 ฟองต่อวัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากช่วงไหนมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดๆ แม่ไก่ก็จะออกไข่ได้น้อย ราคาขายอยู่ประมาณแผงละ 110 บาท ขนาดเบอร์อยู่ที่ประมาณเบอร์ 1, 2 หรือคิดเป็นเงินได้วันละ 220 บาท ไม่ขาดมือ

เคล็บลับ : ไก่โดยธรรมชาติแล้ว ไม่ควรขังให้อยู่ในกรงเลี้ยงมากไป เพราะจะทำให้สัตว์เครียด สุขภาพก็อาจจะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ดังนั้น ก็เลยเลี้ยงแบบให้มีพื้นที่เดินเล่นได้ คุ้ยเขี่ยจะดีที่สุด เพราะไก่จะมีสุขภาพดี มีการผ่อนคลาย ก็จะส่งผลต่อการออกไข่ที่มีปริมาณที่มากตามไปด้วย

ปลากัด

ความนิยมการเลี้ยงปลากัดเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากการเพาะพันธุ์ และการคัดเลือกสายพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ปัจจุบันปลากัดที่มีอยู่ตามท้องตลาดนั้น จะมีสีสันสวยงามหลากสีเพิ่มขึ้น จากสาเหตุนี้เองทำให้เริ่มมีการเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามกันมากขึ้น มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น  ดังนั้น เมื่อการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดมีการพัฒนาอย่างตลอดเวลาต่อเนื่องจึงเป็นที่ยอมรับจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การเพาะพันธุ์ เริ่มจากคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ รวมถึงดูรูปร่างสีสันตามต้องการ นําตัวเมียและตัวผู้มาวางติดกัน 4 วัน ให้มีความคุ้นเคย เมื่อตัวเมียไข่แก่ก็นำมาเพาะพันธุ์โดยนําไปขังรวมกับตัวผู้ อัตรา 1 : 1 (ตัวเมีย 1 ตัว ตัวผู้ 1 ตัว) ขังรวมไว้ 2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ในภาชนะที่เพาะฟักและตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อผสมกับไข่ในบ่อเพาะพันธุ์ ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 5 วัน หลังจากนั้นลูกปลาพร้อมที่จะนำไปอนุบาล ตัวผู้จะเป็นผู้เลี้ยงลูก แยกตัวเมียออก (เพราะตัวเมียจะกินลูก) ตัวผู้จะเลี้ยงลูก 5-7 วัน หลังจากถุงไข่ยุบ (yolk sac) จึงจะให้อาหารไข่แดง ตามด้วยลูกไรแดงในการอนุบาลลูกปลาอายุ 7 วัน นําไปอนุบาลและเลี้ยงต่อ

ราคาปลากัดที่จำหน่ายราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 35 บาท และแพงที่สุดอยู่ที่ราคาตัวละ 2,000 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาที่แตกต่างกันนั้นเกิดจากการที่ปลากัดยังมีสีสันที่หายาก และไม่ซ้ำแบบทั่วไปเหมือนในท้องตลาดที่จำหน่ายกัน

เคล็บลับ : การเลี้ยงปลากัดไม่ยุ่งยาก เป็นปลาที่ทน ไม่อ่อนแอง่าย อย่างน้ำที่เลี้ยงไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายบ่อย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพียงแต่คอยเติมน้ำเพื่อไม่ให้ขาดบ่อเท่านั้น ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเน่า เพราะใส่หญ้า ใส่ต้นไม้ หรือต้นไม้น้ำลงไปในบ่อเพื่อเป็นการปรับสมดุลในการบำบัดน้ำตามธรรมชาติ

จิ้งหรีด

จัดอยู่ในเทรนด์อุตสาหกรรม Novel Food หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “อาหารใหม่” เป็นซุปเปอร์ฟู้ด (Super Food) ที่ให้สารอาหารสูง โดยจิ้งหรีดถือเป็นอีกแหล่งโปรตีนแห่งอนาคตที่สำคัญ ในอนาคตจิ้งหรีดจะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล ด้วยสภาพอากาศของประเทศไทยที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นที่สุด ปัจจุบันกระแสการบริโภคจิ้งหรีดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่ให้สารอาหารประเภทโปรตีนสูง ทำให้เป็นที่นิยมของกลุ่มผู้รักสุขภาพ 

การเตรียมบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดระบบฟาร์ม ส่วนใหญ่จะเลี้ยงในบ่อสำเร็จรูป โดยวัสดุบ่อสำเร็จรูปจะเป็นสมาร์ทบอร์ด ขนาดของ 1 บ่อ ยาว 240 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร ภายในบ่อจะวางแผงไข่กระดาษไว้ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้กับจิ้งหรีด และเพื่อจิ้งหรีดเอาไว้หลบซ่อน ในบ่อต้องมีถาดใส่อาหารเพื่อให้จิ้งหรีดมากิน และมีท่อน้ำที่ปลายท่อพันด้วยผ้า คอยเปิดน้ำหยดเพื่อให้จิ้งหรีดได้มาดูดกินน้ำผ่านผ้าที่พันไว้บริเวณท่อน้ำ

การให้อาหาร ในช่วงสัปดาห์แรกให้อาหารเช้า-เย็น ให้ในปริมาณที่น้อยมากๆ แค่โรยให้ติดถาด หลังจากนั้นพอจิ้งหรีดเริ่มโตจะเพิ่มปริมาณการให้น้ำและอาหารมากขึ้น และเพิ่มช่วงเวลาการให้เป็น เช้า-กลางวัน-เย็น ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 35-45 วัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล

ปริมาณผลผลิต เฉลี่ยต่อ 1 รอบการผลิต 4-5 ตัน จิ้งหรีดสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ถ้าคิดตามอายุของจิ้งหรีด 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 8 รอบ แต่ที่ฟาร์มจะไม่สามารถเลี้ยงแบบเต็มรูปแบบได้ทั้งหมด 8 รอบ เนื่องจากต้องอาศัยแรงงานในพื้นที่ ซึ่งฤดูกาลที่หาแรงงานยากคือฤดูกาลปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ตัดอ้อย ดังนั้น ในช่วงที่แรงงานไม่พอที่ฟาร์มจะวางแผนการผลิตให้น้อยลง ให้เหลือปริมาณ 1-2 ตันต่อรอบการผลิต

จิ้งหรีดขายราคา กิโลกรัมละ 120 บาท จิ้งหรีดฟรีซตอนนี้ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-200 บาท มีตลาดรับซื้อไม่อั้น จะจับขายเป็นรุ่นๆ ทำให้สามารถมีรายได้เสริมจากการเลี้ยงเฉลี่ยเดือนละ 25,000-30,000 บาท

ตั๊กแตน

ตั๊กแตนปาทังก้าสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี เมื่อโตเต็มวัยอายุ 30-45 วัน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศในช่วงเวลานั้นๆ แต่โดยปกติแล้วตั๊กแตนปาทังก้าจะเริ่มผสมพันธุ์ช่วงเดือนเมษายนที่อากาศมีอุณหภูมิสูงหรือสภาพอากาศแห้งแล้ง 

การเพาะเลี้ยงไข่จะใช้กรงมุ้งที่มีขนาด กว้างxยาวxสูง คือ 100x120x100 เซนติเมตร ต่ออัตราส่วนในการใส่ไข่ตั๊กแตนปาทังก้าครึ่งขีด สามารถสังเกตการผสมพันธุ์ได้จากการจับคู่ของตั๊กแตนปาทังก้า จะเริ่มจับคู่กัน 5-10 คู่ จากนั้นจะเริ่มวางไข่ในถาดที่เตรียมไว้ ด้านในถาดจะมีดินทรายเตรียมไว้สำหรับการวางไข่ และจะมีการวางไข่ประมาณ 1-3 ฝัก ซึ่งไข่ 1 ฝัก จะมีไข่เล็กๆ อีกประมาณ 96-152 ฟอง

อาหารของตั๊กแตนปาทังก้าเป็นหญ้าสด ที่ทางฟาร์มจะเริ่มให้อาหารมื้อแรกแก่ลูกตั๊กแตนที่มีอายุ 6 วัน (นับตั้งแต่ฟักออกมาจากไข่) โดยหญ้าสดที่ให้ต้องปลอดสารเคมี เพราะตั๊กแตนปาทังก้าค่อนข้างอ่อนไหวง่ายอย่างมากกับสารเคมี โดยราคาของตั๊กแตนปาทังก้าอยู่ที่ 450-500 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีจำหน่ายไข่ตั๊กแตนปาทังก้า สามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ ราคาอยู่ที่ 1,000 บาทต่อขีด

เคล็ดลับ : อย่าให้กรงเลี้ยง หรือในพื้นที่บริเวณที่เลี้ยงมีมด เพราะหากมดกัดกินไข่ จะทำให้ไข่ไม่สมบูรณ์ ไข่ที่ถูกฟักออกมาจะไม่แข็งแรงได้ สถานที่ในการเลี้ยงต้องเป็นพื้นที่สามารถกันฝนและแดดได้ มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ชื้นจนเกินไปและแดดสามารถส่องเพื่อให้ตั๊กแตนได้เจริญเติบโตได้ดี

ไส้เดือน

การเลือกเลี้ยงไส้เดือนมาเลี้ยงสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจะเป็น สายพันธุ์แอฟริกันไนท์ครอเลอร์ หรือไส้เดือน AF เพราะเป็นไส้เดือนเขตร้อน เหมาะกับการเลี้ยงในประเทศไทย ขยายพันธุ์ไว เลี้ยงง่าย เหมาะกับการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ 

เริ่มสร้างบ่อเลี้ยงด้วยปูนซีเมนต์แบบสี่เหลี่ยม ยาวตามขนาดของพื้นที่ นำดิน 4 ส่วน ผสมกับมูลวัว 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน เกลี่ยให้สม่ำเสมอ รดน้ำให้มีความชื้น หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นจึงปล่อยไส้เดือนดิน พื้นที่ 1 ตารางเมตร ใช้เลี้ยงไส้เดือนได้ประมาณ 1 กิโลกรัม ให้อาหารด้วยการนำเศษผักวาง หรือขุดหลุมไว้เป็นจุดๆ ไม่ควรเทกองรวมกัน ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้แมลงวันมาวางไข่ได้ หรืออาจใช้ลวดตาข่าย ตะแกรง ปิดด้านบน ป้องกันแมลงวัน นก หนู เข้าไปกินอาหารในที่เลี้ยง

เบดดิ้ง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เบดดิ้ง คือ ขี้วัวนมเป็นทั้งอาหารและที่อยู่อาศัยของไส้เดือน โดยนำขี้วัวนมไปแช่น้ำหรือหมัก ประมาณ 3-5 วัน เพื่อลดกรดด่างและระบายก๊าซมีเทน เบดดิ้งที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงไส้เดือน สังเกตได้จากกลิ่นไม่แรง มีความนุ่มฟู มีความชื้นประมาณ 80% แนะนำให้ลองบีบเบดดิ้ง ถ้ามีน้ำซึมออกมาตามร่องนิ้ว ถือว่าใช้ได้

สายพันธุ์ไส้เดือนที่นิยมเลี้ยง ได้แก่

– สายพันธุ์แอฟริกัน จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท ใช้ผลิตปุ๋ยปลูกผักสวนครัว

– สายพันธุ์ลายเสือ จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท ใช้ขุนแม่พันธุ์สัตว์น้ำ

– สายพันธุ์บลูเวิร์ม จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 6,000 บาท ใช้บำรุงพืชให้มีรสชาติความหวานเพิ่มขึ้น

– ไส้เดือนพันธุ์ไทย จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 300 บาท ใช้เป็นเหยื่อตกปลา

กบ

การเลี้ยงกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้คราวละจำนวนมาก และยังสามารถเพาะเลี้ยงกบในช่วงนอกฤดูได้ด้วยการสร้าง “บ่ออบแม่พันธุ์กบ สำหรับเพาะนอกฤดู” ขึ้น เพื่อช่วยทำให้เกิดการผสมและวางไข่ในช่วงอากาศหนาวเย็นได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ผลผลิตที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นลูกอ๊อด ลูกกบ หรือกบเนื้อ ล้วนมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศมาจับจอง สร้างรายได้ตลอดทั้งปี

บ่อเพาะเลี้ยงในฟาร์มจะแบ่งเป็น 2 ชนิด บ่อดิน จะมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 5-6 เมตร, บ่อปูน จะมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 3-5 เมตร โดยอัตราต่อบ่อจะมีกบไม่เกิน 1,000 ตัว เมื่อนำพ่อแม่พันธุ์มาผสมพันธุ์ในบ่อผสมแล้ว โดยปกติกบจะผสมพันธุ์ในตอนกลางคืน เช้ารุ่งขึ้นให้นำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อ ปล่อยให้ไข่ฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 18-36 ชั่วโมง

อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยง ถ้าเป็นในช่วงลูกอ๊อดจะใช้เป็นไฮเกรด (ถุงสีดำ) มีโปรตีนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มให้ตั้งแต่ลูกอ๊อดมีอายุวันที่ 4 ไปจนมีขาออกมาแล้วปีนขึ้นแผ่น จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหาร เบอร์ 1 แล้วพอมีขนาดตัวประมาณผลมะนาวจึงเปลี่ยนมาใช้อาหาร เบอร์ 2 แล้วพอมีขนาดเท่ากับไข่ไก่จึงเปลี่ยนมาเป็นอาหาร เบอร์ 3

เคล็ดลับ : วิธีคัดแม่พันธุ์จะเลือกเฉพาะตัวที่มีท้องสีขาว ไม่ควรเลือกคางลาย ท้องลาย เพราะมีลักษณะกบนามากเกินไป ควรเลือกขนาดปานกลางที่มีท้องสีขาวนวล คางสีขาว ส่วนวิธีคัดพ่อพันธุ์จะเลือกตัวที่มีคางสีดำ คอย่น ทั้งนี้ ความสมบูรณ์เมื่อต้องการผสมพันธุ์คือ เมื่อตัวเมียมีอายุ 8-9 เดือน ส่วนตัวผู้ควรมีอายุ 6 เดือน

เป็ดไข่ 

เป็ดเป็นสัตว์ปีกอีกประเภทหนึ่งที่เลี้ยงดูง่าย สามารถกินอาหารตามธรรมชาติได้ และให้ผลผลิตไข่จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงรองมาจากไก่ โดยเฉพาะในปัจจุบันมีพันธุ์เป็ดไข่เชิงการค้าและพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดีขึ้น

การเลี้ยงเป็ดไข่นอกจากจะมีการจัดสรรพื้นที่อิงตามธรรมชาติเพื่อให้เป็ดได้ผ่อนคลายแล้ว โรงเรือนที่เลี้ยงก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็ดเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ฉะนั้นแล้ว มาตรฐานโรงเรือนต้องสร้างให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นเข้ามารบกวน หรือว่าในบางครั้งบริเวณใกล้โรงเรือนทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดัง ก็จะเปิดเพลงคลายเครียดให้เป็ดฟัง เพราะถ้าเป็ดตกใจเมื่อไหร่จะส่งผลต่อปริมาณไข่ที่ลดลงหรือออกไข่ได้ไม่ต่อเนื่อง

เป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำได้อายุประมาณ 2 เดือน ก็จะสลับเล้าปล่อยให้ลงเล่นน้ำในสระที่เตรียมไว้ โดยจะไม่ขังให้อยู่ภายในเล้าเพียงอย่างเดียว จึงเป็นสิ่งสำคัญเวลาที่เลี้ยงเป็ดควรแบ่งพื้นที่สำหรับเดินเล่นและว่ายน้ำให้ด้วย จะยิ่งทำให้เป็ดมีความแข็งแรงและต้านทานต่อโรคได้ดี 

พอได้อายุประมาณ 4-5 เดือน ก็จะเริ่มให้ไข่ฟองแรกออกมา ซึ่งเป็ดทุกตัวจะออกไข่วันละฟองต่อตัว ซึ่งอาหารที่ให้เป็ดกินนี่ถือว่าสำคัญมาก ถึงเราจะเลี้ยงด้วยกล้วยสับ รำข้าว แต่ก็ต้องให้กินอาหารข้นด้วยในทุกวัน เพื่อเป็นการเสริมการออกไข่ที่ดี ส่วนแหนนี่ถ้าหามาได้มากก็ใส่ทิ้งในบ่อน้ำได้เลย เป็ดก็จะหากินเอง จะทำให้เป็ดอารมณ์ดี เป็ดก็จะออกไข่ให้เราได้ดีไม่ขาดช่วง สามารถให้ไข่ได้เป็น 1 ปีขึ้นไป

ราคาจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ราคา ตามน้ำหนักของไข่แต่ละฟอง ไข่เป็ดน้ำหนัก 46-50 กรัม ราคา 100 บาทต่อแผง ไข่เป็ดน้ำหนัก 50-60 กรัม ราคา 120 บาทต่อแผง ไข่เป็ดน้ำหนัก 60 กรัมขึ้นไป ราคา 135 บาทต่อแผง 

ไม่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ประเภทใด ทุกอาชีพล้วนต้องมีใจรัก มองถึงความพร้อมของพื้นที่ก่อนว่าเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดไหน เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่อยากลองหาการเลี้ยงสัตว์ต่อยอด จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

#เลี้ยงสัตว์ #อาชีพเสริม #สัตว์เลี้ยง #เทคโนโลยีชาวบ้าน #