ผักปู่ย่า นางพญาผักป่า คุณค่าเป็นผักเป็นยามาแต่บรรพชน

ยุคสมัยก่อน ชาวบ้านดำรงชีวิตเป็นอยู่ทำมาหากินแบบบ้านๆ อาจจะเรียกว่า แบบคนไพรก็คงไม่ผิดนัก สมัยก่อน “ป่า” คือชีวิต คือทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีมากมายที่อยู่บนผืนดิน ทรัพยากรธรรมชาติของโลกและของบ้านเรา ได้แก่ น้ำ อากาศ และดิน บนผืนดินมีสิ่งไม่มีชีวิต คือ น้ำ หิน แร่ อากาศ และสิ่งที่มีชีวิต คือ คน สัตว์ แมลง ป่าไม้ พืชพรรณนานา การจับคู่อยู่อาศัยดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต กับธรรมชาติที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต จึงเกิดขึ้นเอง เกิดมาเนิ่นนานมากแล้ว เอาเป็นว่านานมากๆ และมากๆ ก็แล้วกัน เช่นเดียวกันกับพฤติกรรม แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น แข่งขัน เข่นฆ่า ท้าทาย เสพสมสู่ มันก็เกิดขึ้นมาพร้อมกัน เหตุผลที่เด่นชัด คือการหากิน เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด “คนกินสัตว์ สัตว์กินพืช พืชกินดิน”

ในบรรดาพืชในป่าที่คนเอามากิน เชื่อว่า “ผักปู่ย่า” จะเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่คนได้ลองลิ้มชิมรส คงจะกินมาสมัยปู่ย่าของปู่ย่า หลายสิบลำดับชั้นปู่ย่าแล้ว คือนานมามากแล้วนั่นแหละ “ผักปู่ย่า” พบเห็นกันอยู่ในป่าเขตร้อนทั่วไป พบแถบอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไทย ลาว เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เอาเฉพาะในประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ รู้จักกันหมด เพียงแต่เรียกไม่เหมือนกัน แต่นิยมกินเหมือนกัน อาจจะแตกต่างวิธีการกินบ้าง เพราะวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกันเล็กน้อย ที่แน่นอนที่สุดคือ รู้ว่าเป็นผักที่กินอร่อย และมีคุณค่ามากมายนั่นเอง

ผักปู่ย่าเป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ย่อย หรือสกุล CAESALPINIAOEAE ชั้นเดียวกันกับวงศ์พืชตระกูลถั่ว LEGUMINOSAAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia mimosoides Lamk. เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันไม้อื่น มีหนามแหลมและขนยาวสีน้ำตาลอยู่ทั่วทุกส่วนของต้น กิ่งยอดอ่อนมีสีน้ำตาลอมม่วงแดง มีกลิ่นเฉพาะตัว คล้ายกลิ่นแมงแกง แมงดา บ้างว่าเหม็น บ้างว่าหอม บ้างว่าฉุน นานาจิตตัง แล้วแต่แรงพิศวาสของแต่ละคน ใบ เป็นประเภทใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ออกเรียงสลับก้านใบหลักยาว 25-30 เซนติเมตร มีก้านใบแขนงย่อย 10-30 คู่ และใบย่อยอีกชั้น 10-20 คู่ สีเขียว ขอบใบเรียบ ลักษณะคล้ายใบชะอม ดอก ออกเป็นช่อที่สีเหลืองสด มีแต้มสีแดง เขียวอมชมพู หรือน้ำตาล ออกที่ปลายกิ่ง ผลหรือฝักเป็นลักษณะผลแห้ง ปลายฝักแหลม โคนสอบ มีขนหุ้ม ขนาดเท่าหัวแม่มือ แตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ด 2 เมล็ด ใช้ขยายแพร่พันธุ์ ขึ้นได้ทั่วไป พบมากในป่าละเมาะ ป่าผสม ป่าเต็งรัง ชายป่า ที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป และอาจพบในหมู่บ้าน สวนหลังบ้าน ริมรั้ว ที่มีคนนำต้นกล้าจากป่ามาปลูกไว้ แต่บอกไว้นะ ว่าเป็นพุ่มไม้ที่รก และมีหนามแหลมพร้อมที่จะทิ่มตำเราได้ทุกเมื่อ

ทำไมถึงเรียกชื่อว่า “ผักปู่ย่า” มีมากมายหลากหลายความคิด หลายข้อสันนิษฐาน ทั้งจากตำนาน และบทคาดเดา บ้างว่าเมื่อสมัยเก่าก่อน ปู่กับย่าเข้าป่าไปหาอาหาร ถึงเวลาที่ต้องหยุดพักเพราะร้อน อ่อนแรง หิวข้าวหิวน้ำ หรือคงจะสวีทยามแก่ ก็ไม่รู้ พบเห็นยอดผักอะไรหนามแหลมคม แต่ยอดอ่อนน่ากิน เด็ดมากินจิ้มน้ำพริก อร่อย กินน้ำเข้าไป น้ำในกระบอกก็หวานชื่นใจ มีเรี่ยวแรงกำลังวังชาฟื้นคืนมาอย่างมากมาย จึงเก็บเอามาบอกต่อลูกหลาน ในสมัยลูกหลานรู้จักเอามากินกันมาก แต่ไม่รู้จักชื่อ ใครถามไถ่ ก็ได้แต่ตอบว่า “ผักปู่ย่า” งั้นมั้ง บางแห่งมีเติมชื่อว่า “ผักผีปู่ผีย่า” ก็มี คนบ้านเราก็เรียกชื่อไปต่างๆ เช่น ภาคเหนือ เรียก ผักปู่ย่า หนามปู่ย่า ทะเน้าซอง ภาคอีสาน เรียก ผักกาดย่า ผักขะย่า ผักคายา ภาคกลาง เรียก ผักช้าเลือด ชะเลือด ภาคใต้ เรียก ชะเรือด สาบเรือด ปือตาปาแล แม้ต่างกันแต่ชื่อ แต่ความนิยมนำมาเป็นผัก มิได้ต่างกันนัก

“ผักปู่ย่า” เป็นผักที่มีกลิ่นเฉพาะ อย่างที่บอกไว้ รสชาติที่ฝาดเปรี้ยว ผสมกับกลิ่นสาบที่ลงตัว ชาวบ้านนิยมนำใบอ่อน ยอดอ่อนมาเป็นผักสด เคียงกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกะปิ น้ำพริกจิ้งหรีด ยำหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ ยอดและใบอ่อน ดอกอ่อน นำมาประกอบอาหาร เช่น ยำผัก คนทางภาคเหนือ เอาดอกผักปู่ย่าช่อสีเหลือง มาปรุงเป็น “ส้าผัก”แสนอร่อย หากินยาก ไม่มีขายตามร้านอาหาร มีแต่ในครัวบ้านนอกเน้อ นอกจากเป็นผักที่มีรสชาติดีแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารที่สูง โดยเฉพาะ วิตามิน C ซึ่งมีสูงมาก มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แคลเซียม สารเบต้าแคโรทีน และอินทรียสารต่างๆ มากมาย

รสชาติของยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ของผักปู่ย่ามีรสเปรี้ยว ฝาด และเผ็ด มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเลือด แก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับผายลม แก้อาการวิงเวียนศีรษะ บำรุงกระดูกและฟัน ขับเสมหะ บำรุงระบบขับถ่าย ช่วยระบายอ่อนๆ รสฝาด ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ท้องร่วง เป็นยาบำรุงธาตุภายในร่างกาย เพิ่มสมรรถนะการทำงานของร่างกาย เส้นเอ็น ประสาท บำรุงสมอง และมีผลการวิจัยว่า ผักปู่ย่า มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก สามารถช่วยระงับยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็ง ภัยที่ผู้คนเกรงกลัว และคร่าชีวิตคนเป็นอันดับหนึ่ง

บางทีชื่อ ผักปู่ย่า น่าจะเป็นสื่อที่บรรพชนของเราส่งต่อให้ไว้เป็นมรดกของคุณค่าอันดีงาม มีคุณค่าทางอาหาร คุณค่าทางยาสมุนไพร คุณค่าทางจิตใจให้รำลึกถึงชาติวงศ์ตระกูล รำลึกถึงคุณความดีที่ปู่ย่าส่งมอบไว้ให้เป็นประโยชน์แก่เรา ต่างถิ่น ต่างภาค เรียกชื่อต่างกันไปบ้าง ล้วนแต่มีที่มาจากคุณค่าที่อยู่ในตัวของพรรณไม้ชนิดนี้ เป็นต้นว่า ชะเลือด ล้างแผล เป็นยาสมานแผล ช้าเลือด เป็นยาห้ามเลือด ชะเรือด เป็นยาไล่ตัวเรือด เห็บ ริ้น ไร ที่ชอบแอบซ่อนในกระดานฝาบ้าน หรือแม้แต่ชื่อ ผักกาดย่า ก็คือผักที่คุณย่าให้นำมาปรุงอาหารกิน กินเมื่อไหร่เป็นได้รำลึกนึกถึงท่านร่ำไป

“ผักปู่ย่า” จึงนับได้ว่าเป็นนางพญาผักป่าที่คนรุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ฝากไว้ให้เราใช้ประโยชน์ รักพวกท่าน รำลึกอาลัยถึงท่าน เรามาอนุรักษ์ “ผักปู่ย่า” ไว้สืบไป

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354