5 สายพันธุ์เป็ดไข่ ที่นิยมเลี้ยง เก็บไข่ขายได้ทุกวัน

เป็ด เป็นสัตว์ปีกที่ผู้คนให้ความสนใจนำมาเลี้ยงไม่แพ้ “ไก่” แถมให้ผลผลิตไข่จำนวนมาก และราคาขายดีอีกด้วย ไข่เป็ดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งสีของไข่แดงจะมีออกส้ม มีรสชาติดี หอม มัน เป็นแหล่งรวมโปรตีนชั้นดีที่หาบริโภคได้ง่ายที่สุด และเป็ดไข่ไม่จำเป็นต้องดูแลเยอะหากเทียบกับไก่ไข่ เหมาะสำหรับการทำเป็นอาชีพเสริมที่ผู้ดูแลมีเวลาจำกัด

ใครที่กำลังมองหา “เป็ดไข่” มาเลี้ยงแต่ไม่รู้ว่าจะเลือกสายพันธุ์ไหนมาเลี้ยงดี🤔 เลี้ยงยากไหม แล้วต่างกันยังไง เลี้ยงเพื่อเก็บไข่มาจำหน่าย เลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อ หรือเลี้ยงเพื่อความสวยงาม วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะมาแนะนำ 5 สายพันธุ์ เป็ดไข่น่าเลี้ยง ก่อนจะลงทุน ไปดูกันเลย

🐤เป็ดกากีแคมเบลล์

เป็ดพันธุ์นี้พัฒนาพันธุ์โดย Adele Campbell ในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนได้เป็นเป็ดพันธุ์ที่ให้ไข่ดกที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่ง โดยให้ไข่ประมาณ 300 ฟองต่อปี เป็นเป็ดที่ให้ผลผลิตไข่ดี ไข่ดก ไข่ใหญ่ และเป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรค

เป็ดกากีแคมเบลล์ มีขนสีน้ำตาล แต่ขนที่หลังและปีกมีสีสลับอ่อนกว่า ปากสีดำ ค่อนข้างไปทางเขียว จะงอยปากต่ำ ตาสีน้ำตาลเข้ม คอส่วนบนสีน้ำตาล แต่ส่วนล่างเป็นสีกากี ขาและเท้าสีเดียวกับสีขน แต่เข้มกว่าเล็กน้อย ตัวเมียเมื่อโตเต็มที่หนักประมาณ 2.0-2.5 กิโลกรัม

เริ่มไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ตัวผู้จะมีขนบนหัว คอ ไหล่ และปลายปีกสีเขียว ขนปกคลุมลำตัวสีกากีและน้ำตาล ขาและเท้าสีกากีเข้ม เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 2.5-2.7 กิโลกรัม

🐤เป็ดอินเดียน รันเนอร์

เป็ดพันธุ์นี้พบครั้งแรกในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย ชวา และบาหลี มีขนาดเล็ก ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 1.7-2.5 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 1.5-2.0 กิโลกรัม เป็ดพันธุ์นี้มีอยู่ 3 สี คือ สีขาว สีเทา และสีลาย

เป็ดพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ที่แปลกกว่าเป็ดพันธุ์อื่นๆ คือ ขณะยืนคอยืดตั้งตรง ลำตัวเกือบตั้งฉากกับพื้นคล้ายกับนกเพนกวิน ไม่ค่อยบินแต่จะเคลื่อนที่โดยการเดินและวิ่งมากกว่า ปากสีเหลือง แข้งและเท้าสีส้ม

ตัวเมียเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ให้ไข่ฟองโตและไข่ทน ให้ไข่ประมาณ 150-200 ฟองต่อปี

🐤เป็ดนครปฐม

เลี้ยงกันมากในเขตจังหวัดนครปฐม เพชรบุรี สุพรรณบุรี และในพื้นที่ลุ่มในภาคกลางซึ่งเป็นเขตน้ำจืด ปัจจุบันทำการวิจัยด้านพันธุกรรมและพัฒนาพันธุ์ เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นเป็ดที่ให้ทั้งไข่และเนื้อ และต้านทานโรค มีขนาดตัวใหญ่กว่าเป็ดกากีแคมเบลล์ ให้ไข่ช้า แต่ให้ไข่ขนาดใหญ่

ตัวเมียมีขนสีลายกาบอ้อย ปากสีเทา เท้าสีส้ม ตัวผู้จะมีสีเขียวแก่ ตั้งแต่คอไปถึงหัว รอบคอมีวงรอบสีขาว อกสีแดง ลำตัวสีเทา ปากสีเทา และเท้าสีส้ม ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 2.5-3.0 กิโลกรัม

เริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน

🐤เป็ดปากน้ำ

เลี้ยงกันมากในเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ตลอดจนจังหวัดที่อยู่ชายฝั่งทะเลอื่นๆ เลี้ยงง่าย แข็งแรง มีความต้านทานโรคสูง เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยในชนบทและสำหรับผสมข้ามพันธุ์กับเป็ดพันธุ์กบินทร์บุรี จะให้ลูกผสมที่มีผลผลิตสูง เป็นเป็ดพื้นเมืองที่กรมปศุสัตว์อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ต่อเนื่องมากว่า 30 ปี

เป็นเป็ดพันธุ์เล็ก ตัวเมียมีปาก เท้า และขนปกคลุมลำตัวสีดำ อกสีขาว ส่วนตัวผู้จะมีขนบนหัวและคอสีเขียวเป็นเหลือบเงา มีลำตัวขนาดเล็กกว่าเป็ดนครปฐม ให้ไข่ฟองเล็กกว่า

เริ่มให้ผลผลิตไข่เมื่ออายุ 18-20 สัปดาห์ สามารถให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟองต่อตัวต่อปี ตัวผู้ของเป็ดพันธุ์พื้นเมืองนิยมนำไปเลี้ยงเป็นเป็ดเนื้อ

🐤เป็ดบางปะกง

ได้รับการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ ปรับปรุงพันธุ์จากเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เลี้ยงและขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายฐานการวิจัยและผลิตลูกเป็ดไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก จังหวัดปราจีนบุรี ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์ จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี 

เพศผู้มีขนสีกากีเข้ม หัว ปลายปีก ปลายหางสีเขียวแก่ ปากสีน้ำเงิน ขา แข้งสีส้ม อายุเริ่มผสมพันธุ์ 6 เดือน เพศเมียขนตามลำตัวสีกากีอ่อนตลอดลำตัว ปากสีดำน้ำเงิน แข้งสีดำ

เริ่มให้ไข่ที่อายุประมาณ 20 สัปดาห์ น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 1,533 กรัม ผลิตไข่ปีละ 301 ฟองต่อแม่

โรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ดไข่ ลักษณะทั่วไปของโรงเรือนเป็ดที่ดี

1. กันลม แดด ฝน ได้

2. อากาศภายในโรงเรือนสามารถระบายถ่ายเทอากาศได้ดี

3. สามารถรักษาความสะอาดได้ง่าย ไม่มีน้ำขัง

4. พื้นควรเป็นพื้นทราย หรือพื้นซีเมนต์ จะทำให้ทำความสะอาดได้ง่าย และควรปูเปลือกข้าวหรือแกลบเป็นวัสดุรองพื้น

5. บริเวณที่วางอุปกรณ์ให้น้ำควรมีการระบายน้ำที่ดี พื้นโรงเรือนบริเวณที่ให้น้ำควรใช้พื้นไม้ระแนง หรือพื้นสแลทจะสามารถระบายน้ำได้ดี หรืออาจจะทำเป็นแท่นตะแกรงลวดสำหรับวางอุปกรณ์ให้น้ำ

6. สร้างง่าย ราคาถูก และใช้วัสดุก่อสร้างที่มีในท้องถิ่น

7. ไม่ควรเลี้ยงแน่นจนเกินไป อัตราส่วนในการเลี้ยงต่อพื้นที่

– เป็ดเล็ก 6-8 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร

– เป็ดรุ่น 5-6 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร

– เป็ดไข่ 4-5 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร

– เป็ดเนื้อ 7 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร ทุกขนาด

โรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ดไข่จะต้องมิดชิดพอสมควรเพื่อป้องกันสัตว์อื่นเข้ามารบกวน ซึ่งจะทำให้เป็ดตกใจและไข่ลดลงได้ ภายในโรงเรือนนี้จะวางรังไข่ไว้บนพื้นสำหรับเป็ดใช้วางไข่ รังไข่ที่มักใช้จะทำด้วยไม้ขนาด 12×14 นิ้ว สูง 12 นิ้ว ด้านบนและด้านหน้าเปิด ใช้ฟางหรือแกลบรองพื้นรัง อัตราการใช้รังไข่ 1 รังต่อเป็ด 4-5 ตัว ระบายอากาศภายในโรงเรือนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เป็ดเครียดจากความร้อนซึ่งอาจจะทำให้เป็ดไข่ลดลงได้ นอกจากนี้ ยังช่วยระบายก๊าซแอมโมเนียออกจากโรงเรือนอีกด้วย

ระยะเป็ดไข่ ควรให้แสงสว่างวันละ 16-18 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการทำให้เป็ดไข่ดีขึ้น การเพิ่มความยาวแสงควรเพิ่มเมื่อเป็ดอายุประมาณ 18 สัปดาห์โดยเพิ่มแสงสัปดาห์ละ 30 นาที จนกระทั่งความยาวแสงอยู่ที่ 16-18 ชั่วโมงต่อวัน การเปิดไฟอาจจะเปิดให้ในช่วงค่ำประมาณ 2 ชั่วโมง และเปิดไฟในช่วงเช้ามืดประมาณ 2-3 ชั่วโมง เรื่องคุณภาพของไข่เป็ดที่ออกมา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เป็ดนั้นๆ ว่าสายพันธุ์ไหนดีกว่ากัน แต่จะขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้เป็ดกินมากกว่านั่นเอง

สำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่สนใจที่จะเลี้ยงเป็ดไข่เป็นอาชีพ แนะนำว่า ควรซื้อมาทดลองเลี้ยงในขั้นต้นอย่างน้อย 100-300 ตัว เพื่อศึกษาอุปนิสัยและทดลองเลี้ยงให้ประสบผลสำเร็จ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้เลี้ยงต้องมองดูว่าภายในบริเวณที่จะเลี้ยงมีพื้นที่ทำเล้าและปล่อยให้เป็ดไข่เดินมากน้อยแค่ไหน โดยต้องให้พื้นที่อยู่ในระดับปานกลาง ไม่คับแคบจนเกินไป พื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการเลี้ยงเป็ดไข่ และต่อมาให้มองถึงเรื่องการตลาดว่าเมื่อผลิตไข่ออกมาแล้วจะจำหน่ายในรูปแบบไหน โดยต้องส่งให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องโดยที่ไข่เป็ดไม่ขาดช่วง ก็จะช่วยให้ลูกค้าเชื่อมั่น สามารถซื้อขายกันได้เป็นเวลานาน

🪴ขอบคุณข้อมูล : การผลิตสัตว์ปีก / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภากร ธาราฉาย

#เทคโนโลยีชาวบ้าน #technologychaoban #เป็ด #เป็ดไข่ #ไข่เป็ด