ศาสตร์และศิลป์การพัฒนางานผ้าภูมิปัญญาสร้างสรรค์ E-co Print ตอกมือ เพื่อส่งเสริมการนำทุนธรรมชาติมาส่งเสริมงาน Sofe Power

ธรรมชาติย่อมรักธรรมชาติ…การสร้างสรรค์ผลงานจากภูมิปัญญาภายใต้ทุนทางธรรมชาตินำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืน โดยเฉพาะผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะมีความสุขกับสีสันของมวลดอกไม้นานาพรรณที่อยู่รอบตัว ดอกไม้และใบไม้ในธรรมชาติเป็นทุนธรรมชาติ ที่สำคัญมากในปัจจุบันเพราะสามารถนำมาสร้างสรรค์งานด้านภูมิปัญญา ไม่ว่าจะเป็นงานด้านอาหาร เครื่องดื่ม ผลงานหัตถกรรม งานศิลป์ ได้อีกหลากหลาย การคิดค้นในการแก้ไขปัญหาของนักวิจัยและพัฒนาในการต่อยอดเทคนิคใหม่ๆ ในการสืบสานงานศิลปะและหัตถกรรมชุมชน จึงสามารถสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนานได้อย่างยั่งยืน

ผ้า Eco-Print แบบตอกมือ และเคลือบสีด้วยเทคนิคธรรมชาติ เป็นผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมงานนวัตกรรมด้านการประดิษฐ์ศิลป์เพื่อความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ ผศ.ดร.ธีรกานต์  โพธิ์แก้ว ประธานสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผู้หลงใหลในการวิจัยสีธรรมชาติ ได้ศึกษาวิจัย และแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี จุดเริ่มต้นจากที่ได้มีโอกาสสอนรายวิชาเศรษฐกิจพอเพียงได้จัดกิจกรรมพานักศึกษาเรียนรู้ศิลปะอย่างง่ายนำสมุนไพรไทยมาเพ้นต์ภาพ เพ้นต์หน้ากากอนามัย ย้อมสีธรรมชาติ แต่ก็น่าเสียดายตรงที่สีธรรมชาติไม่มีความคงทน พอผลงานเสร็จสมบูรณ์ ไม่นานสีก็จะเลือนหายไป ความพยายามในการแก้ไขปัญหาในการล็อกสีให้คงอยู่จึงมีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยคงความสวยงามให้กับผลงาน ผลิตภัณฑ์ และยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ในชุมชนมากขึ้น การทดลองจึงมีการเริ่มต้นจากการนำผลงานมาสร้างสรรค์สู่งานศิลป์ในรูปแบบธรรมชาติ ที่สวยงามและหลากหลายวิธี เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัว

การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในยุคที่มนุษย์โหยหาธรรมชาติ หรือเรียกผลงานประเภทนี้ว่า Eco-Art กำลังเป็นกระแสความนิยมอย่างมาก เป็นงานศิลป์ที่นำมาสู่ความยั่งยืนในอนาคต สีธรรมชาติเป็นสีที่คงอยู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานมีความคลาสสิค ประเทศไทยขึ้นชื่อได้ว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนางานด้านสีธรรมชาติ และลวดลาย เอกลักษณ์จากธรรมชาติมาอย่างยาวนาน มีการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น จัดได้ว่าเป็นภูมิปัญญาสร้างสรรค์อีกประเภทหนึ่งซึ่งควรค่าแก่การส่งเสริม อนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ เป็นภูมิปัญญาที่เป็นมรดกของชาติ ควรค่าแก่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน เพื่อที่จะสืบสานงานเสน่ห์ไทยจากธรรมชาติไม่ให้เสื่อมคลายหายไป สมกับที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายด้านชีวภาพอันดับต้นๆ ของโลก

การศึกษาสีธรรมชาติมาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี จากการทำงานร่วมกับชุมชน ปัญหาที่พบคือที่ผ่านมาการย้อมสีธรรมชาติจะมีโทนสีที่ค่อนข้างขรึม ไม่หลากหลาย ไม่ดึงดูดใจ เวลาชุมชนนำไปจัดจำหน่ายก็จะจัดจำหน่ายสินค้าได้น้อยมาก กระบวนการผลิตค่อนข้างยาก จึงต้องต้องราคาแพง กอปรกับก่อนหน้านี้ช่างศิลป์ส่วนใหญ่อาศัยสีเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะสีเคมีให้สีที่สวยงาม ฉูดฉาด แต่ก็ยังมีต้นทุนที่แพง การคิดค้นสีไทยเพื่อส่งเสริมงานศิลป์ก็เริ่มเกิดขึ้น ในส่วนของอาจารย์ได้สนใจสีที่เป็นประเภทงานย้อม ทำการวิจัยย้อมมาในทุกประเภท จนมาสนใจในส่วนของสีย้อมประเภทแร่ เพราะมองว่าสีประเภทแร่ให้ความคงทน มีความพิเศษตรง เป็นได้ทั้งสีย้อมและตัวมอร์แดนซ์ ได้มีการวิจัยการย้อมสีจากดินแดงในภาคอีสาน ในจังหวัดกาฬสินธุ์ มุกดาหาร และบุรีรัมย์ ในช่วงที่วิจัยที่บุรีรัมย์ยังได้ศึกษาการวิจัยเรื่องการย้อมฝุ่นหินร่วมกับชุมชนซึ่งให้สีสันที่สวยงามาก มีการเผยแพร่ผลงานออกไปอย่างกว้างขวาง และยังพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง เคยสนใจงาน Eco-Print ดูงานของต่างประเทศ แต่ในช่วงแรกไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ในเชิงลึก เพราะมองว่าเป็นเทคนิคการทำผ้าที่โดดเด่นในต่างประเทศ จนกระทั่งเห็นคนไทยหันมาให้ความสนใจอย่างมาก ชุมชนต่างๆ เริ่มอยากเรียนรู้ จึงได้มีการเรียนรู้พัฒนาความรู้เพิ่มเติม มีการคิดค้นเทคนิคการนำก้านกล้วยมาให้ชุมชนได้ใช้ในการทำผ้า Eco-Print สำหรับประเภทที่ต้องนึ่งผ่านความร้อน

เนื่องด้วยเคยศึกษาการทำบาติกจากสีธรรมชาติแบบโบราณ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการย้อมบาติกแบบแร่จากดินที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เกิดอุบัติเหตุไฟลุกไหม้ขณะปฏิบัติการ ไหม้ลำตัวไปครึ่งซีก ทำให้เป็นโรคกลัวความร้อนในช่วงหนึ่ง จึงทำให้พยายามศึกษางานสีธรรมชาติที่ใช้กระบวนการแบบเย็นไม่ต้องผ่านความร้อน หวนคิดย้อนไปถึงการเพ้นต์สีธรรมชาติ อีกทั้งมีการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการทำ E-co Print แบบตอกมือด้วยตนเอง เพราะมองว่าเป็นกระบวนการสร้างสรรค์งานผ้าแบบเย็นไม่ต้องผ่านความร้อน ได้รับคำชมว่าเป็นผลงานที่งดงามมาก แต่ปัญหาที่พบคือพอตอกเสร็จ สีไม่คงทน ประมาณหนึ่งเดือนสีจะเริ่มเลือนหายไป

ทำให้สนใจที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จนสุดท้ายได้เทคนิคการล็อคสีแบบธรรมชาติ สามารถล็อกสีได้ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง มีความพยายามจะล็อกสีในส่วนงาน E-co Print แบบตอกมือมาก เพราะเป็นคนชอบดอกไม้ โดยเฉพาะสีสันจากดอกไม้ คิดว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ทุกคนบนโลกใบนี้ก็คงชอบเหมือนกัน หากสามารถล็อกสีดอกไม้ได้ การล็อกสีใบไม้ก็ง่ายตามมา เพราะสีใบไม้บางส่วนยังคงทนอยู่ แต่ดอกไม้จะเลือนหายไปง่ายกว่าสีประเภทใบไม้ เทคนิคพิเศษที่ได้คิดค้นขึ้นมาคงจะช่วยเสริมให้ผลงานสร้างสรรค์ E-co Print แบบตอกมือ กระบวนการพัฒนาผลงานแบบเย็นนี้ สามารถนำไปสู่การพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลายต่อไป

เมื่อมีข่าวเผยแพร่เทคนิคนี้ออกไป ก็เริ่มมีภาคเอกชนจาก อำเภออ่าวลึก  จังหวัดกระบี่ ให้ความสนใจ คือ เจ้าของรีสอร์ตบ้านสวนทิพย์โฮมสเตย์ ท่านเป็นนักดีไซน์เนอร์ด้านต้นไม้ ได้ติดต่อขอเรียนรู้ในเบื้องต้น ท่านแจ้งว่าสนใจงาน ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ E-co Print ตอกมือ เช่นกัน และก็รู้ว่าหากทำแล้วไม่นานดอกไม้ก็เลือนหาย  แต่พอรู้ว่ามีเทคนิคการล็อกสีแบบธรรมชาติ สนใจมาก เพื่อส่งเสริมการนำทุนธรรมชาติในรีสอร์ตมาใช้ประโยชน์ และพร้อมส่งเสริม พัฒนาต่อยอดผลงานนี้

การทดสอบเบื้องต้นพบว่าเทคนิคการเคลือบสีนี้สามารถใช้กับงานสีธรรมชาติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเพ้นต์ การย้อม งานบาติกสีธรรมชาติ รวมถึงงาน Eco-Pint ที่ได้กล่าวมา จากที่ได้ทดลองได้ตนเอง ได้พบปัญหาของงาน E-co Print แบบตอกมือ ว่าสีเลือนหายไป ได้ลงไปพัฒนาพื้นที่ไม้ขาวในโครงการแผนพัฒนาภาคีเครือข่ายในตำบลไม้ขาว พบว่ากลุ่มชุมชนมีการทำอาชีพ E-co Print แบบตอกมือ แต่ไม่ได้พัฒนาต่อ เพราะปัญหาที่พบก็คือ สีสันจากดอกไม้ ใบไม้ เจือจางหายไป ไม่คงทน เท่ากับ E-co Print แบบนึ่งผ่านความร้อน เมื่อมีการวิจัยเชิงทดลองในเบื้องต้นได้ประสบความสำเร็จ จึงมีการคืนความรู้สู่ชุมชน โดยมุ่งเน้นไปที่ชุมชนบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนแรก เพราะเป็นชุมชนที่ได้เรียนรู้ปัญหาร่วมกัน

จึงมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านโครงการภูมิปัญญาสร้างสรรค์ E-co Print ตอกมือ เพื่อส่งเสริมการนำทุนธรรมชาติมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ร่วมกับการส่งเสริมการนำพืชท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดสู่การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นโครงการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาวในปีนี้

ในวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ผศ.ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้นำเสนอผลงานศิลป์ ชุดพิเศษชื่อ “รักษ์ดาว” เป็นรูปนกยูงเหลียวหลัง ซึ่งได้ใช้เทคนิคการเพ้นต์สีจากสีผงแร่หินดินสอในทะเล ของชุมชนบ้านเกาะโหลน ตอกลายดอกไม้ เทคนิค 2 หัวค้อน และได้นำทูลถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต