เลี้ยง “ปลาสลิด” แบบธรรมชาติ ใช้หญ้าคู่อาหารเม็ด ปลาโตไว กำไรสูง

พื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในอดีตเคยเป็นนาข้าวและสวนผลไม้ ต่อมาประสบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรจนกลายเป็นพื้นที่น้ำกร่อยไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าว แต่ เอื้อต่อการเลี้ยงปลาสลิด ชาวบ้านจึงหันมาทำนาปลาสลิดตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนจนถึงทุกวันนี้

เกษตรกรประมงต้นแบบ

คุณปัญญา โตกทอง ชาวตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ในเรื่องของการเลี้ยงปลาสลิดด้วยงานวิจัย เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและผลตอบแทนจากการผลิตสูง

คุณปัญญาเริ่มต้นเลี้ยงปลาสลิดในปี 2537 หลังเห็นเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสมุทรปราการที่ย้ายมาเลี้ยงปลาสลิดในจังหวัดสมุทรสงคราม ขายปลาสลิดได้ราคาดีมาก จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่นาข้าว 30 ไร่มาทำบ่อเลี้ยงปลาสลิด เนื่องจากคุณปัญญาไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาสลิดเลย ทั้งด้านพื้นที่ใช้เลี้ยงปลา ด้านระบบนิเวศและวิธีการเลี้ยง จึงทำให้ในช่วง 2 ปีแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ

นาปลาสลิด ที่ใช้หญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลา

จากเดิม ฟาร์มเลี้ยงปลาเนื้อที่ 30 ไร่แห่งนี้ เคยมีรายได้จากการขายปลาอยู่ที่ 600,000 บาทหลังปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน ก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 1,112,500 บาท ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 เดือน หลังจากนั้น เขามีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทะลุหลักล้านมาจนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับเลี้ยง “ปลาสลิด” ให้มีความสุข

ฟาร์มแห่งนี้ เน้นการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดแบบธรรมชาติ ก่อนเลี้ยงต้องตากบ่อ ประมาณ 45 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยปลาเข้าเลี้ยงในบ่อ แต่ละบ่อมีความกว้างประมาณ 1.5-2 เมตร ระดับความลึก 1-1.2 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 50-70 เซนติเมตร ระดับน้ำในบ่อสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร

ที่นี่ปล่อยให้ต้นหญ้าขึ้นหนาแน่นบริเวณขอบบ่อเลี้ยงปลา เพื่อใช้เป็นที่ก่อหวอดและวางไข่ของปลาสลิดแล้ว ต้นหญ้ายังมีประโยชน์ เป็นที่หลบภัยของลูกปลาวัยอ่อนจากศัตรู และใช้ต้นหญ้านำมาหมักในแปลงนาก่อนเพาะฟัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดของน้ำ

เมื่อปลาสลิด อายุราว 20 วัน คุณปัญญาสามารถใช้ต้นหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลาได้อีกทางหนึ่ง โดยจะฟันหญ้าอ่อนให้ลูกปลากินทุกๆ 15 วันจนกระทั่งลูกปลาอายุประมาณ 4 เดือน สำหรับปลาสลิดที่อายุ 3 เดือน คุณปัญญาจะให้อาหารคือหญ้าอ่อน ควบคู่กับอาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยทำยอเป็นที่ให้อาหารในอัตรา 2% ของน้ำหนักตัว เพียงวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า

ลงอวนเช็กสภาพปลา

การให้อาหารปลาสลิดในแต่ละครั้ง คุณปัญญาจะจดบันทึกปริมาณอาหารที่ให้ปลา และคอยสังเกตว่า ปลากินอาหารหมดช่วงเวลาไหน ถ้าปลาสลิดกินหมดช่วงเวลาเย็น แสดงว่าอาหารพอดีกับความต้องการของปลา หากปลาสลิดกินอาหารหมดเร็ว แสดงว่าอาหารไม่พอ ควรเพิ่มปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม

ปลาสลิด อายุได้ 3 เดือน จะใช้วิธีการจับปลาแบบยกยอ ทุกๆ 15-20 วัน จนกว่าจะจับขายเพื่อตรวจสอบดูว่า 1 กิโลกรัม มีปลากี่ตัว และใน 1 บ่อ มีปลากี่ตัว เพื่อเป็นการคำนวณน้ำหนักของปลาที่เลี้ยงในบ่อทั้งหมด เพื่อนำมาคำนวณหาอัตราส่วนการแลกเนื้อของปลา และอาหาร รวมทั้งคำนวณต้นทุนกำไร

ต้นทุนการเลี้ยงปลาของคุณปัญญา จะคำนวณจากปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา 87,750 กิโลกรัม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม รวมมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารปลา 877,500 บาท ขายปลาได้ 48,750 กิโลกรัม แสดงว่าอัตราการแลกเนื้อและอาหารคือ 1 : 1.8 กิโลกรัม

ปลาสลิด

ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทุกวันนี้ คุณปัญญาแบ่งพื้นที่การเลี้ยงออกเป็น 2 พื้นที่ โดยพื้นที่แรกเป็นบ่อน้ำจืดใช้เลี้ยงปลาสลิด ปลาหมอไทย และปลาช่อน ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่เป็นบ่อน้ำเค็มใช้เลี้ยงปลาหมอเทศ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย และปูทะเล

แนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนของคุณปัญญาคือ การเปิดร้านอาหาร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรกำหนดราคาได้ยาก คุณปัญญาจึงต้องการนำผลผลิตทางการเกษตรของตนเองและคนในชุมชนมาใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านั้น เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ผักต่างๆ หรือพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของชาวสมุทรสงคราม อย่างยอดหนามพุงดอ ใบชะคราม ฯลฯ

คุณปัญญาจึงรับซื้อจากคนในชุมชนเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารที่ร้านอาหารของตนเอง ชื่อ “ร้านอาหารข้าวใหม่ปลามัน” อำเภออัมพวา ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง

คุณปัญญา โตกทอง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2567