ข้าว 7 สายพันธุ์ไทย วัตถุดิบหลักสุราพื้นบ้าน จุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก ในแต่ละปีมีการผลิตและส่งออกข้าวจำหน่ายในปริมาณสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก การอนุรักษ์สายพันธุ์ดั้งเดิมของข้าวพื้นเมืองเอาไว้ โดยนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำพวกสาโทนั่นเอง

จากเครื่องดื่มพื้นบ้าน มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะประกอบร่างสร้างให้กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีดีทั้งคุณภาพและรูปลักษณ์ ยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นสู่ของดีประจำชาติ และยังสร้างรายได้มหาศาลกลับคืนสู่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน

การส่งเสริมแบรนดิ้งให้แข็งแรง ให้คุณค่ากับความเฉพาะตัวของวัตถุดิบพื้นถิ่น ใส่ใจในการออกแบบหน้าตาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มสุนทรียะในการดื่มชิม คือตัวอย่างองค์ประกอบที่จะพาให้เครื่องดื่มพื้นบ้านไปไกลได้ทั้งในไทยและต่างแดน

ความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยส่งผลให้แต่ละภูมิภาคมีการเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีจุดร่วมคือภูมิปัญญาหมักดองถนอมอาหารแต่การแปรรูปข้าว พืชผลไม้พื้นถิ่น สมุนไพรเหล่านี้ก็ยังต้องอาศัยภูมิปัญญาของชุมชนปราชญ์

ชาวบ้านที่ศึกษาและลงลึกในการหยิบจับส่วนผสมต่างๆ มาทดลองหมักบ่มผ่านระยะเวลาทำให้สุราพื้นบ้านของแต่ละภาค มีจุดเด่นไม่เหมือนใคร เช่น ข้าวหอมมะลิสายพันธุ์สุรินทร์ ข้าวเหนียวกาฬสินธุ์ตาลโตนดในจังหวัดเพชรบุรี ล้วนเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่จับนำมาผสมกันได้ออกมาเป็นสุราพื้นบ้านไทยหลายชนิด

ภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดความหลากหลายของผลผลิตการเกษตรและเป็นข้อได้เปรียบให้ประเทศไทยมีทางเลือกการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย ซึ่งหากมีนโยบายที่ส่งเสริมองค์ความรู้สู่ชุมชนและการแข่งขันอย่างเสรีแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ย่อมจะกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์สุราพื้นบ้าน และนำเม็ดเงินกลับคืนสู่เกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืน

กระบวนการหมัก

นำข้าวแต่ละชนิดที่ผ่านกระบวนการเตรียมแล้วจะนำมาหมักโดยใช้ลูกแป้งที่บดละเอียดปริมาณ 4 กรัม คลุกเคล้ากับข้าวแต่ละชนิดให้ทั่ว จากนั้นนำไปใส่ในถังและปิดฝา ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 4 วัน หลังจากนั้นเติมน้ำสะอาด จำนวน 2 ลิตร หมักต่ออีกเป็นระยะ 14 วัน หลังจากนั้นกรองด้วยผ้าข้าวบาง บรรจุใส่ภาชนะแล้วเติมโพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ (KMS) จำนวน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ปิดฝาภาชนะให้มิดชิดแล้วนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส

ข้าว 7 สายพันธุ์ไทย วัตถุดิบหลักสุราพื้นบ้าน จุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร
ข้าว 7 สายพันธุ์ไทย วัตถุดิบหลักสุราพื้นบ้าน จุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร

ข้าวหอมภูพาน (ข้าวเหนียว) จังหวัดสกลนคร 

มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงสุด หลังจากการหมักจะได้สีครีมใสๆ รสชาติดีที่สุด ใครได้ลองเป็นต้องชอบ

ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละ) 15.30

ปริมาณบริกซ์ (ร้อยละ) 17.20

ข้าวลืมผัว (ข้าวเหนียว) จังหวัดตาก

ข้าวเหนียวดำลืมผัวเป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวกล้องสีดำ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสาโทตามกระบวนการวิจัย สามารถปรับอัตราส่วนผสมให้ได้สาโทที่มีโทนสีชมพูจนถึงสีแดงคล้ายไวน์โรเซ

ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละ) 14.80

ปริมาณบริกซ์ (ร้อยละ) 14.80

ข้าวหอมมะลิ 105 (ข้าวเจ้า) จังหวัดสุรินทร์ 

หลังจากการหมักจะได้สีชมพูอ่อนใสๆ กลิ่นไม่แรงมาก 

ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละ) 14.30

ปริมาณบริกซ์ (ร้อยละ) 7.80

ข้าว กข6 (ข้าวเหนียว) จังหวัดน่าน

หลังจากการหมักจะได้สีใส เหมือนหลังจากเราซาวข้าวเวลาหุงข้าว กลิ่นละมุน และรสชาติที่ถูกอกถูกใจหลายๆ คน 

ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละ) 14.20

ปริมาณบริกซ์ (ร้อยละ) 16.80

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (ข้าวเจ้า) จังหวัดสระบุรี

หลังจากการหมักจะได้สีอมชมพูใสๆ กลิ่นซอฟต์ๆ 

ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละ) 13.10

ปริมาณบริกซ์ (ร้อยละ) 6.00

ข้าวหอมมะลิดอย (ข้าวเจ้า) จังหวัดเพชรบูรณ์

หลังจากการหมักจะได้สีคล้ายๆ ชาใส กลิ่นอาจจะไม่ได้หอมละมุน แต่รสชาติพอได้

ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละ) 12.70

ปริมาณบริกซ์ (ร้อยละ) 5.80

ข้าวหอมนิล (ข้าวเจ้า) จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากการหมักจะได้สีอมชมพูเข้มกว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่ จะมีสีสวย กลิ่นดี แต่รสชาติอาจจะยังสู้ไม่เท่าข้าว กข6

ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละ) 11.90

ปริมาณบริกซ์ (ร้อยละ) 5.60

รู้หรือไม่ : ข้าวเหนียวให้กลิ่นหอมมากกว่าข้าวชนิดอื่น และที่สำคัญให้ปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าข้าวเจ้า

“สาโท” เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเภทที่ไม่ผ่านกระบวนการกลั่น เช่นเดียวกับเครื่องดื่มสาเกของญี่ปุ่น เกิดจากกระบวนการหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ (alcoholic fermentation) โดยจุลินทรีย์ในกลุ่มยีสต์ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในวัตถุดิบได้เป็นแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มจากภูมิปัญญาที่คงอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพ และสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เป็นแนวทางหนึ่งของการสร้างมูลค่าให้แก่ข้าวไทย 

ขอบคุณข้อมูลจาก : การศึกษาการผลิตสาโทจากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชนิดต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา / https://www.innews.news/news.php?n=42506

#เทคโนโลยีชาวบ้าน #สาโท #สุราพื้นบ้าน #ลูกแป้ง