กู้วิกฤตโควิด-19 ในเรือนจำ…คลองไผ่รับมอบตู้ความดันบวกจากซินโครตรอนคัดกรองผู้ต้องขัง

จากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก การคัดกรองผู้ต้องขังจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ผลิตและมอบ “ตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก” แก่เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา สำหรับคัดกรองผู้ที่อาจจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการมีตู้คัดกรองเพิ่มขึ้นจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยและคัดกรองผู้ติดเชื้อได้ดีขึ้น โดยสถาบันฯ ได้ออกแบบตู้คัดกรองให้ผลิตได้ง่าย ช่างท้องถิ่นสามารถรับแบบไปผลิตด้วยวัสดุที่จัดหาได้ในท้องถิ่น และออกแบบตามหลักการยศาสตร์ให้บุคลากรทางการแพทย์นั่งปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

นครราชสีมา : สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มอบ “ตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก” แก่เรือนจำกลางคลองไผ่ ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นผู้ส่งมอบแก่ นายสันทัด ชินโชติ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขัง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารียังได้ส่งมอบ “เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสและกรองอากาศด้วยระบบโคโรน่าดิสชาร์จ” แก่โรงพยาบาลสูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

สำหรับตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวกเป็นนวัตกรรมสำหรับคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค โดยหลักการทำงานของตู้คัดกรองฯ มีระบบดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง HEPA filter เข้าสู่ภายในตู้คัดกรองฯ เพื่อให้มีความดันภายในตู้มากกว่าความดันบรรยากาศ 25 ปาสคาล ทั้งนี้เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ปฏิบัติงานที่นั่งอยู่ภายในตู้คัดกรองฯ ปลอดภัยจากเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ และสถาบันฯ ยังออกแบบให้สอดคล้องหลักการยศาสตร์ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์นั่งปฏิบัติงานภายในตู้คัดกรองฯ ได้อย่างสบาย อีกทั้งยังออกแบบให้ผลิตได้ง่าย เพื่อให้ช่างท้องถิ่นนำแบบไปผลิตตามด้วยวัสดุในท้องถิ่น ที่มีต้นทุนประมาณ 100,000 บาท โดยสถาบันฯ จะเผยแพร่แบบเพื่อนำไปผลิตโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

การส่งมอบตู้คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวกนี้ เป็นหนึ่งในความพยายามของสถาบันฯ ที่จะช่วยรับมือวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สะสมมานานกว่า 20 ปี ทางด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ เทคโนโลยีระบบควบคุม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มาผลิตเป็นนวัตกรรมต่างๆ เช่น ห้องแยกโรค ความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม ซึ่งได้ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ นำไปใช้งานแล้ว อาทิ โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลวิชรพยาบาล อีกทั้งยังสนองนโยบายของกระทรวง อว. ที่ให้หน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผลิตและจัดหานวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงและมีสายการผลิตที่ชัดเจน ทำได้อย่างรวดเร็ว และขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรด่านหน้า นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างช่องทางกระจายรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อให้โรงพยาบาลและชุมชนสามารถมีทางเลือกพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี

Advertisement