ม.มหิดล Griffith University ประเทศออสเตรเลีย สสส. และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ร่วมวิจัยพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของประชากรไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความคืบหน้าศึกษาวิจัยพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลของประชากรไทยมาตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้เริ่มประกาศมาตรการทางภาษีเพื่อควบคุมสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เมื่อปี 2561 สนับสนุนโดยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จนปัจจุบันงานวิจัยได้ดำเนินการมาถึงเฟส 3 พร้อมสรุปผลความคืบหน้าว่า จากการที่ได้มีการวางแผนขึ้นราคาสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยตั้งเป้าหมายการขึ้นภาษีสินค้าประเภทดังกล่าวให้ได้ร้อยละ 20 ในปี 2568 นั้นพบว่า ในช่วงแรกยังไม่ค่อยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เนื่องจากสินค้าประเภทดังกล่าวยังคงขึ้นราคาไม่สูงมากนัก แต่หากมีการขึ้นภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย ติดตามพฤติกรรมการบริโภค และประเมินผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และผลิตภัณฑ์ทดแทนเพิ่มมากขึ้น

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนา หันจางสิทธิ์) ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิท (Griffith University) ประเทศออสเตรเลีย ทำการวิจัยภายใต้ “โครงการคาดประมาณผลกระทบทางสุขภาพจากมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในประเทศไทย” โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และด้านข้อมูลจากการสำรวจของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน การสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย และฐานข้อมูล Euromonitor คาดการณ์ในระยะยาวว่า การขึ้นภาษีให้ได้ตามเป้าหมายจะส่งผลให้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพประชาชนของรัฐได้สูงถึง 156.2 ล้านบาทในปี 2587 หรืออีก 22 ปีข้างหน้า

ซึ่งจากการสำรวจปริมาณการดื่มใน 16 ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูงเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2561-2564 พบว่า “เครื่องดื่มทางเลือก” ประเภทที่ไม่ใช่น้ำตาล ได้รับความนิยมสูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการทางภาษีของประเทศไทยยังได้รับคำชื่นชมและยกย่องจากนานาชาติ ในความเป็นผู้นำของประเทศและภูมิภาค ที่ใช้มาตรการทางการคลังเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของประชากรในประเทศ

โดยทีมวิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดสถานการณ์ “Nutrition transition” หรือ “การส่งผ่านทางโภชนาการ” ที่นิยมกินอาหารแบบตะวันตกเน้นอาหารพลังงาน อุดมไปด้วยไขมัน และน้ำตาล ที่โลกกำลังเผชิญได้ต่อไปในอนาคต

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354