ซีพีเอฟ ส่งเสริมสังคมแห่งความกตัญญู เดินหน้า “คืนสุขผู้สูงวัย” เติมกำลังใจผู้สูงอายุในชุมชน

บ้านพักหลังน้อยของ ลุงบุญชม แกมรัมย์ วัย 64 ปี ชาวตำบลบ้านกลับ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี วันนี้เต็มไปด้วยความอบอุ่นจากน้ำใจของลูกหลาน ที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน เข้ามาเยี่ยมเยียน

ลุงชม เล่าว่า ก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่ รอนแรมจากจังหวัดบุรีรัมย์บ้านเกิด เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ จนได้พบกับ ป้าสุนีย์ อยู่สบาย ที่กลายเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกันจนถึงปัจจุบัน สองคนช่วยกันทำมาหากิน หนักเอาเบาสู้ทั้งรับจ้างทั่วไป หักข้าวโพด เกี่ยวข้าวฟ่าง กระทั่งงานสุดท้ายคืองานก่อสร้าง ก่อนที่ลุงชมจะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ก็ไม่ได้ไปหาหมอเพื่อรักษาในทันที เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ลุงชมต้องกลายเป็นอัมพฤกษ์ แม้จะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพใดๆ จึงขาดรายได้ มีเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพสำหรับผู้พิการ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยรวม 1,700 บาท และมีสิทธิบัตรทอง แม้จะมีป้าสุนีย์คอยดูแล แต่ป้าเองก็เจ็บป่วยไม่ต่างกัน ทั้งโรคเบาหวาน ต้อกระจก และการเคลื่อนไหวไม่สะดวก จึงทำอาชีพรับจ้างอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ทุกวันนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก คำนึง หลักเมือง เพื่อนบ้าน ที่ให้พื้นที่ในการปลูกบ้านแบบไม่คิดค่าเช่า

ส่วนที่บ้าน ยายสำลี โอภาพ วัย 74 ปี ชาวตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังบนพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ปลูกกระท่อมเพิงพักเล็กๆ กันแดดฝน หลังจากที่ย้ายมาอยู่กับสามีที่ท่าคล้อเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา จนกระทั่งสามีเสียชีวิต ยายสำลีต้องกลายเป็นผู้สูงอายุไร้ที่พึ่ง เพราะพื้นเพไม่ใช่คนที่นี่ เมื่อไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว ขาดคนดูแล ก็ต้องอาศัยชาวชุมชนช่วยเหลือ ได้พื้นที่ปลูกสร้างที่พักพอให้ปลูกผักกินอยู่ในแต่ละวัน มีเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บาทต่อเดือน และสิทธิบัตรทองเท่านั้น เมื่อซีพีเอฟรู้ถึงความเดือดร้อน ได้เร่งเข้ามาดูแลให้ร่วมโครงการ “ซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย”  โดยมีทีมงานจิตอาสาจากฟาร์มท่าคล้อ ของธุรกิจไก่เนื้อ สระบุรี มาดูแล

จิราภรณ์ กิ่งสีดา ปลัดอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี บอกว่า ยายสำลีคือภาพสะท้อนของผู้สูงอายุที่เป็นคนดี มีจิตอาสา ในช่วงที่ร่างกายสมบูรณ์ก็มีส่วนร่วมในงานชุมชนไม่เคยขาด จึงเป็นที่รักของคนในชุมชน แม้ปัจจุบันจะต้องอาศัยเพียงลำพังไร้ญาติ แต่ยังคงเข้าวัดฟังธรรม ทำบุญอยู่ตลอด เมื่อถูกทอดทิ้งชุมชนก็ช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี เช่นเมื่อต้นปี 2565 ชาวชุมชนได้ช่วยกันปรับปรุงที่พักอาศัยให้คุณยาย และการที่ซีพีเอฟเข้ามาร่วมดูแลยายสำลี ในฐานะตัวแทน “ความกตัญญู” ที่มอบให้เพื่อตอบแทนความดี โดยไม่หวังผลตอบแทนที่ยายสำลีเคยสร้างไว้ ถือเป็นตัวอย่างของการส่งเสริมการทำความดีอีกรูปแบบหนึ่ง ขอขอบคุณโครงการดีๆ ที่มอบโอกาสให้ประชาชน และขอให้ดำเนินการเช่นนี้ตลอดไป

“ซีพีเอฟ ขอขอบคุณผู้สูงอายุทุกคนในโครงการที่เป็นเหมือนผู้เปิดโอกาสให้เราชาวฟาร์มและโรงงานที่กระจายอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ ได้ทำความดีด้วยการเข้ามาดูแลผู้สูงวัยที่ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้ บางรายมีความพิการของร่างกาย ถูกทอดทิ้งขาดคนเหลียวแล หรือบางรายก็ไม่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เราอาสามาช่วยส่งเสริมให้ความเป็นอยู่และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้คลายความทุกข์ยากในเบื้องต้นไปได้” สมบูรณ์ สุชาติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กิจการไก่เนื้อ 3 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าว

ด้าน นิรัตน์ ฮ่อยี่ซี่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านระบบมาตรฐานและบริหารงานคุณภาพ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เล่าว่า โครงการ “ซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้กลยุทธ์ด้าน “สังคมพึ่งตน” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยรอบสถานประกอบการของบริษัทที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างจากโรงงาน ฟาร์ม หรือสาขาของบริษัท ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งมีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้ดูแล หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นการให้ความช่วยเหลือตลอดชีวิต โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเครือข่าย อาทิ อบต. เทศบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดูแลทั้งความเป็นอยู่ สุขภาพร่างกาย และจิตใจ สร้างสังคมแห่งความกตัญญู และลดความเหลื่อมล้ำ