ถกปัญหาปาล์มน้ำมันผลิตไฟฟ้า ใช้ Profit Sharing ได้จริงหรือ

ในการเสวนา “ปาล์มน้ำมัน จากพืชเพื่อการบริโภค สู่พืชพลังงาน” เพื่อระดมความคิดเห็น แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ที่มีนักวิชาการจากหลายภาคส่วนแสดงความเห็นผ่านเวทีเสวนา เพื่อนำความเห็นไปสะท้อนให้เห็นมุมที่สามารถนำไปช่วยเกษตรกรได้

คุณฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปลูกปาล์มปัจจุบันมีต้นทุน 2.94-3.06 บาท ขายได้ 2.50 บาท ซึ่งขาดทุนทุกกิโลกรัมที่ขาย ปัญหาที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบมากที่สุดคือ มติของสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ต้องการควบคุมน้ำมันปาล์ม และยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทย สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา อยากให้พิจารณากรณีของอ้อยและน้ำตาล ที่มีระบบ Profit Sharing หรือการแบ่งปันผลผลิต โดยนำระบบจากอ้อยและน้ำตาลมาเป็นต้นแบบ โดยแบ่งปันให้กับเกษตรกร ประมาณ 70% โรงงาน 30% อุตสาหกรรมอ้อยจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหาน้อยที่สุด ส่วนตัวจึงเห็นว่า ควรนำระบบ Profit Sharing มาใช้กับปาล์มน้ำมัน เพราะในอนาคตปาล์มน้ำมันจะมีปัญหาเรื่องราคา จึงจะต้องปรับโครงสร้างจากการผลิตเพื่อการบริโภค เป็นการผลิตเพื่อป้อนโรงงานไฟฟ้า

ด้าน คุณเชาวลิต ศุภนคร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพีพี กรีนคอมเพล็กซ์ จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรมีส่วนแบ่งเพียง 60,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่เหลือ 150,000 ล้านบาท หรือ 75% จะถูกแบ่งไปยังโรงงานสกัด ภาคอุตสาหกรรม เชื้อเพลิง ไบโอดีเซล และพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็น “ตัวเล่นใหม่” ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น หากจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า สามารถนำสัญญาการซื้อขาย จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. ไปเป็นหลักฐานค้ำประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ทันที สะท้อนให้เห็นว่า การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์ม ไม่แพงกว่าการผลิตจากชนิดอื่น โดยโรงไฟฟ้า ขนาด 45 เมกะวัตต์ จะใช้ปาล์มประมาณ 80,000 ตัน ต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ราคาปาล์มเพิ่มเป็น 4.5 บาท ต่อกิโลกรัม สามารถแก้ปัญหาอุตสาหกรรมปาล์มได้ทั้งระบบ และสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าการแก้ปัญหาตามดีมานด์-ซัพพลาย เหมือนในอดีต

คุณพันศักดิ์ จิตรัตน์ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ ประธานคณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหา ปาล์มน้ำมัน ด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะจะส่งผลไปสู่เศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศไทย

คุณอธิราษร์ ดำดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ แสดงความน้อยใจที่ภาครัฐ ไร้น้ำใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ทุกครั้งที่ยื่นมาตรการเพื่อให้ช่วยเหลือ กลับไม่ได้รับไปดำเนินการ ปล่อยให้เกิดความทุกข์ยากของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และยังบอกว่าให้ไปหาอาชีพอื่น ทั้งที่พวกเราปลูกกันมา 50-60 ปีแล้ว ทำเม็ดเงินเข้าประเทศรวมแล้วนับเป็นเงินนับล้านๆ บาท เราเกิดเป็นเกษตรกร ก็ตายด้วยอาชีพเกษตรกร ไม่มีเกษียณ ไม่มีบำนาญ อยากเห็นรัฐบาลเอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎรมากกว่านี้

สำหรับ คุณอัจริยะ นพรัตน์ ประธานคลัสเตอร์น้ำมันปาล์มภาคใต้ กล่าวว่า ปาล์มน้ำมัน ถือเป็นพืชมหัศจรรย์ สามารถใช้บริโภคได้ โดยแปรรูปเป็นน้ำมันพืช นำไปทอดและผัด หรือทำเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว และยังอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ยังเป็นพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy เพราะไม่มีสารกำมะถันเจือปนออกมา ขณะที่ผลผลิตต่างๆ ของพืชปาล์มน้ำมันสามารถนำมาใช้สร้างมูลค่าได้ทั้งสิ้น อาทิ ทะลาย เส้นใย เมล็ดใน และที่สำคัญของการเป็นพืชมหัศจรรย์ คือสามารถปลูกทดแทนได้ตลอดเวลาตามต้องการ เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานปิโตรเลียม ที่นับวันจะยิ่งมีปริมาณลดลง แต่พลังงานจากปาล์มน้ำมันสามารถหามาทดแทนได้ตลอดเวลา

คุณชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน 2.2 แสนครัวเรือน หรือ 1 ล้านคนนั้น เป็นเพียงแค่ต้นน้ำ แต่ถ้ารวมทั้งระบบที่เกี่ยวข้องจะมีคนประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งรวมถึงกลางน้ำและปลายน้ำ การนำปาล์มน้ำมันมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ และเป็นพลังงานสะอาด และการใช้ผลประโยชน์แบ่งปัน จะเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหา แต่ภาครัฐต้องเข้ามา เป็นมติใหม่ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับเกษตรกร