“งาดำ” ปลูกระยะสั้นเหมือน “ข้าว” ปลูกง่าย ขายดี ตลาดต้องการสูง 

“งา” เป็นพืชล้มลุก ผลเป็นฝัก มีเมล็ดเล็กๆ สีขาวหรือสีดำ งาเป็นพืชที่ปลูกอย่างแพร่หลายในภูมิเอเชียและตะวันออกกลาง เมล็ดใช้เป็นอาหาร เครื่องเทศ และใช้น้ำมันงาดำเป็นพืชสมุนไพรรักษาโรค เมืองไทยมีพื้นที่ปลูกงาประมาณปีละ 80,000-120,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 6,000-8,000 ตัน ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศ เนื่องจากกระแสรักสุขภาพทำให้งาเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการตลาดเพิ่มมากขึ้น

“งา” ปลูกได้ทั่วไทย

“งา” มีทั้ง งาขาว งาดำ งาแดง งาม้อน เป็นพืชที่ปลูกขึ้นง่าย ลงทุนน้อย ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี ปัจจุบันเมืองไทยสามารถปลูกงาได้ทั่วประเทศ เกษตรกรนิยมปลูกงาในพื้นที่นาก่อนการปลูกข้าว ช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน ทุกวันนี้เกษตรกรนิยมปลูกงาช่วงต้นฤดูฝน ประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งใหญ่ของปลูกงาต้นฤดูฝน ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลำพูน น่าน และสุราษฎร์ธานี

ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และเลย ฯลฯ นิยมปลูกงาช่วงปลายฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนใหญ่จะปลูกในสภาพพื้นที่ไร่หรือที่ดอน ปลูกหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรบางกลุ่มนิยมปลูกงาในช่วงฤดูแล้ง เริ่มปลูกในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนมีนาคม

แปลงปลูกงา
ดอกงา

ธรรมชาติของ “งา” เป็นพืชเขตร้อนชอบอากาศร้อนและแดดจัด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส การงอกจะช้าลง หรืออาจจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสจะทำให้การผสมเกสรติดยากการสร้างฝักเป็นไปได้ช้า

งาสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่จะขึ้นได้ดีที่สุดในดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร มีการระบายน้ำดีและมีความเป็นกรดเป็นด่าง ระหว่าง 6.0-6.5 ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง ถ้าปลูกในดินเค็มรากของงาจะชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตของงาลดลง วิธีการปลูกงาที่เกษตรกรนิยมใช้มากที่สุด คือ การปลูกแบบหว่าน หลังไถพรวนดินดีแล้ว เกษตรกรจะใช้เมล็ดงาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ ในแปลงปลูก แล้วคราดกลบทันที เพราะถ้ารอจนหน้าดินแห้ง หรือเมล็ดถูกแดดเผานานๆ เมล็ดงาจะตกมัน ทำให้ไม่งอกหรืองอกไม่สม่ำเสมอ

ต้นงาดำ
ฝักงา

นอกจากนี้เกษตรกรบางท้องถิ่นใช้วิธีปลูกแบบโรยเป็นแถว โดยใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ โดยทำร่องสำหรับโรยเมล็ด ปลูกในระยะ 50×10 เซนติเมตร หรือใช้เครื่องปลูกชนิด 4 แถว ระยะปลูก 30×10 เซนติเมตร ให้มีต้นงา 10-20 ต้น หลังจากปลูกแล้ว 15-20 วัน ให้ทำการถอนแยกให้ได้ระยะต้นตามความต้องการ วิธีนี้จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกด้วยวิธีหว่าน

“งา” พืชเศรษฐกิจ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ช่วงปลายฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม หากใครได้มาแม่ฮ่องสอนจะพบเห็นไร่งาที่ปลูกโรยไว้ตามไหล่ทาง เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวไทยใหญ่สืบทอดอาชีพการปลูกงาจากรุ่นสู่รุ่นมานานนับร้อยปีแล้ว พวกเขานิยมปลูกงาในช่วงปลายฤดูฝน หากพบว่า มีปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ก็จะเริ่มเตรียมดินโดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือไถกลบปุ๋ยพืชสด ในช่วงเตรียมดินก่อนปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง เพราะงาตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี โดยไถพรวนดินประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนหว่านเมล็ดงาประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากนั้นไถกลบอีก 1 ครั้ง เพื่อให้เมล็ดงางอกได้สม่ำเสมอ เมื่อหว่านเมล็ดงาแล้วก็ปล่อยทิ้งจนถึงเก็บเกี่ยวเพราะงาไม่ต้องการดูแลมากเหมือนกับพืชอื่นๆ

ภายในฝักมีเมล็ดงาจำนวนมาก
งาขาว

การสุกแก่ของงา สามารถสังเกตได้ง่ายจากดอก เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวดอกสุดท้ายจะร่วง ใบจะมีสีเหลืองและร่วงเกือบหมด ฝักเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ประมาณ 1 ใน 4 ของต้น เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างเต่งตึงและเปลี่ยนสีตามพันธุ์ สำหรับงาดำให้แกะฝักที่ 3 จากยอดออกมาดู ถ้าเมล็ดมีสีน้ำตาลแสดงว่าแก่เก็บเกี่ยวได้ เมื่องาเจริญเติบโตเต็มที่ถึงระยะสุกแก่ ต้องรีบเก็บเกี่ยว ก่อนที่โคนต้นที่แก่ก่อนจะแตกออกทำให้เมล็ดร่วงเสียหาย

ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวต้นงาโดยใช้เคียวหรือมีด เกี่ยวต้นงาให้ต่ำกว่าฝักล่างเล็กน้อย หากปลูกในดินทรายหรืองาต้นเล็กจะใช้วิธีถอนทั้งต้น หลังเก็บเกี่ยวจะนำต้นงามากองบ่มในบริเวณกลางแจ้ง โดยหันปลายยอดเข้าหากัน วางซ้อนเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ให้ฝักปลายยอดเหลื่อมกันเล็กน้อย หลังจากนั้นจะนำฟางข้าว ใบไม้ ใบหญ้า ปิดทับกองประมาณ 5-7 วัน ถ้าอากาศแห้งเกินไปควรรดน้ำกองบ่มบ้าง หลังจากการบ่มแล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลปนดำเสมอกัน ส่วนใบจะเปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดร่วงไป จากนั้นจึงทำการมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดต่อไป

งาดำ
เมล็ดงาม่อน

ข้อดีของการบ่มคือ ช่วยให้ฝักงาส่วนโคนต้นและส่วนปลายอ้าออกพร้อมกัน จึงประหยัดเวลาแรงงานในการเคาะ โดยเคาะเพียง 1-2 ครั้งก็ได้เมล็ดงาเกือบทั้งหมด แต่ถ้าไม่บ่มจะต้องเคาะ 3-4 ครั้ง เนื่องจากฝักงาอ้าออกไม่พร้อมกัน ทั้งนี้ การบ่มงาจะเลือกทำเฉพาะงาดำและงาดำแดง ส่วนงาขาวไม่นิยมบ่มเพราะทำให้เมล็ดงามีสีหมองคล้ำคุณภาพเมล็ดต่ำ

การแปรรูป “น้ำมันงาสกัดเย็น” แบบโบราณ

กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสบสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปลูกงาเป็นรายได้เสริมหลังนา โดยพื้นที่ปลูกงา 1 ไร่ ได้ผลผลิตเพียง 5-7 ถัง หรือประมาณ 60-75 กิโลกรัม ที่ผ่านมา ขายงาในราคาถูก ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกัน แปรรูปเมล็ดงามาเป็นน้ำมันโดยปลูกและดูแลการผลิตงาแบบอินทรีย์ และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวไทยใหญ่ที่สืบทอดมาเป็นร้อยปี  ในการบีบน้ำมันงา หรือที่ชาวไทยใหญ่เรียกกันว่า “การอีดน้ำมัน” ด้วยครกอีด ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้กังหันจากพลังงานน้ำนั้น การอีดน้ำมันงาแต่ละครั้งจะใส่เมล็ดงาครั้งละ 12 กิโลกรัม ใช้เวลาอีดนาน 3 ชั่วโมง ซึ่งการผลิตแต่ละวันจะใช้เครื่องดังกล่าวทำงานวันละ 14 ชั่วโมง หรือใช้เมล็ดงาวันละ 60 กิโลกรัม การอีดด้วยวิธีนี้ ถึงแม้จะช้า แต่ก็ทำให้ได้น้ำมันงาคุณภาพดี โดยเมล็ดงาน 4 กิโลกรัมจะได้น้ำมันงา 1 กิโลกรัม น้ำมันงาหีบเย็น สกัดจากงาดำสด บำรุงผม บำรุงผิว มีแคลเซียมสูงกว่านม 6 เท่า ใช้ประกอบอาหารได้ทุกประเภท รวมทั้งใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สปา เช่น โลชั่นน้ำมันงา สบู่ แชมพู และครีมนวด น้ำมันนวดสมุนไพร ฯลฯ

การแปรรูป น้ำมันงาสกัดเย็น แบบโบราณ
ผลิตภัณฑ์น้ำมันงาของกลุ่มแห่งนี้

หากใครสนใจผลิตภัณฑ์น้ำมันงาของกลุ่มแห่งนี้ สามารถเยี่ยมชมกิจการของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้ที่บ้านสบสอย เลขที่ 8/4 หมู่ที่ 7 ตำบลปางหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร.081-784-3847