“บ้านแท่น” แหล่งผลิตส้มโอเงินล้าน รสอร่อยถูกใจตลาด มีเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย

“ส้มโอ” เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงและเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ส้มโอบ้านแท่นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ เปลือกบาง ผิวสวย เนื้อมีปริมาณมาก รสหวานอมเปรี้ยวกำลังดี และมีกลิ่นหอม เคยคว้ารางวัลชนะการประกวดส้มโอ อันดับ 1 ระดับประเทศมาแล้ว

ว่าที่พันตรีวิเวก จงสูงเนิน เกษตรอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ กรุณาสละเวลาพาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไปที่หมู่บ้านหนองผักหลอด ตำบลบ้านแท่น ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มโอที่มีชื่อเสียงของอำเภอบ้านแท่นพร้อมพูดคุยกับ คุณบุญมี นามวงศ์ เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านแท่น คุณจักรินทร์ รัตนประทุม คุณสมสี พลนิกร และสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านแท่นอีกหลายท่าน

จุดกำเนิด “ส้มโอบ้านแท่น”

เมื่อปี 2530 คุณบุญมี นามวงศ์ (โทร. 082-749-9785) ได้นำมะม่วงจากอำเภอบ้านแท่นไปขายที่ตลาดสี่มุมเมือง เมื่อสินค้าไปถึงตลาด ปรากฏว่า ผลผลิตเสียหาย และขายได้ราคาถูก ขณะที่ส้มโอจากนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่นำมาวางขายในตลาดเดียวกัน กลับขายได้ราคาสูงและผลผลิตไม่เสียหายในระหว่างการขนส่ง แถมมีอายุจำหน่ายยาวนานกว่ามะม่วง คุณบุญมี จึงเกิดความสนใจปลูกส้มโอในเวลาต่อมา

คุณบุญมี ไปดูกิจการสวนส้มโอ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พร้อมซื้อกิ่งพันธุ์ส้มโอทองดี มาทดลองปลูกบนที่ดิน18 ไร่ ของตัวเอง ในชื่อ “สวนส้มโอพรหมประทาน” ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองผักหลอด อำเภอบ้านแท่น ปรากฏว่า ส้มโอพันธุ์ทองดีที่นำมาปลูก ให้ผลผลิตที่ดี และมีรสชาติอร่อย

คุณบุญมี นามวงศ์

เกษตรกรบ้านแท่นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จทางด้านรายได้และมีหนี้สินรุงรัง เมื่อเห็นว่า คุณบุญมีบุกเบิกทำสวนส้มโอจนประสบความสำเร็จและมีรายได้งาม สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในหมู่บ้านหนองผักหลอด และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บ้านหลุบค่าย บ้านมอญ บ้านนาดี ฯลฯ ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาทำสวนส้มโอ ทำให้ชุมชนบ้านแท่น มีพื้นที่ปลูกส้มโอที่ให้ผลผลิตแล้วกว่า 500 ไร่ มีเกษตรกรปลูกส้มโอประมาณ 200 ราย

ต่อมามีการขยายพื้นที่ชลประทาน จัดตั้งสถานีสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าส่งมาในพื้นที่อำเภอบ้านแท่น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์แหล่งน้ำในภาคการเกษตร กว่า 1 หมื่นไร่ เปิดโอกาสให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกส้มโอได้อีก จาก 500 ไร่ เป็น 2,500 ไร่ และมีโอกาสขยายเพิ่มทะลุหลักหมื่นไร่ได้ในอนาคต

เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอได้รวมตัวกันในรูป “กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านแท่น” โดย คุณบุญมี รับตำแหน่ง ประธานกลุ่มฯ ก่อนจะพัฒนาเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกส้มโอบ้านแท่น” ในเวลาต่อมา การรวมกลุ่มเกษตรกรฯ ได้เสริมสร้างจุดแข็งด้านการผลิตและการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอบ้านแท่น ทำให้มีอำนาจต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง สามารถคัดแยกและตรวจสอบคุณภาพผลผลิตก่อนส่งออกจำหน่าย เพื่อกำหนดราคาซื้อขายตามเกรดของส้มโอ เป็นการยกระดับคุณภาพของผลผลิตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกส้มโอบ้านแท่น

กลุ่มเกษตรกรฯ แห่งนี้ ยังมีความเข้มแข็งในการผลิตเพราะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการปลูกส้มโอเชิงการค้าและมีความพร้อมด้านแหล่งเงินทุน โดยทางกลุ่มฯ ได้หักเงินรายได้จากการส่งออกส้มโอลูกละ 1 บาทต่อปี มาจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนในบริหารงานกลุ่มฯ และเป็นทุนสำรองให้สมาชิกกู้ยืม ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านแท่นเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำสวนส้มโอปลอดสารพิษแห่งแรกของประเทศ ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงทุกวันนี้

 

จุดเด่นส้มโอบ้านแท่น

พื้นที่บ้านแท่นได้เปรียบในเรื่องทำเลที่ตั้ง เนื่องจากปลูก ส้มโอในแหล่งดินร่วนปนลูกรัง ที่มีปริมาณแร่ธาตุอาหารสมบูรณ์เอื้อต่อการเติบโตของต้นส้มโอ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์เพราะอยู่ในแหล่งชลประทานอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร เกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ปลูกส้มโอมากกว่า 5 ปีขึ้นไป จึงปลูกและดูแลให้ปุ๋ย ให้น้ำ ดูแลตัดแต่งทรงพุ่ม และห่อผลอย่างเหมาะสม จึงได้ส้มโอพันธุ์ทองดี คุณภาพดี ผิวสีสวย เปลือกผลบาง เนื้อมีสีเหลืองปนชมพู กุ้งใหญ่ เนื้อแห้ง ไม่แฉะ

การปลูกดูแล

การปลูกส้มโอของ อำเภอบ้านแท่น เป็นสวนส้มโอที่ปรับสภาพสวนจากพื้นที่นา โดยนำเทคโนโลยีการผลิตมาจากสวนส้มโอในภาคกลางมาปรับใช้ในพื้นที่ มีการสร้างแปลงปลูกแบบยกร่องมีน้ำขัง เพื่อให้แปลงมีความชื้น และมีการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ภายในทรงพุ่มทุกต้น

เกษตรกรแต่ละรายจะมีพื้นที่ปลูกส้มโอเฉลี่ย 5-10 ไร่ ปลูกโดยใช้กิ่งพันธุ์ส้มโอที่ได้จากการเสียบยอด เพราะมีการเจริญเติบโตมากกว่าส้มโอที่ปลูกด้วยกิ่งตอน ปลูกด้วยวิธียกร่อง เดิมนิยมปลูกในระยะห่าง 6×6 เมตร ซึ่งปลูกชิดเกินไป เสี่ยงต่อการถูกโรคพืชรบกวน เมื่อต้นส้มโออายุครบ 10 ปี จึงแนะนำให้เกษตรกรมือใหม่ปลูกต้นส้มโอในระยะห่าง 7×7 เมตร หรือเฉลี่ยไร่ละ 36 ต้น ซึ่งเป็นระยะปลูกที่เหมาะสมต่อการปลูกดูแลต้นส้มโอในเชิงการค้ามากที่สุด

ทั้งนี้ เกษตรกรนิยมควบคุมการออกดอกของต้นส้มโอ โดยการงดให้น้ำในเดือนพฤศจิกายน และเริ่มให้น้ำอีกครั้งในเดือนธันวาคม เมื่อต้นส้มโอออกดอกในเดือนมกราคม จะฉีดพ่นสารฮอร์โมนพืช เพิ่มปริมาณการให้น้ำ ใส่ปุ๋ยทางใบและปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15และ ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 ในระหว่างฤดู จะหว่านปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 และใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นส้มโอมากกว่าปีละ 1 ครั้ง เกษตรกรจะฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ และหยุดฉีดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว ประมาณ 1 เดือน ผลส้มโอจะเริ่มสุกแก่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม

เกษตรกรบางรายมีเคล็ดลับในระหว่างการปลูกส้มโอให้ได้รสชาติอร่อย ถูกใจตลาด โดยใช้วิธีการแต่งผล หากมีกิ่งแห้งชนหรือทับผลส้มโอ จะใช้วิธีตัดออกเพื่อไม่ให้กิ่งชนผลส้มโอทำให้ผิวไม่สวย นอกจากนี้ ยังใช้วิธีการระบายน้ำออกจากร่องก่อนที่จะเก็บผลผลิต เพื่อช่วยให้ส้มโอมีรสหวานอร่อย

ขณะเดียวกันเน้นบำรุงต้นอย่างเต็มที่และต่อเนื่องหลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว เพื่อช่วยให้ต้นส้มโอมีผลต่อต้นดกมาก นอกจากนี้ จะใช้วิธีฉีดสารแมงกานีสในระหว่างปลูกเพื่อช่วยให้ผลส้มโอมีผิวสวย ขายได้ราคา ทั้งนี้พบว่า เกษตรกรที่ปลูกส้มโอแบบร่องคู่ทำให้เก็บผลผลิตง่าย ฉีดยาง่าย ดูแลรักษาง่าย แต่รากส้มโอจะหาอาหารลำบาก ส่วนแปลงที่ปลูกร่องเดี่ยวเก็บผลผลิตยาก แต่รากส้มโอจะหาอาหารได้ดีกว่าการปลูกร่องคู่

ด้านตลาด

ฤดูส้มโอปี จะเริ่มมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน ส่วนส้มโอทะวายหรือส้มโอนอกฤดู จะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน บางครั้งอาจพบส้มโอนอกฤดูบ้างในช่วงเดือนมกราคม พันธุ์ส้มโอที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ผลผลิตเฉลี่ย 1,400-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่

“สาเหตุที่เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี เป็นหลัก เพราะมีรสชาติอร่อยเป็นที่นิยมของผู้ซื้อในประเทศและส่งออก ในปีนี้ ส้มโอทองดีขายได้ราคาดี เฉลี่ย 38-43บาท/ก.ก. ส่วนส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ขายส่งในราคา 40-45 บาท/ก.ก. ส่วนส้มโอพันธุ์ขาวแป้น ปลูกไม่เยอะ ราคาขายเฉลี่ย 20 บาท/ก.ก.” คุณบุญมี กล่าว

ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอบ้านแท่นจำหน่ายผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมผลผลิต เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ ส่วนตลาดในประเทศ คู่ค้าหลัก คือ ห้างแม็คโคร และห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ รวมทั้งขายส่งให้กับพ่อค้าในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ดและนครปฐม เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอบ้านแท่นจะมีรายได้จากการขายผลผลิตต่อรุ่นประมาณ 90,000-100,000 บาท/ไร่

บริเวณริมถนนเส้นทางหนองเรือ-หนองแวง เป็นแหล่งขายส้มโอหรือตลาดส้มโอของบ้านแท่นแห่งใหญ่มาหลายปี เกษตรกรหลายรายใช้เวลาว่างภายหลังจากการทำนา เพื่อมาขายส้มโอบ้านแท่น โดยรับมาจากชาวสวนส้มโอ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ถือเป็นฤดูผลผลิตแล้วทางจังหวัดได้จัดให้มีงานขึ้นเป็นประจำ หลังจากนั้นอาจมีผลผลิตบ้างซึ่งเป็นส้มโอทวาย จึงทำให้ส้มโอบ้านแท่นมีขายตลอดทั้งปี

แม่ค้าจะรับส้มโอบ้านแท่นมาขายในช่วงปกติครั้งละ 200 กิโลกรัม แต่พอมาถึงหน้าเทศกาลส้มโอของจังหวัดราวเดือนสิงหาคมของทุกปีจะนำมาขายไม่ต่ำกว่าวันละ 300 กิโลกรัม ขนาดส้มโอที่ขายมีตั้งแต่ราคา 2 ผล 100 บาท มีน้ำหนักต่อผลไม่ต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัม, ขนาด 3 ผล 100 บาท มีน้ำหนักต่อผลเฉลี่ย 1 กิโลกรัม และขนาด 4 ผล 100 บาท มีน้ำหนักต่อผลประมาณ 8 ขีด ทั้งนี้คุณสุนิสาเผยว่าทุกขนาดได้รับความนิยมเนื่องจากลูกค้าชอบต่างกัน แต่ถ้าเป็นขนาด 3 ผล 100 บาท จะขายดีกว่า เพราะมีความพอดีทั้งขนาดผลและราคา

สำหรับลูกค้าที่มาอุดหนุนส้มโอโดยปกติจะเป็นคนในพื้นที่ทั้งที่เป็นชาวบ้านทั่วไปและพนักงานบริษัท หรือข้าราชการ โดยจะซื้อไปรับประทานที่บ้านหรือซื้อไปเป็นของฝากบ้าง ทั้งนี้ขาประจำมักจะมาสั่งไว้ล่วงหน้า หากมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดชัยภูมิ อย่าลืมแวะไปชิมและเลือกซื้อส้มโอบ้านแท่นกันให้ได้นะ

“งานส้มโอบ้านแท่น”

ส้มโอบ้านแท่น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ทองดี ปลูกมากที่ตำบลบ้านแท่นและตำบลสามสวน พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ จำนวน 36 ต้น สวนส้มโอที่ปลูกใหม่ จะให้ผลผลิตรุ่นแรกในปีที่ 4 จะมีผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 40-50 ผล เมื่อส้มโออายุต้น 5 ปีขึ้นไป เก็บผลผลิตได้ 100 ผล ต่อต้น ต่อปี แต่ละผลมีน้ำหนักเฉลี่ย 1.3-1.8 กิโลกรัม ส้มโอนำเงินเข้าสู่อำเภอบ้านแท่นมากกว่าปีละ 60 ล้านบาท

อำเภอบ้านแท่น นิยมจัดงานเทศกาลส้มโอหวานบ้านแท่น เป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือน สิงหาคม ณ ตลาดกลางส้มโอ บ้านหนองผักหลอดเหนือ หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านแท่น เพื่อประชาสัมพันธ์ส้มโอบ้านแท่นให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายในงานมีการประกวดส้มโอ การแข่งขันการกินส้มโอ จำหน่ายส้มโอและผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ของดีอำเภอบ้านแท่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแท่น โทรศัพท์ 044-887-060