มะม่วง “อ้ายเหวิน” มะม่วงส่งออก อันดับ 1 ของไต้หวัน

มะม่วงสายพันธุ์จากฟลอริดาที่ฝรั่งเรียก มะม่วงพันธุ์ “เออร์วิน” (Irwin) ส่วนจีนกับไต้หวันเรียก มะม่วงพันธุ์ “อ้ายเหวิน” และญี่ปุ่น เรียก “ไทโย โน ทามาโกะ” (Taiyo no tamago) หรือ “ไข่พระอาทิตย์” ที่ทั่วโลกรู้ว่าเป็นมะม่วงที่แพงที่สุดในโลก

จากข้อมูล “เออร์วิน” เป็นมะม่วงที่เกิดจากการผสมโดยธรรมชาติ ระหว่างมะม่วงลิปเพนส์ (Lippens) กับ มะม่วงเฮเดน (Haden) ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จากนั้นมะม่วงเออร์วินต้นแรกให้ผลติดลูกครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2488 และถูกตั้งชื่อ “เออร์วิน” ในปี 2492 หรือเมื่อเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมะม่วง “เออร์วิน” ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักประมาณ 300-450 กรัม รูปร่างยาวรีเล็กน้อยหรือรูปไข่ ผลดิบมีจุดประสีแดงบริเวณไหล่และแก้มผล ผลสุกจะมีสีแดงเลือดนก จัดเป็นมะม่วงรับประทานสุก เนื้อสุกมีสีเหลืองทอง รสชาติหวาน ความหวานอยู่ที่ระดับ 12-18 บริกซ์ ไม่มีเสี้ยน เปลือกบาง เมล็ดที่ค่อนข้างลีบบาง คิดเป็นเพียง 7% ของน้ำหนักผลเท่านั้น

มะม่วงอ้ายเหวิน หรือ เออร์วิน รสหวานหอมรับประทานอร่อยมาก

ปัจจุบัน มะม่วงปลูกเพื่อการค้าในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เอกวาดอร์ เปรู กัวเตมาลา เป็นต้น ในแถบทวีปเอเชียนี้ก็มี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซึ่งตอนนี้ไต้หวันและออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตมะม่วงเออร์วินส่งออกหลักสำหรับตลาดเอเชีย ในฤดูกาลผลิตที่ไม่ทับซ้อนกัน มะม่วงไต้หวันจะเริ่มออกประมาณเดือนพฤษภาคมหมดสิงหาคม และออสเตรเลียจะรับช่วงต่อตั้งแต่กันยายนจนถึงต้นปี ส่วนผลผลิตมะม่วงเออร์วินในญี่ปุ่นจำหน่ายเพียงในประเทศเท่านั้น เนื่องจากไม่เพียงพอจำหน่ายในประเทศต้องนำเข้า

มะม่วงเออร์วิน ใน “ไต้หวัน” ในอดีตราคาของมะม่วงไต้หวันมักจะต่ำ เนื่องจากการผลิตที่ยังไม่ได้คุณภาพ ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลเกษตร สมาคมเกษตรกร และเกษตรกร ได้พยายามปรับปรุงมาตรการต่างๆ สำหรับการผลิตและการขายมะม่วง สมาคมเกษตรกรไต้หวันมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก รวมถึงการจัดตั้งพื้นที่กลุ่มและระบบการจัดการความปลอดภัย การจัดระดับและบรรจุภัณฑ์ การปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยและส่งเสริมการขายตรง และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลาย ในฐานะที่เป็นตัวแทนผลไม้ที่สำคัญ และถือว่าเป็นไม้ผลที่มีการแข่งขันมากที่สุดในไต้หวัน มะม่วงถูกส่งออกไปยังกว่าสิบประเทศ

โรงคัดแยกมะม่วงอ้ายเหวินที่ไต้หวัน

นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงยังได้รับประโยชน์จากการผลิตและการขายที่มีเสถียรภาพ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคา อุตสาหกรรมมะม่วงได้กลายเป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จสำหรับอุตสาหกรรมผลไม้ในไต้หวัน ไต้หวันมีผลไม้มากกว่า 30 ชนิด มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 180,000 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 6 ไร่ 1 งาน) และมูลค่าผลผลิตรวม 3.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากที่รัฐบาลไต้หวันและสมาคมเกษตรกรไต้หวันมีความพยายามของเกษตรกรคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผลไม้เป็นของพรีเมี่ยม ทำให้ไต้หวันได้รับชื่อเสียงในเรื่อง “อาณาจักรผลไม้”

ผลไม้เมืองร้อนในไต้หวันมีการแข่งขันสูง และ “มะม่วง” เป็นหนึ่งในนั้น เป็นไม้ผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มะม่วงได้กลายเป็นผลไม้พรีเมี่ยมที่เป็นตัวแทนของไต้หวันที่ทั่วโลกรู้จักและยอมรับ มะม่วงสดมีจำหน่ายในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์มะม่วงแปรรูป เช่น น้ำแข็งไสสไตล์ไต้หวันราดด้วยท็อปปิ้งมะม่วงสด สายพันธุ์ “อ้ายเหวิน” หรือ “เออร์วิน” ที่ไต้หวันปลูกมากที่สุด มะม่วงอบแห้ง เบียร์มะม่วง หลากหลายสินค้าแปรรูปจากมะม่วง ที่ไต้หวันมุ่งมั่นพัฒนาเรื่องของรสชาติ รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามเพิ่มมูลค่าเทียบชั้นญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ออกมาอย่างสวยงามน่าซื้อ

น้ำแข็งไสราดด้วยท็อปปิ้งมะม่วงอ้ายเหวิน ที่ไต้หวัน

มะม่วงสดและมะม่วงแปรรูปจากไต้หวันจึงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก จากข้อมูลการทำงานของสมาคมเกษตรกรไต้หวัน ในการให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในการผลิตและจำหน่ายมะม่วง รวมทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำตลาดมะม่วงไต้หวันสำเร็จ สมาคมเกษตรกรและรัฐบาลทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาและการขายมะม่วง ทำให้อุตสาหกรรมมะม่วงไต้หวันเป็นแบบอย่างสู่ความสำเร็จ

การผลิตมะม่วงไต้หวัน จากที่ทีมงาน “สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ได้ไปศึกษาดูงานการผลิตมะม่วงไต้หวันบ่อยครั้ง ได้ข้อมูลว่า ภาพรวมการผลิตมะม่วงไต้หวัน พื้นที่การผลิตหลักตั้งอยู่ในไถหนาน ผิงตง และเกาสง ในไต้หวันตอนใต้ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสูงสุดคือช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม มะม่วง จากข้อมูล ไต้หวันได้นำมะม่วงเออร์วินไปปลูกและตั้งชื่อใหม่ว่า อ้ายเหวิน ถูกนำเข้ามายังไต้หวันจากฟลอริดา เมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยมี นายเฉินฮั่นชิ เกษตรกรเมืองยู่จิง เป็นผู้ปลูกและคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์จนได้สายพันธุ์ที่นิ่ง ปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศได้ จึงขยายไปปลูกที่เมืองไทนาน และผิงตง

ต้นมะม่วงอ้ายเหวินที่ห่อผลด้วยถุงห่อสีขาว

การเก็บผล ควรเก็บเมื่อแก่จัด มะม่วงพันธุ์อ้ายเหวิน ผลขนาดกลาง 350-450 กรัม หรือประมาณ 3 ผลต่อ 1 กิโลกรัม ปัจจุบัน ไต้หวันปลูกมะม่วง พันธุ์ “เออร์วิน” มากกว่าพันธุ์อื่น คือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 49% ของพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมดในเกาะไต้หวัน รองลงมาคือ มะม่วงพันธุ์ “จินหวง” (หรือบ้านเราเรียก นวลคำ เขียวใหญ่ งามเมืองย่า) ประมาณ 26% ที่เหลือคือ มะม่วงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่ไต้หวันพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์มะม่วงขึ้นมา ถือว่าเป็นความก้าวหน้าระดับโลกเลยก็ว่าได้ ปัจจุบัน จีนสั่งนำเข้ามะม่วงเออร์วินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นมะม่วงราคาพรีเมี่ยมในตลาด ด้วยสีสันผิวมะม่วงที่แดงสดและรสชาติหวาน หอม ไม่มีเสี้ยน รับประทานอร่อย

และปัจจุบันไต้หวันปลูกมะม่วงอ้ายเหวินแล้วส่งไปขายญี่ปุ่นเป็น อันดับ 1 สมาคมเกษตรกร และรัฐบาลได้ทำงานร่วมกันเพื่อใช้มาตรการดังต่อไปนี้ สำหรับการผลิตมะม่วงเพื่อนำการพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่อุตสาหกรรมมะม่วงคือ มีการส่งเสริมการจัดตั้งพื้นที่กลุ่ม สมาคมเกษตรกร มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวมเกษตรกรในพื้นที่การผลิตที่อยู่ติดกัน และชั้นเรียนการตลาดผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่มขยายขนาดของการดำเนินงานแนะนำสายพันธุ์พรีเมี่ยมและเทคนิคและปรับปรุงร้อยละของผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่มีคุณภาพสูง มีการทำสัญญาความร่วมมือระหว่างการจัดหาผลไม้และผู้ส่งออก

บรรยากาศการคัดแยกและบรรจุมะม่วงอ้ายเหวินที่ไต้หวัน

สมาคมเกษตรกรจับคู่ผู้ส่งออกและจัดหาเกษตรกรในสวนผลไม้เพื่อสร้างความร่วมมือที่มั่นคงในระยะยาว และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้ทำสวนผลไม้เพื่อการส่งออก เพื่อทำสัญญากับผู้ส่งออกและลงทะเบียนเพื่อการจัดการ มีการสร้างระบบการจัดการความปลอดภัยของสินค้าเกษตร เพื่อรับรองความปลอดภัยของอาหารตามข้อกำหนดการผลิตของประเทศผู้ส่งออก มะม่วงแต่ละต้นจะมีบาร์โค้ดตรวจสอบย้อนกลับได้ การตรวจสอบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างก่อนการเก็บเกี่ยว และเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวมะม่วงได้หลังจากผ่านการตรวจสอบ

บรรจุลงกล่องเตรียมส่งออกขายทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ มะม่วงเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นยังได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมในโรงนึ่ง เมื่อผ่านแล้วจะมีการออกเอกสารเพื่อขออนุมัติการส่งออกไปญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้ส่งออกดำเนินการต่อไป มีการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ผลไม้ รัฐบาลเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสถานีทดลองจัดตั้งกลุ่มผู้ให้บริการด้านเทคนิคด้านมะม่วง เพื่อจัดสัมมนาในพื้นที่การผลิต ตั้งแต่ ปี 2557 รัฐบาลขอให้เกษตรกรและผู้ส่งออกเข้าร่วมสัมมนาฝึกอบรมเพื่อให้มีคุณสมบัติในการส่งออก สมาคมเกษตรกรมีหน้าที่เชิญเกษตรกรในแต่ละพื้นที่การผลิตเข้าร่วมสัมมนาและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร เกี่ยวกับการจัดการการเพาะปลูกและการใช้ยาฆ่าแมลง

หลักสูตรประกอบด้วย การจัดการการเพาะปลูก การปฏิสนธิที่เหมาะสม การใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ กลุ่มบริการด้านเทคนิคยังมีบริการให้คำปรึกษาในสถานที่ และการวินิจฉัยสวนผลไม้ในฤดูการทำฟาร์มแนะนำ GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) และการตรวจสอบย้อนกลับ หรือเครื่องหมายอินทรีย์ และสร้างระบบการจัดการคุณภาพระดับพรีเมี่ยมและปลอดภัย มีการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพของมะม่วง ควรมีความหวานอย่างน้อย 12 บริกซ์ สมาคมเกษตรกรได้ให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร เกี่ยวกับการตรวจสอบและควบคุมความหวานมะม่วงด้วยตนเอง

มะม่วงอ้ายเหวินของเกษตรกร ก่อนจะส่งไปที่จุดคัดแยกของกลุ่ม

นอกจากการตรวจสอบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างแล้ว ยังมีการตรวจสอบความหวานมะม่วงอีกด้วย หากมะม่วงมีความหวานน้อยกว่า 12 บริกซ์ จะไม่อนุญาตให้ส่งออกมะม่วงได้ ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล สมาคมเกษตรกร ได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมและบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการตลาดสำหรับการวัดผล การบรรจุ และการประมวลผลบรรลุมาตรฐาน การดำเนินงานและดำเนินมาตรการต่อไปนี้

สำหรับการตลาดมะม่วงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมและบรรจุภัณฑ์ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม มะม่วงมักเก็บเกี่ยวในอุณหภูมิสูงในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิของผลไม้ที่ส่งจากไร่ค่อนข้างสูง ดังนั้น สมาคมเกษตรกร จึงได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมและบรรจุภัณฑ์ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิของผลไม้ก่อนบรรจุ และรักษาคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากการคัดคุณภาพ ดูตำหนิ บาดแผล ร่องรอยการทำลายของโรคและแมลง

นำมะม่วงอ้ายเหวินลงแช่ในน้ำร้อน

จากนั้น นำไปคัดขนาดด้วยเครื่องคัดแยกน้ำหนักผลมะม่วง นำไปล้างทำความสะอาดก่อนจะนำไปแช่น้ำร้อน ไต้หวันมีการนำมะม่วงแช่น้ำร้อน (Hot Water Treatment) ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการป้องกันและยับยั้งการเกิดและการเจริญเติบโตของโรคและแมลงศัตรูพืช หลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงโดยชีววิธี เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย

ซึ่งการใช้น้ำร้อนที่ระดับอุณหภูมิและระยะเวลาในการแช่น้ำร้อนที่เหมาะสม สามารถควบคุมการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ รวมถึงยังป้องกันโรคแอนแทรกโนส ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญมากหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วง รวมถึงการช่วยชะลอการสุกของมะม่วง โดยการลดอัตราการหายใจ แต่หลังการแช่น้ำร้อนจะต้องรีบลดอุณหภูมิของมะม่วงลงด้วยน้ำเย็นอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นจะทำให้ผลผลิตเสื่อมสภาพหรือสุกได้เร็วขึ้น

จากการสอบถามข้อมูลพบว่า การแช่น้ำร้อนสำหรับมะม่วงอ้ายเหวินจะใช้อุณหภูมิประมาณ 46 องศาเซลเซียส แช่นานประมาณ 15 นาที แต่ระยะเวลาในการแช่ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดของผลมะม่วงที่แบ่งแยกเกรดเอาไว้แล้วก่อนนำลงแช่น้ำร้อน คือขนาดผลใหญ่ก็ต้องใช้เวลาแช่น้ำร้อนนานขึ้น เป็นต้น หลังการลดอุณหภูมิก็จะผึ่งให้ผลมะม่วงแห้ง ก่อนจะนำไปบรรจุลงกล่อง แล้วนำไปเก็บรักษาในห้องเย็นต่อไป

คัดแยกโดยเครื่องชั่งน้ำหนักผลมะม่วง

สำหรับมะม่วงเพื่อการส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลี จำเป็นต้องมีการกักกันเพื่อให้แน่ใจว่าแมลงถูกฆ่าตายอย่างสมบูรณ์ หลังจากการนึ่งและการลดอุณหภูมิการดำเนินการบรรจุภัณฑ์จะดำเนินการ เริ่มต้นในปี 2007 มะม่วงทุกชนิดในกระบวนการบรรจุภัณฑ์จะมีป้ายกำกับชื่อของเกษตรกรแต่ละราย เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้

ปัญหาของการปลูกมะม่วงพันธุ์เออร์วินในต่างประเทศนั้น เท่าที่ทราบไม่ใช่ปัญหาเรื่อง ต้นโตช้า ผลผลิตต่อต้นน้อย หรือราคาไม่ดีแต่อย่างใด แต่เท่าที่ทราบและสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในไต้หวันนั้น จะเป็นเรื่องของ โรค “จุดดำ” กับ โรค “แอนแทรกโนส” ทำลายผิวให้เป็นแผลจุดๆ ที่เกิดกับมะม่วงหลายชนิดในบ้านเรา

มะม่วงอ้ายเหวินติดผล ที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร ปีที่ผ่านมาจำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 150 บาท

แต่ข้อนี้จากที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ที่นำเข้าสายพันธุ์มะม่วงเออร์วินมาปลูกในบ้านเรามาหลายปี เมื่อมะม่วงเออร์วินผลสุกแก่หรือนำมาบ่มให้สุกกลับไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องโรคทำลายผิวผลมะม่วงมากแต่อย่างใด อาจเนื่องมาจากช่วงเวลาติดลูกและใกล้เก็บเกี่ยวของบ้านเรา ยังอยู่ในฤดูแล้งหรือหน้าร้อน คือราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อากาศร้อน ความชื้นต่ำ ไม่เจอฝน ส่วนไต้หวันเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งมีความชื้นสูง และยังเจอพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าทั้งไต้หวันและญี่ปุ่น ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ของทุกปี

………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564