วิธีเยียวยาสวน-แปลงผัก-บ่อปลา “หลังน้ำท่วม” เกษตรกรแก้ปัญหาอย่างไร?

ในส่วนของพื้นที่ที่เริ่มคลี่คลายแล้ว การดูแลแก้ปัญหาหลังน้ำท่วมนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่-ไม้ผล และประมง

ไม้ผล ยังมีหนทางสว่าง
“กล้วย-มะละกอ” ตัวช่วยน่าสนใจ

สำหรับผู้ที่ถูกน้ำท่วม ไม้ผล ไม้ยืนต้นตาย ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยอย่างยิ่ง ไม้ผลบางชนิดกว่าที่จะปลูกให้รอดและให้ผลผลิตได้ ต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี

แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเสียหายไปแล้ว ต้องกลับมาฟื้นกันใหม่ เพราะหากใครมีอาชีพหลักในการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น จะให้หันไปเลี้ยงกุ้ง คงเป็นเรื่องลำบาก

เรื่องราวของไม้ผลหลังน้ำลด คุณทวีศักดิ์ ด้วงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล กรมส่งเสริมการเกษตร อีกในฐานะหนึ่ง คือที่ปรึกษานิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มาให้แนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูสวนหลังน้ำท่วม ดังต่อไปนี้

กรณีที่ต้นไม้ยังเสียหายไม่หมด

“กรณีของต้นไม้ยังไม่ตาย ดินยังไม่แห้ง อย่าไปเหยียบย่ำที่โคนต้น ขณะเดียวกันก็พยายามหาทางระบายให้น้ำไหลออกให้เร็วที่สุด เมื่อดินแห้งแล้ว ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันการคายน้ำมาก จากนั้นให้ปุ๋ยทางใบ เป็นการบำรุงต้น” คุณทวีศักดิ์ ให้คำแนะนำ

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด…ควรทำอย่างไร?

สวนทุเรียน ใน ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด หลังน้ำป่าจากเขาบรรทัดพัดต้นทุเรียนปลูกใหม่หายทั้งสวน

“หากพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นเสียหายทั้งหมด ควรรีบหาพืชอายุสั้นเข้าไปปลูก พืชอายุสั้นที่ว่าอายุเก็บเกี่ยวได้หลังปลูก 30-45 วัน เมล็ดพันธุ์มีจำหน่ายทั่วไป หากพอมีทุนก็ซื้อปลูกเอง ทางราชการก็มีงบฯ สนับสนุนบ้าง” คุณทวีศักดิ์ บอก

ในระหว่างที่เริ่มลงไม้ผลหลักที่เคยปลูกอยู่ เป็นต้นว่าเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง มะพร้าว ส้มโอ ผอ.ทวีศักดิ์ แนะนำว่า ควรจะพิจารณาปลูกไม้ผลอายุสั้นลงในพื้นที่ไปก่อน หรือลงไปพร้อมๆ กัน ไม้ผลอายุสั้นที่ว่าประกอบไปด้วย กล้วย และมะละกอ

หลังปลูก 6-7 เดือน มะละกอสามารถเก็บผลผลิตได้ หากเป็นมะละกอส้มตำเก็บได้เร็วกว่านี้ สำหรับกล้วยปลูกไปแล้ว 8-9 เดือน ก็มีผลผลิต การปลูกพืชผลอายุสั้นอย่างกล้วยและมะละกอ สามารถแซมในระหว่างไม้ผลหลักได้ทันที หรือจะปลูกไปก่อน แล้วปลูกไม้ผลหลักทีหลัง ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

“กล้วย ซื้อหน่อราคาไม่แพง 5-10 บาท เป็นกล้วยน้ำว้าก็ได้ กล้วยหอมทองก็ได้ มะละกอก็ซื้อผลมากิน นำเมล็ดมาเพาะได้เลย หากต้องการขายมะละกอสุกก็ปลูกพันธุ์ฮอลแลนด์ แขกดำ หากมะละกอกินดิบหรือส้มตำก็ปลูกแขกนวล การหาพันธุ์มะละกอไม่ยุ่งยาก ปอกกินเนื้อ นำเมล็ดมาเพาะ 15-20 วัน ก็ปลูกได้แล้ว ส่วนการเลือกหน่อกล้วย ควรเลือกหน่อที่อ้วน ใบแคบ เมื่อนำลงปลูกจะเจริญเติบโตเร็ว หากเป็นหน่อใหญ่ ใบกว้าง เมื่อปลูกควรตัดใบหรือยอดทิ้ง จะเจริญเติบโตเร็ว ต่างจากที่ไม่ตัดจะเจริญเติบโตช้า” ผอ. ทวีศักดิ์ อธิบาย

สำหรับการดูแลรักษานั้น

เมื่อเริ่มปลูก หากมีปุ๋ยอินทรีย์ใส่ให้ก็จะดียิ่ง เหตุที่มีปุ๋ยแล้วดี เพราะหลังน้ำท่วม ดินยังขาดความอุดมสมบูรณ์

เรื่องการรดน้ำก็มีความจำเป็น ถึงแม้จะผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมไปแล้วก็ตาม

ส่วนไม้ผลของท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ก็ให้ความสนใจ ซึ่งจะว่ากันหลังน้ำลดไปแล้ว ไม้ผลที่ว่าก็เช่น ทุเรียน จังหวัดนนทบุรี ส้มโอขาวแตงกวา จังหวัดชัยนาท

ผอ. ทวีศักดิ์ บอกว่า เรื่องของทุเรียน อยากทำเป็นต้นแบบออกมา เป็นต้นว่า ทุเรียนเมืองนนท์ ทำไมคุณภาพดี เมื่อมีต้นแบบแล้ว คนท้องถิ่นอาจเกรงว่าจะมีน้ำท่วมซ้ำซาก ก็จะนำต้นแบบไปให้เกษตรกรถิ่นอื่นพิจารณา เช่น นำไปปลูกที่นครนายก ปราจีนบุรี เป็นต้น

“กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมเรื่องของพันธุ์พืชอยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อน้ำท่วมได้รับความเสียหาย เกษตรกรคงปลูกไม้แบบเดิมที่เขาเคยปลูก แต่ควรซื้อต้นพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ช่วงนี้ ราคาต้นพันธุ์อาจจะแพงพอสมควร เพราะพื้นที่เสียหายมีมาก” ผอ. ทวีศักดิ์ แนะนำ

จากประสบการณ์ที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านพบเห็นมา พืชอีกชนิดหนึ่งที่ควรพิจารณานำเข้าไปปลูกเสริมในระบบสวนคือ “ไผ่” 

“ไผ่อินโดจีน” ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าของสวนเล่าว่า พื้นที่นี้ ถูกน้ำท่วมนานกว่า 3 เดือน ระดับน้ำสูงประมาณ 3 เมตรครึ่ง หลังจากระดับน้ำลดลงก็พบว่า ไผ่อินโดจีนที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ 12 ไร่ ยังยืนต้นอยู่ได้ไม่ล้มตาย

ทั้งนี้ เพราะปัจจุบัน มีการพัฒนาพันธุ์ไผ่ ได้สิ่งใหม่ๆ ออกมา เป็นที่น่าสนใจมาก บางสายพันธุ์ ปลูกเพียง 8 เดือน ก็เริ่มให้หน่อแล้ว หากต้องการปลูกไผ่ ควรกันที่ไว้ส่วนหนึ่ง ปลูกเดี่ยวๆ ก็จะดี เพราะรากของไผ่แรงมาก เคยมีคนปลูกไผ่แล้วแซมกล้วยเข้าไป ปรากฏว่า กล้วยสู้ไผ่ไม่ได้

ที่แนะนำตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกรทั่วประเทศต้องหันมาปลูกไผ่กัน แต่อยากนำเสนอไว้เป็นทางเลือก เพราะประโยชน์จากไผ่นั้นมีมากมายมหาศาล หากปลูกไม่มากนัก หน่อใช้ปรุงอาหารได้หลากหลายอย่าง ลำไผ่ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง

ผู้ที่ศึกษาเรื่องไผ่อย่างจริงจัง แทนที่จะเป็นพืชเสริม อาจจะเป็นอาชีพหลักเลยก็ได้

เกษตรกรที่ลงมือปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ที่มีอายุ 3-5 ปี จึงจะเก็บผลผลิตได้เป็นกอบเป็นกำ ก่อนที่จะเก็บผลผลิตจากพืชหลักได้ มะละกอและกล้วยช่วยเกษตรกรได้

เรื่องราวที่ ผอ. ทวีศักดิ์ แนะนำมา ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสะดวก


ปรับปรุงดิน-เพาะกล้า ก่อนลงแปลง
รดน้ำปูนใส เพิ่มความแข็งแรงให้ผัก

สำหรับพืชผักที่ใช้เป็นหลักในการประกอบอาหารนำมาบริโภคในชีวิตประจำวัน หากได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในวงกว้าง ราคาผลผลิตที่จำเป็นต่อการบริโภคย่อมสูงขึ้นตามมูลค่าความเสียหายไปด้วย

มาดูวิธีฟื้นฟูและการปลูกพืชผักหลังน้ำลดกันดีกว่า

คุณอรสา ดิสถาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและจัดการการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกผักเป็นอาชีพว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงอันดับแรก คือ น้ำลดแล้วจริงหรือไม่? เพราะผักเป็นพืชรากสั้น หากเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากขึ้นมาอีกพืชผักไม่เจริญเติบโตแน่นอน

ถ้าแน่ใจว่าน้ำลดแล้วอย่างแน่นอน การลงมือปลูกพืชผักใหม่ทันทีทำได้ แต่จะทำให้รากเน่า

สิ่งที่ควรทำ

1. รอให้ดินแห้งระยะหนึ่งก่อน และไม่ควรย่ำดินขณะที่ดินยังอุ้มน้ำอยู่ เพราะจะทำให้ดินแน่น การปรับปรุงคุณภาพดินทำได้ไม่ดี อีกทั้งดินที่อุ้มน้ำมากจะเป็นดินที่ขาดออกซิเจน ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช

2. เมื่อดินแห้ง ให้ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก

3. ใส่สารชีวภัณฑ์ จำพวกไตรโคเดอร์ม่า ซึ่งเป็นสารกำจัดเชื้อราในดิน ช่วยให้การเจริญเติบโตของพืชผักไม่เกิดปัญหา

ระยะการเตรียมดิน ควรพิจารณาชนิดผักที่ปลูกให้ดี เพราะบางชนิดไม่สามารถปลูกลงดินได้ทันทีหากดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหาหลังปลูกได้

“ความเคยชินของเกษตรกรส่วนใหญ่ในการปลูกผักจะหว่านเมล็ดพืชลงดิน แต่ระยะเตรียมดินแนะนำว่า ควรเพาะกล้าหรือปลูกลงแปลงเล็กๆ ไว้ก่อน เพื่อการดูแลที่ง่าย หลังจากดินแห้งจึงย้ายกล้าที่เพาะไว้ลงดิน โอกาสพืชผักเติบโตโดยไม่เกิดปัญหาจะดีกว่า”

หากพบว่า หลังปลูกแล้วอากาศชื้นมาก หรือฝนตก อาจเกิดปัญหา สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับพืชผักด้วยการรดน้ำปูนใสอีกทาง

คุณอรสา บอกด้วยว่า หากเกษตรกรต้องการผลผลิตในระยะสั้น เพราะเกรงว่าภัยธรรมชาติอาจก่อกวนได้ในระยะเวลาอันใกล้ ควรเลือกปลูกผักที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่น ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า และผักตระกูลกะหล่ำ เพราะผักเหล่านี้เก็บจำหน่ายได้ตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า

เพียงเท่านี้ก็หมดข้อกังวลสำหรับผู้ปลูกพืชผัก ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและการปลูกไว้รับประทานเองหลังน้ำลด

 

หลังน้ำลด
“อาชีพประมง” ฟื้นฟูอย่างไร? 

ปลากระชังริมน้ำ

สถานการณ์น้ำท่วม ได้สร้างความเสียหายกับหลากหลายอาชีพ หนึ่งในนั้นคือ อาชีพประมง ซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต่างก็ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ และเมื่ออุทกภัยได้ผ่านพ้นไป คงเหลือไว้แต่ปัญหาที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงต้องหาทางแก้ไขและฟื้นฟูอาชีพของตนเอง

คุณอ้อมเดือน มีจุ้ย นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี มีคำแนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูอาชีพประมงหลังน้ำลด (การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในบ่อดิน) ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงได้นำไปปฏิบัติ

การเลี้ยงปลาในกระชัง ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมเลี้ยงกันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ริมบึง ริมคลอง การเลี้ยงปลาลักษณะนี้มักจะได้รับความเสียหายน้อยกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน เนื่องจากกระชังที่ใช้เพาะเลี้ยงนั้นจะสามารถลอยตัวขึ้น-ลง ตามระดับน้ำได้ ทำให้ช่วยลดการสูญเสีย

ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในช่วงน้ำท่วม สำหรับการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังคือ คุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านกระชังจะเน่า ทำให้ปลาขาดออกซิเจนและอาจตาย ซึ่งการป้องกันจะทำได้ยาก เนื่องจากน้ำที่ไหลผ่านเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณมาก มีของเสียไหลรวมลงมา ซึ่งไม่สามารถควบคุมคุณภาพของน้ำได้ 

การฟื้นฟูปลาในกระชัง เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อน้ำลดระดับลงเป็นปกติ โดยเราจะต้องทำความสะอาดกระชังปลาพักไว้ระยะหนึ่ง และต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณที่จะเพาะเลี้ยงก่อนจะทำการเพาะเลี้ยงใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เลี้ยงปลาในบ่อดิน

ส่วนการเลี้ยงปลาในบ่อดิน หลังจากที่น้ำลดลงแล้ว อันดับแรกควรจะระบายน้ำออกจากบ่อเลี้ยง พร้อมกับทำความสะอาดบ่อให้เรียบร้อย เนื่องจากในช่วงที่น้ำท่วมศัตรูที่เป็นอันตรายกับปลาอาจจะเข้ามาภายในบ่อเพาะเลี้ยง และสร้างความเสียหายได้ พอระบายออกหมดเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องพักบ่อไว้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเพาะเลี้ยงใหม่อีกครั้ง 

วิธีการฟื้นฟูเหล่านี้ อาจจะเป็นเพียงการฟื้นฟูเบื้องต้น ที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติก่อนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ