หนุ่มเชียงใหม่ เปิดสูตรสร้างโรงเรือนอัจฉริยะ สร้างพืชได้ตามใจชอบ แค่ 40 ตารางวา เก็บขายเดือนละ 5 ตัน

5 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นของหนุ่มเชียงใหม่ ที่จุดประกายให้เขาคิดค้นโรงเรือนอัจฉริยะสำหรับปลูกพืชในอนาคต โดยเริ่มต้นจากงานวิจัย ต่อยอดมาเป็นโรงเรือนที่บริหารจัดการได้จริง สร้างงานและเงินได้จริง ที่ วังรี รีสอร์ต จังหวัดนครนายก

คุณกฤษณะ ธรรมวิมล เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานในสายอาชีพที่เรียนมาจนคร่ำหวอดในวงการ เปิดบริษัทเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กระทั่งมีเวลาว่างจึงลงเรียนหลักสูตรพิเศษด้านนวัตกรรมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีเหตุให้ต้องทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิด ซึ่งตามโจทย์ให้นำค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศกับวิชาชีพมาเขียนเป็นโครงการวิจัย จากการเก็บข้อมูล พบว่า ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเรื่องเกษตร และปัญหาสินค้าเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ คือ การปนเปื้อนสารเคมีและยาฆ่าแมลงในสินค้าเกษตรจำนวนมาก

งานวิจัย จึงพุ่งเป้าไปที่ การปลูกพืช โดยไม่ใช้สารเคมี และราคาไม่แพง

การปลูกพืชไร้สารเคมี อาจจะทำได้หลายวิธี แต่สำหรับ คุณกฤษณะ อาศัยความโชคดีที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน การสร้างโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้ไอเดียหลายอย่างมาประยุกต์เข้ากับแนวคิดในโครงการวิจัยที่ทำขึ้น ผนวกกับโครงการวิจัยชิ้นนี้ เมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นรายละเอียด จึงให้ทุนวิจัย

คุณกฤษณะ เรียกการทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ หรือ Plant Factory นี้ว่า อะกรี เทคโนโลยี (Agri Technology) และเปรียบเทียบเป้าหมายให้เห็น สร้างโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะในต่างประเทศว่า มีความแตกต่างกัน เช่น ญี่ปุ่น ทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ เพราะพื้นที่มีจำกัด ส่วนสหรัฐอเมริกา ทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ เพราะต้องการความมั่นคงทางอาหาร แต่สำหรับคุณกฤษณะแล้ว การออกแบบโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะที่จะทำในประเทศไทย เริ่มจากต้องการสานต่องานวิจัยให้จบ เพื่อตอบโจทย์การปลูกพืชโดยไม่ใช้เคมีและราคาถูก

ทุนสำหรับทำวิจัย ใช้ไปกับการเช่าตึกแถว การทดสอบและศึกษาข้อมูลในการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีและต้นทุนการผลิตต่ำในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ เป็นเวลา 3 ปี และอีก 2 ปี คุณกฤษณะ สร้างโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะจริงขึ้นที่ วังรี รีสอร์ต จังหวัดนครนายก มีการบริหารจัดการครบวงจร รวมถึงการทำการตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสุดท้ายของการทำการเกษตรให้จบ

การศึกษาการทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ทำให้คุณกฤษณะ ค้นพบว่า Plant Factory อยู่ในโหมดของฟาร์มคนเมือง หรือฟาร์มในเมือง (Urban Farm) คุณกฤษณะ จึงนำหลักของการทำสตาร์ทอัพมาผนวกกับการทำการเกษตร คือ เน้นที่ลักษณะเด่นของผัก ซึ่งผู้บริโภคต้องการผักปลอดสารและมีความสด โดยความสดหรือสารอาหารจากผักทุกชนิดจะยังคงอยู่ในผักหลังการเก็บเกี่ยว ไม่เกิน 72 ชั่วโมง เท่านั้น เมื่อปลูกโดยโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะในแบบของฟาร์มในเมือง ลดขั้นตอนการขนส่ง ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารจากผักครบถ้วน เพราะได้บริโภคภายใน 72 ชั่วโมง หลังการเก็บเกี่ยว

ประมวลจากการสัมภาษณ์ การทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ อย่างง่ายๆ ได้ตามนี้

  1. ต้นทุนการสร้างโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะมีหลายขนาด แต่ขนาดที่ศึกษามาแล้วว่ามีความเหมาะสมและคุ้มทุน ซึ่งหมายถึง ต้นทุนการปลูกผักต่อต้นถูกที่สุด คือ ขนาดโรงเรือน 40 ตารางวา หรือขนาด 18×10 เมตร ต้นทุน ประมาณ 5 ล้านบาท จะทำให้ต้นทุนผักต่อต้น อยู่ที่ ต้นละ 4.25 บาท

คุณกฤษณะ เปรียบเทียบต้นทุนให้ดูถึงขนาดโรงเรือน หากใช้เงินต้นทุน 2 ล้านบาท ขนาดจะเล็กลง ปลูกพืชได้จำนวนต้นน้อยลง ทำให้ต้นทุนผักต่อต้นสูงขึ้น

ขณะที่ขนาดโรงเรือนเท่ากัน ในประเทศญี่ปุ่น ต้นทุนผักต่อต้น อยู่ที่ 100 บาท ส่วนสหรัฐอเมริกา ต้นทุนผักต่อต้น อยู่ที่ 30 บาท

การเสื่อมสภาพ วัสดุอุปกรณ์โรงเรือน ภายในโรงเรือน ทั้งหมดมีอายุการใช้งาน 30 ปี ยกเว้นหลอดไฟ มีอายุการใช้งาน 10 ปี

  1. ระยะเวลาปลูก พืชปกติในกลุ่มผักต้นเตี้ยทั่วไป ใช้เวลาปลูกแบบออร์แกนิก 45-50 วัน แต่ภายในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ พืชสามารถเจริญเติบโตได้เร็ว ใช้เวลาปลูกเพียง 21-30 วัน ขึ้นกับชนิดของผัก
  2. รอบการผลิต โดยปกติการปลูกผักต้นเตี้ยทั่วไป จะปลูกได้อย่างมากเพียง 8 รอบการผลิต ต่อปี ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และฤดูกาล แต่ปลูกภายในโรงเรือน สามารถปลูกได้สูง 12-15 รอบการผลิต ต่อปี
  3. การใช้น้ำ รอบการผลิตของการปลูกผัก เมื่อเปรียบเทียบที่การปลูก 1 โรงเรือน พื้นที่ 40 ตารางวา เท่ากับการปลูกผักออร์แกนิก บนพื้นที่ 10 ไร่ คำนวณการใช้น้ำ 10 ไร่ 3,000,000 ลิตร การปลูกในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ใช้น้ำเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอัตราการใช้น้ำเพียง 30,000 ลิตร หรือน้อยกว่า เพราะน้ำที่ใช้ภายในโรงเรือนใช้แบบน้ำวน ไม่มีการสูญเสีย ไม่มีเชื้อโรค เป็นน้ำคุณภาพ เกรด RO หรือน้ำที่ปราศจากสารอินทรีย์หรือน้ำบริสุทธิ์ สามารถนำมาบริโภคได้
  4. ปริมาณผลผลิตและพื้นที่ปลูก เมื่อเปรียบเทียบต่อการปลูกผักออร์แกนิก บนพื้นที่ 10 ไร่ จะได้ผลผลิตที่เป็นผักต้นเตี้ย ประมาณ 5 ตัน ต่อเดือน ขณะที่ปลูกผักต้นเตี้ยภายในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะได้ปริมาณ 160 กิโลกรัม ต่อวัน หรือ 5 ตัน ต่อเดือน สามารถทำให้ได้ผลผลิตภายในโรงเรือน ขนาด 40 ตารางวา
  5. การควบคุมพืชให้เจริญเติบโตตามที่ผู้ผลิตต้องการ สามารถทำได้ เช่น การปลูกผักเคลหรือคะน้าใบหยิก โดยปกติผักเคล น้ำหนัก 100 กรัม มีวิตามินซี เท่ากับการรับประทานส้ม 1 ผล แต่การปลูกผักเคลในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ โดยการออกแบบของคุณกฤษณะ สามารถทำให้ผักเคล น้ำหนัก 100 กรัม มีวิตามินซี เท่ากับการรับประทานส้ม 1 กิโลกรัม โดยการควบคุมสเปกตรัม หรือแสงที่เป็นเส้น หรือแถบที่แสดงออกมาเป็นสีผ่านหลอดไฟคลื่นแสง

หรือต้องการให้ผักกาดขาว มีก้านเป็นสีชมพู สามารถควบคุมการสังเคราะห์แสงของพืชผ่านการให้แสงหรือหลอดไฟ ด้วยการควบคุมสเปกตรัม (สเปกตรัมจากแสง แบ่งเป็น สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง) โดยพืชใช้สีแดงและสีน้ำเงินมากกว่าสีอื่น

หรือขนาดผล เช่น สตรอเบอรี่ สามารถเพิ่มให้ความสดของสีสตรอเบอรี่เข้มหรืออ่อน ขนาดผลใหญ่หรือเล็กได้ตามความชอบ โดยใช้การควบคุมตามที่กล่าวมาข้างต้น

ซึ่งข้อดีอีกประการของการปลูกพืชในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ คือ การมีผัก ผลไม้ รับประทานได้ตลอดปี โดยราคาไม่ถูกหรือแพงขึ้นจากราคาซื้อขายปกติ เพราะสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และต้นทุนการผลิตเท่าเดิม

  1. จำนวนแรงงานที่ใช้ พื้นที่ 40 ตารางวา ต่อโรงเรือน ใช้แรงงานเพียง 2 คน เป็นแรงงานในส่วนของการปลูก และการเก็บผลผลิตเท่านั้น โดยการทำงานคนงานจะหยอดปลูกพืชทุกวัน และเก็บผลผลิตทุกวัน

ที่สำคัญที่สุด คุณกฤษณะ บอกว่า ผลผลิตที่ได้จากโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ มีคุณภาพมากกว่าผักออร์แกนิก เพราะมีความสะอาดและสดอยู่ในระดับ เมดิคัลเกรด หรือคุณภาพเทียบเท่าทางการแพทย์ใช้

คุณกฤษณะ ระบุว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมให้พืชภายในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะเจริญเติบโตได้ตามที่ต้องการ มี 5 ส่วน คือ อุณหภูมิ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ แสง และลม ซึ่งในพืชแต่ละชนิด การควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ แสง และลม แตกต่างกัน แม้เป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่แตกต่างสายพันธุ์ ก็ใช้การควบคุมส่วนสำคัญทั้ง 2 ชนิด แตกต่างกัน

อุณหภูมิ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และลม สามารถควบคุมโดย IoT (Internet of Thing) หรือการสั่งการการควบคุมการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

แต่สำหรับ “แสง” ต้องสั่งทำหลอดไฟแต่ละหลอดที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน โดยต้นทุนหลอดไฟแต่ละหลอด ราคา 300-1,000 บาท

หลังการทดลองงานวิจัยตามงบประมาณที่ได้รับ 3 ปี ภายในอาคารตึกแถวที่จังหวัดเชียงใหม่ 2 ปี หลังจากนั้น คุณกฤษณะ ก็ได้ทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะขึ้น ขนาด 40 ตารางวา ที่วังรี รีสอร์ต จังหวัดนครนายก เพราะเห็นว่าจังหวัดนครนายก อยู่ไม่ไกลจากเมืองใหญ่ ตามโหมดของฟาร์มคนเมือง หรือฟาร์มในเมือง และเริ่มทำการตลาด โดยการใช้โซเชียลออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ นำหลักการทำสตาร์ทอัพมาใช้ การจำหน่ายผลผลิตต้องไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือฝากขาย

“เราเริ่มจาก รัศมี 1 กิโลเมตร รอบฟาร์ม ว่ามีกลุ่มไหนต้องการ ลูกค้าคนไหนต้องการบ้าง พบว่า มีลูกค้าชาวต่างชาติที่ต้องการผลผลิตจากฟาร์มเมดิคัลเกรด แต่ราคาเท่ากับผักออร์แกนิก จากนั้นก็เริ่มเปิดจำหน่ายเป็นแบบรับออเดอร์ โดยคำนวณความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละวัน เช่น ปริมาณการผลิตผักจากโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ สามารถผลิตได้วันละ 160 กิโลกรัม หากลูกค้าต้องการ คนละ 1 กิโลกรัม มีจำนวนลูกค้า 160 คน ผลผลิตก็จำหน่ายหมด แต่จากการเก็บข้อมูล พบว่า ผู้บริโภคซื้อผักบริโภค สัปดาห์ละ 20 กิโลกรัม ฉะนั้น ปริมาณ 160 กิโลกรัม ต่อวัน ที่ผลิตได้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน”

คุณกฤษณะ เล่าว่า เมื่อทราบความต้องการของลูกค้า เราจึงเปิดให้ลูกค้าซื้อโดยผ่านการจอง หรือบางรายโอนเงินไว้ล่วงหน้า เช่น โอนเงินให้ 3,000 บาท เมื่อรับของแต่ละวันไป จะหักเงินจากจำนวนที่โอนมาจองล่วงหน้า ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ยอมโอนเงินจอง ไม่เช่นนั้นหากมาซื้อจะต้องรอคิวตามออเดอร์ที่มีอยู่ ซึ่งเป็นการทำการตลาดที่ได้ผล ในบางรายจองผักยกชั้นปลูก หรือบางรายจองซื้อผักตลอดปีก็มี

เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จัก ทำให้มีหลายหน่วยงาน ประชาชน และผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนหนึ่ง คุณกฤษณะ ยินดีเผยแพร่รูปแบบและวิธีการทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ จึงร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดอบรมหลักสูตรการทำฟาร์มอัจฉริยะ หรือโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ระยะเวลา 3 วัน มีผู้สนใจมาเรียน แต่ผู้เรียนยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และยังไม่มีรายใดสร้างโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะได้ นอกจากนี้ มีผู้สนใจลงทุนในส่วนของพื้นที่ปลูกในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่อีกหลายแห่งที่มีประชากรจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในการสอน คุณกฤษณะ เน้นว่า ไม่ได้สอนเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ใดๆ เกี่ยวกับโรงเรือน แต่ต้องการเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร หรือผู้สนใจจริง เพื่อพัฒนาและยกระดับเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ คุณกฤษณะเอง มีโครงการสร้างโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ให้กับวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดสระบุรี และสอนการทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะฟรีให้กับผู้สนใจ โดยมีเงื่อนไขในการทดสอบเพื่อคัดเลือกเข้าเรียน ซึ่งรายได้จากโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะที่ก่อสร้างภายในวัดพระบาทน้ำพุนั้น มอบให้กับวัดพระบาทน้ำพุทั้งหมด

คำถามสำคัญที่ทิ้งเสียไม่ได้ และต้องถามคุณกฤษณะ คือ เกษตรกรไทย ทำได้หรือไม่ และต้องใช้เงินทุนเท่าไร

คุณกฤษณะ ตอบว่า เกษตรกรสามารถทำได้ เพราะใช้การควบคุมผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ต เรียนรู้ได้ไม่ยาก แต่การเริ่มต้นนั้น หากลงทุนไม่ถึง 5 ล้านบาท เพราะต้องการพื้นที่น้อยกว่า 40 ตารางวา ขอแนะนำว่า พื้นที่ที่เก็บข้อมูลมามีความเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตแล้ว พื้นที่ที่เล็กกว่า 40 ตารางวา เงินลงทุนไม่ถึง 5 ล้านบาท แน่นอน แต่ผลผลิตที่ได้จะทำให้ต้นทุนการผลิตผักต่อต้นสูงกว่า 4.25 บาท นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่คุณกฤษณะต้องการให้เกษตรก

รมองคือ ตลาด ควรมีก่อนคิดจะทำโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ จะทำให้การบริหารจัดการครบวงจร

“ผมไม่เคยสนใจเรื่องเกษตร เป็นเด็ก ไอที อะไรก็ดิจิตัล ไฮเทค พอมาทำเกษตร ผมใช้เวลาศึกษาเกษตรแค่ 2-3 เดือน ก็ทำได้แล้ว ผมรู้สึกว่าจริงๆ มันอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่สนใจมันเอง คนไทยทุกคนรากเหง้าเป็นเกษตรกร เลยมาทำเป็นสตาร์ทอัพ เราไม่ได้โฟกัสที่การขายวัสดุโรงเรือน แต่แนวคิดผมคือ สอนให้เกษตรกรเข้าใจ และหาเงินได้”

ตลอด 5 ปี ที่ดำเนินโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะมานั้น คุณกฤษณะ ยังคงทำงานวิจัยและเก็บข้อมูลสำหรับพืชชนิดอื่นเพิ่มเติมไปอีกเรื่อยๆ โดยเล็งไปถึง การปลูกข้าว การปลูกสตรอเบอรี่ และมะเขือเทศ ในเบื้องต้น และพืชชนิดอื่นตามมาภายหลังอีกอย่างแน่นอน

ท้ายที่สุด คุณกฤษณะ ย้ำว่า ยินดีเผยแพร่ข้อมูลในการสร้างโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ วังรี เฮลท์ แฟคตอรี่ จำกัด หมู่ที่ 12 ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก หรือ www.wangreefresh.com โทรศัพท์ 099-240-9229

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ.2563

 

/////////////////////////////////////////////////////////////////////

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354