เกษตรติวเข้ม ผลิตส้มโอทับทิมสยามคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ลุยพื้นที่เร่งพัฒนาคุณภาพส้มโอทับทิมสยาม สินค้าเด่นลุ่มน้ำปากพนัง ให้ได้มาตรฐาน ผลิตตามหลักวิชาการ จัดการดี เก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม จะได้ส้มโอคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของลูกค้า

จากการบอกกล่าวของ คุณนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้พูดถึงเรื่องสินค้าดังของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในยุคนี้ต้องยกให้ส้มโอทับทิมสยามที่เป็นพืช GI ปลูกได้ดีเฉพาะในพื้นที่ตำบลคลองน้อย และตำบลใกล้เคียงของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 2,953 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 2,501 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 7,503,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 5,002,000 ผล เกษตรกรที่ทำสวนส้มโอทับทิมสยามส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่ปลูกไม่เกิน 10 ไร่ แต่เนื่องจากส้มโอทับทิมสยามมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของลุ่มน้ำปากพนัง ทำให้ได้รสชาติที่อร่อย หวานเข้ม หอม และมีสีแดงจัด เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถขายที่หน้าสวนได้ราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ผลละ 200 บาท

คุณนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช พบปะและชี้แจงแนวทางการพัฒนาคุณภาพส้มโอทับทิมสยามแก่สมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการ

สถานการณ์การผลิตและแนวโน้มในอนาคต เกษตรกรจะหันมาปลูกส้มโอทับทิมสยามกันมากขึ้น และเริ่มเข้าสู่มาตรฐานการผลิตพืช GAP มากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันได้รับการรับรองเป็นพืชตามข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้วบางราย ทำให้ส้มโอทับทิมสยามมีชื่อเสียงและความนิยมของนักบริโภคส้มโอ และกลายเป็นของฝากอันทรงคุณค่าแห่งนครศรีธรรมราช จนกระทั่งลูกค้าบางราย ให้สมญาว่า “คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ” แต่เมื่อมองในมิติกลับกัน ต้องยอมรับว่าเกษตรกรส่วนหนึ่งยังผลิตส้มโอไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพยังไม่ดีตามที่ลูกค้าคาดหวัง

จากการวิเคราะห์สถานการณ์พบว่า เกิดจากสวนที่เกษตรกรปลูกไว้เพียงเล็กน้อยบริเวณบ้าน และเกษตรกรรายใหม่ ที่ยังไม่เข้าใจส้มโอทับทิมสยามดีพอ คือเมื่อเห็นว่าเป็นผลที่ได้มาจากกิ่งพันธุ์ส้มโอทับทิมสยามพันธุ์แท้ รูปลักษณ์ภายนอกผลโต ผิวสวย ก็นำออกมาขายให้กับผู้บริโภค โดยไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการผลิตตามหลักวิชาการ ที่ควรจะเป็น เช่น การให้น้ำ การให้ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การตัดแต่งผล-ช่อผล และการตัดผลเมื่อได้อายุที่เหมาะกับการเก็บเกี่ยว เป็นต้น การเก็บผลส้มที่ไม่ได้มาตรฐานออกจำหน่าย แม้จะมีไม่มาก และเกิดขึ้นในบางช่วงของฤดู แต่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตลาดส้มโอทับทิมสยาม ในภาพรวม ลูกค้าขาดความเชื่อมั่น สร้างความเสียหายให้แก่กระบวนการผลิตส้มโอทับทิมสยาม

ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในเชิงรุก โดยสั่งการให้เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล นัดหมายเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยาม ประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ แบบมีส่วนร่วม

คุณสุธานิล หีดสิน หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการศัตรูพืชส้มโอแบบผสมผสาน

โดยนัดประชุมกัน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเกษตรกรระดับแกนนำ และเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเกษตรกรรายใหม่ที่สนใจเข้ามาร่วมรับฟัง ร่วมให้ข้อคิดเห็น และร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพส้มโอทับทิมสยามกันอย่างจริงจัง และตั้งใจ โดยมีเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำหน้าที่ประธานและจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ

ประการแรก เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปรียบเทียบให้เห็นโอกาสของเกษตรกรที่ปลูกส้มโอทับทิมสยามในบริเวณนี้ ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องสภาพดิน น้ำ อากาศ สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา และการตลาด ที่สามารถผลิตส้มโออร่อยที่สุด และขายได้แพงที่สุด แต่หากไม่ช่วยกันรักษาคุณภาพต่อไปของดีก็จะกลายเป็นของไม่ดี เกษตรกรจะขายยาก ราคาตกต่ำ ผู้บริโภคไม่เชื่อถือ

ประการที่สอง การสร้างกระบวนการเรียนรู้โดยหน่วยงานของภาครัฐเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง และเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ ช่วยกันดูแลให้คำแนะนำ การปฏิบัติตามหลักวิชาการทุกขั้นตอน และเก็บเกี่ยวส้มโอ เมื่อครบอายุ สุกเต็มที่ และมีการคัดคุณภาพที่ได้มาตรฐานเดียวกัน

คุณอัมพร สวัสดิสุข เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขา GAP ปี 2562 เจ้าของสวนส้มโอทับทิมสยามรายใหญ่ ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะแก่สมาชิก

ประการที่สาม เกษตรกรเจ้าของสวนจะต้องกล้ารับรองคุณภาพส้มโอจากสวนของตนเองว่า ดีจริง อร่อยจริง ตามมาตรฐานของส้มโอทับทิมสยาม เช่น รูปลักษณ์ภายนอก ผลโต ขนาดไม่ต่ำกว่า 1,200 กรัม ผิวผลสีเขียวเข้ม ขั้วผลเป็นจุกนูน ผิวผลนุ่มเป็นกำมะหยี่ เนื้อในสีแดงทับทิม รสชาติหวาน หอม (ไม่มีรสขม) และกล้ารับรองคุณภาพหากไม่ดีตามคำโฆษณา ยินดีเปลี่ยนสินค้าให้ หรือคืนเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

ประการที่สี่ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช จะได้ทำเครื่องหมายรับรองคุณภาพ QR Code เพื่อเป็นข้อมูลประจำสวน ประจำแปลง เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ โดยจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยในการทำทะเบียนประวัติสวน รายละเอียดในการดูแลสวน ชื่อ สถานที่ เบอร์โทรศัพท์ หรือช่องทางการติดต่อสื่อสารอื่นๆ รวมทั้งจะจับพิกัดแปลง ลงในแผนที่ออนไลน์ให้ได้รู้ ได้เห็น และสร้างความมั่นใจต่อกัน

การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อซักถาม และข้อเสนอแนะในเวที ก่อนที่เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช จะสรุปแนวทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพผลผลิตส้มโอทับทิมสยาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

ประการที่ห้า การประชาสัมพันธ์ในเชิงการรับรองแหล่งผลิต หรือแหล่งจำหน่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า และเป็นทางเลือกที่ดีประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ด้วยการประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชน เว็บไซต์ สื่อออนไลน์อื่นๆ และป้ายข้อความต่างๆ เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดส้มโอทับทิมสยามที่ดี มีคุณภาพ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ประการที่หก ข้อแนะนำและแนวทางที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพ ซึ่งยังคงมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง ที่จะต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป เช่น ปัญหาขาดน้ำ น้ำเค็ม ศัตรูพืชระบาด และการตลาดในอนาคต โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ก็ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดส้มโอเช่นกัน

ประการที่เจ็ด ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบ เกษตรจังหวัดไม่มีมาตรการในการบังคับ แต่จะให้เกษตรกรชาวสวนส้มโอทุกราย คิด วิเคราะห์ พิจารณาตัดสินใจด้วยตนเอง หากจะสมัครใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ก็ให้สมัครได้ที่เกษตรอำเภอปากพนัง เพื่อจะได้รวบรวมรายชื่อ และนัดประชุมรอบต่อไป โดยขอให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่

ประการที่แปด เกษตรกรแกนนำ และผู้เข้าร่วมประชุมมีการแสดงความคิดเห็น และเห็นด้วย พร้อมทั้งขอบคุณเกษตรจังหวัด และทีมงานที่ได้ช่วยคิด และสนับสนุนอย่างจริงจัง ในการพัฒนาการเกษตรและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ดำเนินเรื่องนี้ต่ออย่างเร่งด่วน

ประการที่เก้า เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปและบอกกล่าวที่ประชุมว่า จะนำผลการประชุม ในวันนี้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช (คุณศิริพัฒ พัฒกุล) เพื่อทราบด้วย เพราะท่านก็เป็นห่วงเป็นใย และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตลอดมา

คุณศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มอบใบรับรองพืชตามข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แก่เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยามในพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประการที่สิบ มอบหมายให้เกษตรอำเภอปากพนัง รับสมัครเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมจัดทำรายละเอียดของเกษตรกรแต่ละราย ส่งให้เกษตรจังหวัด ภายในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2563 เพื่อจะได้วางแผนนัดประชุม และดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

สินค้าเกษตรดีๆ ผลิตได้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ผลพวงจากการทำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ส่งผลให้เกิดการอยู่ดี กินดี ของเกษตรกรกลุ่มนี้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น แต่เกษตรกรจะต้องไม่ลืมการรักษาคุณภาพส้มโอทับทิมสยามให้ดีตลอดไป เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและการมีคุณธรรมในการทำมาค้าขายของคนเมืองนี้ ในนาม “นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม”


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่