ใช้พื้นที่ 100 กว่าตารางวา ในกรุงเทพฯ เลี้ยงปลา-ไก่ ปลูกผักสวนครัว ผลผลิตไว้กินและขาย ทางรอดยุคเศรษฐกิจฝืด

ดร.คณิต สุขรัตน์ อาศัยอยู่ที่ ซอยรามอินทรา 8 แยก 24 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผลต่างๆ ในพื้นที่รอบบ้านมาก่อนที่โรคระบาดโควิดจะเกิดขึ้น

เมื่อในเขตกรุงเทพมหานครให้มีการอยู่กับบ้านมากขึ้น จึงทำให้การเกษตรที่ทำไว้อยู่ก่อนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สามารถมีผลผลิตไว้ทานเองและแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ตลอดไปจนถึงผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นที่มีมากเกินไป ก็สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อีกด้วย

ดร.คณิต เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อปี 2556 ได้ซื้อที่ดินในย่านนี้ไว้ เป็นที่ดินประมาณ 148.9 ตารางวา ซึ่งพื้นนี้เมื่ออยู่ในกรุงเทพมหานครแล้ว ก็ถือว่าสามารถนำมาทำการเกษตรได้หลายอย่าง โดยจัดสรรพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญด้านหลังพื้นที่มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ จึงสามารถนำน้ำมาทำการเกษตรในพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องใช้น้ำประปาเพื่อมารดให้กับพืชที่ปลูก

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

“ช่วงแรกที่เราได้พืชมา เราก็มองว่าส่วนใหญ่แล้วเราทานอะไร เพราะอย่างข้าว เราไม่สามารถปลูกเองได้ ก็เลยได้ลงมือปลูกพืชผักสวนครัวเป็นหลัก ที่เราต้องใช้ทานเป็นประจำ และแบ่งอีกโซนหนึ่งปลูกพวกไม้ผลเล็กน้อย ตลอดไปจนถึงการเลี้ยงไก่ชน ไก่ไข่ และก็ยังสามารถเลี้ยงปลาในบ่อน้ำที่ติดอยู่กับที่ดินได้อีกด้วย ซึ่งการแบ่งโซนปลูกเช่นนี้ พอทำได้ลงตัวแล้วก็ทำให้เรามีผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น ช่วงแรกเราทำไม่ได้ มองว่าจะเกิดรายได้ไหม เพียงแต่ทำเพื่อใช้ชีวิตของเรามากกว่า เพื่อให้มีพืชผักปลอดสารพิษได้ทานเอง” ดร.คณิต เล่าถึงที่มาของการทำเกษตรรอบบ้าน

Advertisement

ในส่วนของไม้ยืนต้นที่ปลูก ก็จะมีมะนาว มะกรูด มะม่วง ปลูกตามความเหมาะสมได้อย่างละ 2-3 ต้น และนอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงไก่ไข่ เป็ดไข่ อย่างละ 5 ตัว และสัตว์เลี้ยงที่ช่วยเป็นกิจกรรมแก้เหงาอีกหนึ่งชนิดนั้นก็คือ ไก่ชน โดยเพาะพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์เพื่อจำหน่าย เกิดเป็นรายได้เสริมอีกหนึ่งช่องทาง

โดยการปลูกพืชผักและการทำเกษตรรอบบ้านนั้น ดร.คณิต บอกว่า จะใช้แนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ โดยพืชผักและไม้ผลต่างๆ จะเน้นใช้ปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์ ก็คือมูลจากไก่ที่เลี้ยงนั่นเอง จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเลยในการปลูก จึงทำให้ดินในพื้นที่ทำเกษตรนอกจากไม่เสียแล้ว ยังได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มั่นใจว่าปลอดสารเคมี จากสองมือที่ลงมือทำด้วยตนเอง

“พอผลผลิตเราเริ่มมีมากขึ้น เพื่อนบ้านที่รู้ว่าเราทำเกษตรแบบอินทรีย์ ก็จะมาติดต่อขอซื้อพืชผักสวนครัวจากสวนเรา เรียกได้ว่าทุกอย่างภายในสวนสามารถขายเป็นรายได้เสริมได้ อย่างไข่ไก่ ไข่เป็ด ที่มีจำนวนมาก เราทานไม่ทันก็นอกจากแจกจ่ายเพื่อนๆ แล้ว เราก็สามารถนำมาขายไปพร้อมกับพืชผักสวนครัว และสัตว์เลี้ยงอย่างไก่ชน นอกจากความเพลิดเพลินที่เราได้แล้ว พอมีคนที่ชอบเหมือนๆ กันรู้ว่าเราเพาะพันธุ์ ก็ติดต่อเข้ามาขอซื้อ ทำให้แต่ละเดือน เราก็มีรายได้จากสิ่งที่เราทำรอบบ้าน เป็นค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟเล็กๆ น้อยๆ ได้ดีทีเดียว และอย่างตอนนี้สถานการณ์โควิดกำลังระบาด ทุกคนต้องอยู่กับบ้าน การออกไปนอกบ้านค่อนข้างเสี่ยง ดังนั้น ผลผลิตทางการเกษตรของผมที่ทำอยู่นี่ถือว่าตอบโจทย์มาก ทำให้เราไม่ต้องออกไปนอกบ้านเลย แต่สามารถนำพืชผักสวนครัวมาประกอบอาหารทานเองได้” ดร.คณิต บอก

ทั้งนี้ ดร.คณิต ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นการทำเกษตรรอบบ้าน จึงเป็นบททดสอบที่ทำให้เห็นว่าเกษตรกรรมไม่ว่าจะทำเล็กหรือน้อย ก็สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะถ้าต้องกักตัวอยู่กับบ้านไม่ต้องออกไปไหน พืชผักและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ก็ยังให้ผลผลิตอยู่เสมอ ดังนั้น การทำเกษตรไม่ว่าจะทำมากหรือน้อยก็ให้ประโยชน์กับผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น

“การทำเกษตรสำหรับคนที่คิดอยากจะทำ อย่างแรกต้องสร้างทัศนคติก่อนว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ เราต้องคิดแบบนี้เสมอ อย่าไปสร้างภาพลบว่าเรามีพื้นที่น้อยจะทำไม่ได้ ทุกวันนี้แม้แต่คนอยู่คอนโดฯ เขาก็ปลูกพืชผักทานเองได้ ปลูกในกะละมังต่างๆ ขอให้ทุกคนเปิดใจการทำเกษตร อย่างน้อยถ้าลงมือทำมันไม่ได้แค่ผลผลิตที่ได้อย่างเดียว แต่มันได้ความสุขที่เกิดจากสองมือของเราที่ได้ลงมือทำเอง” ดร.คณิต แนะนำ

สำหรับท่านใดสนใจในเรื่องของการทำเกษตรรอบบ้านในพื้นที่น้อย หรืออยากทราบเทคนิคการเลี้ยงไก่ชน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.คณิต สุขรัตน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-567-3935

เผยแพร่ครั้งแรกวันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563