หนุ่มนราฯ เลี้ยงชันโรง พื้นที่ข้างบ้าน ปั้นแบรนด์ “ชันโรงบูโด” สร้างรายได้หลักแสนต่อปี

ชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว เป็นผึ้งตระกูลที่ไม่มีเหล็กใน น้ำผึ้งชันโรงมีสรรพคุณมากมายและมีสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ น้ำผึ้งจากชันโรงมีคุณสมบัติเป็นเลิศด้วยความเข้มข้นของน้ำผึ้ง ชันโรงไม่กินน้ำแต่กินเกสรและน้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้ พืชสมุนไพร จึงมีความเหนือด้วยคุณสมบัติการแสวงหาและสะสมอาหารของชันโรง เพราะชันโรงกินเกสรและน้ำหวานจากพืชสมุนไพรด้วย และมักเป็นสมุนไพรที่รักษาโรคต่างๆ ตลอดจนเป็นสมุนไพรที่ดูแลสุขภาพผู้บริโภค ทำให้น้ำผึ้งชันโรง เป็นน้ำผึ้งที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารและยา

 

คุณมูหัมมัด ซัมซูดิน เซ็นมาด หรือ พี่ดิน อยู่บ้านเลขที่ 105/8 หมู่ที่ 4 บ้านบูเก๊ะปาลัส ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ใช้ระยะเวลาเรียนรู้การเลี้ยงชันโรงด้วยตัวเองกว่า 2 ปี โดยไม่ปริปากให้ใครได้รู้ แม้กระทั่งภรรยาของตัวเอง ด้วยสาเหตุที่กลัวคนอื่นหาว่าบ้า ถ้าทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ค่อยทำกัน พี่ดินจึงเก็บความลับไว้มานานเป็นระยะ 2 ปี เมื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองจนเกิดความเชื่อมั่น จึงเริ่มเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมจากการทำสวนผสมผสาน

คุณมูหัมมัด ซัมซูดิน เซ็นมาด หรือ พี่ดิน

“ความคิดริเริ่มที่จะเลี้ยงชันโรง มาจาก วันหนึ่งผมได้เข้าไปหาของที่ห้องเก็บของ วันนั้นก็เจอตัวชันโรงทำรังอยู่ในกล่องเก็บของ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าตัวที่เจอคือ ชันโรง จากนั้นก็เก็บความสงสัยมาถามแม่ยาย ว่านี่คือ ตัวอะไร แม่ยายตอบว่า คือ ตัวชันโรง ผมจึงถามต่ออีกว่า แล้วมีพิษไหม แม่ยายบอกว่า ไม่มี และบอกข้อมูลเพิ่มมาอีกว่า ชันโรงมีน้ำผึ้งด้วย แต่สรรพคุณจะต่างจากผึ้งโพรงและผึ้งหลวงที่จะนำไปดื่มเพื่อสุขภาพ แต่ผึ้งชันโรงเขาจะเอาส่วนประกอบหรือนำมาดื่มเพื่อเป็นยา และคำที่แม่ยายบอกว่า ดื่มเพื่อเป็นยา มันทำให้ผมเกิดไอเดียขึ้นมาว่า และเชื่อว่าอนาคตจะเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการมาก จึงมีแรงผลักดันมีกำลังใจกับตัวเอง ในเมื่อเป็นทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ผมก็น่าจะเอาตัวนี้มาเป็นตัวเพิ่มอาชีพเสริมอีกช่องทางหนึ่งได้” พี่ดิน กล่าวถึงที่มาของการเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริม

 

ทำสวนผสมผสานข้างบ้าน 1 ไร่
พร้อมเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริม

พี่ดิน บอกว่า อาชีพหลักคือ การทำสวนผสมผสาน ปลูกยาง ปลูกไม้ผล เพิ่งจะมาเริ่มเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริมได้ประมาณ 2 ปีกว่า ไม่รวมกับเวลาที่ใช้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองอีก 2 ปี ทุกวันนี้เกิดความชำนาญมากขึ้น สามารถสร้างรายได้กับการเลี้ยงชันโรงได้เป็นอย่างดี บนพื้นที่เพียง 1 ไร่ เลี้ยงในสวนผสมผสาน ชันโรงสามารถหากินเกสรได้ง่ายและมีเกสรหลากหลายชนิด ซึ่งจะส่งผลดีต่อรสชาติและคุณประโยชน์ของน้ำผึ้ง

ชันโรง ถือว่าเลี้ยงไม่ยาก เพียงแค่ถ้ารู้รายละเอียดปลีกย่อยให้ได้มากที่สุด และตอนนี้ชันโรงที่เลี้ยงอยู่มี 8 สายพันธุ์ มีจำนวนเกือบ 100 รัง แต่ที่เลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรง มีแค่ 2 พันธุ์

  1. พันธุ์ขนเงิน เป็นผึ้งตัวเล็ก ให้รสชาติน้ำผึ้งหวานอมเปรี้ยว
  2. พันธุ์อิตาม่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ผึ้งป่า เป็นพันธุ์ที่ตัวใหญ่ และมีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จึงนำมาเป็นจุดขาย

วิธีการเลี้ยงชันโรงพันธุ์ขนเงิน ใช้พื้นที่ไม่เยอะ รัศมีทำกิน 300 เมตร ใช้วิธีการตั้งรังบนชั้นและตั้งในที่ร่ม อย่าให้โดนแดด ถ้าโดดแดดชันยางหรือถ้วยน้ำหวานจะละลาย

รังเลี้ยงชันโรง

ชันโรง พันธุ์ขนเงิน สามารถแยกสายพันธุ์ได้ 3 วิธี

  1. เมื่อเจอชันโรงไปทำรังในกล่องข้างบ้านอย่างที่ผมเจอครั้งแรก หรือที่ไปทำในชั้นวางของ ตู้เก็บของ วิธีการคือ เอากลุ่มไข่ทั้งหมด ทั้งไข่อ่อน ไข่แก่ มาใส่ในกล่องเลี้ยง แล้วเอานางพญามาใส่ ทำไซซ์กล่อง ขนาด A4 ความหนาของไม้ครึ่งนิ้วถึงหนึ่งนิ้ว ความสูง 4 นิ้ว เป็นไซซ์มาตรฐานที่นักวิชาการเรื่องชันโรงวิจัยมาแล้วว่า ขนาดนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับชันโรงสายพันธุ์ขนเงิน
  2. วิธีล่อ จะทำกล่องไซซ์ A4 แล้วไปตั้งไว้ตามธรรมชาติ ตั้งไว้ใกล้ๆ กับรังเดิมที่มันมีชันโรงอยู่แล้ว โดยที่เอาชันยางจากรังอื่นมาป้ายในกล่องและป้ายตรงปากทางเข้า เมื่อชันโรงที่ทำรังอยู่ผนังบ้าน หรือในโพรง ครบรอบการแยกขยายก็จะไปหาโพรงหรือกล่องที่จะไปอยู่อาศัย ซึ่งตัวชันยางที่ทาไว้ที่กล่องและปากทางเข้าจะเป็นตัวดึงดูดให้ชันโรงงานมาหาที่อยู่ เมื่อชันโรงงานมาเจอก็จะทำโครงสร้างรังแล้วก็ตั้งอาหาร เมื่อรังที่เจอใหม่สมบูรณ์ก็จะยกโขยงมาทำรัง
  3. วิธีต่อท่อ สำหรับเจอตามเสา หรือตามผนังบ้านคนที่เขาไม่ต้องการเลี้ยงก็ใช้วิธีต่อท่อ สักระยะหนึ่งชันโรงก็จะเข้ามาอยู่ในกล่องที่ต่อท่อไว้ เมื่อมาอยู่ก็สามารถแยกกล่องออกมาจากผนังบ้านหรือตามเสามาตั้งตามจุดที่จะเลี้ยงได้
กระบอกไม้ไผ่ล่อชันโรง

วิธีการเลี้ยงชันโรงพันธุ์อิตาม่า… รัศมีทำกิน 2 กิโลเมตร ระยะห่าง 2-4 เมตร ต่อรัง นิสัยของชันโรงพันธุ์อิตาม่าจะทำรังอยู่ในโพรงต้นไม้ วิธีการเลี้ยงคือ นำพันธุ์จากต้นไม้ที่ชันโรงทำรังมา แล้ววางถาดน้ำหวานบนขอน ซึ่งนิสัยของชันโรงอิตาม่าจะนำน้ำหวานไปตั้งไว้บนที่สูง ในโพรงจะเป็นที่วางไข่

การดูแลโรคแมลงของทั้ง 2 สายพันธุ์… ดูแลมดที่มาดูดกินน้ำหวาน กินตัวอ่อนตัวดักแด้ และก็ดูแลอย่าให้สัตว์กินแมลงมากินตัวงาน วิธีกำจัดคือ ใช้ชอล์กฆ่ามด หรือทำขอบป้องกันไม่ให้มดเข้ารังได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่ามดแมลงคือช่วงมรสุมลมแรง จะพัดละอองฝอยของด้วงเข้ามา ซึ่งละอองฝอยของด้วงถ้าพัดเข้าไปอยู่ในกล่องหรือในรังของชันโรง ตัวละอองฝอยของด้วงจะไปเจริญเติบโต แล้วไปกัดกินไข่กินตัวอ่อน กินน้ำหวานของชันโรง ชันโรงก็จะถูกกำจัดและทิ้งรังไปเลย

พฤติกรรมการเก็บน้ำหวานจากใบมังคุด

ระยะให้ผลผลิต

  1. พันธุ์ขนเงิน เก็บได้ปีละครั้ง ปริมาณน้ำผึ้งต่อรัง ประมาณ 1 กิโลกรัม
  2. พันธุ์อิตาม่า ประมาณ 3-6 เดือน เก็บผลผลิตได้ครั้งแรก หลังจากนั้น เริ่มเก็บผลผลิตได้เดือนละครั้ง 1 ปี สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ 9 เดือน อีก 3 เดือน ที่หายไป คือช่วงหน้าฝน หน้าฝนชันโรงจะไม่ออกไปหาอาหาร ปริมาณน้ำผึ้งต่อรังไม่ถึง 1 กิโลกรัม เลี้ยง 30 รัง ได้ผลผลิตน้ำผึ้ง 80 กิโลกรัม ต่อ 1 ปี จะเห็นได้ว่าปริมาณการเก็บน้ำผึ้งต่างกันมากระหว่างอิตาม่าที่เก็บได้ทุกเดือน แต่ขนเงินเก็บได้ปีละครั้ง แต่ทำไมยังต้องเลี้ยง เพราะพันธุ์อิตาม่าจะแยกขยายยาก รายละเอียดปลีกย่อยเยอะ ส่วนพันธุ์ขนเงินเก็บได้ปีละครั้งก็จริง แต่สามารถแยกขยายได้ 2 ครั้ง ต่อปี และมีชันยางให้เก็บ ซึ่งพันธุ์อิตาม่าไม่มี เวลาเก็บน้ำผึ้งจากพันธุ์ขนเงินจะได้ชันยางมาด้วย ซึ่งชันยางตัวนี้มีราคาดี กิโลกรัมละ 1,000 บาท น้ำผึ้ง 1 กิโลกรัม จะได้ชันยาง 300 กรัม ถือว่ามีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
รังผึ้งคุณภาพ

ราคา… มิลลิลิตรละ 2 บาท บรรจุขาย 3 ขนาด ขวดเล็กบรรจุ 45 มิลลิลิตร ราคา 100 บาท ขนาดกลางบรรจุ 150 มิลลิลิตร ราคา 300 บาท และขวดใหญ่บรรจุ 500 มิลลิลิตร ขวดละ 960 บาท ตอนนี้มีขายแค่เฉพาะน้ำผึ้งอย่างเดียวยังไม่ได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เพราะลำพังขายแค่น้ำผึ้งก็ผลิตไม่ทันความต้องการของลูกค้าแล้ว

รายได้…ถือเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ดี เดือนละประมาณ 35,000-40,000 บาท

ตลาด… ลูกค้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากออนไลน์ สั่งผ่านเฟซบุ๊กบ้าง สั่งผ่านไลน์บ้าง

ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งบรรจุขวดพร้อมขาย

น้ำผึ้งชันโรงบูดู สินค้าคุณภาพ
จากเกสรพฤกษากว่า 40 ชนิด

เจ้าของบอกว่า น้ำผึ้งชันโรงบูโด ของตนเองอุดมไปด้วยเกสรดอกไม้กว่า 40 ชนิด พิสูจน์ได้จากเมื่อปีที่แล้วตนส่งตัวอย่างน้ำผึ้งของตัวเองไปให้ ดร. สมนึก บุญเกิด ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และท่านได้ส่งต่อน้ำผึ้งของตนไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อหาพืชอาหารชันโรงพันธุ์ขนเงิน เพราะที่ญี่ปุ่นจะชอบรสชาติหวานอมเปรี้ยว จึงส่งพันธุ์ขนเงินไปเข้าห้องแล็บ เพื่อทดลองว่าอาหารน้ำผึ้งในพื้นที่บ้านตนมีกี่ชนิด ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ก็ได้คำตอบว่า มีพืชอาหารชันโรง ประมาณ 40 ชนิด ยิ่งทำให้มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ของตนเองมากขึ้น

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ในน้ำผึ้งที่เลี้ยงมีจำนวนเกสรดอกไม้หลายชนิดขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ที่เลี้ยงมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้ธรรมชาติ เลี้ยงในสวนผสมหลายชนิด จึงทำให้น้ำผึ้งที่นั้นมีส่วนประกอบของเกสรจากพืช ยิ่งหลายชนิดจะยิ่งเพิ่มคุณค่าทางอาหารของน้ำผึ้ง อย่างน้ำผึ้งชันโรงบางเจ้าเขาเลี้ยงในสวนปาล์ม ก็จะได้พืชอาหารไม่กี่ชนิด แต่ที่สวนเป็นป่าผสมผสานก็เลยได้น้ำหวานจากพืชหลายชนิด

ดูดน้ำผึ้งสดๆ จากรัง

การเลี้ยงชันโรง ดีอย่างไร

“การเลี้ยงชันโรง ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้ แต่ยังเป็นการสร้างกิจกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำลายมัน และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสวนของเราได้ เพราะว่าพืชสวนที่ผมทำมาก่อน ที่ไหนมีชันโรงถือว่าเป็นตัวชี้วัดความเป็นเกษตรอินทรีย์ และสวนไหนมีชันโรงช่วยผสมเกสร ความแตกต่างของรสชาติผลไม้จะแตกต่างโดยสินเชิงกับสวนที่ไม่ได้เลี้ยงชั้นโรง และช่วยเพิ่มผลผลิตให้พืชสวนเราได้ด้วย” พี่ดิน กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ เบอร์โทร.093-747-6622

น้ำผึ้งชันโรงสายพันธุ์อิตาม่า

———————————————————————————————————

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่