ไร่พานทองพอเพียง เมืองชากังราว

เกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางที่ดีเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ได้แก่ พื้นที่สำหรับเก็บน้ำ พื้นที่ดินสำหรับทำนาปลูกข้าว พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 30 : 30 : 10 ตามลำดับ เป็นหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ไร่พานทองพอเพียง

เกษตรกรที่น้อมนำมาปฏิบัติจนถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะประจักษ์ในความสำเร็จตามแบบแผนนี้ ทำให้การทำการเกษตรเป็นสิ่งที่ทำมาหาเลี้ยงชีพได้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นหลักมั่นคงทางอาหารและรายได้ในครอบครัวอีกด้วย

ทำนาไว้กินเอง

ว่าที่ ร.ต. วรพล พานทอง เจ้าของไร่พานทองพอเพียง โทรศัพท์ (085) 615-6369 แห่งบ้านมอตะแบก ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอปรางศิลา จังหวัดกำแพงเพชร ได้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “เดิมพ่อแม่อยากให้รับราชการ จึงไปสอบทหารแต่ไม่ติด จึงไปสอบเข้าเรียนสาขาเกษตรป่าไม้ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นสาขาที่เรียนเกษตรและป่าไม้ ก็ตั้งใจจะรับราชการตอนจบแล้ว ตอนฝึกงานปีสุดท้ายมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ศูนย์วิจัยพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ขึ้นกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของช้างป่า ทำให้ชอบงานด้านนี้มากขึ้น พอจบการศึกษาตอนปี 2557 รุ่นพี่รหัสได้ติดต่อให้ไปทำงานเป็นผู้จัดการสวนที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นของท่านอดีตผู้ว่าฯ คุมคนงานประมาณ 30 กว่าคน มีอายุระหว่าง 30-40 ปี จึงต้องทำงานหนักจึงจะสร้างความน่าเชื่อถือได้”

เลี้ยงเป็ดข้างนา

ระหว่างนั้นได้ทำหน้าที่จัดการและวางระบบสวน ซึ่งได้แบ่งเป็น 3 แปลง แปลงแรกเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ มีพื้นที่ 16 ไร่ ปลูกมะนาว เลี้ยงกบ ปลา เป็ด ไส้เดือน โรงเห็ด และทำนาข้าว มีสถานที่อบรม แปลงที่ 2 มีเนื้อที่ 100 ไร่ เป็นสวนผลไม้ ได้แก่ มะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ มีโรงสีข้าว บ่อเลี้ยงปลาและร้านขายกาแฟ พร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากในไร่ แปลงที่ 3 มีเนื้อที่ 150 ไร่ จะเป็นนาข้าวแปลงใหญ่ อินทผลัม มะพร้าวน้ำหอม กล้วยน้ำว้า เป็นพืชแซม ทำอยู่ได้ 4-5 เดือน ต้องกลับมาดูแลพ่อเนื่องจากท่านอายุมากแล้ว

จุดเริ่มต้นเหนื่อยมาก

ไส้เดือนก็เลี้ยง

หลังจากกลับมาบ้านก็ไปทำงานที่ที่ทำการอำเภอปรางศิลาทอง และได้เลี้ยงไส้เดือนที่นำมาจากสวนที่อุดรไว้เพื่อการขยายพันธุ์ ในวันหยุดได้ทำการเกษตรควบคู่ไปด้วยแต่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงเพราะมีอุปสรรคเรื่องเวลา และรายได้ก็ไม่เพียงพอใช้หนี้ ธ.ก.ส.จำนวนหลายแสนที่พ่อกู้มาทำมันสำปะหลัง ทำให้คิดถึงตอนที่ทำสวนอยู่อุดร เห็นว่าเราอยู่ที่สวนเฉยๆ ก็มีคนมาหาเพื่อซื้อผลผลิตทางการเกษตร ทำงานที่อำเภออยู่ได้ปีกว่าก็ลาออกมาทำงานเกษตรในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งถูกพ่อคัดค้าน แต่แม่กับพี่สาวเห็นด้วย คนข้างบ้านก็พูดจาบั่นทอนกำลังใจให้พ่อฟังอยู่เสมอ จึงขอพื้นที่จากพ่อ 1 ไร่ เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์แบบทฤษฎีใหม่ และได้ไปกู้สหกรณ์การเกษตรก้อนแรกมา 50,000 บาท เพื่อลงทุน ขุดคลองไส้ไก่รอบแปลง ตรงกลางปลูกข้าว ขอบคันนามีโรงเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ส่วนที่เหลือปลูกผัก ปลายเดือนกันยายน ผลผลิตเริ่มมีออกสู่ตลาด แต่ ว่าที่ ร.ต. วรพล บอกว่า ช่วง 3 เดือนแรกที่เริ่มทำเหนื่อยมากจนรู้สึกท้อ ประกอบกับคนข้างบ้านที่มาพูดให้ครอบครัวฟัง แต่มีแม่และพี่สาวให้กำลังใจมาตลอด ได้แต่ตอบว่า “เขามาช่วยใช้หนี้แทนเราไหม ถ้าไม่ ไม่ต้องไปฟังเขา”

จิ้งหรีดก็เลี้ยง

เริ่มจากเงินหลักร้อยต่อวัน

ว่าที่ ร.ต. วรพล บอกว่า ต้องคิดให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำอะไรที่จะให้เงินเป็นรายวัน อะไรจะให้เงินเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ในตอนนั้นเป็ดไข่ 30 ตัว และไก่ไข่ 20 ตัว จากเป็ดไก่สาว กับโรงเห็ดนางฟ้า 500 ก้อน คือเงินรายวันเพราะเก็บได้ทุกวัน ไข่ไก่ไข่เป็ด 40 กว่าใบ กับเห็ดวันละ 1-2 กิโลกรัม 2 อย่างได้วันละ 200-250 บาทก็นำไปส่งร้านค้าที่ติดต่อไว้ทั้ง 7 ร้าน โดยแบ่งเป็นร้านละวัน และเริ่มปลูกผัก ชะอม โหระพา กะเพรา มะเขือ ผักบุ้ง ผักคะน้า ก็เอาไปส่งร้านค้าเดิมบ้าง ร้านค้าใหม่บ้างตามที่เราไปคุยไว้ ตอนแรกได้เป็นรายสัปดาห์ พอครบวงรอบก็กลายเป็นรายได้รายวัน เพิ่มมาอีกเป็นวันละ 300-350 บาท นอกจากนี้ ยังไปนั่งขายตลาดนัดสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อให้คนรู้จัก หลังจากนั้น ก็มีหน่วยงานราชการเข้ามาดูผลงาน และชักนำเข้าโครงการ 5 ประสาน ซึ่งเป็นหน่วยงานทั้งหมดเกี่ยวกับการเกษตร ได้ไปอบรบเกี่ยวกับการเกษตรหลายครั้ง ต่อมาได้ขยายเพิ่มจากเดิมอีก 3 ไร่ปลูกมะละกอแขกนวลทำส้มตำ เมื่อปี 2560 ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ของจังหวัด รวม 30 ราย ช่วงนี้ได้เพิ่มการเลี้ยงจิ้งหรีดขึ้นอีกอย่าง

อ้อยคั้นน้ำ

การตลาดตอนเริ่มต้น ว่าที่ ร.ต. วรพลได้ไปพูดคุยกับร้านอาหารตามสั่ง 7 ร้าน และได้เพิ่มร้านค้าขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีผลผลิตมากขึ้น จากการขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่ง เมื่อผลผลิตมากขึ้นจึงต้องใช้รถกระบะขนพืชผัก ทุกวันเมื่อรับออเดอร์ก็จะรวบรวมไปส่งในตอนสายอีกวันไม่มีวันหยุด ในช่วงนี้เริ่มมีคนมาดูงานในแปลงมากขึ้น สามารถขายของหน้าสวนได้ และเริ่มเป็นวิทยากรอบรมเกี่ยวกับเรื่องการเกษตรให้โรงเรียน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเกษตร สปก. หรือเอกชนต่างๆ จากพื้นที่ 4 ไร่ที่ทำ เหลือพื้นที่อีก 8 ไร่ที่พ่อยังทำมันสำปะหลังอยู่ ว่าที่ ร.ต. วรพลต้องการนำพื้นที่ที่เหลือมาขยายให้ใหญ่ขึ้น จึงคำนวณรายได้ให้พ่อดูในการทำมันสำปะหลัง ถึงแม้จะทำผลผลิตได้ไร่ละ 5 ตัน แต่เมื่อคำนวณกำไรแล้วพ่อจะได้วันละ 13 บาท พ่อก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ด้วยแรงสนับสนุนของแม่และพี่สาว ก็ได้ขยายแปลงไปอีก 8 ไร่ รวมเป็น 12 ไร่

ดาวเรืองก็ปลูก

เมื่อ ว่าที่ ร.ต. วรพลได้ทำเกษตรจนเป็นรูปร่างและประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว เสียงซุบซิบนินทาเริ่มหายไป ทั้งนี้ สังเกตว่าคนแถวบ้านไม่ค่อยย่างกรายมา ส่วนใหญ่จะเป็นคนบ้านไกลจะมาดู ที่ 12 ไร่นี้ ได้แบ่งปลูกข้าวไว้กิน 2 ไร่ พ่อจะมีรายได้จากการเลี้ยงไก่ชนและดูแลมะละกอ ส่วนแม่ดูแลเป็ดไก่จิ้งหรีดสัตว์เลี้ยงต่างๆ ส่วนพี่สาวรับราชการที่อำเภอ เริ่มชำระหนี้ได้เป็นบางส่วน

พอดังเริ่มหลงทาง

พริกก็ปลูก

จากที่มีคนมาดูสวนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ทำให้หลงตัวเอง เริ่มทำเกษตรสวยหรู หมายถึงว่าเมื่อรู้ว่าจะมีคนมาชมสวนก็จะใช้เวลาตกแต่งสวนให้ดูสวยงามก่อน 1 วัน เมื่อคนมาดูแล้วก็จะต้องหยุดอีก 1 วันเนื่องจากเหนื่อย ทำให้เสียเวลาไป 2 วัน แต่เมื่อได้มีโอกาสไปอบรม สัมมนา พูดคุยกับเกษตรกรท่านอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จแล้วหันว่าดูเรา ทำให้คิดได้ว่าไม่ควรให้คนที่มาดูเห็นแต่ความสำเร็จ ต้องให้ดูอุปสรรคด้วย เพื่อให้เขาฉุกคิด ในการทำงานเกษตรไม่ได้สำเร็จเสมอไป ถ้าเขาเห็นแต่ความสำเร็จก็จะฮึกเหิมอยากทำ แต่พอเจออุปสรรคเข้าก็จะท้อเพราะไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน ในการบรรยาย ว่าที่ ร.ต. วรพลจึงมักจะพูดถึงอุปสรรคก่อนความสำเร็จ การเกษตรต้องเริ่มจากหนึ่งเสมอเพื่อให้รับรู้ปัญหาอุปสรรค เมื่อผ่านขั้นแรกไปแล้วเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ก็สามารถขยายไปได้ อย่าเอาเรื่องเงินมาพูดอย่างเดียว เท่ากับปิดบังเกษตรกรทำให้หลงทาง

ผลิตภัณฑ์จากไส้เดือน

หลังจากนั้น ได้ปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณ 50 เพื่อคั้นน้ำขายและขายพันธุ์อ้อยด้วย ได้ไปเช่าร้านในตลาดที่อำเภอเพื่อเปิดขายน้ำอ้อย ทุกวันหลังจากส่งของในตลาดเสร็จจึงจะเปิดร้านน้ำอ้อย แต่ถ้าวันไหนมีธุระหรือเหนื่อยมากก็จะไม่เปิด นอกจากน้ำอ้อยที่ขายในร้านแล้วยังมีผลิตภัณฑ์จากสวนไปขายด้วย นอกจากอ้อยแล้ว ยังปลูกไผ่ซางหม่นเพื่อขายหน่อ ลำ และขยายพันธุ์จำหน่ายอีกด้วย การเลี้ยงสัตว์ก็ยังเพิ่มหนูอีก 20 วงบ่อ ปัจจุบันที่สวนนี้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4-50,000 ต่อเดือน และสามารถชำระหนี้สินได้เกินครึ่งแล้ว

มะละกอในสวน

ว่าที่ ร.ต. วรพลฝากถึงเกษตรกรมือใหม่ที่จะเข้ามาทำให้ดูตัวเองก่อนว่าชอบอะไร ถนัดด้านไหน ทุกอย่างที่ทำให้เขียนในกระดาษก่อนคำนวณตัวเลขทุกตัว ให้เห็นกำไรขาดทุนในกระดาษก่อนดีกว่าขาดทุนจริง ถ้าวางแผนได้เหมาะสม อาชีพเกษตรก็สามารถเลี้ยงครอบครัวเราได้ ความสุขที่แท้จริงคือมีเวลาให้กับครอบครัวมานั่งกินข้าวพร้อมหน้ากัน ได้คุยกันถึงมีเงินทองไม่มากก็มีความสุข

แชร์ประสบการณ์
ครอบครัวพานทอง
คุณวรพล

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่