“ภานุ แย้มศรี” พ่อเมืองกรุงเก่า ชวนเที่ยวงาน “เห็ดตับเต่างามที่สามเรือน” อนุรักษ์ พัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

9 ปี ติดต่อกันแล้ว ที่เกษตรกรตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดงาน “วันเห็ดตับเต่างามที่สามเรือน” ขึ้น

ปี 2563 จะเป็นปีที่ 10 แม้งานจะจัดครบทศวรรษก็ตาม แต่ “เห็ดตับเต่า” ไฮไลต์ของงาน ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เป็นพืชที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติรังสรรค์ให้เกิดขึ้นเอง ไม่ได้เป็นเห็ดในรูปแบบที่เพาะได้เช่นเดียวกับเห็ดอื่น

คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลายชื่อที่ใช้เรียก เห็ดตับเต่า เช่น เห็ดตับเต่าดำ เห็ดเอ็กโตไมคอร์ไรซ่า ตามชื่อทางวิทยาศาสตร์ แต่ที่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกและเป็นที่รู้จัก คือ เห็ดตับเต่า

เคยได้ยินจากเนื้อเพลง พูดถึงเห็ดตับเต่าว่าขึ้นริมเถาย่านาง แท้จริงแล้ว เห็ดตับเต่า สามารถขึ้นได้ดีที่โคนต้นโสน อาศัยเกื้อกูลรากของต้นโสนในการเจริญเติบโต โดยเฉพาะโสนกินดอก มะกอกน้ำ ไทร ยูคาลิปตัส กระถินเทพา และป่าเต็งรัง รวมถึงยังขึ้นได้ดีและอาศัยอยู่ร่วมกับพืชตระกูลถั่วหลายสกุล แต่ทั้งนี้ บริเวณลุ่มน้ำในเขตตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีต้นโสนเป็นพืชประจำถิ่นขึ้นอยู่ค่อนข้างมาก จึงเป็นบริเวณที่มีความเหมาะสมเกิดเห็ดตับเต่าตามธรรมชาติจำนวนมาก

ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วน พบว่า ปริมาณเห็ดตับเต่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบที่ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มากกว่าแหล่งอื่น หากจะบอกว่าตำบลสามเรือน เป็นพื้นที่ที่พบเห็ดตับเต่ามากที่สุดของภาคกลาง ทั้งยังมีความสมบูรณ์ในดอกเห็ดมากที่สุด ก็ไม่ผิด

คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองการอนุรักษ์และส่งเสริมธุรกิจเกษตรเห็ดตับเต่า เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการพัฒนาภาคเกษตรกรรม เนื่องด้วย เห็ดตับเต่าเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างมาก แม้จะเก็บเห็ดตับเต่าจำหน่ายได้ปีละครั้ง เป็นระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี

“เห็ดตับเต่ามีลักษณะดอกขนาดใหญ่ หมวกเห็ดมน ผิวมัน เนื้อแข็ง สีน้ำตาลเข้ม ก้านโคนใหญ่ เท่าที่พบดอกเห็ดตับเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักเกือบ 2 กิโลกรัม มีขึ้นตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์ตลอดแนวที่ลุ่มริมคลองโพธิ์ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็ดชนิดนี้จะมีขายและมีให้ซื้อรับประทานเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อเริ่มมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมา เห็ดตับเต่า จะทิ้งสปอร์ไว้ใต้ดินที่มีความชื้นเย็นสูง เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง”

เห็ดตับเต่า พบมากในพื้นที่ตำบลสามเรือน เกษตรกรผู้เพาะเห็ดตับเต่าประมาณ 250 ราย พื้นที่เพาะเห็ดตับเต่าประมาณ 250 ไร่ และยังพบอีกบางส่วนในพื้นที่ตำบลบ้านช้าง อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกษตรกรผู้เพาะเห็ดตับเต่าประมาณ 27 ราย พื้นที่ในการเพาะเห็ดตับเต่า ประมาณ 20 ไร่ รวมพื้นที่พบเห็ดตับเต่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 270 ไร่ มีเกษตรกรที่ดูแลพื้นที่จำนวน 277 ราย และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สามารถเรียกเห็ดตับเต่าว่า เป็นพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ เพราะรายได้จากการจำหน่ายเห็ดตับเต่า เฉลี่ยผลผลิตที่สามารถเก็บจำหน่ายได้วันละประมาณ 1,000 กิโลกรัม หากคิดราคากิโลกรัมละ 120-150 บาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน จะทำให้เกษตรกรมีเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 14,000,000 บาท

ผลผลิตเฉลี่ย 1,800 กิโลกรัม ต่อไร่

ผลผลิตเฉลี่ย 495,000 กิโลกรัม ต่อ 275 ไร่

แบ่งจำหน่ายสด 198,000 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายผลสดหน้าแปลง กิโลกรัมละ 70-90 บาท ต่อกิโลกรัม มูลค่าการซื้อขาย 13.8 ล้านบาท ต่อปี

แปรรูป จำหน่ายตลอดปี 297,000 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายแปรรูป กิโลกรัมละ 100-120 บาท ต่อกิโลกรัม มูลค่าการซื้อขาย 27.9 ล้านบาท ต่อปี

รวมมูลค่าเห็ดตับเต่าต่อปี 41.76 ล้านบาท

ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บอกด้วยว่า การเห็นควรให้มีการอนุรักษ์ ส่งเสริม ให้ความสำคัญในการพัฒนาเห็ดตับเต่าให้มีผลผลิตมากขึ้น ไม่ใช่เพียงมองเห็นในรูปของธุรกิจเกษตร แต่เล็งเห็นถึงแนวทางของการอนุรักษ์เห็ดตับเต่า ให้เป็นพืชพื้นถิ่นที่มีคุณค่าและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ แนวคิดในการอนุรักษ์มุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1. สร้างการรับรู้ของบุคคลภายนอกพื้นที่ทราบว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเห็ดตับเต่าที่คุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย 2. การทำความเข้าใจหรือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเอง ให้มีองค์ความรู้ในการเพาะเห็ดตับเต่าเป็นอาชีพเสริม หากประสบความสำเร็จก็สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ และ 3. การสร้างความรับรู้ในเรื่องของคุณค่าทางอาหารสูงในเห็ดตับเต่า ที่มองว่าสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด รสชาติและเนื้อของเห็ดตับเต่า มีความคล้ายกับ “เห็ดทรัฟเฟิล” ของฝรั่งเศส ที่มีราคาแพงถึงกิโลกรัมละหลายหมื่นบาท ทั้งยังเป็นเห็ดที่ปลอดสารพิษ เพราะขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงเห็นว่าควรทดลองประกอบอาหารให้เกิดเมนูซิกเนเจอร์ สามารถรับประทานได้เฉพาะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น

เพราะสามารถเก็บจำหน่ายได้เพียง 4 เดือน ต่อปี และมีเอกลักษณ์ในรสชาติที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ความต้องการเห็ดตับเต่าในท้องตลาดสูง แนวคิดอนุรักษ์และต่อยอด ให้มีการเพาะเห็ดตับเต่าได้นอกฤดูกาลจึงเกิดขึ้น

คุณภานุ ให้ข้อมูลว่า มีการเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยในพื้นที่ระหว่างสถานศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิ ร่วมกับชุมชนวิจัยเรื่องการเพาะเห็ดตับเต่าในชุมชนพบว่า การวิจัยและพัฒนา “เชื้อเห็ดตับเต่า” ซึ่งปกติแล้ว เห็ดตับเต่าไม่สามารถเพาะเลี้ยงนอกสภาวะธรรมชาติได้ เนื่องจากต้องอาศัยอยู่กับรากไม้ เช่น โสน แต่นักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถจำลองสภาวะธรรมชาติเพื่อการเพาะเห็ดได้แล้ว โดยได้พัฒนาเทคนิคการผลิตหัวเชื้อเห็ดตับเต่าหลายรูปแบบ ทั้งแบบก้อนเดี่ยวและก้อนเค้ก ที่มีส่วนประกอบของมันฝรั่ง ปุ๋ย และดิน รวมทั้งพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงเห็ดที่เหมาะกับหัวเชื้อแต่ละแบบด้วย และหลังจากได้นำหัวเชื้อเห็ดตับเต่าไปเพาะในแปลงโสนของเกษตรกรที่บ้านสามเรือนแล้ว พบว่า เห็ดตับเต่าเจริญเติบโตได้ดีมากในแปลงที่ดินมีธาตุอาหารสูงและมีความเป็นกรดสูง เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดตับเต่าได้มากถึง 2,500 กิโลกรัมในพื้นที่ 10 ไร่ ขายได้ราคากิโลกรัมละ 80-150 บาท องค์ความรู้เหล่านี้นอกจากจะช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นโมเดลสำหรับการเพาะเห็ดตับเต่าในพื้นที่อื่นได้ด้วย

“เห็ดตับเต่าจะขึ้นตามธรรมชาติ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มริมคลอง และต้องขึ้นปะปนอยู่ในป่าโสนเท่านั้น เห็ดตับเต่าชอบขึ้นตามที่ลุ่ม ปะปะกับต้นโสนที่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาพอสมควร เริ่มด้วยการเก็บเผาวัชพืชตามพื้นที่ลุ่มริมคลองก่อน จากนั้นจะติดตั้งสปริงเกลอร์ให้น้ำสร้างความชื้น เพื่อให้เมล็ดต้นโสนที่จมฝังตามพื้นดินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ งอกเจริญเติบโตเป็นป่าโสน เมื่อต้นโสนมีอายุประมาณ 1 เดือนเศษ จะมีความสูงท่วมหัว เป็นช่วงจังหวะที่ชาวบ้านจะเข้าทำความสะอาดกำจัดวัชพืชใต้ต้นโสน ด้วยวิธีการถอนหรือถากถางเท่านั้น จะไม่ใช้สารเคมี รอฝนตกลงมาสร้างความชื้นให้เห็ดเจริญเติบโต รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมื่อรดน้ำต่อเนื่อง 10-15 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มแทงดอกขึ้นจากดิน การออกดอกเห็ดจะเร็วหรือช้าขึ้นกับความชื้นในดิน ถ้าดินแห้งเห็ดก็จะไม่ออกดอกเลย ห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชโดยเด็ดขาด เพราะเห็ดจะไม่ออกดอกเลยและมีผลต่อเนื่องอยู่นาน”

นอกเหนือจากการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดให้มีการเพาะเห็ดตับเต่านอกฤดู ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล็งเห็นความสำคัญถึงการแปรรูปเห็ดตับเต่า เพราะทราบดีว่า การแปรรูปจะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้ดี

เกษตรกรผู้เพาะเห็ดตับเต่าเอง ได้รวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปเห็ดตับเต่าไว้หลายชนิด โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยสุวรรณภูมิ ส่งเสริมรูปแบบการแปรรูปให้มีความหลากหลาย เช่น การบรรจุในภาชนะปิดสนิทในน้ำเกลือ ซึ่งสามารถเก็บได้ 1 ปี โดยไม่เสีย การแช่แข็ง การตากแห้ง เป็นต้น

การแปรรูป สามารถทำได้หลายแบบ เช่น น้ำพริกเผาเห็ดตับเต่าสามารถใช้เห็ดตับเต่าได้ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ของส่วนผสมทั้งหมด การทำเห็ดสวรรค์หรือเห็ดสามรส หรือเห็ดอบกรอบปรุงรส สามารถใช้เห็ดตับเต่าและเห็ดนางฟ้าได้ในปริมาณ 50 : 50 การทำหมูยอ โดยใช้เห็ดตับเต่าแทนที่เนื้อหมู สามารถใช้ได้ในปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณเนื้อหมูและเมื่อเพิ่มปริมาณเห็ดตับเต่าปริมาณเยื่อใยหยาบของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณไขมันลดลง และการใช้เห็ดตับเต่าเสริมลงในบะหมี่ในระดับ 9.89 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภคให้การยอมรับไม่แตกต่างจากการใช้แป้งสาลีแต่เพียงอย่างเดียว เห็ดตับเต่ามีศักยภาพที่จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เพื่อช่วยให้เก็บรักษาไว้ได้นานนอกฤดูกาลเก็บเกี่ยว และสามารถบริโภคได้ตลอดทั้งปี

เมื่อเล็งเห็นความสำคัญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเห็ดตับเต่าในพื้นที่ขึ้น และให้ความสำคัญกับการพัฒนาในเรื่องขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเห็ดตับเต่า เพื่อให้ชุมชน เยาวชน หรือผู้มาเยี่ยมชม มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเห็ดตับเต่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถจะนำมาพัฒนาได้ ตลอดจนการแปรรูปเห็ดตับเต่า ที่ชาวบ้านยังไม่ทราบถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จึงให้เชฟที่มีความชำนาญศึกษาเรื่องของการนำเห็ดตับเต่าไปประกอบอาหาร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นในระดับจังหวัด และต่อเนื่องไปถึงระดับประเทศ

น้ำพริกเผาสูตรโบราณ

นอกจากนี้ เห็ดตับเต่า จะเป็นตัวชูโรงให้เกิดการท่องเที่ยวในตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มากขึ้น จึงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้รองรับ ให้มีที่พักเชิงนิเวศ มีการทำประมงตามวิถีพื้นถิ่นดั้งเดิม ทั้งนี้ ยังเป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วย

เห็ดตับเต่าอบแห้ง

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงจัดให้มีงานวันเห็ดตับเต่างามที่สามเรือน ครั้งที่ 10 ขึ้น บริเวณตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและเทคโนโลยี เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร นำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในแปลงเห็ดตับเต่า ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง เผยแพร่ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับบุคคลภายนอกให้รับรู้ มีการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปพัฒนาอาชีพการเกษตรให้ดีขึ้น ทั้งยังส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจจะได้ชมสวนเห็ดตับเต่าที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

วันที่ 25-26 กรกฎาคม 2563 พบกันที่ งานวันเห็ดตับเต่างามที่สามเรือน

เห็ดตับเต่าสมุนไพร
ข้าวเกรียบเห็ดตับเต่า