เกษตรกรประจวบฯ ปลูกพืชได้ผลผลิตดี ด้วยสูตรปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองวิศวกรรมแม่โจ้ 1

เกษตรอินทรีย์ดีอย่างไร ทำไมเกษตรกรยุคใหม่ถึงหันมาใส่ใจทำกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเบื่อหน่ายในการทำเกษตรโดยที่ต้องพึ่งสารเคมี ทำให้มีต้นทุนสูง ทำกี่ครั้งก็เป็นหนี้ มิหนำซ้ำยังส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรมก่อนวัยอันควร เนื่องจากได้รับสารพิษจากปุ๋ยเคมีที่ฉีดพ่นเข้าไปทุกวัน ดังนั้น จะดีแค่ไหนหากเกษตรกรลองปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบเดิมๆ แล้วหันมาพึ่งธรรมชาติ ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุนกันให้มากขึ้น ที่นอกจากจะได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมาแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยปลดหนี้ให้เกษตรกรได้อีกด้วย

คุณศรายุธ คงทะเล หรือ พี่บอย ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ประจวบคีรีขันธ์ อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 4 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมๆ จากเมื่อก่อนมุ่งมั่นทำแต่เกษตรเคมี สุขภาพก็มีแต่จะแย่ลง ลองหันมาปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิมๆ ที่ต้องพึ่งสารเคมีเพียงอย่างเดียว ปรับมาเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุน ซึ่งก็ได้ผลดีเป็นอย่างมาก แถมปุ๋ยที่หมักไว้ใช้เองยังเปลี่ยนเป็นเงินได้อีกด้วย

คุณศรายุธ คงทะเล หรือ พี่บอย

พี่บอย เล่าถึงจุดเปลี่ยนในการเลิกทำเกษตรเคมีให้ฟังว่า พื้นเพที่บ้าน พ่อแม่รับราชการควบคู่กับการเป็นเกษตรกรทำไร่ทำสวนไปด้วย ตนจึงมีโอกาสได้คลุกคลีกับสวนกับไร่มาตั้งแต่สมัยเด็ก จนเกิดเป็นความชอบในอาชีพเกษตรกรรมไปโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งปี 49 มีโอกาสไปซื้อที่แถวภาคเหนือ เริ่มจากการทำสวนยางพารา ปลูกแบบใช้สารเคมีทั้งหมด จากนั้นมาทำไร่สับปะรดต่อ ซึ่งการทำไร่สับปะรดก็ยังต้องใช้สารเคมี กลายเป็นวงเวียนที่ไม่จบสิ้น ประกอบกับที่ช่วงนั้นกำลังมีลูกเล็กด้วย จึงตัดสินใจเลิกทำสารเคมี แล้วหันมาศึกษาด้านเกษตรอินทรีย์แทน เพื่อสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัว อยากให้ได้กินอาหารที่ปลอดภัย

เลิกใช้สารเคมี หมักปุ๋ยอินทรีย์
ตามสูตรวิศวกรรมแม่โจ้ไว้ใช้เอง

เจ้าของบอกว่า หลังจากเลิกทำเกษตรเคมีแล้วหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ต้องบอกตามตรงว่าตอนเริ่มทำก็ยังไม่เชื่อทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทำแล้วจะได้ผลจริงๆ แต่ในเมื่อคิดว่าจะเปลี่ยนแล้วก็ต้องทำให้ได้ ซึ่งสิ่งแรกที่นึกถึงและต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรกในการทำเกษตรอินทรีย์ก็คือ การทำปุ๋ยไว้ใช้เอง เพราะถ้าทำปุ๋ยเองไม่ได้ ก็ต้องกลับไปวงเวียนเดิม ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้นทุนก็ไม่ลด จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นค้นหาข้อมูลในการทำปุ๋ยหมักจากอินเตอร์เน็ต มีการสอบถามจากผู้รู้ต่างๆ และมาทดลองทำดู ตอนแรกก็ยังไม่สำเร็จ แต่ก็ยังทำไปเรื่อยๆ ผิดพลาดตรงไหน จะอาศัยถามอาจารย์ผู้คิดค้นสูตร แล้วกลับมาแก้ไข จนสุดท้ายเริ่มได้สูตรที่ลงตัว และได้มีการนำมาทดลองใช้ในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลงทุนค่าปุ๋ยเพียง 4,500 บาท แต่ได้ผลผลิตข้าวโพด ประมาณ 10 ตัน ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรกในการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง

ผลผลิตไม้ผลจากสวนที่ใช้ปุ๋ยหมักในการดูแลทั้งหมด

ซึ่งหลังจากทดลองใช้ในไร่ข้าวโพดสำเร็จ ได้มีการนำมาใช้ต่อในสวนผสม ใส่ในสวนมะพร้าว มัลเบอร์รี่ มะนาว และพืชผักสวนครัว บนพื้นที่ 15 ไร่ ทำเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด โดยเน้นทำปุ๋ยไว้ใช้เอง จนกลายเป็นจุดเด่นของที่สวนด้วยสูตรปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง ด้วยการใช้เศษวัสดุเหลือทิ้ง คือหญ้าที่เป็นวัชพืชภายในสวนมาทำเป็นปุ๋ยไว้ใช้เอง และทำขาย จากเมื่อก่อนที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะได้ผล แม้แต่คนในบ้านก็ไม่เชื่อว่าปุ๋ยหมักที่ทำไว้ใช้เองจะใช้ได้กับผลผลิตทางการเกษตรจริงๆ จนเมื่อเขาได้เห็นผลสำเร็จของเรา เขาถึงเชื่อและหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง

 

ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองวิศวกรรมแม่โจ้ 1
ต้นทุนต่ำ ทำง่าย ประโยชน์สูง ปลูกอะไรก็งาม

พี่บอย บอกว่า สูตรปุ๋ยหมักที่ตนทำเป็นสูตรปุ๋ยหมักแบบลดต้นทุน คือการหาวัสดุส่วนผสมที่หาได้ภายในสวนและวัสดุจากท้องถิ่นมาใช้ สามารถนำวัชพืชที่คนอื่นทิ้งมาเปลี่ยนเป็นเงินได้

สูตรที่ทำจะอิงมาจากสูตรปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองวิศวกรรมแม่โจ้ 1 เป็นสูตรที่ใช้หญ้าทำ เพราะว่าหญ้าเป็นวัชพืชที่มีอยู่ในสวนอยู่แล้ว ซึ่งสูตรนี้เหมาะกับทุกพืช เพราะปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์จะมีธาตุอาหารครบทุกตัวตามที่พืชต้องการ คือธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม แตกต่างจากปุ๋ยเคมี ที่จะมีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และไม่ว่าจะทำสูตรอะไร ธาตุอาหารจะครบทุกตัว แต่ว่าธาตุอาหารจะแตกต่างกันไหม ก็ขึ้นอยู่ที่ส่วนผสมที่ใช้และความสะดวกของแต่ละบุคคล ถ้าอยากได้โพแทสเซียมเยอะ ก็ใช้เปลือกผลไม้ หรือบางท่านทำสวนปาล์มอยู่แล้วจะใช้ ทะลายปาล์ม ทางปาล์มสับก็ได้ หรือในท้องถิ่นใครมีผักตบชวาเยอะก็นำมาทำได้เช่นกัน สูตรนี้ห้ามอยู่ 4 อย่าง คือ แกลบ ขี้เรื่อย ขุยมะพร้าว กิ่งไม้ เพราะวัสดุเหล่านี้จะไม่ย่อย นำมาผสมดินปลูกได้ แต่นำมาเป็นส่วนผสมปุ๋ยหมักไม่กลับกองไม่ได้ เพราะว่ามีขนาดที่เล็กเกินไป เมื่อนำมาตั้งกองปุ๋ยอากาศจะเข้าไปไม่ได้

หญ้าวัตถุดิบสำคัญ

ขั้นตอนการทำมีดังนี้

ส่วนผสม

ที่สวนวัสดุที่เลือกใช้คือ

  1. หญ้า ที่เป็นส่วนผสมทั่วไป หาได้ง่ายภายในสวน
  2. มูลวัวนม เพราะแถวบ้านเลี้ยงวัวนมเยอะหาง่าย
  3. กากถั่วเหลือง ช่วยเพิ่มไนโตรเจน ถ้าเกษตรกรทั่วไปจะทำไว้ใช้เอง ใส่แค่หญ้ากับมูลวัวก็ได้ แต่ในกรณีทำขายด้วย จึงเพิ่มกากถั่วเหลืองเข้าไป เพื่อเพิ่มคุณภาพให้มากขึ้น

ส่วนผสมมีเพียงเท่านี้ ไม่ต้องผสมกากน้ำตาลเพิ่ม เนื่องจากกากน้ำตาลจะทำให้กองแน่นและมีกลิ่น อัตราการย่อยสลายช้า เพราะที่สวนก็เคยทดลองทำมาแล้วไม่เวิร์ก

อัตราส่วน…ปุ๋ยสูตรนี้จะมีอัตราส่วนที่ตายตัวอยู่แล้ว ถ้าเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย เช่น หญ้า หรือฟาง ใช้อัตราส่วน 4:1 หญ้า 4 ส่วน ต่อขี้วัว ขี้หมู หรือขี้ไก่ 1 ส่วน ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นขี้วัวอย่างเดียว แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละพื้นที่ว่าหาอะไรได้ง่ายกว่ากัน แต่ถ้าเป็นวัสดุย่อยสลายยาก เช่น ทะลายปาล์ม ใบไม้ จะใช้อัตราส่วน 3:1 คือ ทะลายปาล์มสับ หรือใบไม้ 3 ส่วน ต่อมูลสัตว์ 1 ส่วน

วิธีการทำ…ปูหญ้าเป็นชั้นแรกตามอัตราส่วน หญ้า 4 เข่ง เกลี่ยให้มีความหนา 10 เซนติเมตร จากนั้นโรยขี้วัว 1 ส่วน ทำแบบนี้ไปจนครบ 15 ชั้น ลักษณะกองปุ๋ยเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ในแต่ละชั้นเมื่อวางหญ้าและขี้วัวเสร็จให้รดน้ำทุกชั้น หมายความว่าชั้นแรกหญ้ามูลสัตว์เสร็จรดน้ำ รดน้ำจนครบ 15 ชั้น สำหรับเกษตรกรทำไว้ใช้เอง แต่ถ้าจะเพิ่มกากถั่วเหลืองเข้าไป ให้วางหญ้าชั้นแรก ตามด้วยกากถั่วเหลือง แล้วโรยขี้วัวตามจากนั้นรดน้ำ

ชั้นแรกปูหญ้าโรยขี้วัว เกลี่ยหนา 10 เซนติเมตร แล้วรดน้ำ

เทคนิคการรดน้ำ…ในทุกๆ 7-10 วัน ต้องเจาะรูกรอกน้ำเข้าไปในกองปุ๋ย ความห่างของแต่ละรูห่างกัน 40 เซนติเมตร การเจาะรูกรอกน้ำเข้าไป เพื่อให้น้ำลงไปถึงข้างล่าง เพราะลักษณะของกองปุ๋ยจะเป็นทรงพีระมิด ฉะนั้น การเจาะรูของน้ำเพื่อให้น้ำลงไปสร้างความชุ่มชื้นทั่วทั้งกอง ระยะเวลาการกรอกไม่นาน อยู่ที่ความแรงของน้ำ ถ้าน้ำแรง นับ 1-10 แล้วเปลี่ยนรูใหม่ เมื่อรดน้ำเสร็จปิดรูเพื่อรักษาความร้อนไว้ในกองปุ๋ย ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงมีความเหมาะสมกับกิจกรรมของจุลินทรีย์

ส่วนการรดปุ๋ยภายนอกกอง…ต้องรดทุกวัน เป็นเวลา 60 วัน ปริมาณการรดมากหรือน้อยให้สังเกตจากน้ำที่ไหลออกจากกองปุ๋ย ถ้าน้ำเริ่มไหลออกมาให้หยุดรด เพราะถ้ารดมากไป น้ำจากกองปุ๋ยที่ออกมามันคือน้ำไนโตรเจนจากขี้วัวจะออกมาด้วย หลังจากนั้น 2 เดือน ให้หยุดรดน้ำ ประมาณ 2 เดือนครึ่ง ทำปุ๋ยให้แห้ง มีความชื้น 30 เปอร์เซ็นต์

เจาะรูเตรียมกรอกน้ำ

วิธีการทำปุ๋ยให้แห้งมีอยู่ 2 แบบ… ถ้าตามหลักวิชาการ คือการนำมาผึ่งในที่ร่ม แต่ถ้าเป็นสูตรวิศวกรรมแม่โจ้ 1 สามารถนำมาวางผึ่งแดดได้ แต่อย่าผึ่งนาน แค่ให้มีความชื้น 30 เปอร์เซ็นต์ ความชื้น 30 เปอร์เซ็นต์ สามารถวัดได้จากวิธีง่ายๆ คือ กำปุ๋ยขึ้นมาแล้วแบมือออก ถ้าปุ๋ยในมือแตกเหลือเป็นก้อนเล็กๆ นั่นคือ สามารถนำไปใช้ได้แล้ว ทำง่ายไม่ต้องกลับกอง

สถานที่เหมาะสมในการหมักปุ๋ย…จะทำกลางแจ้ง ทำในโรงเรือน หรือทำใต้ต้นไม้ก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่า หากทำในโรงเรือนห้ามกั้นคอกเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือถ้าทำใต้ต้นไม้ควรห่างจากโคนต้น ประมาณ 2 เมตร ห้ามทำล้อมรอบโคนต้น เพราะจะทำให้ต้นไม้ตายได้ ข้อดีของทำกลางแจ้งคือ ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงเรือน ทำระหว่างต้นไม้ที่ปลูกก็ได้ อย่างเช่น ปลูกปาล์ม กลางร่องปาล์มก็สามารถเอาปุ๋ยตัวนี้ไปทำได้ โดยที่ปาล์มก็จะได้กินปุ๋ยตัวนี้ไปด้วย

ข้อควรระวัง…ให้อากาศถ่ายเท ให้ออกซิเจนเข้าไปได้ ปุ๋ยกองนี้ห้ามเหยียบ ห้ามขึ้นไปย่ำบนกองเพื่อให้อากาศหมุนเวียนง่าย เพราะวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองนี้จะมีความร้อนในกอง สัปดาห์แรกจะสูง มีคนเคยวัดได้สูงถึง 70 องศา ทีนี้ความร้อนจะลอยขึ้นข้างบน อากาศและออกซิเจนจะเข้าข้างล่าง มีการหมุนเวียนตลอดเวลา จึงห้ามเหยียบกองหรือทำให้กองแน่น เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก

เจาะรูเตรียมกรอกน้ำ

ปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง แตกต่างจาก
ปุ๋ยหมักแบบกลับกอง อย่างไร

ต่างกันในเรื่องของแรงงาน สามารถทำคนเดียวได้ และได้ปุ๋ยปริมาณที่มาก แต่ถ้าปุ๋ยกลับกองต้องมากลับกองทุกสัปดาห์ ถ้าทำเป็นกองใหญ่จะต้องจ้างแรงงานมาช่วยกลับกอง หรือต้องใช้เครื่องจักรในการช่วยกลับกอง ซึ่งการที่ต้องกลับกองปุ๋ยเพื่อเติมออกซิเจนเข้าไปในกองปุ๋ย แต่ถ้าเป็นปุ๋ยแบบไม่กลับกอง คือออกซิเจนจะไหลเวียนได้ตลอดเพราะว่ากองไม่แน่น แต่ประสิทธิภาพออกมาใกล้เคียงกัน เป็นวิธีที่ง่าย ใช้วัสดุที่เหลือทางการเกษตรมาทำได้เกือบทุกชนิด

ต้นทุนค่าผลิตปุ๋ย…

เจ้าของบอกว่า ที่สวนตัดหญ้าเอง ขี้วัว ซื้อกระสอบละ 25-30 บาท เขาจะมีสูตรคำนวณที่ว่า ปุ๋ยหน้ากว้าง 2.5 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 1.5 เมตร จะได้ปุ๋ยปริมาณ 1 ตัน ใช้ขี้วัว ประมาณ 30 ลูก ฉะนั้น ปุ๋ย 1 ตัน ใช้เงินลงทุนแค่ไม่ถึงหลัก 1,000 บาท ต่างจากต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีมาก

ปริมาณการใช้ แล้วแต่การนำไปใช้ ของที่สวน ใส่ต้นละ 5-10 กิโลกรัม แต่ถ้าพื้นที่ไม่ดี ต้องการปรับปรุงบำรุงดินให้ดีก็ใส่มากหน่อย อาจจะใส่ 2 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร  ถ้าอยากประหยัดหน่อยให้ลดลงมาเหลือ 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร

ปุ๋ยหมักพร้อมใช้งาน

ซึ่งการทดลองใช้ปุ๋ยและทำเกษตรอินทรีย์มาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ผลผลิตที่สวนปลูกโดยใช้ปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองทั้งหมด ผลผลิตที่ปลูกออกมาดี ใส่อะไรก็ได้กิน ใส่มัลเบอร์รี่ก็ออกผลดี ใส่มะพร้าวต้นสมบูรณ์ เก็บขายผ่านช่องทางออนไลน์ และอีกส่วนมีคนมาซื้อถึงสวน เพราะเขาเห็นว่าเป็นผลไม้อินทรีย์

รายได้… เป็นรายได้เสริมที่สร้างรายได้อยู่ในเกณฑ์ดี มีลูกค้าประจำในกลุ่มอาจารย์หรือเกษตรกรที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ การผลิตไม่ได้ใหญ่โตอะไร ใช้เพียงเครื่องจักรขนาดเล็ก ผลตอบรับปุ๋ยดี ลูกค้าที่เคยซื้อไปใช้กลับมาซื้อซ้ำๆ 1 ถุง บรรจุ 25 กิโลกรัม ราคา 300 บาท หรือมือใหม่หัดปลูกไม่อยากซื้อเยอะ ก็จะมีไซซ์กระสอบเล็ก บรรจุ 5 กิโลกรัม ราคา 70 บาท สามารถนำไปผสมดินปลูกผักได้ บริการจัดส่งตามน้ำหนักจริง 

ลูกสาวช่วยทำปุ๋ย

ข้อดี ของปุ๋ยหมัก

“จากเมื่อก่อนเข้าใจว่า การใส่ปุ๋ยหมักแล้วพืชกินได้ช้า และนานกว่าพืชจะมาใช้ประโยชน์ได้ แต่จากการที่ได้ทดลองปลูก ทดลองทำมา ใส่ปุ๋ยที่หมักเองไปเพียง 1 อาทิตย์ จากผักต้นเล็กก็โตขึ้นและเขียวขึ้น ไม่ต้องรอนานเดือนหรือสองเดือน พืชสามารถนำไปใช้ได้เลย และยังช่วยประหยัดต้นทุน เราสามารถนำวัชพืชที่คนอื่นทิ้ง แต่เรานำกลับมาทำเป็นปุ๋ย แล้วก็เปลี่ยนหญ้าพวกนี้ให้เป็นเงินได้อีกทางหนึ่ง” คุณสรายุธ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดหรือเทคนิคการทำปุ๋ยหมักเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 081-820-5816

บรรจุใส่ถุงปุ๋ยอินทรีย์ ไร่กัญญพัชร

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354