เปลี่ยนพื้นที่กลางเมือง เป็นแปลงผักสลัดอินทรีย์ แหล่งอาหารกลางกรุง

การสร้างแหล่งอาหารที่เริ่มต้นจากคนในครอบครัว เป็นกิจกรรมที่หลายคนหันมาให้ความสนใจ เริ่มจากปลูกพืชผักง่ายๆ ไว้บริโภคภายในครอบครัว หากเหลือก็แบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านและจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้เสริม

คุณแอน พรมศักดิ์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับอาหารการกินในครอบครัว ด้วยความที่เธอเป็นแม่ค้าขายอาหาร จึงมีโอกาสไปจับจ่ายซื้อของในตลาดสด โดยเฉพาะพืชผัก ทำให้เห็นเส้นทางของผักแต่ละชนิดที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งปลูกและเจริญเติบโตจากสารเคมี

“เราไปตลาด สิ่งที่เราเห็นทุกวันก็คือ ผักที่เราซื้อมากิน บางครั้งเราเอามาปรุงอาหาร เพราะว่าเราเป็นคนที่ชอบทำอาหารเอง มาปรุงอาหารแล้วมีความรู้สึกว่ากลิ่นของสารเคมีกับพืชผักบางชนิดแรงมาก แรงจนเรารู้สึก ทำไมมันน่ากลัวจัง เราก็เลยเริ่มอยากปลูกผักกินเอง แรกๆ เลย ก็อยากปลูกผักเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว

เรียนรู้การทำเกษตรข้างบ้าน

ด้วยแนวคิด “เกษตรวิถีพอเพียง”

จุดเริ่มต้นการหันมาปลูกผักเพื่อบริโภคในครอบครัว เกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ บ้าน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ศึกษาวิธีการปลูก การดูแลตามกำลังและความสามารถที่ทำได้

“เราอยู่หมู่บ้านทาวน์เฮ้าส์ ใช้ชีวิตอยู่มาก็เป็น 10 กว่าปี แล้วเริ่มจากการปลูกต้นอ่อนกินเองเล็กๆ ข้างบ้าน พร้อมกับศึกษาการทำปุ๋ยหมัก เพราะเราจะปลูกผักแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเคมีเลย เราก็เลยศึกษาในเรื่องของการทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก แล้วก็ศึกษาในการใช้ชีวิตแบบวิถีพอเพียง

แต่พอทำแล้วเราศึกษาไปเรื่อยๆ ยิ่งเราไปในกลุ่มเกษตร คือ ณ สมัยนี้ จากที่ไม่มีความรู้เรื่องเกษตรเลย พอเราเข้าไปศึกษา เราจะมีเพื่อนกลุ่มวงการเกษตรใจดีเยอะมากมาย หลายคนที่เขาคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือเรา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปุ๋ยหมัก ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เขาก็ส่งเมล็ดพันธุ์มาให้ สอนการปลูก สอนการหมักดิน แล้วทีนี้เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราปลูกกินเองเยอะๆ หลากหลายแล้ว อะไรที่เราจะสามารถปลูกเสริม เพราะเราก็อยากปลูกผักดีๆ ของเราไปให้คนอื่นกินด้วย”

สวนเกษตรข้างบ้าน

ขยายสู่ “เกษตรสุขกลางกรุง”

การปรับวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งเศรษฐกิจภายนอก และหันมาเลือกวิถีชีวิตที่พึ่งตนเอง ได้กลายเป็นเครื่องการันตียืนยันว่าเขาและครอบครัวสามารถสร้างแหล่งอาหารด้วยตัวเอง ที่พร้อมส่งต่อให้กับคนรอบข้าง ด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากข้างบ้านไปยังแปลงเกษตรเล็กๆ ท้ายซอย ด้วยโมเดล โคก หนอง นา

“ก่อนหน้ามาเที่ยวนั่งเล่นอยู่ที่ท้ายซอย ทำให้เรารู้สึกไม่อยากกลับบ้านทาวน์เฮ้าส์ มันร้อน ไม่เหมือนท้ายซอยที่นี่มันโฟลว์ รู้สึกมันผ่อนคลาย มันเหมือนบ้านนอกเรา อีกอย่างพื้นที่ตรงนี้ มันดูสงบ แล้วก็ยังคงความเป็นธรรมชาติของความเป็นบ้านนอกอยู่ แต่ด้วยพื้นที่เป็นที่ค่อนข้างลุ่มต่ำ ฝนตกหนักน้ำก็จะค่อนข้างที่จะท่วมขัง จึงเอาแบ๊คโฮน้อยเข้ามายกร่องน้ำ และศึกษาเรื่องโคก หนอง นา แต่ด้วยพื้นที่เราเล็ก เราไม่สามารถทำได้เหมือนต่างจังหวัด เรื่องของน้ำก็ลำบาก เราก็ต้องพยายามขุดสระล้อมรอบพื้นที่เรา เพื่อจะเก็บกักน้ำโดยการให้มีร่องน้ำรอบบ้าน

ครั้งแรกก็เป็นแปลงปลูกผักลงดินทั่วไป เป็นการยกแปลงขึ้นมาธรรมดาปั้นแปลง หมักดิน เพราะเราตั้งใจจะปลูกผักปลูกหญ้ากินเอง หรือว่าเหลือขายเหลือแบ่งปันอยู่แล้ว แต่เนื่องจากว่าที่นี่ดินมันเหนียว สภาพอากาศในกรุงเทพฯ ร้อนชื้น พอเราปลูกบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ หรือฝนตก มันทำให้การระบายน้ำที่ไม่ดี แม้เราจะพยายามหมักดินที่ดี เวลาเราเดิน หรืออะไร การบริหารจัดการมันยาก เชื้อโรค เชื้อรา ในพืชในผัก สิ่งที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้น มันก็เกิด เพราะระบบการป้องกันไม่ดี มันก็เลยทำให้เราพัฒนามาเรื่อยๆ จนได้มาทำแปลงแบบแคร่ เพื่อที่จะเน้นการระบายอากาศของน้ำให้แปลงมันโฟลว์ ให้ดินมันมีความชุ่มชื้น มีอากาศ

เราพยามซื้อเท่าที่จำเป็นจริงๆ ไม้ไผ่ก็จะเป็นไม้ที่เราตัดมาจากบ้าน ดินก็เป็นดินเดิมที่เอามาหมัก แล้วก็เป็นมูลสัตว์ที่ฟาร์มเจ้าชายสัตว์ให้เรามาใช้ เป็นความใจดีที่เขาให้เรามาใช้ เราก็เลยตัดต้นทุนในเรื่องของการซื้อมูลสัตว์ไปได้

ส่วนระบบน้ำ เราก็เปลี่ยนมาสองสามรอบ แต่สุดท้ายถ้าเราไม่ได้ลองทำก็ไม่รู้ว่ามันผิด ถ้าเราไม่ลองทำเรา ก็ไม่รู้ว่ามันไม่ดีอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราพยายามเอาพื้นฐานเดิมโดยการที่เราไม่ได้ไปซื้อให้สิ้นเปลือง หรือว่าทำทิ้งขว้าง ถ้าอะไรมันผิดพลาด เขาก็แก้ไขปรับปรุง ทำไปแบบนี้ จนมันก็ออกมาอย่างที่เห็นได้

สำหรับสูตรการปลูกผัก ก็ไม่ได้แตกต่างกันไปเลยในแต่ละพื้นที่ พื้นฐานก็จะมีการ หมักดิน หมักปุ๋ยด้วยปุ๋ยหมัก มูลสัตว์ ใบไม้ ใบหญ้า การทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผักเราจะออกมาได้ดี มันอยู่ที่การดูแลใส่ใจ เรามีแต่ความเป็นธรรมดา ความพอเพียง ความที่เราไม่ได้เนรมิตทุกอย่างขึ้นมา ทุกอย่างเราสร้างด้วยพื้นฐานของพื้นที่ ที่เราอยากให้มันเป็นแบบนี้จริงๆ”

“สุขกลางกรุง” สวนเกษตรเล็กๆ

ที่กลายเป็นแหล่งอาหารใจกลางเมือง

ณ ตอนนี้ คุณแอน สร้างแหล่งอาหารด้วยตัวเองได้ มีครบ มีทั้งผัก มีทั้งปลา แต่ทั้งหมดที่เห็นต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมาย แต่ด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจน และไม่ได้เอาความร่ำรวยเป็นตัวชี้วัด อย่างที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงบอกว่า สร้างแหล่งอาหารให้ตัวเองก่อน เหลือกินก็แจก ก็ขาย

“เมื่อก่อนความสัมพันธ์แบบนี้ไม่มีนะ ตอนที่พี่เป็นแม่ค้ามันก็เป็นความฉาบฉวยที่แค่ผ่านมาผ่านไป แต่พอมาอยู่ในวงการเกษตร มันมีทั้งความสัมพันธ์ที่ดีจากเพื่อน มีคนส่งของนู้นนี่มาให้ มีคนมาหาเรา มีการพูดคุยได้ ได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้เยอะ แล้วเราก็ได้คนที่เขารักและก็จริงใจกับเราเยอะมากจริงๆ”

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ Facebook : เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน โทรศัพท์ 083-029-6462