เกษตรกรพังงา ปลูกข้าวไร่ดอกข่า แซมในสวนยาง และสวนปาล์มปลูกใหม่ ผลผลิตดีมีข้าวกินตลอดปี

ข้าวเป็นอาหารหลักที่คนในถิ่นสุวรรณภูมิบริโภคมาช้านาน ในยุค 100 ปีที่ผ่านมา มีข้าวพันธุ์ต่างเป็นพันชนิด เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกต้องทำให้ชาวนาเก็บพันธุ์ของตัวเองไว้ เพราะพันธุ์เหล่านั้นเหมาะสมกับการปลูกในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นความไวแสง ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว ฤดูกาล ปริมาณน้ำซึ่งอาจไม่เหมาะกับที่อื่น ประกอบกับการสมัยก่อนการปลูกข้าวมีเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องขาย จึงทำให้พันธุ์ข้าวของไทยมีหลากหลายซึ่งเหมาะสมกับการเพาะปลูกในแต่ละท้องถิ่น

ข้าวนอกจากปลูกในนาได้แล้ว ชาวบ้านที่อยู่ในที่ดอนไม่มีน้ำขังเหมือนนาในที่ลุ่ม ก็สามารถปลูกข้าวได้ เราเรียกว่า ข้าวไร่ เคยได้ไปสัมผัสกับตัวเองบนดอยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ข้าวที่นั่นตำทุกวันเฉพาะกินได้ตลอดวันนั้น ลักษณะข้าวเมล็ดจะสั้นๆ ป้อมๆ เหมือนข้าวญี่ปุ่น กินข้าวเปล่าเข้าไปคำแรกหวานมาก นึกเปรียบเทียบกับข้าวที่เรากินในเมืองจะสู้ไม่ได้เลย มีโอกาสกินได้หลายมื้อ ประทับใจข้าวดอยอยู่ไม่รู้ลืม

ส่วนในภาคใต้เป็นภาคที่มีเกษตรกรทำนาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่พื้นที่เกษตรจะเป็นสวน ในการคมนาคมสมัยก่อนก็ไม่สะดวก ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่ลุ่มที่สามารถมาทำนาได้ก็ต้องปลูกข้าวไร่เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือนเอง ต่อมาเมื่อการคมนาคมสะดวกข้าวไร่ก็ลดความจำเป็นลงเนื่องจากการซื้อหาสะดวกกว่า จึงทำให้ชาวบ้านทอดทิ้งสายพันธุ์ข้าวต่างๆ ไป แต่มีกลุ่มชาวบ้านหลายท้องถิ่นที่อนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวไว้จำนวนหนึ่งจนในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกัน เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยดของจังหวัดพัทลุง

ข้าวไร่ดอกข่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านในแถบอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อนุรักษ์ไว้ เนื่องจากถิ่นนี้ในสมัยก่อนการคมนาคมยากลำบาก การมาซื้อข้าวในตลาดเป็นไปได้ยาก จึงต้องปลูกข้าวกินกันเอง แต่พื้นที่ก็ไม่ได้เป็นที่ลุ่มเหมาะกับการทำนา จึงต้องใช้พันธุ์ข้าวในที่ดอนปลูก ซึ่งเป็นที่มาของการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่ดอกข่า ของตำบลบางทอง ในเขตอำเภอท้ายเหมือง

กลุ่มปลูกข้าวไร่ดอกข่าหมู่ที่ 1 บ้านกลาง ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดย คุณเกรียงไกร เจียมรา ประธานกลุ่ม เปิดเผยให้เราฟังว่า ชาวบ้านในตำบลบางทอง ได้ปลูกข้าวไร่ดอกข่ากินกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ผู้สูงอายุในหมู่บ้านเล่าว่า สมัยก่อนมีข้าวไร่หลายพันธุ์ แต่มาในช่วงหลังคนไม่เห็นความสำคัญจึงทำให้พันธุ์ข้าวเหล่านั้นสูญหายไป เหลือแต่พันธุ์ข้าวไร่ดอกข่าที่ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกกินกัน

คุณเกรียงไกร เจียมรา

นอกจากการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่นไว้แล้ว ชาวบ้านในถิ่นนี้ได้อนุรักษ์การปลูกข้าวและการเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิมไว้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น การปลูกข้าวไร่ดอกข่าเริ่มจากชาวบ้านจะตัดไม้เนื้อแข็งในป่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว เลือกชนิดไม้ที่มีน้ำหนักดี ยาวประมาณ 2 เมตร เสี้ยมปลายให้แหลม เรียกว่า “ไม้สัก” (สักเป็นกริยา หมายถึงการจิ้มลงไปเหมือนการสักลายบนผิวหนังไม่ใช่ชื่อต้นไม้) 1 คน ใช้ไม้ 2 อัน เดินเรียงหน้ากระดานจิ้มไม้ลงบนพื้นให้เป็นหลุมเรียกว่าการ “แทงสัก” แล้วจะมีผู้ตามนำเอาเมล็ดข้าวไร่บรรจุไว้ในกระบอกไม้ไผ่หรือกระบอกพลาสติกพีวีซีที่ปิดก้นไว้ หยอดตามหลุมที่แทงไว้ กระบวนการทั้งหมดเรียกว่า “หนำข้าว” เป็นภาษาถิ่น ซึ่งภาคใต้หลายจังหวัดใช้คำนี้อยู่

แกละ

เนื่องจากการแทงสักจำเป็นต้องใช้กำลังข้อมือที่แข็งแรง ผู้ชายจึงรับหน้าที่นี้ ส่วนผู้หญิงจะรับหน้าที่หยอดเมล็ดข้าว แต่ละหลุมจะใช้จำนวน 3 เมล็ด แล้วใช้ก้นกระบอกเกลี่ยดินกลบเมล็ดข้าวที่หยอดไว้ สำหรับระยะห่างจะใช้ระยะประมาณ 20 เซนติเมตรเป็นเกณฑ์ การที่จะแทงสักจะทำในช่วงเดือนสิงหาคมจะดูวันถัดจากวันฝนตกเป็นหลักเพราะดินจะนุ่มเหมาะสำหรับการแทงสักโดยไม่ต้องใช้แรงมาก ในช่วงหลังจากหยอดข้าวมักจะมีนกเขามาคุ้ยหลุมกินเมล็ดข้าว ต้องคอยเฝ้าระวังนกให้ดี หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ เมล็ดข้าวจะงอกโผล่ทะลุดินออกมา ระยะนี้ชาวบ้านเรียกว่าระยะ “แทงเข็ม” เพราะต้นข้าวจะแทงใบขึ้นมาจากดินคล้ายเข็ม

หลุมละ 3-4 เมล็ด

ช่วงนี้เรื่องนกจะไม่มีปัญหา เมื่อผ่านเวลาไปอีก 7 วัน ใบที่แทงเหมือนเข็มจะเริ่มคลี่ออกเรียกว่าระยะ “ยอดสร้อย” ในระยะนี้เกษตรกรจะเริ่มเดินสำรวจหลุมที่หยอดไป ถ้าหลุมไหนเสียหายไม่ขึ้นก็จะถอนเอาต้นข้าวในหลุมที่มีจำนวนมากว่า 3 ต้น มาปลูกซ่อมในหลุมดังกล่าว การจำกัดไว้ไม่ให้มีต้นข้าวเกินหลุมละ 3 ต้น ทำให้ข้าวเติบโตได้ดี

 

ปลูกแซมในสวนยางหรือสวนปาล์มปลูกใหม่

พื้นที่ปลูกข้าวไร่ดอกข่าจะเป็นพื้นที่ในสวนปาล์มน้ำมันหรือสวนยางพาราที่เพิ่งปลูกใหม่เพราะยังไม่มีร่มเงาบังต้นข้าว พื้นที่ปลูกยางพาราจะสามารถปลูกข้าวไร่ได้ 3 ปี ส่วนสวนปาล์มน้ำมันจะปลูกได้แค่ 2 ปี เพราะใบปาล์มจะคลุมแปลง แสงแดดที่ได้จะไม่เพียงพอสำหรับต้นข้าว พื้นที่ที่ปลูกนี้ไม่ใช่เป็นของคนปลูกข้าวแต่คนปลูกข้าวจะทำความตกลงกับเจ้าของสวนยางหรือปาล์ม โดยเจ้าของสวนจะให้ใช้พื้นที่ฟรีแลกกับการดูแลต้นยางหรือต้นปาล์มตอบแทน เป็นการได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย สมัยก่อนครัวเรือนหนึ่งจะใช้พื้นที่ปลูกแค่ 1 หรือ 2 ไร่ ซึ่งเพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือน ผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่ของข้าวไร่ดอกข่าอยู่ที่ 500-600 กิโลกรัม

ใช้พื้นที่ในสวนใหม่

การปลูกข้าวไร่ของชาวบ้านเป็นการคัดสายพันธุ์ไปตามธรรมชาติ ข้าวไร่ดอกข่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินชุดของจังหวัดพังงาโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ในปีแรกที่ปลูก แต่มีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะการปลูกครั้งที่สองและสาม อาจเป็นเพราะเนื่องจากมีการสืบทอดสายพันธุ์มาหลายชั่วอายุคน ในระยะเจริญเติบโตแทบจะไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยและดูแลเลย

ข้าวไร่

มีการนำมาปลูกที่จังหวัดชัยนาทภาคกลางปรากฏว่าไม่มีกลิ่นหอม และจากการปลูกที่อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกลิ่นหอมไม่มากเมื่อหุง แสดงถึงพันธุกรรมที่ตอบสนองเฉพาะดิน เพราะข้าวไร่ดอกข่าเมื่อหุงจะมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย และจากทดลองใส่ปุ๋ยเคมี ข้าวไร่ดอกข่าจะตอบสนองต่อปุ๋ยโดยจะมีการเจริญเติบโตของต้นข้าวได้ดีกว่าปกติ แต่ข้าวจะมีผลผลิตไม่เต็มรวง ต้นข้าวมีความสูงกว่าปกติล้มได้ง่าย รวงข้าวมักหักคอรวง

แปลงข้างป่ายาง

เมื่อข้าวเข้าระยะน้ำนมจะมีนกกระจาบมารบกวน ชาวบ้านจะใช้กรับไม้ไผ่ไล่นก หรือถังทำให้มีเสียงดัง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ข้าวเริ่มสุกจะไม่มีศัตรู ข้าวไร่ดอกข่าจะปลูกเดือนสิงหาคมและเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม ข้าวทางภาคใต้จะไม่ใช้เคียวเกี่ยวเหมือนทางภาคอื่น แต่จะใช้ แกละ แทน แกละมีลักษณะเป็นแผ่นไม้มีขนาดเท่าประมาณครึ่งฝ่ามือ มีใบมีดฝังอยู่ การเกี่ยวจะเก็บทีละรวงมากำไว้เป็นกำ ใช้ต้นข้าวผูกมีขนาดสองมือกำ เรียกว่า รวบ มีน้ำหนักประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม เรียงตากแดดไว้ในแปลง ประมาณสองสามแดดก็เอามานวดด้วยเครื่อง แล้วเอาข้าวเปลือกมาตากแดดอีกสองสามแดดก็จะนำใส่ยุ้งฉาง

ปัจจุบันชาวบ้านนำมาใส่กระสอบปุ๋ยขนาดใหญ่เก็บไว้ในบ้าน เมื่อต้องการกินก็จะเอามาสีที่โรงสีของชุมชน โดยทางโรงสีชุมชนจะเอาข้าวเปลือกเป็นค่าสีในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อข้าวเปลือก 12 กิโลกรัม ในวันหนึ่งๆ โรงสีชุมชมจะมีข้าวเปลือกจากชาวบ้านสีวันละประมาณ 300-400 กิโลกรัมเสมอ ข้าวที่ชาวบ้านนำไปกินในบ้านจะเป็นข้าวที่สีนานกว่าข้าวกล้องอีกหน่อยแต่ไม่ถึงกับขัดขาวเนื่องจากชาวบ้านจะนำข้าวไปหุงกินโดยไม่มีการปนข้าวอ่อน ส่วนที่สีจำหน่ายมักจะเป็นข้าวกล้อง ผู้บริโภคมักจะนำไปปนข้าวหอมมะลิหรือข้าวอ่อน

ราคาซื้อขายข้าวเปลือกของข้าวไร่ดอกข่า ขายกันอยู่ที่ตันละ 30,000-33,000 บาท แล้วแต่ผลผลิตที่มีหรือช่วงฤดูกาล และราคาข้าวสารต่อกิโลกรัมคือ 80 บาท บางปีผลผลิตน้อยชาวบ้านก็จะหวงไว้บริโภคในครัวเรือนไม่จำหน่ายออกมา ทำให้ข้าวไร่ดอกข่าในปีนั้นแพงกว่าปกติ สนใจข้าวไร่ดอกข่า ติดต่อได้ที่ คุณเกรียงไกร เจียมรา ประธานกลุ่ม ที่เบอร์โทรศัพท์ (098) 092-5988