มะเยาหิน พืชที่น่าจับตามอง พืชในมุมมองใหม่ของพืชที่ให้พลังงานทดแทน นอกเหนือจากสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

หลายวันก่อน มีโอกาสพูดคุยกับคุณเสถียรภัค  นวลกา ดีเจคลื่น 107.0 MHz และเป็นเกษตรกรปลูกมะเยาหิน อยู่ที่ 168 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดพะเยา ที่เวทีวิชาการเรื่อง การปลูกมะเยาหินเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มะเยาหิน เป็นพืชในมุมมองใหม่ของพืชที่ให้พลังงานทดแทน นอกเหนือจากสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ  ดุษฎี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ข้อมูลว่ามีพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่มีการนำเข้ามาจากทางเหนือของประเทศลาว เรียกว่า “มะเยาหิน” มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า china wood oil หรือ kalo Nut tree

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พืชชนิดนี้มีปลูกกันพอสมควรในลาว มีผลผลิตปีละ 200-300 ตัน โดยส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศเวียดนาม  จากการนำตัวอย่างน้ำมันที่ได้ส่งไปวิเคราะห์คุณสมบัติทางเชื้อเพลิงที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) พบว่า ค่าความร้อนใกล้เคียงกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

คณะวิจัยได้นำเข้ามะเยาหินมาปลูกในประเทศไทย ในปี  2551 ด้วยความร่วมมือของศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้  และสหกรณ์พืชพลังงานทดแทน ประมาณ  100 ไร่ และปลูกกระจายในภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 500  ไร่ ปัจจุบันแปลงที่มีอายุสูงที่สุดประมาณ 2-3 ปี และให้เริ่มให้ผลผลิตในปีแรกแล้ว จากการสำรวจผลผลิตในประเทศลาวพบว่า ให้ผลผลิตสูงประมาณ  800-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า พืชชนิดนี้ นอกจากเมล็ดจะนำมาหีบน้ำมันแล้ว ยังมีร่มเงา และดอกที่สวยงาม และใบไม่ร่วงในฤดูหนาวเหมือนสบู่ดำ การตัดแต่งกิ่งยังสามารถใช้เป็นชีวมวลได้อีก และยังเป็นไปได้ที่จะปลูกเพื่อขายคาร์บอนเครดิต

ต่อมาในปี  2553 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยโครงการวิจัยประเภททุนวิจัยนวมินทร์ ด้านพลังงานทดแทน ได้สนับสนุนวิจัยให้ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินโครงการ “การศึกษาศักยภาพ ในการปลูกมะเยาหินเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมแบบครบวงจรและการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคนิคไมโครเวฟ/อตราโซนิค”

จากการศึกษาพบว่า มะเยาหินมีผลผลิตที่สูงกว่าสบู่ดำ เมล็ดสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพมีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซล และสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำยาเคลือบไม้ (แล็คเกอร์) กิ่งก้านให้ร่มเงา และยังสามารถใช้เป็นชีวมวล ระบบรากสามารถอุ้มน้ำได้ดี เปลือกหุ้มเมล็ดสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นถ่านกัมมันต์ได้ มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมในการปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินน้ำ และใช้พัฒนาเป็นเชื้อเพลิงใช้ในครัวเรือนหรือชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ผลการวิจัย

ผลการศึกษาศักยภาพในการปลูกมะเยาหิน เพื่อควบคุมอุณหภูมิแวดล้อมแบบครบวงจร และการผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคนิคไมโครเวฟ/อัลตราโซนิค  ซึ่งในการศึกษาโครงการวิจัยนี้ได้สรุปรายละเอียดผลการศึกษาดังต่อไปนี้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

1466673716

มะเยาหินหรือสบู่ดำหิน เป็นไม้ยืน มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ใบจะมีขนาดใหญ่ เมื่ออายุประมาณ  3-6 เดือน        มีจำนวน 4-5 แฉก สีเขียวอ่อน และมีอายุเพิ่มมากขึ้นจะมีขนาดเล็กลง และมีสีส้ม ดอกมะเยาหินจะออกเป็นช่อ จะมีสีขาวอมชมพู เมื่อดอกบานผลมะเยาหินมีลักษณะเกลี้ยงกลมคล้ายลูกมะนาวแยกเป็นพู 3 พู แต่ละพู มีเมล็ด 1 เมล็ด บางลูกจะมีถึง 4 พู ซึ่งผลมะเยาหิน  1 ผล มีส่วนที่เป็นเปลือก 14-20% เมล็ด 53-60%

ศักยภาพการให้ผลผลิต และการสำรวจสายพันธุ์มะเยาหินในลาว

สายพันธุ์มะเยาหินที่ปลูกในลาว ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Vernicia Montana Lour. โดยมีการปลูกตั้งแต่เมืองแปก แขวงเชียงขวาง ถึงเมืองชำเหนือ เมืองเวียงไชย แขวงหัวพัน โดยแขวงหัวพัน มีทั้งหมด 8 เมือง มีพื้นที่ประมาณ 17,186 ตารางกิโลเมตร ลักษณะการเพาะปลูกต้นมะเยาหินในลาว แบ่งเป็น  4 แบบ

1466673698

จากข้อมูลการสำรวจสายพันธุ์มะเยาหินโดยส่วนใหญ่จะปลูกพันธุ์  Vernicia Montana Lour. โดยจากการสำรวจและประเมินศักยภาพด้านผลผลิต พบว่า ที่ช่วงอายุต้นมะเยาหินต่ำกว่า 4 ปี จะให้ผลผลิตเมล็ดมะเยาหิน 360-400 ลูกต่อต้น หรือ 23-25  กิโลกรัมต่อต้น และให้ผลผลิตต่อไร่ ที่ระยะการปลูก 4×4 เมตร (100 ต้น) จะให้ผลผลิต  2,300-2,500 กิโลกรัม/ไร่ ระยะ 5×5 เมตร (64 ต้น) จะให้ผลผลิต 1,472-1,600 กิโลกรัม/ไร่ และระยะการปลูกที่กำลังได้รับการส่งเสริมในลาว คือ ระยะ 7×7 เมตร (32 ต้น) จะให้ผลผลิต  736-800 กิโลกรัม/ไร่  ซึ่งราคาซื้อขายในกรณีที่ขายทั้งเมล็ดยังไม่แกะเปลือกออกจากเท่ากับ 8-12 บาท/กิโลกรัม และกรณีแกะเปลือกเหลือแต่เมล็ดในจะมีราคาขาย  12-14 บาท/กิโลกรัม โดยจะมีผู้รับซื้อคือ พ่อค้าคนกลาง และกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

ศักยภาพการให้ผลผลิต และการตอบสนองสภาพแวดล้อมของมะเยาหิน จังหวัดเชียงใหม่

การปลูกมะเยาหินในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแปลงปลูกทดสอบอายุ 2-3 ปี พบว่า ส่วนใหญ่จะปลูกสายพันธุ์ Vernicia Montana Lour.โดยมีการเพาะปลูกแบบพืชสวน ที่ระยะการปลูก 4×4 เมตร และ 3×4 เมตร มีความสูงของต้น 5-6 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 3.5-4 เมตร และมีการตัดแต่งกิ่งต้นมะเยาหิน เพื่อให้เกิดยอดของต้นมะเยาหิน และรักษาทรงพุ่มของต้น และรูปแบบการปลูกอีกแบบหนึ่งจะปลูกแซม กับต้นลำไยในจังหวัดลำพูน

การให้น้ำสำหรับต้นมะเยาหินจะอาศัยน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ส่วนการจัดการเรื่องปุ๋ย และสารเคมี จะมีการให้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรืออาจใส่ปุ๋ยยูเรีย เพิ่ม46-0-0 ประมาณ  20-30 กรัม/ต้น ปริมาณสารอาหารในแปลงทดสอบของโครงการ พบว่า ดินมีความเป็นกรดปานกลางในช่วง pH 5.6-6.0 และมีปริมาณสารอินทรีย์วัตถุ (OM) ต่ำ ซึ่งทำให้ดินขาดแหล่งของธาตุอาหาร 3 ชนิด คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส  และกำมะถัน ปริมาณไนโตรเจนต่ำเพียงร้อยละ 0.04 ทำให้เกิดการโตช้า ใบมีสีเหลือง และกลายเป็นสีน้ำตาลร่วงหล่น

ส่วนในเรื่องโรคแมลงที่พบว่า มีแมลงมวนปีกแข็ง มวนสบู่ดำ เพลี้ยไฟ หนอนเจาะผล และหนอนม้วนใบ เข้าทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลมะเยาหิน ทำให้ผลของมะเยาหินบิดเบี้ยว ศักยภาพในการผลผลิตในแปลงทดสอบ และจากการสำรวจแปลงมะเยาหินในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า จะให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ  4-8 กิโลกรัม/ต้น หรือประมาณ  400-800 กิโลกรัม/ไร่ ที่ระยะการปลูก 4×4 เมตร จำนวน  100 ต้น/ไร่

การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวมะเยาหินจะเริ่ม เมื่ออายุมะเยาหิน 3 ปีขึ้นไป โดยจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษา การใส่ปุ๋ย และการให้น้ำ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งจะใช้วิธีเก็บมะเยาหินโดยใช้ไม้สอยผลมะเยาหินจากต้น และอีกวิธีหนึ่ง คือ เก็บผลผลิตที่ตกตามใต้ต้นมะเยาหินหลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดมะเยาหินแล้วก็จะนำมาผึ่งให้แห้งเพื่อป้องกันเมล็ดเน่าเสีย จากนั้น นำมากะเทาะเอาเปลือกออก ซึ่งในการกะเทาะเอาเปลือกออกจะใช้แรงงานจากคนในการกะเทาะโดยใช้เหล็กขอกะเทาะเอาแต่เมล็ดในของมะเยาหิน เมื่อได้เมล็ดในแล้วก็นำไปผึ่งตากให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง และใส่ตะกร้าหรือกระสอบป่านเพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ต่อไป

การศึกษาปริมาณน้ำมันจากเมล็ดมะเยาหิน

ในการศึกษาและทดสอบปริมาณน้ำมันในเมล็ดมะเยาหิน ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการสกัดน้ำมันด้วยวิธีการ  ทางกล ได้แก่ เครื่องสกัดแบบสกรู และเครื่องสกัดแบบไฮดรอลิคและทางเคมี โดยใช้ตัวทำละลายเฮกเซน

1466673723

จากผลการสกัดน้ำมันจากเมล็ดมะเยาหินด้วยเครื่องอัดแบบสกรูและแบบไฮดรอลิค ที่อุณหภูมิเมล็ดเท่ากับอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม  พบว่า การสกัดโดยใช้เครื่องอัดแบบสกรูให้ปริมาณน้ำมันสูงสุด 22.16% โดยน้ำหนัก ในขณะที่การสกัดด้วยเครื่องอัดแบบไฮดรอลิคให้ปริมาณน้ำมันสูงสุด 17.79% โดยน้ำหนัก ซึ่งการสกัดทางกลยังพบว่า ยังมีปริมาณน้ำมันที่ยังคงเหลืออยู่ในถาด ขณะเดียวยังพบว่า การให้ความร้อนเมล็ดมะเยาหินก่อนสกัด สามารถเพิ่มปริมาณน้ำมันที่สกัดได้อย่างจาก 17.92% เป็น 25.39% เมื่อให้ความร้อนเมล็ดก่อนสกัดจาก 60 อาศาเซลเซียส เป็น 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา  30 นาที ผลของความร้อนทำให้น้ำมันมีสีเข้มขึ้น

ส่วนการสกัดด้วยวิธีทางเคมีด้วยการใช้สารละลายเฮกเซน พบว่า เวลาที่ใช้ในการสกัดที่เหมาะสม คือ ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และที่อัตราส่วนน้ำหนักมะเยาหินต่อปริมาตรตัวทำลาย 1:12 จะให้ปริมาณน้ำมันสูงที่สุด 33.27%

การประเมินสมรรถนะเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก โดยใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากมะเยาหิน

ผลการทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 5 KWe โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลเล็กขนาด 11 แรงม้า  พบว่า น้ำมันไบโอดีเซลจากมะเยาหินจะมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจำเพาะ 0.452-0.665 kg/hr ซึ่งใกล้เคียงกับไบโอดีเซลชุมชน ทั้งนี้ จะให้ประสิทธิภาพเชิงความร้อนในช่วง 11-22% ที่ภาระโหลดการทำงาน 20-60% เมื่อนำมาใช้งานกับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ค่ามลพิษจากไอเสียที่เกิดขึ้น ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และควันดำ มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกรมขนส่งทางบก  ส่วนผลการทดสอบความทนทานของเครื่องยนต์โดยทำการทดสอบเครื่องยนต์ต่อเนื่อง ระยะยาว  120 ชั่วโมง โดยวัดปริมาณโลหะในน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ พบว่า ปริมาณโลหะที่ตกค้างในน้ำมันหล่อลื่นประกอบไปด้วย เหล็ก และอลูมิเนียม ในปริมาณ  60.6 mg/kg และ 8 mg/kg สำหรับน้ำมันดีเซล

และเมื่อใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากมะเยาหินทดสอบ พบมีปริมาณโลหะที่ตกค้างในน้ำมันหล่อลื่นเพิ่มขึ้น 25.74% และ 23.50% ซึ่งมีค่าจากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะตกค้างของเหล็ก และอลูมิเนียม ในปริมาณ 76.2 mg/kg และ 9.88 mg/kg ตามลำดับ ส่วนโลหะชนิดอื่นจากการตรวจวิเคราะห์ไม่พบในน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องยนต์ทดสอบ

เทคนิคปลูก ของคุณเสถียรภัค

คุณเสถียรภัค บอกว่า ตนเป็นเกษตรกรที่ไม่ขยัน จึงมองหาพืชที่ปลูกแล้วไม่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลมากนัก จึงเริ่มจากปลูกต้น ยูคาลิปตัส แต่ต้นยูคาลิปตัสเมื่อตัดแล้วก็หมดไป จึงค้นค้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบเรื่องต้นมะเยาหิน เห็นว่าสามารถเก็บเกี่ยวได้ยาวนาน ในขณะที่ปลูกเพียงครั้งเดียว จากนั้นจึงเดินทางไปดูการปลูกมะเยาหิน ของคุณลุงมูล ไชยเมฆา เกษตรกรที่ปลูกมะเยาหินที่บ้านแม่ป๊าก ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่าน่าสนใจ เพราะในขณะนี้กระแสเรื่องพลังงานทดแทน หรือน้ำมันบนดิน มาแรง ร่วมถึงเรื่องสภาพแวดล้อมเรื่องโลกร้อน และการปลูกป่าต้นน้ำ

คุณเสถียรภัค เล่าว่า มะเยาหินเป็นพืชโตเร็ว เมื่อนำมาปลูก พบว่าเป็นต้นไม้ที่โตเร็วมาก เพียงปีเศษ ต้นมะเยาหินมีความสูง 8-10 เมตร ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นพืชพลังงานทดแทนในอนาคตแล้ว มะเยาหิน ยังใช้เป็นวัตถุดิบ ทำหมึกคอมพิวเตอร์ ใช้ทำหมึกปากกาลูกลื่น หมึกพิมพ์ธนบัตร ทำสีน้ำมันทาไม้ ใช้ทำน้ำมันเงา ใช้ทำน้ำมันหล่อลื่นซึ่งแทนแรงกดได้ถึง 20 ตัน ทำน้ำมันตังอิ้วบริสุทธิ์ส่วนผสมในการทำพระสมเด็จ หัตถกรรมทำร่มที่บ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เคลือบกระดาษที่ใช้ทำร่ม เปลือกใช้ทำถ่านอัดแท่งคุณสมบัติคล้ายถ่านหิน กิ่งก้านและใบใช้ทำเชื้อเพลิงเขียว กากที่เหลือจากการหีบน้ำมันแล้วใช้ทำปุ๋ยหมัก เพราะสามารถตรึงธาตุไนโตรเจนได้อย่างดี ประกอบกับบ้านแม่ขะจาน อำเภอเวียงป่าเป้า เป็น แหล่งต้นน้ำ ทั้งแม่น้ำกวง แม่น้ำลาว ที่ประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

ปัจจุบัน คุณเสถียรภัค เตรียมขยายพันธุ์ให้เพื่อนเกษตรกรนำไปปลูก เนื่องจากมะเยาหิน เป็นพืชน้ำมัน ทำให้ความงอกมีระยะเวลาจำกัด หากทิ้งไว้นานเปอร์เซ็นความงอกจะลดลง จนถึงไม่งอกเลย  เมื่อเมล็ดแก่แห้งแล้วต้องรีบเพาะ

การเพาะมะเยาหิน ทำโดยนำเมล็ดใส่ถุงแช่น้ำไว้ 2 คืน จากนั้นนำไปตากแดดให้เปลือกกะเทาะออก โดยตากแดดไว้ 4-5 ชั่วโมง เสร็จแล้วบรรจุลงในถุงนำไปแช่น้ำ แล้วนำมาสะเด็ดน้ำ นำพลาสติคสีดำมาปู นำขี้เถ้าแกลบลง รดน้ำให้ชุ่มประมาณพอปั้นเป็นก้อนได้ นำเมล็ดที่เสด็ดน้ำแล้วนำมาคลุกกับขี้เถ้าแกลบจนทั่ว ให้ใช้พลาสติกสีดำเท่านั้น จากนั้นห่อเมล็ดที่คลุกขี้เถ้าแกลบแล้วนำไปตากแดด ประมาณ     5-6 วัน แล้วเปิดดู เลือกเอาเมล็ดที่งอกและเกือบจะงอกลงถุงเพาะ ได้เลย ขั้นตอนนี้ต้องระวังเมล็ดที่งอก จะหัก แตก หรือช้ำ เป็นอันว่าจบขบวนการเพาะ จากนั้นรอดูการเจริญเติบโต

มะเยาหินชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขัง แต่ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ จึงจะได้ผลดี สามารถลูกได้ทุกที่ที่มีน้ำ หากได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีหลังการปลูก สามารถให้ผลผลิตได้ภายใน 2 ปี ให้ผลผลิตปีละครั้งเป็นอย่าง ต่ำ และให้ผลผลิตตลอดอายุต้น 60-70 ปี

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์