เผยแพร่ |
---|
คุณนิทัศน์และคุณโสภา สุขแสนโชติ หรือพี่ตุ๋ยและพี่ต้อย หันเหจากอาชีพรับราชการออกมาจับอาชีพเกษตรกรรมอย่างจริงจัง ศึกษาค้นคว้าทำมาหลายอย่างแต่มาจบที่องุ่นไร้เมล็ด
คุณนิทัศน์เข้าเรียนเกษตรที่จังหวัดน่านเมื่อปี 2518 รุ่น 38 จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนพะเยา เมื่อจบการศึกษาทางด้านเกษตรก็สอบเข้ารับราชการเมื่อปี 2523 ในตำแหน่งเจ้าพนักงานการเกษตร 2 วนเวียนอยู่ในจังหวัดพะเยา ระหว่างรับราชการก็ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ตำแหน่งสุดท้ายคือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณในปี 2557 ส่วนคุณโสภาหรือพี่ต้อย ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนแม่จัน จังหวัดเชียงราย เข้าเรียนที่เกษตรจังหวัดน่านในปี 2518 รุ่น 38 เหมือนกัน แต่เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้วออกมารับราชการที่สถานีประมงน้ำจืด จังหวัดพะเยา ระหว่างรับราชการก็ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีเช่นกัน และลาออกก่อนเกษียณในปี 2557 ตามพี่ตุ๋ย ตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง สำนักงานประมงจังหวัดพะเยา
ข้อมูลทางวิชาการ จากองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ระบุว่า องุ่นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitisvinifera องุ่นไม่มีเมล็ด-องุ่นดำ เขียว แดง Seedless grape องุ่น เป็นไม้ผลชนิดเถาเลื้อยที่มีอายุยาวนานหลายปี สามารถปลูกได้ในสภาพภูมิอากาศหลายแบบ แต่องุ่นที่ปลูกในสภาพที่มีอากาศหนาวเย็นจะมีคุณภาพสูงกว่า องุ่นเป็นไม้ผลวงศ์ Vitacea สกุล Vitis มีหลายชนิด แต่พันธุ์ที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนิด Vitisvinifera มีถิ่นกำเนิดในเอเชียที่มีอากาศอบอุ่น อุณหภูมิ 10-20 องศาเซลเซียส หรืออยู่ระหว่างเส้นแวง (latitute) ที่ 20 องศาและ 51 องศาเหนือ และ 20 องศา และ 40 องศาใต้ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศกึ่งร้อนถึงร้อน สำหรับประเทศไทยเชื่อว่านำเข้ามาปลูกในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งปี พ.ศ.2493 หลวงสมานวนกิจได้นำองุ่นจากแคลิฟอร์เนียมาปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร ต่อมาในปี 2506 ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณณศรี และคณะ ได้นำองุ่นยุโรปหลายสายพันธุ์มาทดลองปลูก ประสบความสำเร็จและขยายผลไปสู่เกษตรกรในเขตภาคกลาง ปลูกเป็นการค้าจนกระทั่งปัจจุบัน
ลักษณะโดยทั่วไป
องุ่น เป็นไม้เลื้อยประเภทยืนต้น มีอายุยาวนานหลายปี การปลูกจะต้องมีค้างรองรับ เถาองุ่นจะมีลักษณะเป็นปล้อง บริเวณข้อจะมีใบ 1 ใบอยู่เรียงสลับกันไปตามข้อ และมีมือจับซึ่งเป็นช่อดอกที่ไม่พัฒนาอยู่ตรงข้ามกับใบ บริเวณโคนก้านใบจะมีกิ่งแขนงเล็ก 1 กิ่งและตา 1 ตา เป็นตารวมประกอบด้วยตาเอก (Primary bud) 1 ตาอยู่ตรงกลางและตารอง (Secondary bud) 2 ตา ตาเอกมีความสำคัญมาก เพราะประกอบด้วยตายอดมือและกลุ่มของดอก ผลองุ่นจะมีลักษณะเป็นพวงแบบที่เรียกว่าราคีส (rachis) ผลมีหลากหลายลักษณะ ขนาดและสีภายในผลอาจมีเมล็ดหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว องุ่นจะพักตัวในฤดูหนาว เมื่ออากาศอบอุ่นก็จะแตกตาเกิดยอดใหม่ซึ่งจะออกดอกและติดผลบนกิ่งใหม่ แต่ในประเทศไทยซึ่งอากาศไม่หนาวเย็น ต้นองุ่นจะไม่พักตัว วิธีการทำให้องุ่นให้ผลผลิตคือ เมื่อกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลแล้ว จะใช้วิธีการตัดแต่งและใช้สารบังคับให้ตาแตกออกมาเป็นยอดใหม่และออกดอกให้ผลผลิต
สภาพภูมิอากาศและปัจจัยที่เอื้ออำนวย
เนื่องจากองุ่นมีหลายสายพันธุ์ และเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศต่างๆ ได้ดี จึงสามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่หลากหลาย แต่บนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นจะทำให้องุ่นออกดอกและให้ผลผลิตได้ดีและผลผลิตมีคุณภาพดี อย่างไรก็ตาม บนพื้นที่สูงจะมีปัญหาฝนตกมากเกินไปและแสงแดดน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องโรคทำลายมากจึงควรปลูกในสภาพโรงเรือน
พันธุ์องุ่น
พันธุ์ที่นิยมปลูกมี 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Beauty Perlette (สีเหลือง) พันธุ์ Ruby Seedless (สีแดง) และพันธุ์ Loose Perlette (สีเหลือง) โครงการหลวงได้ศึกษารวบรวมพันธุ์องุ่นไว้หลากหลายพันธุ์ และทำการวิจัยโดยมุ่งเน้นพันธุ์รับประทานสดที่มีคุณภาพดี ปัจจุบันมีพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก 2 พันธุ์ คือ
- พันธุ์บิวตี้ ซีดเลส (Beauty Seedless) เป็นองุ่นชนิดไม่มีเมล็ด ผลกลมมีสีดำ ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกผลหนา รสชาติหวานอร่อย อายุตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยว (ประมาณ 5-6 เดือน)
- พันธุ์รูบี้ ซีดเลส (Ruby Seedless) เป็นองุ่นไม่มีเมล็ดเช่นกัน แต่ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะยาวรี สีแดง ช่อผลมีขนาดใหญ่ เปลือกหนากว่าพันธุ์ Beauty Seedless รสชาติหวาน กรอบ อร่อย อายุตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 6-7 เดือน
นอกจากนี้ยังมีพันธุ์องุ่นอื่นๆ อีกหลายพันธุ์ที่มีความสำคัญ ได้แก่ ต้นตอพันธุ์ 1613C (Othello x Selonis) และพันธุ์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองเช่น พันธุ์ Kyoho, Honey Red, Frame Seedless และ Early Muscat เป็นต้น
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต
องุ่นสามารถตัดแต่งต้นให้มีผลผลิตได้ตลอดปี แต่บนที่สูงจะนิยมบังคับองุ่นให้มีผลผลิต ในช่วงเวลาที่ผลผลิตมีคุณภาพสูงคือในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม และเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ตลาดและการใช้ประโยชน์
องุ่นเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคผลสด และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำองุ่นและไวน์ สำหรับองุ่นที่มูลนิธิโครงการหลวงปลูก ส่วนใหญ่เน้นเพื่อการบริโภคผลสดเป็นหลัก
สำหรับการปลูกองุ่นไร้เมล็ดของคุณตุ๋ยและคุณต้อยนั้น ในช่วงที่รับราชการ ทั้งสองคนก็ทำอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพรองไปด้วย และทำมาหลายอย่างด้วยกัน เช่น ขิง ฟักทอง สวนสักทอง มะม่วง ฝรั่งตอนกิ่งจำหน่าย รับจ้างปลูกต้นจามจุรีหรือฉำฉา โดยจะดูแลจนติดความสูง 2 เมตรในราคาต้นละ 20 บาท และรับเปลี่ยนยอดมะม่วงยอดละ 10 บาท รับรองจนติดจึงเก็บเงิน
เมื่อลาออกจากราชการจึงหันมาลงมือทำการเกษตรเต็มเวลา โดยคุณตุ๋ยสนใจการปลูกองุ่นอยู่แล้ว ได้ศึกษาตามสื่อไอทีและไปศึกษาจากแปลงปลูกในหลายๆ ที่ในเขตภาคเหนือตอนบนเพื่อนำมาปรับใช้ ครั้งสุดท้ายชวนคุณต้อยภรรยาไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงรายแถบอำเภอเทิงและเวียงแก่น เผอิญได้พบนักวิชาการเกษตรของโครงการหลวงที่ดูแลการส่งเสริมการปลูกองุ่นให้กับเกษตรกรชนเผ่า ทางนักวิชาการเกษตรถามว่า ตั้งใจจะปลูกสักกี่ต้น ด้วยความที่ทราบข้อมูลมาไม่มากเพราะตอนเรียนก็ไม่ได้มีการสอนเป็นการเฉพาะเจาะจง คิดว่าคงเหมือนกับพืชอื่นทั่วไป จึงตอบไปว่าจะปลูกสัก 200 ต้น เขาบอกว่าการลงทุนสูงมาก ในระยะแรก ถ้าปลูก 200 ต้นลงทุนหลักแสน ต้นหนึ่งลงทุนที่ 4,500-5,000 บาท เลยทีเดียว เพราะองุ่นถือเป็นพืชมรดกในไทยจะให้ผลผลิตได้ถึงอายุ 50-60 ปี ส่วนในต่างประเทศนานเป็น 200 ปี สวนนี้ปลูกในที่ดินที่เช่าจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน ตั้งชื่อว่า “สวนบ้านแสนสุข” อยู่บริเวณบ้านห้วยเคียน ตำบลแม่กา ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยพะเยา
เจ้าของปลูกจะปลูกในโรงเรือนเพื่อป้องกันปัญหาโรคแมลงและนกที่จะเข้ามาจิกกินผลองุ่น หากปลูกแบบนอกโรงเรือนต้องใช้สารเคมีมาก การปลูกใช้ระบบปลอดภัยจากสารพิษ จะใช้สารเคมีในช่วงที่เมล็ดขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ช่วงอื่นจะใช้วิธีกล
ศัตรูที่สำคัญขององุ่นคือเพลี้ยไฟ แต่ด้วยความที่เป็นนักวิชาการเกษตรมาก่อน รู้ถึงอุปนิสัยของแมลงตัวนี้ดีว่าไม่ชอบความชื้นหรือน้ำฝน จึงฉีดพ่นน้ำในแปลงปลูก เพลี้ยไฟคงคิดว่าฝนตกจึงไม่เข้าทำลาย ด้านข้างของโรงเรือนจะล้อมด้วยตาข่ายเพื่อกันนก
ในฤดูหนาว องุ่นในสวนนี้จะให้ผลผลิตมาก เจ้าของสวนสามารถกำหนดวันให้ผลผลิตออกได้โดยนับวัน 110 วัน หลังตัดแต่งกิ่งใบ (พรุนกิ่ง) ฤดูร้อนจะให้ผลผลิตน้อย เนื่องจากองุ่นเป็นพืชที่ให้ผลผลิตยาวนาน ฉะนั้น การเตรียมหลุมปลูกจึงมีความสำคัญ
ในสวนของคุณตุ๋ยและคุณต้อย ใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ปลูกจำนวน 39 ต้น มี 4 สายพันธุ์คือ บิ้วตี้ซีดเลส ซื้อมาจากไร่ของพ่อหลวงเซ้ง ใกล้มูลนิธิโครงการหลวงหนองหอย เฟรมซีดเลสและป๊อกดำ สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตจากนนทบุรี ส่วนพันธุ์ราชินีซื้อจากร้านขายต้นไม้ในงานเทศกาลกินปลาของเทศบาลเมืองพะเยา การเลือกพื้นที่ปลูก จังหวัดพะเยาต้องอยู่ในระดับความสูงกว่าน้ำทะเล 300-1550 เมตร และอยู่บริเวณที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีแสงแดดดีมาก เนื่องจากเป็นการเริ่มปลูก (ทดลองปลูก) จึงเลือกที่ว่างบนคันสระน้ำหน้าบ้านซึ่งมีพื้นที่กว้างพอสำหรับปลูกได้ 1 แถว มีการปรับพื้นที่ให้เรียบก่อนขุดหลุมปลูก แหล่งน้ำที่ใช้เป็นบ่อน้ำตื้นและประปาหมู่บ้าน การเตรียมหลุมขุดขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ใส่ขี้วัว ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปุ๋ยยูเรีย และเชื้อไตรโคเดอร์มา ผสมคลุกเคล้ากับดินให้เต็มหลุม เริ่มปลูกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปี 2555
การสร้างโรงเรือน ใช้หลักการของโครงการหลวง โดยเหตุผลของการสร้างโรงเรือนนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเนื่องจากอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย หลังคามุงด้วยพลาสติกใสความหนา 150 ไมครอน หน้ากว้าง 4 เมตร ล้อมด้านข้างด้วยตาข่ายเพื่อป้องกันนกและค้างคาว ค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือนรวม 150,000 บาท แยกเป็นค่าวัสดุ 95,000 บาท ค่าแรง 30,000 บาท อื่นๆ 25,000 บาท ค่าพันธุ์องุ่นต้นละ 200 บาท
ดูแลรักษาอย่างไร
การดูแลเอาใจใส่หลังจากปลูกครบ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยดังนี้
ปุ๋ยทางดิน ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ทุก 10 วัน อัตรา 1 ขวดเครื่องดื่มชูกำลังต่อน้ำ 20 ลิตร ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ทุก10 วันอัตรา 2 ช้อนโต๊ะหว่านรอบต้น ปุ๋ยยูเรียทุก 10 วัน อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ หว่านรอบต้น ปุ๋ยทางใบ พ่นไคโตรซาน ปุ๋ยน้ำชีวภาพ อัตรา 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วัน โดยปฏิบัติตั้งแต่อายุ 1 เดือน ถึง 10 เดือน
สำหรับการจัดรูปทรงกิ่งและต้น…หลังจากปลูกแล้วต้องคอยสังเกตว่าเถาจะเลื้อย เตรียมสร้างกิ่งแขนงใน 1-2 เดือน หลังจากปลูก จัดรูปทรงให้เป็นตัว H และผูกเถาองุ่นด้วยเชือกพลาสติก เพื่อสร้างกิ่งแขนงผูกกับลวดที่ขึงตึงไว้ให้ได้รูปเป็นก้าง โดยคอยสังเกตการทอดยอดของเถาองุ่นและตัดแต่งยอดเถาที่ไม่ต้องการทิ้ง
ป้องกันโรคแมลง…ใช้ลูกเหม็นใส่ถุงพลาสติก เจาะรูให้กลิ่นลูกเหม็นกระจายออกจากถุง เพราะกลิ่นของลูกเหม็นจะไล่แมลงศัตรู โดยผูกถุงไว้กับลวดเป็นจุดๆ ระยะห่างตามความเหมาะสม ใช้มหาหิงค์ก้อนซึ่งมีกลิ่นฉุน ละลายน้ำกับน้ำร้อน อัตรา 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วัน หรือใช้สารชีวภาพ อัตรา 1 ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ฉีดพ่นทุก 10 วัน เพื่อป้องกันเชื้อราและกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยปฏิบัติเป็นประจำตั้งแต่อายุ 1-10 เดือน
การบังคับออกดอก…วิธีปฏิบัติ งดให้น้ำ 15-30 วัน (15 กรกฎาคม -16 สิงหาคม) จากนั้นตัดแต่งใบหรือการพรุนใบทั้งต้น (ตัดยาว) เหลือตาบน ข้อที่ 8-10 ป้ายสารคอร์แมคซ์ ปลายกิ่งตาที่ 1-4 (16 สิงหาคม) ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 รดน้ำให้ชุ่มก่อนที่มันจะออกดอก พ่นสารป้องกันโรครา ใส่ปุ๋ย 15-15-15 สองสัปดาห์ต่อครั้งจนดอกบาน หลังดอกบาน 7-10 วัน ฉีดฮอร์โมนยืดช่อดอกครั้งที่ 1 จากนั้นพ่นครั้งที่ 2 เพื่อสลัดผล เมื่อติดผลขนาดหัวไม้ขีดไฟ ซอยผลออก 40 เปอร์เซ็นต์ ระยะติดผลใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ครั้งที่ 2 หลังอายุผล 60 วัน ใช้สูตร 13-13-21 ครั้งที่ 3 หลังอายุผล 90 วัน ใช้สูตร 0-0-60 ส่วนอาหารเสริมแคลเซียมโบรอน สูตร 21-21-21 ฉีดพ่นทุก 7 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 7-15
สำหรับตลาด การจำหน่ายผลผลิตไม่มีปัญหา มีผู้สั่งจองทั้งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในจังหวัดพะเยา แม่ค้าในตลาด พนักงานบริษัทรถยนต์ในกรุงเทพฯ ส่งทางรถทัวร์ พนักงานธนาคารจนผลผลิตไม่พอจำหน่าย เพราะคุณภาพขององุ่นที่นี่จะกรอบอร่อย ที่อื่นๆ อาจนิ่มและไม่กรอบเหมือนในสวนนี้
การปลูกองุ่นไร้เมล็ด ถือเป็นพืชที่แนะนำให้ผู้ที่เกษียณอายุสามารถทำเป็นสวนหลังบ้านสัก 10 ต้น เพราะไม่ต้องการดูแลมากมาย ทำงานในช่วงเช้าๆ พอสายหลัง 9 โมงก็พักผ่อนได้ การให้น้ำก็ใช้ระบบท่อ หรือระบบสปริงเกอร์หัวพ่นฝอยได้ ผลผลิตต้นหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัม ราคาขายทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท แต่ที่สวนนี้ขายเพียง 180 บาทเท่านั้น
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือศึกษาดูงาน ติดต่อที่สวนองุ่นไร้เมล็ดบ้านแสนสุข เลขที่ 215 หมู่ที่ 2 บ้านห้วยเคียน ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา โทรศัพท์ 08-1783-4428