การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง

หน่อไม้ฝรั่ง เป็นพืชผักสำคัญของประเทศไทย ผลผลิตที่มีคุณภาพดีส่วนใหญ่ถูกส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศและมีปริมาณความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตลาดการค้าหน่อไม้ฝรั่งมีทิศทางแนวโน้มดีตลอดมา ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยคือ ไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี ประชากรมีคุณภาพชีวิตดี ทำให้มีความต้องการผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่มีมาตรฐานสูงจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

หน่อไม้ฝรั่งวางจำหน่ายที่ซับโปโร ฮอกไกโด ญี่ปุ่น
หน่อไม้ฝรั่งในตลาด ที่จังหวัดซากะ เกาะคิวชู ญี่ปุ่น

ดังนั้น ไทยเราจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานผลผลิตทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ รวมทั้งพยายามบริหารจัดการให้มีผลผลิตสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของตลาดการค้าโลก

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งมากกว่า 10,000 ไร่ ในแต่ละปีสามารถผลิตผลผลิตได้มากกว่า 20,000 ตัน ผลผลิตแบ่งแยกตามคุณภาพหน่อออกได้เป็นหลายเกรด ซึ่งแต่ละเกรดมีราคารับซื้อแตกต่างกัน เกรด A มีราคารับซื้อสูงสุดและเป็นเกรดที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการมาก เกรด B และ C มีราคารับซื้อลดหลั่นกันลงมา เกรดสุดท้ายคือกลุ่มตกเกรดที่มีราคารับซื้อต่ำสุด

การทำการเกษตรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคำว่า มาตรฐานผลผลิต ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งเรื่องคุณภาพและปริมาณธุรกิจการค้ามีการแข่งขันสูง คนรวยต้องการบริโภคสินค้าหรืออาหารคุณภาพดี สินค้าคุณภาพต่ำสินค้าตกเกรดจะถูกคัดทิ้งไม่มีใครต้องการ

ปลูกในธรรมชาติ

หน่อไม้ฝรั่งก็เช่นกันหากเกษตรกรต้องการให้ผลผลิตมีมาตรฐานดีเป็นที่ต้องการของตลาดก็จำเป็นต้องคํานึงถึงปัจจัยสําคัญ 2 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยทางพันธุกรรม ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่มีพันธุกรรมดีก็จะถ่ายทอดลักษณะที่ดีส่งต่อไปยังรุ่นลูก เช่น เป็นต้นพันธุ์ที่ให้หน่อเกรด A มาก หน่อตกเกรดน้อย เมื่อได้รับการปลูกและดูแลดี ผลผลิตก็ควรจะมีหน่อเกรด A มากหน่อตกเกรดน้อยด้วยเช่นกัน

2. ปัจจัยสภาพแวดล้อม ผู้เขียนขอรวมทุกๆ สิ่งที่นอกเหนือจากเรื่องของพันธุกรรมไว้ในหัวข้อนี้ ได้แก่ การจัดการสภาพแสง อุณหภูมิ ความชื้นการเลือกพื้นที่และการเตรียมพื้นที่ปลูก การปลูกและการดูแลรักษา การเก็บผลผลิตและการขนส่ง เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องทำให้ผลผลิตมีมาตรฐานสูงเป็นที่ต้องการของตลาด

ผลผลิต
คุณภาพดี

การจัดการทั้งสองปัจจัยและบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะส่งผลส่งเสริมให้ผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งมีมาตรฐานสูงเป็นที่ต้องการของตลาดการค้า และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชอายุยืนมีการขยายพันธุ์โดยเมล็ด การเลือกเมล็ดมาใช้สำหรับผลิตเป็นต้นพันธุ์ในแปลงปลูกจึงมีความสำคัญ โดยพอสรุปถึงแหล่งที่มาของเมล็ดได้ดังนี้

2.1 เมล็ดจากธรรมชาติ เมล็ดพันธุ์กลุ่มนี้เกิดจากการผสมพันธุ์โดยแมลงหรือลมพัดเอาละอองเกสรตัวผู้จากต้นหรือแปลงข้างเคียงมาผสมพันธุ์ เกิดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตต่ำ เจริญเติบโตช้า เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ควรนำมาใช้ขยายพันธุ์

เมล็ดเกิดจากการผสมในธรรมชาติ

2.2 เมล็ดพันธุ์ลูกผสม เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์โดยต้นพ่อแม่ที่ถูกคัดเลือกนํามาจับคู่ผสมพันธุ์ เกิดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและควบคุมระบบผลิตโดยนักวิชาการทางด้านการปรับปรุงพันธุ์ จึงเหมาะสมต่อการนำมาใช้ผลิตเป็นต้นพันธุ์ในแปลงหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการค้า
ยังมีต้นพันธุ์อีกชนิดหนึ่งคือ ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยเราได้เริ่มมีการผลิตต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้นอีกวิธีการหนึ่ง ในระยะเริ่มแรกมีหน่วยงานวิชาการคือ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการผลิต โดยรับการถ่ายทอดความรู้มาจากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ต้นพันธุ์ก่อนปลูกในถุงเพาะชำ

หน่อไม้ฝรั่งรุ่นแรกถูกนำไปปลูกเปรียบเทียบกับต้นพันธุ์ที่เพาะมาจากเมล็ดธรรมชาติ เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้ลักษณะการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตหรือลักษณะการต้านทานโรค ผลจากการปลูกในครั้งนั้น พอสรุปได้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งให้การยอมรับต้นพันธุ์ที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อแนวทางส่งเสริมการใช้ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งเพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น

ผู้เขียนได้ขอให้เกษตรกรผู้มีประสบการณ์การปลูกหน่อไม้ฝรั่งมานานนับ 10 ปี คือ คุณโสภณ อารยธรรม จาก จังหวัดราชบุรี ช่วยให้ข้อมูลด้านผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่เกิดจากต้นพันธุ์เมล็ดธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พอสรุปได้ดังนี้

1. ต้นพันธุ์จากเมล็ดธรรมชาติ ต้นพันธุ์กลุ่มนี้เกิดจากเมล็ดที่ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ ดังนั้น ทุกต้นจะมีพันธุกรรมแตกต่างกัน ให้ผลผลิตแตกต่างกันทุกต้น หากลองแยกผลผลิตตามคุณภาพหน่อ แบ่งเป็นเกรด 3 กลุ่ม และลองคํานวณเป็นเปอร์เซ็นต์ของแต่ละกลุ่ม พอสรุปได้ดังนี้

1.1 กลุ่มหน่อเกรด A มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

1.2 กลุ่มหน่อเกรด B และ C มีประมาณ 50%

1.3 กลุ่มหน่อตกเกรด มีประมาณ 30%

2. ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นพันธุ์กลุ่มนี้เกิดจากแม่พันธุ์ต้นเดียวกันมีพันธุกรรมเหมือนกันทุกต้นการให้ผลผลิตสม่ำเสมอใกล้เคียงกันหากลองแยกผลผลิตตามคุณภาพหน่อเเบ่งเป็นเกรด 3 กลุ่ม และลองคํานวณเป็นเปอร์เซ็นต์ของแต่ละกลุ่ม พอสรุปได้ดังนี้

2.1 กลุ่มหน่อเกรด A มีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

2.2 กลุ่มหน่อเกรด B และ C มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

2.3 กลุ่มหน่อตกเกรด มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญต่อแนวทางการยกระดับมาตรฐานระบบการผลิตหน่อไม้ฝรั่งของประเทศไทย ทำให้มองเห็นได้ว่าการปลูกและการดูแลรักษาหน่อไม้ฝรั่งที่ถูกต้องเหมาะสมควรดำเนินการต่อไปในลักษณะใด มีสิ่งใดควรปรับปรุงแก้ไข ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นงานทางวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์หลายด้านมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอนและวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง

1. การคัดเลือกต้นพันธุ์ดี ต้นพันธุ์ดีมีอยู่ในธรรมชาติในแปลงปลูกของเกษตรกรจำเป็นต้องค้นหาและคัดเลือกอย่างมีขั้นตอน ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากต้นพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกนี้จะทําหน้าที่ถ่ายทอดพันธุกรรมดีไปสู่ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งรุ่นต่อไปอีกนับแสนนับล้านต้น ดังนั้น หากการคัดเลือกทําได้ไม่ดีพอ ต้นพันธุ์รุ่นลูกที่ผลิตตามออกมาก็จะมีลักษณะที่ไม่ดีพอเช่นกัน

หน่อจากต้นแม่พันธุ์ดีสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

2. การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เราใช้ส่วนตาของหน่อไม้ฝรั่งเป็นชิ้นส่วนขยายพันธุ์ ตา ติดอยู่ด้านข้างของหน่ออ่อนของหน่อไม้ฝรั่ง นําตามาฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ (คลอร็อกซ์) ความเข้มข้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลานานประมาณ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว จำนวน 3 ครั้ง ชิ้นส่วนตาเหล่านั้นจะถูกนำไปวางบนผิวอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สูตรเพิ่มปริมาณต่อไป

การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์

3. การเพิ่มปริมาณ ชิ้นส่วน ตา ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แล้วสามารถเกิดยอดใหม่จำนวนมากได้ประมาณ 3-4 เท่า ทุกๆ รอบการเปลี่ยนอาหาร 1 ครั้ง (30 วัน) อาหารสูตรเพิ่มปริมาณที่นิยมใช้คือ อาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในกลุ่มไซโตไคนิน (cytokinin) โดยใช้สารตัวที่ชื่อว่าไคเนติน (kinetin) ที่มีอิทธิพลช่วยในการแบ่งเซลล์และชักนำให้เกิดยอดจำนวนมาก

เพิ่มปริมาณ

4. การชักนำให้เกิดราก เมื่อเพาะเลี้ยงและเปลี่ยนอาหารจนได้จำนวนต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งเพียงพอต่อความต้องการ ผู้เพาะเลี้ยงจะนำต้นพันธุ์เหล่านั้นมาเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตรชักนำให้เกิดราก โดยใช้อาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในกลุ่มออกซิน (auxin) โดยใช้สารตัวที่ชื่อว่า เอ็นเอเอ (NAA) สารตัวนี้มีอิทธิพลชักนำให้ต้นหน่อไม้ฝรั่งเกิดรากที่สมบูรณ์ จากนั้นจึงนำไปอนุบาลต่อไป

ชักนำให้เกิดราก

5. การอนุบาล ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่เกิดรากสมบูรณ์สามารถนำมาอนุบาลโดยล้างวุ้นที่ติดมากับระบบรากออกจากนั้นจึงแช่ในสารป้องกันเชื้อราและนำไปอนุบาลในวัสดุ เช่น ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ควบคุมสภาพแสง อุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมเป็นเวลานานประมาณ 45 วัน จึงย้ายไปปลูกลงในถุงเพาะชำและดูแลต่อไปอีกเป็นเวลาประมาณ 60 วัน จึงจะนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติได้ต่อไป

การอนุบาล
อยู่ในโรงเรือน

หน่อไม้ฝรั่ง เป็นพืชผักที่มีอนาคตทางการตลาดดี มีตลาดต่างประเทศรองรับและยังมีความต้องการผลผลิตอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภาคการเกษตรไทยก็ยังสามารถปรับปรุงยกระดับมาตรฐานผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งให้เพิ่มสูงขึ้นได้อีกมาก โดยเฉพาะการหาแนวทางปรับสัดส่วนปริมาณผลผลิตหน่อเกรด A หรือเกรดพรีเมี่ยมให้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็หาวิธีลดปริมาณหน่อตกเกรดให้มีน้อยลง ซึ่งอาจทําได้โดยการสนับสนุนให้มีการใช้เมล็ดพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งลูกผสมหรือการใช้ต้นพันธุ์ที่ผลิตจากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทดแทนการใช้ต้นพันธุ์ที่เพาะจากเมล็ดธรรมชาติ ร่วมกับการให้ความรู้เรื่องการปลูกและดูแลรักษาหน่อไม้ฝรั่งอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะเป็นการผสมผสาน 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อระบบการผลิต

ผลที่ได้รับก็คือ มาตรฐานผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งในภาพรวมของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกหน่อไม้ฝรั่งรายอื่นๆ การปลูกหน่อไม้ฝรั่งก็จะเป็นอาชีพการเกษตรที่มั่นคงอีกอาชีพหนึ่งของเกษตรกรไทย  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 086-084-6362 FB:Woranut Senivongs Na Ayuthaya

…………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ –31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!!คลิกดูรายละเอียดที่นี่