“เคพกูซเบอรี่” ผลไม้ดีเพื่อสุขภาพ

“สุขภาพดี ไม่มีขาย…?” หากอยากมีสุขภาพดี ก็ควรหันมาสนใจบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ หรือรับประทานผลไม้เพื่อสุขภาพดี อย่างเช่น “เคพกูซเบอรี่” (cape gooseberry) ที่อุดมไปด้วย “วิตามินซี” มีคุณสมบัติป้องกันไข้หวัด ภูมิแพ้ “วิตามินเอ” ช่วยป้องกันอาการตาบอดในที่มืด บำรุงสายตา บำรุงผิว ผมสวยดกดำ

เคพกูซเบอรี่ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้แถบประเทศเปรู ชิลี มีชื่อวิทยาศาสตร์ตามภูมิศาสตร์กำเนิดว่า Physalis Peruviana L. ผลไม้ชนิดนี้จัดอยู่ในตระกูล (Family) Solanaceae เช่นเดียวกับ พริก มะเขือ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ พิทูเนีย ในบางครั้ง เคพกูซเบอรี่ ถูกเรียกว่า Strawberry tomato, Husk tomato และ Ground Cherry แต่คนไทยเรียกว่า “โทงเทงฝรั่ง”

ส่งเสริมปลูก “เคพกูซเบอรี่” แทนฝิ่น

เคพกูซเบอรี่ เป็นหนึ่งในผลไม้ขนาดเล็ก ที่มูลนิธิโครงการหลวงนำมาส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกสร้างรายได้ทดแทนฝิ่น เคพกูซเบอรี่ปลูกไม่ยาก เริ่มจากเพาะเมล็ดประมาณ 1 เดือนก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยย้ายกล้าปลูก มาปลูกในระยะ 1.5×1.5 เมตร หรือ 2×2 เมตร

ลักษณะโดยทั่วไปของเคพกูซเบอรี่ เป็นพืชที่มีเนื้อไม้นิ่ม ข้ามปี แต่นิยมปลูกปีเดียว ลำต้นสูง 0.90-1.8 เมตร กิ่งก้านแผ่กระจายออกเป็นพุ่มสีค่อนข้างม่วง ใบอ่อนนุ่ม รูปหัวใจ ยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ตาดอกเกิดขึ้นตรงข้อกิ่ง ดอกสีเหลืองเข้ม มีจุดสีน้ำตาลม่วง 5 จุด ที่โคนดอก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ หลังกลีบดอกร่วง กลีบเลี้ยงสีเขียวจะหุ้มผลไว้ จากนั้น 70-80 วัน กลีบเลี้ยงเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว ผลข้างในมีสีเหลืองทองจึงจะเก็บเกี่ยวได้

ผลเคพกูซเบอรี่มีลักษณะกลมเกลี้ยง ผิวเรียบเป็นมัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว เนื้อผลนุ่มฉ่ำแทรกด้วยเมล็ดสีเหลืองรสหวานอมเปรี้ยวนิดๆ คล้ายสับปะรดผสมมะเขือเทศ หรือมะเขือเทศผสมองุ่น แต่มีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากกว่า การใช้ประโยชน์ทางอาหาร เช่น แยม ซอส พาย พุดดิ้งกวน ไอศกรีม รับประทานเป็นสลัดผลไม้ น้ำปั่น จุ่มน้ำผึ้ง จุ่มผลด้วยช็อกโกแลต รับประทาน เคพกูซเบอรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีแล้ว…ยังได้ช่วยให้ชาวเขามีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนอีกด้วย

……………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!!คลิกดูรายละเอียดที่นี่