รู้หรือไม่? ลูกชิด ทำมาจาก ต๋าว

ประโยชน์ ใช้ทำลูกชิด มีพืชที่เป็นญาติใกล้ชิดกับต๋าวคือ ซก พบมากแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้ทำลูกชิดได้เช่นกัน ต๋าว กับ ซก ต่างกันเล็กน้อย

ต๋าว หรือ ตาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arenga westerhoutti Griff. พบในอินเดียและไทย โดยเฉพาะเขตป่าภูเขาสูง อย่าง น่าน อุตรดิตถ์ และบางอำเภอของจังหวัดเลย

ต๋าว มีใบย่อยเรียงกันเป็นระเบียบในระนาบเดียวกัน ที่จังหวัดเลยมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อบ้าน “แก่วตาว” อยู่ในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย

ซก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arengapinnata Werr. มีใบย่อยเรียงกันหลายระดับ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อ เขาซก

พบประชากรของต๋าวหนาแน่นที่ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

ต๋าว เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ต้นสูง 6-15 เมตร ไม่แตกกิ่ง ไม่แตกหน่อ ใบเป็นแฉกคล้ายมะพร้าว รูปขนนก โคนของเส้นใบมีกาบใบห่อหุ้ม เรียกว่า รก

ตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งออกดอก ใช้เวลา 8-15 ปี แล้วแต่สภาพความอุดมสมบูรณ์ของต้น

ผลต๋าวตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเกี่ยวได้ ใช้เวลา 30-36 เดือน

ต๋าว 1 ต้น ให้ผลผลิตได้ 7-10 ทะลาย แต่ละทะลายมีประมาณ 3,000 ผล ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก ใส่กระบะรถจนเต็มได้เหมือนกัน ใช้คนหามขึ้นรถ 3-4 คน

ต๋าว 1 ต้น มีอายุให้เก็บเกี่ยวได้ 7-8 ปี เฉลี่ยแล้วปีละ 1 ทะลาย

พืชชนิดนี้ เริ่มให้ผลผลิตจากยอดลงมาโคนต้น หมายถึงไล่เก็บผลผลิตลงมาได้ 7-8 ทะลาย จากนั้นต้นก็จะตาย

ฤดูการเก็บต๋าวอยู่ในช่วงปลายฝน จนถึงต้นฤดูหนาว ชาวบ้านจะปีนต้น ใช้มีดตัดทะลายลงมาจากต้น จากนั้นจึงตัดแขนงทะลาย ปลิดขั้วผลหรือนำทั้งแขนงผลลงมาต้มในหม้อหรือปีบ ต้มในน้ำเดือด ราว 1 ชั่วโมงจากนั้นจึงนำมาบีบเอาเนื้อใน

ก่อนที่ชาวบ้านเขาจะเลือกตัดทะลายต๋าว เขามีการทดสอบความสุกแก่ โดยปลิดผลจากแขนง แล้วผ่าประมาณครึ่งผล ดูสีของเนื้อในเมล็ดที่เรียงชิดกัน 3 เมล็ด ต่อผล หากเมล็ดในยังเป็นวุ้น แสดงว่ายังอ่อนอยู่ เก็บเกี่ยวยังไม่ได้

หากใช้ไม้จิ้มเนื้อในเมล็ด หากหนืดพอดี สามารถเก็บเกี่ยวได้

แต่หากเนื้อในสีขาวขุ่น เริ่มมีกะลาสีดำล้อมรอบ แสดงว่าแก่เกินต้ม ควรเก็บไว้ทำพันธุ์

ที่อำเภอบ่อเกลือ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง อำเภอนี้เป็นต้นกำเนิดของน้ำน่าน หรือเรียกว่า “ขุนน้ำน่าน” เป็นสายน้ำเล็กๆ เดินข้ามหรือกระโดดข้ามได้

อำเภอนี้ มีแหล่งเกลือธรรมชาติ ที่ชาวบ้านหุงต้มมานานแล้ว บ่อเกลือ เป็นสายน้ำใสๆ ผุดขึ้นมาจากดิน น้ำมีรสเค็มจัด ทั้งๆ ที่ผุดขึ้นมาข้างๆ ลำน้ำ ชาวบ้านนำน้ำเค็มไปต้มจนได้เม็ดเกลือสีขาวบริสุทธิ์ ถือว่าเป็นของมีค่ามาช้านานแล้ว

ยุคเก่าก่อนเกลือมีค่า จึงเรียกว่า “ทองคำขาว”

ไม่ไกลจากบ่อเกลือนัก บนภูเขา มีต้นเต่ารั้งยักษ์ หรือ Giant Mountain caryota เป็นปาล์มขนาดใหญ่มาก ช่วงใดที่นั่งรถผ่านแล้วมีหมอกจางๆ คลุมบริเวณนั้นอยู่ มีความรู้สึกว่า แถบนั้นเป็นป่าดึกดำบรรพ์ ชวนให้นึกถึงไดโนเสาร์

Giant Mountain caryota เป็นป่าปาล์มที่ อาจารย์ปิฏฐะ บุนนาค บิดาปาล์มประดับของไทย พูดถึงบ่อยๆ อาจารย์ปิฏฐะ ท่านล่วงลับไปแล้ว เมื่อปี 2539

ยุคเก่าก่อน การนำผลต๋าวออกมาจากป่า ทำได้ด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะหน้าฝน ต้องไปสร้างทับ ทำที่อยู่ชั่วคราว ซึ่งมีอุปสรรคต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไข้ป่าหรือมาลาเรีย

ชาวบ้านจะไปกันเป็นทีม ช่วยกันทำงานแข่งกับเวลา โดยตัดทะลายต๋าว นำมาต้ม บีบ จากนั้นก็หาบหามมายังถนน รอผู้ซื้อไปรับ

การเก็บต๋าวจากป่าทุกวันนี้มีน้อยลง เนื่องจากต้นต๋าวในธรรมชาติมีไม่มากนั่นเอง แต่ที่คนพื้นราบ ยังได้ลิ้มรสลูกชิดอร่อยๆ ในรูปของขนมหวาน เพราะว่าต๋าวส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยแหล่งรวมต๋าวมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

 

ทุกวันนี้มีการปลูกต้นต๋าวที่อำเภอบ่อเกลือ จำนวนหลายหมื่นต้น แต่ผลผลิตยังได้ไม่มากนัก