ผู้เขียน | เทตโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดอ่างทอง เล่าให้ฟังว่า จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่ปลูกกล้วยน้ำว้า จำนวน 15,025 ไร่ การปลูกมีทั้งเป็นการปลูกแบบสวนหลังบ้านเพื่อได้ผลผลิตไว้กินใช้ในครัวเรือน และปลูกในเชิงการค้าเพื่อก่อให้เกิดรายได้จากการขายผลผลิตกล้วย เกษตรกรมักมีพื้นที่ปลูกกล้วยตั้งแต่ 3 ไร่ขึ้นไป และสำหรับเกษตรกรที่ปลูกกล้วยเพื่อตัดใบขายในแต่ละปีจะมีรายได้มากกว่า แสนบาท
เป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการปลูกกล้วยเพื่อตัดใบขายคือ ผู้ปลูกต้องเลือกหน่อพันธุ์ดี ปลอดโรคมาปลูก มีการใส่ปุ๋ยให้น้ำเพียงพอ ทำแนวป้องกันลม ต้องป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูกล้วยไม่ให้เข้าทำลายใบกล้วยให้แตก ฉีกขาด ใบเหลือง หรือใบเป็นรูพรุน ซึ่งหากปฏิบัติได้ก็ทำให้ได้ใบกล้วยที่สมบูรณ์พร้อมตัดไปขายได้
แมลงที่เป็นศัตรูของกล้วยที่สำคัญ ได้แก่ “หนอนม้วนใบ” มันจะกัดกินที่ริมใบให้แหว่งเข้าไปเป็นทางยาว “ตั้กแตนผี” ตัวอ่อนและตัวแก่ชอบกัดกินใบ “หนอนกระทู้” ตัวอ่อนชอบกัดกินใบตองอ่อนที่ยังไม่คลี่ใบ หรือกัดแทะกลางใบให้ทะลุเป็นรูโตตามขนาดและวัยของตัวหนอน และ “หนอนร่าน” มันชอบกัดกินใบที่กำลังเปลี่ยนจากสีตองอ่อนเป็นสีเขียวแก่
ยังมีแมลงศัตรูกล้วยอีกพวกหนึ่ง ได้แก่ “มวนร่างแห” มันจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบกล้วย ทำให้ใบเหี่ยว “ด้้วงเต่าแตง” ตัวแก่ชอบกัดกินใบตองยอดอ่อน “หนอนปลอก” หนอนตัวอ่อนชอบกัดกินใบเพื่อนำมาทำปลอกหุ้มตัว ทำให้ใบฉีกขาดเสียหาย
การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูดังกล่าว ทำได้โดยการเลือกหน่อพันธุ์ที่แข็งแรง ไม่มีโรคมาปลูก รักษาสวนกล้วยให้สะอาด เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูกล้วย หากเกษตรกรปฏิบัติตามนี้ก็จะทำให้การปลูกกล้วยตัดใบได้ใบตองสวยสมบูรณ์ ขายได้ราคา และเป็นช่องทางทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
คุณอำนวย อินโอภาส เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าตัดใบเป็นชาวตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เล่าให้ฟังว่า “ปลูกกล้วยน้ำว้า 5 ไร่ ปลูกกล้วยมาหลายสิบปี เมื่อปลายปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นเวลานานทำให้ต้นกล้วยตายไปหมด เมื่อน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติได้ไปซื้อหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าจากแหล่งพันธุ์ดีที่น่าเชื่อถือได้มาปลูก กล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตไว ปลูก 6-8 เดือน ก็เริ่มตัดใบขายได้เงินแล้ว จะตัดใบทุกวันหรือวันเว้นวัน นำใบที่ตัดมาซอยแล้วพับใบให้เป็นมัดหรือแหนบ แต่ละวันจะได้ 30-40 แหนบ แหนบละ 10 กิโลกรัม ถ้านำไปขายที่ตลาดในเมืองจะขาย 12-15 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้แต่ละวันจะมีรายได้จากการตัดใบขาย 300-500 บาท
การตัดใบจะตัดทั้งใบอ่อนและใบเขียว เลือกตัดใบที่ไม่แตกหรือแตกบ้างแต่เพียงส่วนน้อย การตัดใบอ่อนจะตัดใบอ่อนที่เป็นส่วนยอดของต้นกล้วยลงมาถึงใบที่ 3-4 นำใบที่ตัดมาซอยแล้วพับทำเป็นมัดหรือแหนบละ 10 กิโลกรัม ถ้านำไปขายที่ตลาด พ่อค้าจะซื้อ 10-13 บาท ต่อกิโลกรัม ตัดใบอ่อน 1 วัน จะพักต้น 2-4 วัน เพื่อรอให้แตกใบยอดก่อนจึงวนมาตัดใหม่ ถ้าตัดใบอ่อนหมดทั้งดงหรือสวนก็พักต้น 15 วัน เพื่อรอให้ต้นกล้วยแตกใบยอดก่อนจึงวนมาตัดใบอีกครั้ง”
คุณอำนวย เล่่าให้ฟังตอนท้ายนี้ว่า สำหรับต้นแม่ที่กำลังออกเครือจะไม่ตัดใบ แต่ละใบจากหน่อข้างต้นแม่ที่มีความสูง 1.20 เมตร และเป็นต้นที่มีความสมบูรณ์ ใบสวยไม่ฉีกขาด นำไปขายได้ จากที่ได้ปลูกตัดใบมานานก็พอทำให้มีเงินมากจากการขายใบตอง พอกินพออยู่ และครอบครัวมีความเข้มแข็งมั่นคง
คุณละเอียด เผือกพันธุ์ เกษตรกรปลูกกล้วยน้ำว้าตัดใบขาย เล่าให้ฟังว่า ปลูกกล้วย 5 ไร่ ได้ปลูกถั่วฝักยาว 370 หลุม บวบ 50 หลุม และปลูกมะระ 100 หลุม เป็นพืชแซมเสริมรายได้ ในพื้นที่ใกล้กันปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ 100 ต้น
ส่วนการปลูกกล้วยตัดใบ ได้ตัดทั้งใบอ่อนและใบเขียว ใบที่ตัดได้จะนำมาซอยแล้วพับใบทำเป็นมัดหรือแหนบ 10 กิโลกรัม แต่ละครั้งที่ตัดจะได้ 25-40 แหนบ ตัดใบ 3-4 ครั้ง จะพักต้น 10-15 วัน เพื่อให้ต้นกล้วยเจริญเติบโตจึงวนกลับมาตัดอีกครั้ง ใบตองที่ตัดได้จะนำไปวางที่หน้าสวนเพื่อขายให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อในราคา 10-13 บาท ต่อกิโลกรัม และในช่วงที่รอตัดใบรอบใหม่ได้ไปดูแลเก็บเกี่ยวพืชผักไปขาย ซึ่งจากที่ได้ปลูกกล้วยตัดใบและปลูกพืชผักแซม ทำให้มีผลผลิตขายพอทำให้ได้เงินแสน ช่วยให้ครอบครัวพอมีพอกินและอยู่ได้อย่างมั่นคง
เรื่องราวการปลูกกล้วยตัดใบ….อาชีพเงินแสน ผู้ปลูกจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเลือกหน่อพันธุ์ดีที่ปลอดโรคมาปลูก ใส่ปุ๋ย ให้น้ำเพียงพอ แล้วต้องป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูกล้วยไม่ให้เข้าไปทำลายใบกล้วยดีมีคุณภาพขายได้เงินแสน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์แรก วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2564