สวพส. นำสื่อมวลชนดูงานโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน

โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน เกิดขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2549 ทรงรับทราบผลงานของหน่วยราชการต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ไผ่ศึกษา ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช การขยายพันธุ์เขียดแลว ของกรมประมง การขยายผลการดำเนินงานโครงการพัฒนา โดยการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการผลิตด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านเมืองแพม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวโรกาสดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าเฝ้ารับเสด็จ ทรงห่วงใยสภาพต้นน้ำลำธาร โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ น้ำ และดิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และให้พสกนิกรเหล่านั้น สามารถดำรงอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

ร้อยตรี วันนา วรรณไสย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพระพันปีหลวง มีลักษณะที่เป็นโครงการที่ดำเนินการแบบบูรณาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการในพื้นที่โครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ ในการสนับสนุนและร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อดำเนินการพัฒนาตามแนวพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว

แปลงองุ่นของคุณกองมา อินทรวงษา

วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพป่าต้นน้ำลำธาร ให้สามารถเกิดประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงและมีความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีเครือข่ายการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม ภายใต้การสนับสนุนของรัฐและองค์กรในท้องถิ่น

พื้นที่ดำเนินงาน ประกอบด้วยพื้นที่ 10 แห่ง 109 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ใน 9 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ปัจจุบันได้ขยายผลไปยังจังหวัดเลย ซึ่งมีสภาพป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอีกจังหวัดหนึ่ง

สมาชิกกลุ่มแม่บ้านโชว์ผ้าลายต่างๆ ด้วยความภาคภูมิใจ

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือตัวย่อว่า “สวพส.” เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่เข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีทีมงานนักวิชาการเข้าไปปฏิบัติงาน สถานที่ทำงานในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด โดยการสนับสนุนของ คุณวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการ สวพส. เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานโครงการดังกล่าว ผู้อำนวยการ สวพส.ได้อนุมัติให้ คุณพุทธิพัทธ์ พลอยส่งศรี นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา นำสื่อมวลชนไปติดตามเยี่ยมชมและเผยแพร่ผลงาน โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ลุ่มน้ำภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นอำเภอขยายผลงานพื้นที่

กรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนวัสดุการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ

ลุ่มน้ำภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มีประชากร 966 ครัวเรือน พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 24.96 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 525.07 ตารางกิโลเมตร ไม่ระบุการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ 19.97 ตารางกิโลเมตร หมู่บ้านเป้าหมาย ได้แก่ บ้านเทิดไทย บ้านสงบสุข บ้านร่มเกล้า บ้านรักชาติ บ้านน้ำดิบ บ้านบุ่งผลำ บ้านน้ำจวง บ้านน้ำแจ้งพัฒนา บ้านบ่อภาค หมู่ที่ 4 และบ้านบ่อภาค หมู่ที่ 5 บ้านนุชเทียน บ้านชำนาญจุ้ย บ้านใหม่รักไทย บ้านหมั่นแสวง รวมทั้งสิ้น 4 หมู่บ้าน

ปลูกองุ่นได้ผลดี ที่ชาติตระการ

เกษตรกรภาคภูมิใจกับผลผลิตเกษตรปลอดสารพิษ

คุณกองมา อินทรวงษา เกษตรกรประเภทหัวไวใจสู้  อายุ 64 ปี เป็นเกษตรกรรายแรกที่ริเริ่มปลูกองุ่น เล่าว่า ในอดีตนั้นมีอาชีพปลูกข้าวโพดและรับจ้างทั่วไป ต่อมาได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการของ สวพส. ให้เริ่มปลูกองุ่น จึงเริ่มสร้างเรือนโรงและเริ่มปลูกครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 จำนวน 6 ต้น ใช้องุ่นพันธุ์ไร้เมล็ดหรือบิวตี้ซีดเลส จากพื้นที่ 15 ไร่ ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการ ทั้งการปลูก การดูแลรักษา การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการตลาด เห็นว่าประสบผลสำเร็จจึงขยายการปลูกออกไปเป็น 20 ต้น ขายผลผลิตในการตัดขายรุ่นแรกใช้เวลาเพียง 5 เดือน ได้เงิน 1 แสนกว่าบาท จึงขยายเพิ่มอีก เป็นการปลูกองุ่นทั้งหมด 40 ต้น แต่ละเรือนโรงจะปลูกองุ่นไม่เท่ากัน เพราะสภาพพื้นที่เป็นเนินและลาดชัน ต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก นพค.34 สนภ.3 นทพ. ทำการขุดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขนาด 22x35x3 เมตร ปริมาตรน้ำ 1,421 ลูกบาศก์เมตร

เรือนโรงปลูกพืชผักที่บ้านหมากแข้ง

นอกจากได้น้ำเพื่อการเกษตรแล้ว จึงเริ่มเลี้ยงปลานานาชนิด เลี้ยงเป็ด กบ ไก่ ขยายพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกทุเรียน เงาะ ลองกอง สะตอปักษ์ใต้ เลี้ยงหมู วัวพื้นเมือง จนถึงขณะนี้เริ่มปลูกองุ่นเป็นหลัก อีกทั้งในพื้นที่แถบนี้ช่วงฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ภูขัด ภูเมี่ยง ฯลฯ หรืออาจใช้เส้นทางนี้ผ่านออกไปยังบ้านร่มเกล้า บ้านนาแห้ว ด่านซ้าย ภูเรือได้ด้วย แต่เป็นเส้นทางคดเคี้ยวบนภูเขา ผู้ขับจะต้องมีความชำนาญ นักท่องเที่ยวจะต้องผ่านเส้นทางนี้ ทำให้ผลผลิตของตนเองขายได้ดีมาก เพราะเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์แห่งแรกที่จะต้องแวะพักคน พักรถ ได้สร้างห้องน้ำและร้านอาหารไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว บางครั้งสถานที่ท่องเที่ยวเต็มหรือไม่มีที่พักแรม ตนเองจึงสร้างลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว คิดค่าบริการในราคาถูก สนใจติดต่อ คุณกองมา อินทรวงษา โทร. (089) 270-7499     

เรือนโรงปลูกผักอินทรีย์ที่ สวพส. สนับสนุนที่บ้านนุชเทียน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค

ปลูกผักได้ผลดีเยี่ยม

บ้านนุชเทียน หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มีกิจกรรมน่าสนใจมาก ร้อยตรี วันนา วรรณไสย นายทหารนอกราชการ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค เล่าให้ฟังว่า ได้จัดประชุมสมาชิกเข้าร่วมโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน นำสมาชิกไปศึกษาดูงาน เมื่อกลับมาแล้ว ทุกคนมีความเห็นจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคม 2561 มีสมาชิกแรกเข้า 11 ราย ร่วมกันสร้างเรือนโรง จำนวน 37 เรือนโรง แล้วเสร็จเดือนตุลาคม 2561 สมาชิกร่วมกันวางแผนการผลิตพืชผักร่วมกับนักวิชาการของ สวพส. สมาชิก 1 คน ใช้เรือนโรงปลูกผักประมาณ 1-3 เรือนโรง ปลูกผักอินทรีย์ตามคำแนะนำของนักวิชาการจาก สวพส. เพื่อให้ผลผลิตที่ได้ ชนิดของพืชผักตามที่ตลาดต้องการ ผักทุกชนิดต้องผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร มีตลาดรองรับผลผลิตจำนวน 2 แห่ง คือ บริษัท เอ็นแอนด์พี ออแกนนิค แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ และบริษัท พลังผัก จำกัด เขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

แหล่งน้ำที่ นพค.34 ขุดสระน้ำให้

ที่บ้านนุชเทียน นอกจากมีกิจกรรมปลูกผักอินทรีย์แล้วยังมีกิจกรรมการเลี้ยงวัวเนื้อ เพื่อนำมูลวัวมาเป็นปุ๋ยคอก กิจกรรมแปลงปลูกหญ้า กิจกรรมการปลูกพืชทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว นอกจากความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและภาคเอกชนแล้ว ทั้งนี้ อยู่ในความรับผิดชอบการประสานงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาว ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

บ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

กิจกรรมหลากหลาย

แปลงผักที่บ้านนุชเทียน

เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ขยายพื้นที่ออกไปอีกหนึ่งจังหวัด เมื่อปี 2560 โดยเฉพาะที่บ้านหมากแข้ง เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำที่มีความสำคัญยิ่งคือ ลุ่มน้ำหมัน โดย คุณวิธิวัต มันกระโทก และ คุณอดิเรก อินต๊ะฟองคำ นักวิชาการประจำ สวพส. เข้าพื้นที่เพื่อประชุมเกษตรกรให้มีความพร้อมที่จะเริ่มปฏิบัติงานตามคำแนะนำ อาชีพดั้งเดิมของเกษตรกรแถบนี้คือ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามบรรพบุรุษและไม่มีทางเลือกต่อการประกอบอาชีพ ต่อมาได้ริเริ่มปลูกแก้วมังกรบางส่วนผ่านมาประมาณ 3 ปี หลังจากประชุมแล้ว ได้รวบรวมสมาชิกได้ 17 ราย ตั้งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เริ่มปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ปลูกมะระจีน พริกหยวก และองุ่น จนถึงขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 234 ครอบครัว โดยมีนักวิชาการเข้ามารับผิดชอบการปฏิบัติงานในพื้นที่ลุ่มน้ำหมันคือ คุณสุขเกษม ร่วมรักษ์ และ คุณศุภฤกษ์ บุญประสม เป็นผู้ประสานงานและติดตามผลการปฏิบัติงานของสมาชิกภายในกลุ่ม โดยเฉพาะ คุณเอกพล ราศรีโย มีความภาคภูมิใจที่ปลูกองุ่นในเรือนโรง เก็บเกี่ยวปีละ 2 ครั้ง มีรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาท

กลุ่มแม่บ้านกกสะทอน

ผ้ามัดหมี่ลายราชินี

คุณยายกัน ทำหน้าที่ประธานกลุ่มแม่บ้านกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย คุณประนอม สิงขรณ์ ทำหน้าที่ฝ่ายการตลาดและผู้ประสานงาน ร่วมกันเล่าให้ฟังว่า มีสมาชิกจำนวน 30 คน เมื่อหลายปีก่อน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพระพันปีหลวง เคยเสด็จมาในพื้นที่บ้านหมากแข้งเป็นครั้งที่สอง เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดป้ายพระราชทาน โรงเรียนเย็นศิระฯ บ้านหมากแข้ง ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และพระองค์ทรงพระราชทานลายผ้านี้ให้ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นลายอะไร แต่ชาวบ้านจำได้ว่าพระองค์ทรงพระราชทานลายผ้านี้ ลายผ้านี้เป็นแห่งเดียวของจังหวัดเลย จากนั้นชาวบ้านได้ถวายผ้าพระองค์ท่านพร้อมลายอื่นๆ เช่น ลายหมี่ดอกแก้ว ลายหมี่นาคคู่ ลายหมี่เลย ลายหมี่ขอเครือ ลายหมี่นาคคู่ และลายมุข ที่เป็นลายพื้นเมืองดั้งเดิมของชุมชนแต่โบราณ ชาวบ้านถวายผ้าทอพระองค์ท่านผ่านโครงการศิลปาชีพต่อเนื่องมาทุกปี ตั้งแต่ปี 2517-2526 ต่อมาจึงได้ริเริ่มพัฒนาลายผ้านี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2560 เพื่อให้ลายผ้านี้เป็นลายผ้าประจำจังหวัดเลย

กรมชลประทานสนับสนุนชลประทานขนาดเล็ก

อุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ สวพส. นำสื่อมวลชนศึกษาดูงานในครั้งนี้ ในพื้นที่บริเวณนี้มีประติมากรรมเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง ความสูงของประติมากรรมวัดจากฐานเป็นรูปปั้นนูนต่ำ 2 วา 51 นิ้ว 9 คืบ หมายถึงปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในสมัยนั้น) เสด็จถึงฐานฯ บ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ฐานกว้าง 2 วา 51 นิ้ว 9 คืบ เท่ากับ 7.55 เมตร หมายเลข 7 หมายถึง ชุดปฏิบัติการจำนวน 7 นาย ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำออกปฏิบัติการทางยุทธวิธี ตัวเลข 55 หมายถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2519 เวลา 5 โมงเย็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำชุดปฏิบัติการรบถึงบ้านหมากแข้ง และเสด็จเยี่ยมประชาชน ฐานปฏิมากรรมสูง 14 เซนติเมตร หมายถึง วันที่ 14 มกราคม 2530 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ “ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญกล้าหาญ แด่ พันเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ด้วยความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว อนึ่งในสมรภูมิรบที่บ้านหมากแข้งแห่งนี้ มีบุคคลที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญ จำนวน 2 นายคือ คุณจิตร แพทย์ไชโย เป็นผู้ช่วยเหลือนักบินที่ได้รับบาดเจ็บ คุณเจริญ แสงราช เป็นผู้ช่วยเหลือในการขนส่งเสบียงอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ในการสู้รบ

กลุ่มเกษตรอินทรีย์หมากแข้ง ลุ่มน้ำหมัน จังหวัดเลย ภายใต้โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน เป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างของบ้านหมากแข้ง ที่ปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชใช้สารเคมี เป็นระบบการปลูกพืชในระบบอินทรีย์ตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปปรับใช้ อันนำไปสู่การลดใช้สารเคมีบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน