แนะเทคนิคปลูก “กล้วยไข่” ให้ได้ผลดี โตเร็ว ดูแลไม่ยาก

ในวันนี้ กล้วยไข่ กลายเป็นผลไม้ขายดี ติดตลาด ไม่แพ้ กล้วยชนิดต่างๆ ความจริง กล้วยไข่ เป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย หากใครมีพื้นที่ว่างในสวนหลังบ้าน ก็สามารถหาพันธุ์กล้วยไข่มาปลูกและบำรุงรักษาให้เจริญเติบโตได้ไม่ยาก แค่ใช้เวลาปลูกดูแลไม่นานก็จะได้ผลผลิตให้เก็บกินและเก็บขายได้

การปลูก-ดูแล

กล้วยไข่ เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปในพื้นที่ราบ ต้นกล้วยไข่เติบโตได้ดี ในสภาพดินร่วนซุยค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ “ฤดูฝน” เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการปลูกกล้วยไข่ เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ปลูกต้นกล้วยไข่ในพื้นที่โล่งมากเกินไป เพราะหากเจอปัญหาลมพัดแรง จะเสี่ยงทำให้ต้นกล้วยไข่หักโค่นล้ม หรือหักครึ่งต้นได้ในระยะตกเครือ หากเป็นไปได้ ควรปลูกไม้กันลมไว้ด้วยจะยิ่งดี

ก่อนปลูก ควรไถดะไถแปรทั้งแปลง ตากดินไว้ 5-7 วัน ขุดหลุมลึกและกว้าง 50 เซนติเมตร คลุกดินที่ขุดขึ้นจากหลุมกับปุ๋ยคอกเก่า รองก้นหลุมด้วยใบไม้หรือฟางข้าวแห้ง เกลี่ยดินที่ผสมไว้กลับลงหลุมวางหน่อกล้วยลงหากต้องการให้ต้นกล้วยตกเครือในทิศทางเดียวกัน ให้หันรอยแผลที่ตัดแยกจากต้นแม่ไปทิศทางเดียวกัน กลบหน่อกล้วยให้ลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร กลบดินเหยียบอัดพอแน่น พูนกลบดินให้สูงเหนือผิวดินเป็นรูปหลังเต่าป้องกันน้ำขังและขณะรดน้ำหรือฝนตกชุก ในระยะฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำเป็นครั้งคราว

ต้นกล้วยไข่มีการเจริญเติบโต แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก นับจากเริ่มปลูกจนต้นกล้วยตั้งตัวได้ ระยะนี้ต้นกล้วยต้องการน้ำและอาหารมาก ซึ่งจะมีผลต่อการให้ผลผลิตกล้วย ระยะที่ 2 เริ่มจากหลังการตั้งตัวจนถึงก่อนการตกเครือเล็กน้อย อาหารส่วนใหญ่จะนำไปผลิตหน่ออ่อน ระยะที่ 3 จากระยะตกเครือไปจนถึงผลแก่ จะเห็นว่าต้นกล้วยต้องมีการสะสมอาหารไว้ในปริมาณสูงตลอดทั้ง 3 ระยะจึงจะให้ผลดี

การให้ปุ๋ย

หากปลูกต้นกล้วยไข่ ในแหล่งดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีบำรุงดินด้วย ครั้งแรกใส่หลังจากต้นกล้วยไข่ตั้งตัวแล้ว 1 เดือน เลือกใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราครึ่งกิโลกรัมต่อต้น และใส่อีกครั้งในระยะตกเครือ ด้วยปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตราครึ่งกิโลกรัม ถึง 1 กิโลกรัมต่อต้น ตลอดระยะการปลูกต้องหมั่นกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องตัดหญ้าเป็นวิธีดีที่สุด ส่วนวิธีขุดสับจะมีผลเสียคือเป็นการทำลายระบบรากของต้นกล้วย

การให้ผลผลิต 

เมื่อต้นกล้วยไข่เริ่มแทงหน่อเมื่อมีอายุ 5-6 เดือน ให้ตัดแต่งหน่อกล้วย โดยเลือกหน่อไว้เพียง 2 หน่อเพื่อทดแทนต้นแม่โดยเลือกหน่อที่อยู่คนละด้านของต้นแม่ เนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรง ส่วนการตัดแต่งกิ่งและใบ แนะนำให้ตัดใบที่แห้งและใบที่เป็นโรคทิ้งไปให้เหลือเก็บไว้ในระยะเครือจวนแก่เพียง 4-5 ใบ ก็พอ

กล้วยจะเริ่มให้ปลีเมื่อมีอายุ 8-12 เดือน นับจากวันปลูก สังเกตการออกปลีจะเห็นมีใบธง จะมีขนาดเล็กกว่าใบทั่วไปและตั้งตรง ก้านปลีเริ่มยืดยาวออก ปลีมีน้ำหนักมากขึ้นจึงโน้มห้อยลง ปลีจะเริ่มบานให้เห็นดอก ไล่เวียนจากโคนมายังปลาย เมื่อได้รับการผสมเกสร ดอกจะพัฒนาเป็นผลกล้วย รวมระยะเวลาการบานใช้เวลา 10-15 วัน จากนั้นให้ตัดปลีที่ยังไม่บานออก

Advertisement

เมื่อต้นกล้วยไข่เริ่มให้ผลผลิต เครือกล้วยมีน้ำหนักมาก แนะนำให้ใช้ไม้ไผ่หรือไม้เนื้ออ่อนก็ได้ ค้ำต้นกล้วยไข่ เพื่อป้องกันลมพัดโยก ไม่ให้ต้นกล้วยไข่หักพับลงด้วย ในแต่ละเครือจะมีหวีสมบูรณ์อยู่ประมาณ 5-6 หวี และ 1 หวีมีประมาณ 10-16 ลูก เฉลี่ยแล้วใน 1 เครือจะมีผลกล้วย 70 ผล โดยประมาณ การเก็บเกี่ยว ตัดเครือเมื่อครบ 90 วัน

Advertisement

การเก็บเกี่ยว

หลังจากปลีกล้วยแทงออกจากปลีโผล่พ้นยอด ให้เก็บไม้ค้ำออกจนหมดแปลง ตัดเครือด้วยมีดคม นำปลายเครือตั้งขึ้นให้โคนอยู่ด้านล่าง ควรปฏิบัติอย่างนุ่มนวลอย่าให้กล้วยช้ำ ปล่อยให้ยางไหลออกไม่ไปเปรอะเปื้อนผลกล้วย เมื่อน้ำยางแห้งจึงเคลื่อนย้ายเข้าเก็บในโรงเรือน ก่อนส่งขายหรือมีผู้รับซื้อมาซื้อถึงที่

โรคแมลงศัตรูพืช

“โรคตายพราย” คือ โรคพืชสำคัญของพืชตระกูลกล้วย โรคตายพรายเกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง ระยะที่ระบาดรุนแรงมักเกิดขึ้นกับต้นกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือน อาการที่พบ ก้านใบแก่จะมีสีเหลือง ต่อมาขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเหลืองทั่วไป ใบอ่อนมีอาการเหลืองไหม้ หรือตายนึ่งบิดเป็นคลื่น ใบจะหักพับบริเวณโคนก้านใบ กล้วยที่ติดเครือแล้วจะเหี่ยว ผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ แก่ก่อนกำหนด เนื้อฟ่ามซีด หากตัดขวางที่ลำต้นจะพบเนื้อในของกาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดง และอาจมีเส้นใยของเชื้อราปรากฏให้เห็น

การป้องกันกำจัด เลือกพื้นที่ปลูกอย่าให้น้ำขังแฉะเพราะจะทำให้ต้นกล้วยอ่อนแอเกิดโรคได้ง่าย ในดินที่เป็นกรดต้องใส่ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดของดินลง ต้นที่เป็นโรคควรตัดและเผาทำลายทิ้งไป ระยะที่เกิดโรคต้องลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง สิ่งสำคัญต้องคัดเลือกหน่อพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีโรคชนิดนี้ระบาดมาก่อน

“ด้วงงวงไชเหง้า” คือแมลงศัตรูที่สำคัญของกล้วยไข่ ด้วงงวงไชเหง้า ในระยะตัวหนอนจะทำลายเหง้ากล้วยอย่างรุนแรง หากเหง้ากล้วย 1 ต้นมีหนอน 5 ตัวจะทำให้ต้นกล้วยตายลงในที่สุด แมลงตัวเต็มวัยเป็นด้วงงวงชนิดหนึ่ง

วิธีป้องกันและกำจัด หมั่นทำความสะอาดในแปลงปลูกกล้วยโดยเฉพาะกาบและใบที่เน่าเปื่อย ต้องกำจัดให้หมดเพราะจะเป็นที่วางไข่ของแมลงชนิดนี้ เมื่อพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย เฮ็พตาคลอ ตามอัตราแนะนำราดลงบริเวณโคนต้น การระบาดจะหมดไป

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564