“หลุมพี” กับ “จำปูลิง” ไม้โบราณของภาคใต้ ที่ต้องอนุรักษ์ไว้

หลุมพี เป็นไม้จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม มีลำต้นเตี้ย แตกหน่อเป็นกอใหญ่ มีหนามแหลมตามข้อคล้ายต้นสะละ พบขึ้นอยู่ตามพรุ มีน้ำขังแฉะ ต้องการร่มเงา ออกดอกเป็นช่อ ติดผลเป็นทะลาย ช่วงการออกดอกอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกันยายน เก็บเกี่ยวผลสุกแก่ได้ในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป หรือหลังออกดอกแล้ว 18-20 เดือน ขึ้นไป

ทั้งนี้ แต่ละต้นในกอเมื่อออกดอกแล้วตาย ต้นอื่นๆ ในกอเดียวกันจะออกดอกหมุนเวียนกันไป พบมากที่จังหวัดตรัง เนื้อในรูปร่างคล้ายเนื้อผลของหวาย แต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีรสเปรี้ยวจัด ใช้ทดแทนมะนาวได้ในช่วงมะนาวมีราคาแพง แต่โดยปกตินิยมนำมาทำแกงส้มได้รสชาติดี สรรพคุณทางยา ใช้ขับเสมหะและรักษาอาการไอ

จำปูลิง กำไหร หรือ มะไฟลิง ก็เรียกกัน จำปูลิง เป็นไม้ป่าทางภาคใต้เช่นเดียวกับ หลุมพี พบขึ้นอยู่ตามที่ราบเชิงเขา ชอบดินร่วนปนทราย ผลคล้ายผลมะไฟหรือผลละไม แต่มีขนาดเล็กกว่า ผลเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เนื้อผลมีรสหวานอมเปรี้ยว จำปูลิง เป็นไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่ มีความสูง 10-15 เมตร เปลือกของลำต้นหนา ผิวไม่เรียบ สีน้ำตาลอมเทา มียางเมื่อเกิดบาดแผล ใบเป็นใบเดี่ยว ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อสีขาวอมเหลืองตามกิ่งก้าน

เนื้อผลรสชาติคล้ายมะไฟ มีรสเปรี้ยว กลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องปรุงแกงเลียงและแกงส้ม พบมากที่จังหวัดสตูลและสงขลา ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ไม้ทั้งสองมีจำนวนลดลง จึงควรมีการอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม