ปลูกมะลิ เพียงบริหารจัดการดีๆ ช่วยลดต้นทุนได้

สวนมะลิ

คุณฉัตรพล หมีไพร หรือ คุณตุ้ม อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มี คุณฐิติมา แจ่มนิยม หรือ คุณหนู เป็นภรรยา มีบุตรชาย 1 คน

คุณตุ้ม กับคุณหนู
คุณตุ้ม กับคุณหนู

คุณตุ้ม เล่าว่า เดิมประกอบอาชีพเป็นวิศวกรโรงเหล็กแม่พิมพ์รถยนต์ที่จังหวัดสมุทรปราการ พื้นเพที่บ้านเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้าง ส่วนคุณหนูเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่บ้านทำสวนมะลิ ทั้งคุณตุ้มและคุณหนูมีความชอบในการปลูกต้นไม้เหมือนกัน มีเป้าหมายในชีวิตที่จะประกอบอาชีพอิสระ มีอาชีพเป็นของตัวเอง เป็นนายของตัวเอง และยืนด้วยตัวของตัวเอง จึงปรึกษาหารือกันได้ข้อสรุปที่จะหันมาทำสวนมะลิในพื้นที่ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

เริ่มทำสวนมะลิเมื่อปี 2556 ในพื้นที่ 3 ไร่ เมื่อตัดพื้นที่ถนน ทางเดิน ร่องน้ำ แล้วเหลือพื้นที่ที่ปลูกต้นมะลิประมาณ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 4,500-5,000 ต้น/ไร่ ต้นละประมาณ 25 บาท ไม่ปลูกแน่นจนเกินไป เพราะช่วยลดการเกิดโรค การเกิดเชื้อรา การอยู่อาศัยของแมลง อีกทั้งสะดวกในการจัดการดูแล แรกเริ่มยังขาดทั้งความรู้และประสบการณ์ด้านการทำการเกษตร อาศัยการสอบถามบิดาคุณหนูบ้าง เกษตรกรผู้ปลูกมะลิแปลงข้างเคียงบ้าง และเพื่อนบ้านบ้าง ทั้งในเรื่องการปลูก การใส่ปุ๋ย การฉีดยาฆ่าแมลง การเก็บดอกมะลิ แรงงาน ทำทุกอย่างตามคนอื่นๆ ใส่ทุกอย่างอย่างที่คนอื่นใส่กัน โดยไม่มีความรู้ ใส่ไปโดยไม่มีเหตุมีผล ใส่เพราะคนอื่นใส่ ถามว่าใส่ทำไม ก็ไม่รู้เห็นคนอื่นใส่กัน ทำให้ต้นทุนสูงประมาณ 450,00 บาท/ปี/ไร่ ดินก็ประสบปัญหา เป็นเชื้อราเมล็ดผักกาด ทำให้ต้นมะลิเสียหาย ตาย ต้องปลูกซ่อม ทำให้ต้นมะลิที่ปลูกใหม่เจริญเติบโตไม่ทันมะลิแถวอื่นๆ อีกทั้งผลผลิตที่ได้ยังน้อยอีกด้วย

คุณตุ้มจึงคิดไตร่ตรองค้นคว้าหาความรู้จากตำราต่างๆ อินเตอร์เน็ต ผู้รู้ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐมประกอบกัน ทำให้มีความรู้เข้าใจในการดูแลสวนมะลิมากยิ่งขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดเชื้อราเมล็ดผักกาดในดินทำให้ต้นมะลิเสียหายและตาย เนื่องจากก่อนที่จะมาปลูกมะลิ เจ้าของที่เดิมมักใช้ปุ๋ยขี้ไก่ที่มีแกลบมาเป็นเวลานาน ทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา ซึ่งมีผลต่อต้นมะลิเป็นอย่างมาก จึงต้องปรับปรุงบำรุงดินก่อน โดยการตากดินพักดิน ใส่ปูนขาว ปุ๋ยชีวภาพ ใช้สารชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์ม่า ฉีดพ่นบ่อยๆ ก็สามารถควบคุมได้ระดับหนึ่ง ค่อยๆ ปรับฟื้นฟูดินมาเรื่อยๆ มีการทำแปลงทดลอง ซึ่งทำตามหลักวิชาการที่ได้ศึกษาค้นคว้าจากตำรา จากอินเตอร์เน็ตจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ ข้อมูลประกอบกัน นำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง

คุณตุ้ม กับมะลิ
คุณตุ้ม กับมะลิ

สามีและภรรยา ให้ข้อมูลว่า มะลิเป็นพืชไม่ชอบน้ำท่วม น้ำแฉะ จึงปลูกแบบยกร่อง เพื่อช่วยให้การระบายน้ำได้ดี ลดปัญหาโรครากเน่า ต้นมะลิจะไม่แกร็นเหลือง อีกทั้งยังสะดวกในการให้น้ำอีกด้วย ก่อนปลูกต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ โดยในระยะแรกของการปลูกมะลิจะเน้นเรื่องการเจริญเติบโตของต้น โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยเคมีที่มีตัวหน้าสูง หรือมีไนโตรเจน (N) สูง เช่น 27-7-7 เมื่อต้นมะลิโตเริ่มออกดอกให้ผลผลิตก็จะเปลี่ยนเป็นสูตรเสมอ ดังนั้น การให้ปุ๋ยแต่ละระยะต้องรู้ว่าพืชในแต่ระยะต้องการธาตุอาหารอะไร แล้วเราต้องการอะไรจากพืช ต้น ดอก ใบ หรือหัว ควรใส่ธาตุอาหารให้เหมาะสม ต้องศึกษาหาความรู้ข้อมูลให้ดี เวลาผสมยาสารเคมีจะใช้น้ำสะอาดผสม ไม่ใช้น้ำในท้องร่องผสมยา เพื่อให้คุณสมบัติและการออกฤทธิ์ของยาไม่เปลี่ยนแปลงหรือลดลง

ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการทำสวนมะลิส่วนมากจะหมดไปกับค่ายาสารเคมีป้องกันกำจัดหนอน แมลง และค่าแรงงานในการเก็บดอกมะลิ จะจ้างแรงงานวันละ 2-3 คน ในราคากิโลกรัมละประมาณ 45 บาท จะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ ความขยันของแรงงาน การดูแลลูกจ้างแรงงานก็มีความสำคัญมาก เวลาฉีดพ่นยาฆ่าแมลงต้องหาที่ปิดจมูกที่ดีได้มาตรฐาน และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้ เพื่อความปลอดภัย และยึดหลักที่ว่าทำงานต้องได้เงินไปใช้ ไม่ใช่เอาเงินไปรักษาตัว

ในการเก็บดอกมะลิ คุณตุ้มจะเน้นและให้ความสำคัญของเรื่องเวลา ต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี โดยให้แรงงานเก็บไม่เกินเวลา 17.00 น. เพื่อให้แรงงานได้มีเวลาพักผ่อน มีเวลากับครอบครัว และทำงานอย่างมีความสุข การเก็บเกี่ยวดอกมะลิต้องเก็บเฉพาะดอกตูม มีการเจริญเต็มที่ มีลักษณะสีขาวนวล ใช้มือเด็ดตรงก้านดอกใต้กลีบเลี้ยง ทุกครึ่งชั่วโมง คุณตุ้มจะนำดอกมะลิที่แรงงานเด็ดดอกแล้วมาล้างน้ำคัดดอกเสียทิ้ง แล้วนำไปแช่ในน้ำเย็นคงความสด ขั้นตอนนี้จะสามารถลดต้นทุนเรื่องน้ำแข็ง และการเสียหายของดอกมะลิได้มาก โดยปกติแล้วสวนทั่วไปจะนำดอกมะลิที่แรงงานเด็ดดอกแล้วมาล้างแช่น้ำเย็นทุกๆ 1 ชั่วโมง แต่คุณตุ้มลดเวลาลงเป็นทุกครึ่งชั่วโมง ทำให้ลดการสูญเสียของดอกมะลิและน้ำที่ใช้แช่ก็ยังคงเย็นสามารถแช่ดอกมะลิได้ 2 รอบ ก่อนจะนำไปบรรจุถุงปิดทับด้วยน้ำแข็งป่น บรรจุกล่องโฟม เพื่อให้ดอกมะลิคงสภาพสดมากที่สุดจนถึงมือลูกค้าปลายทาง

คุณตุ้ม ยังบอกเคล็ดลับอีกว่า หากต้องการให้ต้นและดอกมะลิแข็งแรง ไม่เปราะเสียหายง่าย ให้ใส่ซิลิคอนลงไปในดินด้วย ในพื้นที่ 1 ไร่ สวนคุณตุ้มสามารถเก็บดอกได้ประมาณ 50-60 กิโลกรัม/วัน (ขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือเดือน) ช่วงนี้ราคาลิตรละ 100 บาท ช่วงสงกรานต์ราคาดี อยู่ที่ประมาณ 120-300 บาท/ลิตร (1 ลิตร เท่ากับ 700 กรัม หรือ 7 ขีด) ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกมะลิควรวางแผนให้มะลิออกดอกอยู่ในช่วงราคาแพง โดยวางแผนการตัดแต่งกิ่ง (หวด) ให้ดี ช่วงไหนราคาถูกก็ตัดแต่งกิ่งทิ้ง ลดภาระต้นทุนการผลิตเรื่องแรงงานในการเก็บดอกมะลิ ถ้าเกษตรกรต้องการให้มะลิออกดอกในเดือนใด ก็ต้องนับย้อนเวลาตัดแต่งกิ่งถอยไปประมาณ 40-45 วัน

คุณตุ้ม ยังเล่าให้ฟังอีกว่า การปลูกพืชชนิดใดก็แล้วแต่ถ้าเรารู้จักพืชชนิดนั้นๆ อย่างถ่องแท้ มีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังทั้งการปรับปรุงบำรุงดิน การปลูก การดูแล การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย รู้จักการบริหารจัดการสวนไร่นาของตนเองอย่างมีเหตุมีผล นำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ มีการทดลอง ช่างสังเกต มีความรู้เข้าใจกลุ่มสารเคมีต่างๆ ที่จะใส่ไปให้พืช ไม่ใส่ซ้ำซ้อน ใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับช่วงระยะการเจริญเติบโตของพืช โดยปุ๋ยเคมีจะช่วยบำรุงพืช ส่วนปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้พืชสามารถดูดสารธาตุอาหารไปบำรุงต้นและทุกส่วนของพืชได้ดี อีกทั้งต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย เมื่อเรามาดูจะได้รู้ว่ารายจ่ายไหนไม่จำเป็น สมควรลดหรือควรเลิกจ่าย ซึ่งจากเดิมค่าใช้จ่ายในการฉีดยาฆ่าแมลงประมาณ 4,000-5,000 บาท/ไร่/วัน ตอนนี้ลดลงเหลือประมาณ 1,200-2,000 บาท/ไร่/วัน ซึ่งสามารถลดต้นทุนลงได้มากกว่าครึ่ง ปีแรกต้นทุนการผลิตสูงมากประมาณ 450,000 บาท/ไร่ เพราะยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการทำสวนมะลิ จนได้ศึกษาหาความรู้ ทดลอง ช่างสังเกต ลองผิดลองถูกมาโดยตลอดระยะเวลาที่ทำสวนมะลิ จนปัจจุบันสามารถลดต้นทุนลงได้เหลือประมาณ 200,000 กว่าบาท/ไร่ ในอนาคตวางเป้าหมายไว้ว่าจะขยายพื้นที่ปลูกมะลิให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ยังมีแรง เวลาในแต่ละวันยังเหลืออยู่ อีกทั้งความรู้ประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา

คุณตุ้ม ฝากบอกไปถึงผู้สนใจทำสวนมะลิหรือสนใจประกอบอาชีพด้านการเกษตรว่า การที่จะก้าวเข้ามาทำการเกษตร ไม่ควรปลูก/ผลิตพืชตามกระแส ต้องมีใจรัก มีความอดทน ศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้จากแหล่งต่างๆ ที่เชื่อถือได้ มาทดลองปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง การทำการเกษตรไม่มีสูตรแน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ การตลาด และอีกหลายปัจจัย ที่สำคัญต้องรู้จักพืชที่เราจะปลูก

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เกษตรกรรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าทำ บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ การบริหารจัดการที่ดี หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของใครหลายๆ คนค่ะ สู้กันต่อไป

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการซื้อมะลิ ที่เบอร์โทร. (080) 927-9595